Toxic Productivity ต้องมีประสิทธิผลตลอดเวลา อีกหนึ่งสาเหตุ Burnout วัยทำงาน
แม้แต่ซีอีโอก็เสี่ยง Burnout ไม่ต่างกับพนักงานออฟฟิศ สาเหตุหนึ่งมาจากภาวะ Toxic Productivity ซึ่งอาจเป็นจุดผิดพลาดอันดับ 1 ของวัยทำงานที่ประสบความสำเร็จสูงหลายคน
ตอกบัตรเข้างานทุกเช้า มีประชุมทุกวัน มีเดดไลน์งานที่ต้องส่งให้ทัน รวมถึงภาระงานอื่นๆ ที่เข้าคิวมาให้ทำต่อเนื่องยาวไปเรื่อยๆ แม้วันนี้สามารถจัดการได้เสร็จหมด แต่วันถัดไปภาวะงานรัดตัวลูปเดิมๆ ก็วนมาอีกซ้ำๆ เหมือนไม่มีที่สิ้นสุด จนรู้สึกว่าหยุดทำไม่ได้ หากใครจมอยู่กับการทำงานลักษณะแบบนี้บ่อยๆ คุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะ “Toxic Productivity”
ดร.นาตาลี คริสติน แดตติโล นักจิตวิทยาคลินิก และเป็นอาจารย์สาขาจิตวิทยาที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) เล่าว่า จากประสบการณ์ที่เธอดูแลคนไข้มาหลายเคส เธอพบว่าผู้ป่วยอาหารเบิร์นเอาท์ วิตกกังวล และซึมเศร้าจำนวนไม่น้อย มักมีปัญหาเรื่องการทำงานเข้ามากระทบ โดยภาวะดังกล่าวถูกนิยามว่า “Toxic Productivity” ซึ่งหมายถึง การที่วัยทำงานรู้สึกกดดันที่จะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิผลตลอดเวลา ยิ่งพวกเขามี Productivity สูงอยู่ตลอดเวลา แล้วยิ่งทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่หยุด วันหนึ่งมันก็กลายเป็นพิษต่อใจได้
แม้ว่าภาวะหรือพฤติกรรมนี้ยังไม่มีผลการวิจัยหรือการศึกษาออกมา แต่กรอบความคิดการทำงานที่ต้องมี “Productivity ตลอดเวลา” จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจของวัยทำงานได้ และบางครั้งอาจนำไปสู่อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า อาการหมดไฟ นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาเรื่องความภาคภูมิใจในตนเอง (Low self-esteem) เช่น รู้สึกตัวเองไม่มีค่า
หากใครมีพฤติกรรมหรือความรู้สึกเกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติไปจากเดิม แต่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าข่าย Toxic Productivity หรือไม่? ลองเช็กลิสต์ 5 สัญญาณต่อไปนี้ที่จะชี้ชัดได้มากขึ้น รวมถึง ดร.นาตาลี มีคำแนะนำวิธีแก้ไขเพื่อลดอาการเหล่านั้น ก่อนที่มันจะกลายเป็นพิษต่อใจหนักไปกว่าเดิม
1. คุณรู้สึกว่ามีเรื่องให้ “ต้องทำ” อยู่ตลอดเวลา แบบหยุดพักไม่ได้เลย
บางครั้งคนไข้ที่เข้ามาปรึกษา ดร.นาตาลี มักเล่าว่า พวกเขารู้สึกว่ามีเวลาไม่เพียงพอในแต่ละวัน และพวกเขาต้องรีบเร่งทำสิ่งนี้ให้เสร็จ แล้วตามด้วยการทำสิ่งต่อไปอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจะผ่อนคลายได้ก็ต่อเมื่อทำทุกอย่างเสร็จแล้วเท่านั้น ความรู้สึกเร่งด่วนที่ผิดปกติเหล่านี้ สามารถทำให้วัยทำงานเกิดภาวะ “รู้สึกวิตกกังวล” ได้
เนื่องจากสมองส่วนที่รับผิดชอบในการตรวจจับภัยคุกคาม จะรับรู้ถึงความเร่งรีบเหล่านั้นและตีความสัญญาณว่าเป็น “อันตราย” ต่อตัวเรา ซึ่งจะไปกระตุ้น “การตอบสนองแบบต่อสู้หรือหนี (fight-or-flight)” เมื่อคนเราอยู่ในการตอบสนองแบบนั้นบ่อยๆ ก็จะมีอาการวิตกกังวล
วิธีแก้ไข: ลองใช้เทคนิคการเว้นจังหวะง่ายๆ ด้วยการ “ปรับโหมดให้ช้าลง” ในขณะที่ทำสิ่งต่างๆ อยู่ ให้วางความเร่งรีบลงก่อน แล้วจดจ่อกับการกำหนดลมหายใจ (หายใจเข้าช้าๆ นับ 5 วินาที แล้วหายใจออกช้าๆ อีก 5 วินาที) ทำซ้ำแบบนี้ราวๆ 3-5 นาที ก็จะช่วยจัดการกับความวิตกกังวลและลดอาการเร่งรีบลงได้
2. คุณรู้สึกผิดหรือละอายใจที่ทำงานได้ไม่ดีพอ
การเป็น Toxic Productivity มักจะทำให้คุณรู้สึกแย่ รู้สึกผิด เวลาที่คุณทำสิ่งต่างๆ ไม่เสร็จตามที่วางแผนไว้ หรือคิดว่าจะทำสิ่งนี้ แต่กลับไม่ได้ทำ รวมถึงมีความรู้สึกละอายใจเมื่อคุณเชื่อว่าสิ่งที่คุณทำนั้นยังดีไม่พอ ความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้สามารถกระตุ้น Toxic Cycle วนกลับมาซ้ำๆ มันจะผลักดันให้คุณกดดันตัวเองจนหมดแรง แต่จะรู้สึกหงุดหงิดตัวเองเมื่อคุณไม่มีแรงทำได้มากกว่านี้
วิธีแก้ไข: เมื่อใดที่รู้สึกแย่ รู้สึกผิด รู้สึกละอายใจ ต่อการทำงาน ให้เขียนความคิดเหล่านั้นลงในสมุดบันทึก แล้วตรวจสอบตัวเองว่าคุณกำลังคาดหวังกับตัวเองสูงกว่าคนอื่นอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ให้แสดงความเห็นอกเห็นใจในตนเอง และพูดว่า “ฉันทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว เช่นเดียวกับคนอื่นๆ” หรือถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคลั่งความเพอร์เฟ็ก หรือรู้สึกว่า หากทำบางอย่างไม่ประสบความสำเร็จ 100% ถือว่าตัวเองล้มเหลว ก็ให้พูดกับตัวเองว่า “ความสำเร็จแค่บางส่วนยังคงมีความหมาย และสิ่งที่ฉันทำก็เพียงพอแล้วสำหรับวันนี้”
3. คุณจะมองเห็นคุณค่าในตนเอง ก็ต่อเมื่อคุณมีประสิทธิผลในงานเท่านั้น
ระดับของ Productivity มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวัน ด้วยเหตุผลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ แต่กระนั้นบางครั้งคุณก็ยังรู้สึกว่า “วันนี้เป็นวันที่เสียเปล่า” หรือ “วันนี้ฉันช่างไร้ประโยชน์จริงๆ” หรือ “วันนี้ฉันเสียเวลาทำงาน” (เพราะมีอย่างอื่นมาขัดจังหวะการทำงานจนหงุดหงิด) ความคิดเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงการที่เอาตัวเองไปผูกติดกับ “ประสิทธิภาพการทำงาน” มากเกินไป เพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าเป็นคนที่คุณค่า จนนำมาซึ่งความกดดันและความเครียด
วิธีแก้ไข: ติดตามความคิดของตนเองให้ทันเสมอ และฝึกพูดกับตัวเองในแบบที่คุณคุยกับเพื่อนหรือคนที่คุณรัก โดยใช้ชื่อของคุณเอง ตัวอย่างเช่น “นาตาลี วันนี้คุณทำได้ดีมาก!” เทคนิคนี้เรียกว่า “Distanced Self-talk” โดยมีการวิจัยแสดงให้เห็นว่า วิธีนี้สามารถช่วยให้คุณมองตัวเองอย่างเป็นกลางมากขึ้น (ไม่ตั้งสแตนดาร์ดของตัวเองสูงกว่าคนอื่น)
4. คุณพบว่าการหยุดพักหรือการหยุดทำงานเป็นเรื่องยาก
สำหรับวัยทำงานหลายๆ คน การเป็นคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง จะทำให้ได้รับคำชมและรางวัล ซึ่งเมื่อได้รับแล้วร่างกายจะปล่อยสารเคมี (โดปามีน) ในสมองที่ทำให้ “รู้สึกดี” นั่นทำให้คุณกลายเป็นคนเสพติดกับการทำงานยุ่งตลอดเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้สึกดีได้ยากขึ้น เมื่อใดที่คุณไม่ได้ผลักดันตัวเองไปจนสุด คุณจะรู้สึกกระวนกระวายใจ ฉุนเฉียว หรือหงุดหงิด เมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ และความกดดันก็จะเข้ามาทันที ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน แทนที่จะสนุกไปกับมัน
วิธีแก้ไข: ลองจัดกรอบเวลาใหม่ อนุญาตให้ตัวเองหยุดทำงานบ้าง มองการหยุดพักเป็นโอกาสดีของชีวิต เช่น หากคุณมาถึงที่ทำงานแต่เช้า ให้ลองหลับตาและฟังเสียงรอบตัว ผ่อนคลายตัวเองก่อนเริ่มงาน นั่นยังคงทำให้คุณเป็นคนมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม เพียงแค่เพิ่มเติมการฟื้นฟูจิตใจเข้าไปด้วย
5. คุณละเลยการดูแลตนเอง
หากการดูแลตนเองกลายเป็นเรื่องเสียเวลาสำหรับคุณ นั่นแปลว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหา Toxic Productivity อยู่แน่ๆ เช่น การละเลยการออกกำลังกาย ละเลยการนอนหลับและพักผ่อน ละเลยการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ละเลยความสัมพันธ์ หรือละเลยเวลาสำหรับการเล่นและความสนุกสนานในชีวิต ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนที่มีปัญหานี้มักจะไม่อยากกินอาหาร หรือแม้แต่ไม่อยากเข้าห้องน้ำ หรือดื่มน้ำสักแก้ว
วิธีแก้ไข: ให้สิทธิ์ตัวเองในการพักผ่อนอย่างไม่มีเงื่อนไขทุกวัน หลายๆ คนมักจะพังทลายจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ จนทำให้นอนไม่หลับ หรือแม้ว่าจะหลับ แต่พอตื่นมากลับรู้สึกว่าไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ดร.นาตาลี อธิบายว่า การนอนหลับเพื่อการฟื้นฟูกายและใจนั้น ไม่ใช่แค่นอนให้หลับเฉยๆ แต่ต้องรู้สึกผ่อนคลายด้วย ดังนั้น ควรสร้างกิจวัตรก่อนนอนที่ดีให้เป็นนิสัย เช่น ฟังเพลงผ่อนคลาย อ่านนิยาย จดบันทึก อาบน้ำ หรี่ไฟ ปรับอากาศให้เย็นลง หรือดื่มชาสมุนไพร เป็นต้น