วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีมาตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นคนกำหนด?
เคยสงสัยไหม? ใครกันที่กำหนดให้หยุดงาน วันเสาร์-อาทิตย์ ว่ากันว่า ‘เฮนรี่ ฟอร์ด’ ผู้ก่อตั้ง ‘ฟอร์ด มอเตอร์’ ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดัง เป็นผู้ริเริ่มนำนโยบายวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มาใช้กับแรงงานอย่างเป็นทางการ
ในโลกการทำงานยุคใหม่ผู้คนให้ความสำคัญกับ Work life balance เพิ่มมากขึ้น จึงไม่แปลกที่หลายคนมองหางานที่มีวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์ แต่บางครั้งวัยทำงานที่กำลังมองหางานใหม่กลับพบว่า สวัสดิการของบริษัทส่วนใหญ่ให้วันหยุดแค่ 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนวันหยุดยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในหมู่แรงงานมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงยุคปัจจุบันด้วย
ว่าแต่... คุณสงสัยเหมือนกันไหมว่า ใครเป็นคนกำหนดให้มี "วันหยุดเสาร์-อาทิตย์" กันแน่ และโลกของเรามีวันหยุดแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่? กรุงเทพธุรกิจ ชวนหาคำตอบกันไปพร้อมกัน
อันดับแรกทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบการนับวัน 7 วันเท่ากับ 1 สัปดาห์ เป็นระบบการนับวันที่มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอดีต โดยถูกคิดค้นขึ้นโดยของชาวบาบิโลนเมื่อราวๆ 4,000 ปีก่อน และระบบนี้ถูกเผยแพร่นำมาใช้ในยุโรป และกระจายใช้ระบบนี้กันทั่วโลกเป็นสากล
เริ่มมีวันหยุด 1 วัน สำหรับแรงงานใน “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม”
ในอดีตมนุษย์ยังไม่มีการกำหนดวันหยุดที่แน่นอนสำหรับแรงงาน มีเพียงวันสำคัญพิเศษระดับประเทศเท่านั้นที่นายจ้างอาจอนุญาตให้แรงงานหยุดงานได้บ้าง แต่เมื่อเข้าสู่ “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม” โรงงานและแรงงานกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศต่างๆ มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ดังนั้น แรงงานจึงถูกใช้งานอย่างหนักแบบไม่มีวันหยุดพัก ต่อมาผู้คนเกิดการถกเถียงกันมากขึ้นเกี่ยวกับการทำงานที่หนักเกินไป และแรงงานเกิดความเหนื่อยล้าสะสม หลายคนมองว่าหากนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสมัย “สังคมเกษตรกรรม” คงจะเป็นไปไม่ได้
ต่อมาในยุโรปจึงมีแนวคิดการมอบวันหยุดให้แรงงานในทุกๆ “วันอาทิตย์” ของสัปดาห์ โดยยึดถือว่าเป็นวันสำคัญในการประกอบพิธีทางศาสนา รวมถึงเป็นวันพักผ่อนดื่มสังสรรค์ของผู้คน
วันหยุดวันเดียวไม่พอ! ก่อเกิด “เซนต์มันเดย์” หรือการโดดงานในวันจันทร์
เมื่อมนุษย์ได้พักผ่อนอะไรก็ฉุดไม่อยู่ ทำให้มีแรงงานบางส่วนสังสรรค์เพลินไปหน่อย ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เซนต์มันเดย์” หรือการโดดงานในวันจันทร์ โดยอ้างว่าไปทำงานไม่ไหวเพราะติดลมจากการทำพิธี และดื่มสังสรรค์ในวันอาทิตย์ บางโรงงานจึงมีนโยบายให้แรงงานหยุดงานเพิ่มในครึ่งวันในวันเสาร์ รวมถึงเต็มวันในวันอาทิตย์
จุดเปลี่ยนสำคัญคือในช่วงศตวรรษที่ 19 แม้บางโรงงานส่วนใหญ่จะให้พนักงานหยุดเพื่อไปทำพิธีทางศาสนาในวันอาทิตย์ หรือรวมถึงวันเสาร์ตอนบ่าย แต่ปัญหานี้ก็ถูกหยิบยกมาถกเถียงเพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มคนหลายศาสนาที่มีวันประกอบพิธีทางศาสนาที่ไม่ตรงกัน โดยจากที่ผ่านมายึดวันอาทิตย์ ตามชาวคริสต์ แต่ชาวยิวจะมีช่วงเวลาการประกอบพิธีทางศาสนาภายในเสาร์
ดังนั้นที่เคยให้หยุดเสาร์บ่าย เวลาอาจจะไม่เพียงพอ ด้วยปัญหานี้เองทำให้โรงงานหันมาใช้การหยุดแบบ “วันเสาร์“ และ “วันอาทิตย์” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และก็เริ่มแพร่หลายในหลายโรงงาน
ภาพจาก: The National Endowment for the Humanities
แนวคิดการหยุด “วันเสาร์ “และ “วันอาทิตย์” ถูกทำให้เป็นรูปร่างมากขึ้นในหลายๆ โรงงาน และถูกนำปรับมาเป็นมาตรฐานนโยบายจริงจังอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อ ‘เฮนรี่ ฟอร์ด’ ผู้ก่อตั้ง ‘ฟอร์ด มอเตอร์’ ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดัง เอานโยบายหยุดเสาร์-อาทิตย์มาใช้กับโรงงาน และกำหนดชั่วโมงทำงานที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ 8 ชั่วโมง อย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้นจึงมีการออกข้อกฎหมายเกี่ยวกับวันทำงานและวันหยุดงาน เพื่อสิทธิแรงงานและประสิทธิภาพการทำงานจนถึงปัจจุบัน