จัดอันดับ 'Soft Power ไทย' ได้ที่ 3 อาเซียน อันดับ 40 ซอฟต์พาวเวอร์โลก ปี2024
เปิดผลการจัดอันดับ Soft Power โลก ปี 2024 พบ "สหรัฐ" ครองแชมป์ ตามด้วยอังกฤษ และจีน ส่วน "ไทย" ดีขึ้นหนึ่งอันดับ อยู่ที่ 40 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ , มาเลเซีย
THACCA หน่วยงานสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย ได้รายงานผลการจัดอันดับ Soft Power ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปี 2024 ออกมาแล้ว โดย Brand Finance องค์กรที่เป็นผู้สำรวจ ได้เปิดเผยผ่าน รายงาน Global Soft Power Index 2024 เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินนโยบาย เสริมจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง และปรับปรุงแบรนด์ของประเทศตามที่ต้องการ
การจัดอันดับของ Brand Finance จะใช้ตัวชี้วัด 3 ด้าน คือ ความคุ้นเคย (Familiarity) ชื่อเสียง (Reputation) และอิทธิพลที่มีต่อประเทศอื่น (Influence) ร่วมกับการวิเคราะห์ผ่าน 8 เสาหลักของ Soft Power ได้แก่ ธุรกิจและการค้า (Business & Trade) การปกครอง (Governance) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) วัฒนธรรมและมรดก (Cultural & Heritage) สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication) การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) ประชาชนและค่านิยม (People & Values) และอนาคตอันยั่งยืน (Sustainable Future)
นอกจากนี้แต่ละเสายังมีตัวชี้วัดย่อย ๆ อีกมากกว่า 40 ข้อ เช่น ความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เสถียรภาพทางการเมือง อิทธิพลทางการทูต ความเป็นมิตรของผู้คน หรือการลงทุนในเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด เป็นต้น
สำหรับปีนี้ ประเทศที่ครองอันดับ 1 ของโลกยังคงเป็นเจ้าเก่าเจ้าเดิม คือ สหรัฐอเมริกา (78.8 คะแนน) อันดับที่ 2 สหราชอาณาจักร (71.8 คะแนน) อันดับที่ 3 จีน (71.2 คะแนน) ไต่ขึ้นมาจากอันดับ 5 ในปีที่แล้ว อันดับที่ 4 ญี่ปุ่น 70.6 คะแนน และอันดับที่ 5 เยอรมนี (69.8 คะแนน) ล่วงลงมาจากอันดับ 3
มวยไทย หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์สำคัญที่ชาวโลกต่างรู้จัก
"ไทย" อันดับ 40 ของโลก อันดับ 3 ของอาเซียน
สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก ได้คะแนนไป 44.8 คะแนน ขยับจากอันดับที่ 41 เมื่อปีที่แล้ว โดยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2.4 คะแนน
โดยเมื่อจัดอันดับเฉพาะในอาเซียน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 22 (54.4 คะแนน) และมาเลเซีย อันดับที่ 35 (45.7 คะแนน) ส่วนประเทศที่รั้งท้ายในอาเซียน คือ ประเทศเมียนมา อันดับที่ 136 (30.5 คะแนน)
เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก THACCA-Thailand Creative Culture Agency
อย่างไรก็ตาม Brand Finance เป็นเพียงองค์กร ๆ หนึ่งที่รวบรวมข้อมูลและจัดอันดับ Soft Power ของโลก ยังมีองค์กรอื่นอีกมากมายที่จัดทำรายงานอันดับ Soft Power ด้วยเหมือนกัน เช่น The Soft Power 30 by Portland หรือ Monocle เป็นต้น ซึ่งแต่ละองค์กรจะโฟกัสที่ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ จำนวนเหรียญทองโอลิมปิก หรือรูปแบบสถาปัตยกรรมก็ตาม ดังนั้นอันดับ Soft Power ที่เราเห็นนี้จึงเป็นไปตามมุมมองของแต่ละองค์กรนั้นเอง