13 มีนาคม วันช้างไทย ส่องสถานการณ์สุขภาพ-สวัสดิภาพช้างไทยจากสมาคม TSPCA
‘ช้างไทย’ สัตว์ประจำชาติและเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่ต่างชาติรู้จักกันดี วันนี้เราดูแลสวัสดิภาพช้างไทยดีแค่ไหน? เนื่องใน ‘วันช้างไทย’ 13 มีนาคม ชวนเช็กสถานการณ์ช้างไทยกับ TSPCA ที่ล่าสุดดูแลช้างไทยไปแล้ว 300 เชือก
เนื่องในโอกาส “วันช้างไทย” ซึ่งตรงกับ 13 มีนาคม ของทุกปี ทาง สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ดำเนินโครงการ “การตรวจสุขภาพและการดูแลรักษาช้าง” ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
โดยทางสมาคมฯ ได้เปิดเผยถึงการทำงานว่า จากการทำโครงการตรวจสุขภาพ-รักษาช้างต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดในปี 2566 สมาคมฯ ได้เข้าดูแลสุขภาพช้างไปแล้วถึง 300 เชือก ทั้งนี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์เพื่อสาธารณกุศลตลอดมา จนมาในปี พ.ศ. 2567 นี้ ถือเป็นวาระสำคัญในการครบรอบ 30 ปีของสมาคมฯ
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ ทำงานดูแลรักษาช้าง ทั้งการลงพื้นที่จริง และจัดยาส่งให้กับช้างที่อยู่ห่างไกล
โดย ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เป็นผู้นำในการออกตรวจสุขภาพและรักษาช้างในจังหวัดต่างๆ โดยมีข้อมูลสถิติการรักษาช้างไทยในปี พ.ศ. 2566 พบว่า ทางสมาคมฯ ได้ทำการรักษาช้างของชาวบ้านรวมทั้งสิ้น 1,198 ครั้ง จากช้างจำนวนประมาณ 300 เชือก ในพื้นที่จังหวัด สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ ซึ่งจะหมุนเวียนมาให้คุณหมอรักษาเดือนละ 60-100 เชือก ตามความสมัครใจของควาญช้าง
ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้จัดยาส่งให้กับช้างที่อยู่จังหวัดห่างไกลอื่นๆ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี พังงา กระบี่ และ สุราษฎร์ธานี ที่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือและปรึกษาอาการความเจ็บป่วยของช้างในการดูแลอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนยาประเภทต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการรักษาช้างจาก บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด เพื่อช่วยส่งเสริมให้ช้างมีสุขภาพที่แข็งแรง และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
สำหรับปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ในแต่ละเดือนทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพช้าง รักษาช้างที่เจ็บป่วย ให้ยาป้องกันโรคติดต่อแก่ช้าง ให้ยาถ่ายพยาธิและยาฆ่าเหาช้าง รวมทั้งยาบำรุงสุขภาพช้าง ดังนี้
- เดือนมกราคม ดูแลช้างจำนวน 82 เชือก
- เดือนกุมภาพันธ์ ดูแลช้างจำนวน 112 เชือก
- เดือนมีนาคม ดูแลช้างจำนวน 124 เชือก
- เดือนเมษายน ดูแลช้างจำนวน 98 เชือก
- เดือนพฤษภาคม ดูแลช้างจำนวน 101 เชือก
- เดือนมิถุนายน ดูแลช้างจำนวน 132 เชือก
- เดือนกรกฎาคม ดูแลช้างจำนวน 107 เชือก
- เดือนสิงหาคม ดูแลช้างจำนวน 126 เชือก
- เดือนกันยายน ดูแลช้างจำนวน 94 เชือก
- เดือนตุลาคม ดูแลช้างจำนวน 75 เชือก
- เดือนพฤศจิกายน ดูแลช้างจำนวน 63 เชือก
- เดือนธันวาคม ดูแลช้างจำนวน 84 เชือก
สรุปตลอดทั้งปี 2566 ดำเนินการช่วยเหลือช้างไปทั้งสิ้น 1,198 ครั้ง (บางตัวมีการรักษาซ้ำ)
โรคอันตรายที่เกิดกับช้างไทย คือ “โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน (EEHV)”
ในการดำเนินการตรวจรักษานั้น ดร.น.สพ.อลงกรณ์ เน้นการให้ยาป้องกันโรค เนื่องด้วยต้องการเน้นเรื่องการป้องกันโรคเป็นหลัก ดีกว่าการปล่อยให้ป่วยแล้วรักษาทีหลัง เพราะแม้ว่าช้างจะเป็นสัตว์ใหญ่ แต่ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาจะใจเสาะยิ่งกว่ามนุษย์และสุนัข ดังนั้นการป้องกันโรคไว้ก่อนจะดีที่สุด
โดยแนวทางในการป้องกันโรคในช้าง ของ ดร.น.สพ.อลงกรณ์ คือ เน้นทำให้ร่างกายช้างแต่ละเชือกมีภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรช้างทั้ง 300 เชือก ที่ได้ดูแลอยู่ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ได้จากประสบการณ์กว่า 40 ปีของคุณหมอที่เคยรักษาช้างเร่ร่อนและได้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา
ช้างแต่ละเชือกมีสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นในการดูแลรักษาพวกมันจึงต้องมีการปรับตัวยาให้เป็นสูตรที่เหมาะสมสำหรับการรักษาช้างแต่ละเชือกอย่างเหมาะสมและต้องใช้เข็มฉีดยาในการฉีดวัคซีนหรือยารักษาโรคต่างๆ ทุกครั้ง (ไม่มียากิน มีแต่ยาฉีด) เพื่อทำให้ร่างกายของช้างตอบสนองได้ค่อนข้างดี ทั้งนี้ โรคที่อันตรายและต้องเฝ้าระวัง คือ Avian flu (H5N1) SARS MERS หรือ “โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน (EEHV)”
โดยตัวยาฉีดที่ใช้รักษาโรคนี้กับช้าง จะไปทำให้ต่อมน้ำเหลืองของช้างเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคและป้องกันการเกิดโรคติดต่อในระยะยาว ฤทธิ์ยาจะไปเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อเมือกที่บุภายในอวัยวะต่างๆ เช่น เส้นเลือด และ ทางเดินอาหาร ทำให้ยากต่อการที่เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายได้ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส EEHV ดังกล่าว
ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ทีมงานได้มีการติดตามผลหลังการรักษาช้างในพื้นที่จำนวนประมาณ 300 เชือกที่ได้รับการดูแลโดยสมาคมฯ พบว่า ช้างทั้งหมดไม่มีอาการของโรคไวรัสมรณะตัวนี้ ส่วนโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อย่าง โรคคอบวม หรือโรคโลหิตเป็นพิษ (HS) ก็ไม่พบว่ามีการติดต่อในช้างเช่นกัน สุขภาพของช้างโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ดร.น.สพ.อลงกรณ์ แม้จะเกษียณแล้ว แต่ยังทำงานด้านการดูแลช้างต่อเนื่อง
แม้ว่า ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ จะเกษียณอายุตั้งแต่ พ.ศ.2560 (พ.ศ. 2554 เกษียณจากองค์การสวนสัตว์, พ.ศ. 2560 เกษียณจากสำนักพระราชวัง ตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา) แต่ก็ยังคงดูแลรักษาช้างมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รักษาช้างมาแล้วทั้งสิ้น ประมาณ 35,000 ครั้ง ซึ่งคุณหมอมักจะพูดอย่างอารมณ์ดีว่า
“หลังจากทำงานเสร็จ ก็มานั่งนับจำนวนเข็มฉีดยาเบอร์ 18 ยาวหนึ่งนิ้วครึ่ง หัวพลาสติกสีชมพู ในแต่ละครั้งมันเยอะจริงๆ แต่ผมก็ยังคงมีความสุขกับการทำหน้าที่รักษาช้างให้มีสุขภาพที่ดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ”
จำนวนเข็มฉีดยาที่คุณหมอได้ใช้ไปนั้น พบว่ามันมีจำนวนมากพอๆ กับจำนวนครั้งที่คุณหมออลงกรณ์ได้เคยช่วยดูแลรักษาช้าง อีกทั้งได้ช่วยชีวิตของช้างไว้จำนวนไม่น้อย
สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนร่วมโลกของมนุษย์และพวกเขายังคงรอคอยความรัก ความเมตตา และความช่วยเหลือจากพวกเราในยามที่เขาไม่สามารถดูแลปกป้องตนเองได้ ทั้งจากความเจ็บป่วยและภัยต่างๆ รอบตัว และนั่นคือปณิธานของ ‘สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)’ ที่ยึดมั่นเสมอมา เพื่อป้องกันสัตว์ทั้งหลายจากการถูกทารุณกรรมและเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป และเราทุกคนต่างสามารถให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพิงของสัตว์เหล่านั้นได้เช่นกัน