เปิดประวัติวันช้างไทย 13 มีนาคม ช้างเผือก สัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนชาติไทย
เปิดประวัติ "วันช้างไทย" 13 มีนาคมของทุกปี "ช้างเผือก" กับธงชาติไทย สัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนชาติไทย สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับช้าง กับการอนุรักษ์ช้างไทย รักช้าง หวงแหนช้าง
ประวัติวันช้างไทย ความสำคัญของช้างไทย
ความสำคัญของช้างไทย ช้างเป็น "สัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนชาติไทย" มาตั้งแต่โบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นในยามศึกสงคราม ดังที่ปรากฏในพงศาวดารที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถีบนหลังช้าง มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา
หรือในยามบ้านเมืองสงบสุขช้างก็อยู่ร่วมกับคนไทยเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง นั่นจึงเป็นเหตุให้ครั้งหนึ่งเคยมี "ช้างเผือก" ประดับอยู่บนธงชาติไทย ก่อนที่จะเป็นธงไตรรงค์แบบในปัจจุบัน
นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีตแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2541 คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ภายใต้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีความคิดริเริ่มที่จะสถาปนาวันช้างไทย เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ช้างไทยให้มากยิ่งขึ้น
กิจกรรมต่างๆ ในวันช้างไทย อนุรักษ์ช้างไทย
คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย เห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของแดนสยาม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม 2541 ประกาศให้ วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันช้างไทย"
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ "ช้าง"
ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้างกันมากขึ้นด้วย
- ช้างถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผิวหนังหนา สีดำหรือดำอมเทา รับสัมผัสได้ไว ขนสีดำ
- จมูกยื่นยาวเรียกว่า งวง งวงช้าง ปลายงวงมีจะงอยสำหรับจับสิ่งของ ขมับทั้ง 2 ข้างมีรูเปิดของต่อมน้ำมัน จะมีน้ำมันไหลออกมาเมื่อถึงวัย ขาใหญ่เป็นลำ กินพืช มี 2 ชนิด คือ ช้างเอเชียและช้างแอฟริกา
- งาช้าง อาวุธที่แข็งแรง เป็นเครื่องมือไว้เคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งการขุดดิน ส่วน "หูช้าง" ไม่ได้ใช้ประโยชน์เฉพาะการได้ยินเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อุณหภูมิร่างกายคงที่ด้วย
- ช้างตัวเมียเรียกว่า "ช้างพัง" ช้างตัวผู้ เรียกว่า "ช้างพลาย" โดยปกติช้างพัง (ช้างตัวเมีย) จะจับกลุ่มอยู่กันเป็นครอบครัวแบบไม่มีช้างพลาย (ช้างตัวผู้) โดยมีช้างพังตัวที่อายุมากที่สุดเป็นหัวหน้าฝูง ซึ่งช้างมักจะเลือกอาศัยใกล้กับแหล่งน้ำ
- ช้างตกมัน "อาการตกมัน" ของช้างโตเต็มวัยเกิดขึ้นช่วงหาคู่และเข้าสู่ภาวะที่มีเทสโทสเตอโรนสูงขึ้น
ประสาทสัมผัสของช้าง
ช้างมีงวงช้างที่มีเส้นประสาทดี และมีประสาทการได้ยินและดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม หน่วยรับความรู้สึกการได้ยินนั้นไม่เพียงแต่จะมีอยู่ในหูเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในงวงซึ่งสามารถสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนได้
และที่สำคัญที่สุดคือเท้า ซึ่งมีหน่วยรับความรู้สึกพิเศษเสียงความถี่ต่ำและมีประสาทสัมผัสดีเลิศเช่นกัน ช้างสื่อสารกันด้วยเสียงผ่านระยะทางไกล ๆ หลายกิโลเมตร ซึ่งบางส่วนก็ส่งผ่านทางพื้นดิน ที่มีความสำคัญต่อชีวิตสังคมของพวกมันด้วย
นอกจากนี้ยังมีการสังเกตว่าช้างรับเสียงโดยการวางงวงไว้บนพื้นดินและวางตำแหน่งเท้าอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม สายตาของช้างนั้นค่อนข้างเลว
อ้างอิง-ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , วิกิพีเดีย