วิธีลด 'ภาวะเบิร์นเอาท์' จากงาน ด้วยเทรนด์ 'Doing Nothing' ของชาวดัตช์

วิธีลด 'ภาวะเบิร์นเอาท์' จากงาน ด้วยเทรนด์ 'Doing Nothing' ของชาวดัตช์

ถ้างานยุ่งเหยิงจนเกินจะรับไหว ก็แค่หยุดทำ! ลอง “ลางาน” ไปอยู่เฉยๆ แบบ “Doing Nothing” ตามแนวคิด Niksen ของชาวดัตช์ ช่วยลดอาการ “Burnout” ได้ในระยะยาว

Key Points:

  • เคยไหม? ยิ่งพยายามไต่เต้าและทุ่มเทให้หน้าที่การงานแบบไม่พัก ก็ยิ่งรู้สึก “หมดไฟ (Burnout)” เร็วขึ้น หนึ่งในวิธีช่วยลด “ภาวะเบิร์นเอาท์” ได้ก็คือ การหยุดพักโดยไม่ทำอะไรทั้งนั้น (Doing Nothing) ตามแนวคิด Niksen 
  • จิตแพทย์ชี้ Doing Nothing อาจเป็น “ประสิทธิผลสูงสุด” และเป็น “สิ่งที่ดีที่สุด” ที่เราสามารถทำได้เพื่อชีวิตที่ดีของเราในระยะยาว
  • ในทางวิทยาศาสตร์พบว่า การหยุดพักอยู่นิ่งๆ หลังจากเจอความเครียดสูง จะช่วยปรับระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ให้ลดลงได้ และช่วยฟื้นฟูพลังงานและความยืดหยุ่นของร่างกายให้กลับมา

ไม่ว่าจะปีไหนๆ วัยทำงานหลายคนยังติดหล่มอยู่กับการทำงานหนักและเร่งรีบตลอดเวลา เพื่อเป้าหมายตำแหน่งสูงสุดในอาชีพการงาน แต่เคยไหม? ยิ่งพยายามไต่เต้าและทุ่มเทให้งานแบบไม่พัก ก็ยิ่งรู้สึก “หมดไฟ (Burnout)” ง่ายขึ้น หากอยากสร้างพลังให้ตนเองสู้งานหนักไหวและไปต่อได้ในปี 2024 หนึ่งในวิธีช่วยลดอาการเบิร์นเอาท์ได้ก็คือ การหยุดอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น หรือที่เรียกว่า “Doing Nothing” ตามแนวคิด Niksen ของชาวดัตช์

 

  • การพักแบบ Doing Nothing ตามแนวคิด Niksen คืออะไร?

ดร.คาสซานดรา โบดุช จิตแพทย์จากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา อธิบายเกี่ยวกับวิธีหยุดพักแบบ Doing Nothing ผ่านเว็บไซต์ Newsweek ไว้ว่า การไม่ทำอะไรเลยตามแนวคิด Niksen อาจเป็น “ประสิทธิผลสูงสุด” และ “สิ่งที่ดีที่สุด” ที่เราสามารถทำได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราในระยะยาว มันช่วยรีเซ็ตสมองและจิตใจ ทั้งยังช่วยเพิ่มสมาธิได้มากขึ้น

แนวคิด Niksen เป็นแนวทางปฏิบัติของวิถีชีวิตรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นการ “ไม่ทำกิจกรรมใดๆ” ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของแนวคิดนี้ และได้รับความสนใจจากผู้คนยุคใหม่ค่อนข้างมากจนเกิดเป็นเทรนด์ขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง

ดร.คาสซานดรา บอกอีกว่า วิธีฝึกปฏิบัติหรือตามแนวคิดนี้ คือ การหยุดพักโดยเจตนาและไม่ต้องมีแบบแผนใดๆ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจของเราผ่อนคลายโดยไร้การตีกรอบ ผู้ปฏิบัติสามารถปล่อยให้จิตใจล่องลอยได้อย่างอิสระและไม่มีวิธีที่ตายตัว อาจใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปในแต่ละคน 

ไม่ว่าจะเป็น การจ้องมองออกไปนอกหน้าต่าง, นั่งในสวนสาธารณะ, หรือแค่อยู่นิ่งๆ ที่บ้านหรือในสถานที่ใดก็ได้ และอาจรวมถึงการทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่ซีเรียส เช่น การฝันกลางวัน, การเดินชมธรรมชาติ, การนั่งดูผู้คนในร้านอาหาร/คาเฟ่ หรือ การนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก เป็นต้น

 

  • Niksen “วัฒนธรรมการทำงานของชาวดัตช์” เชื่อในการถอยกลับไปฟื้นฟูตัวเอง และกลับมาสู้งานต่ออีกครั้ง 

ขณะที่ แชนด์เลอร์ จาง นักจิตวิทยาคลินิกในลอสแอนเจลิส ก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่แนวคิด Niksen ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้คนจำนวนมากกำลังประสบกับความเครียดและความเหนื่อยหน่ายจากการทำงานและวิถีชีวิตในยุคดิจิทัลที่ยุ่งเหยิง

สำหรับต้นกำเนิดของ Niksen นั้น ฌานน์ แนงเกิล ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นอยู่ที่ดีและโค้ชผู้ให้คำปรึกษาด้านการใช้ชีวิต เล่าว่า ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าแนวคิดนี้มาจากไหน ทราบแต่เพียงว่าคำนี้เป็นภาษาดัตช์ โดยคำว่า “niks” แปลว่า “Nothing (ไม่มีอะไร)” และบางข้อมูลพบว่ามันเชื่อมโยงไปถึง “วัฒนธรรมการทำงานของชาวดัตช์” ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของวิถีชีวิตที่สมดุล การรู้จักพัก และเชื่อในการถอยกลับไปฟื้นฟูตัวเองแล้วค่อยกลับมาสู้งานต่ออีกครั้ง 

“ในโลกของความวุ่นวาย เร่งรีบ และงานยุ่งตลอดเวลา การใช้วิธี “Doing Nothing” ตามแนวคิด Niksen สามารถช่วยให้ร่างกายและจิตใจพบกับความสงบและโต้กลับความเครียดได้ดีพร้อมหัวใจที่สดชื่น” ฌานน์ แนงเกิล กล่าว

ในขณะเดียวกัน ลินเน็ตต์ ไพรซ์ นักสะกดจิตบำบัดที่มีใบรับรองวิชาชีพและเป็นผู้ฝึกสอนแนวคิด Niksen ก็บอกเช่นกันว่า การพักนิ่งๆ โดยไม่ทำอะไร คือหนึ่งในทักษะการรับมือปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่เธอชื่นชอบ หัวใจสำคัญของมัน คือ ต้องตั้งใจที่จะไม่ทำอะไรเลยจริงๆ ไม่มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ต้องปล่อยวางเรื่องงานและปัญหาต่างๆ ออกจากสมองไปให้หมด จึงจะได้รับประโยชน์จากทักษะนี้สูงสุด

 

  • ประโยชน์ของทักษะ “การอยู่เฉยๆ” ตามแนวคิด Niksen ที่วัดผลได้จริงทางวิทยาศาสตร์

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า การหยุดพักแบบ “Doing Nothing” ตามแนวคิด Niksen มีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตใจอย่างไร? นักวิชาการและนักจิตวิทยาหลายคนได้สรุปข้อดีและประโยชน์ของการฝึกทักษะดังกล่าวมาให้ทราบดังนี้ 

1. ทักษะนี้เป็นเครื่องเตือนใจคนเรา บางครั้งการไม่ทำอะไรเลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ในสถานการณ์อันยุ่งเหยิงนั้น เพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจและร่างกายของเราในระยะยาว

2. ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล เมื่อเราตั้งใจละทิ้งความอยากที่จะ “ทำ” สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเลือกที่หยุดอยู่นิ่งๆ สักพัก มันคือการปลดปล่อยให้ตัวเองได้ผ่อนคลายความเครียด ผลลัพธ์คือมันช่วยเติมพลังใจได้อย่างแท้จริง 

3. ช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ ในทางวิทยาศาสตร์สามารถชี้ชัดได้ว่า การหยุดพักอยู่นิ่งๆ หลังจากเจอความเครียดสูง จะช่วยปรับระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ให้ลดลงได้ และช่วยฟื้นฟูพลังงานและความยืดหยุ่นของร่างกายให้กลับมา อีกทั้งมีบางตำราบ่งชี้ว่า แนวคิด Niksen เป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการอารมณ์และลดความวิตกกังวล

4. Doing Nothing หรือ การไม่ทำอะไรเลยโดยเจตนา สามารถเบรกนิสัย “เสพติดการทำงานมากเกินไป (Addicted to Being Busy)” ซึ่งเกิดจากความวิตกกังวลได้ ในระยะสั้น.. การทำงานมากๆ ทุ่มเทจัดการงานทุกอย่างให้เสร็จในคราวเดียว อาจช่วยให้คุณรู้สึกเหมือนบรรเทาความวิตกกังวลนั้นลงได้ แต่จริงๆ แล้ว การทำแบบนั้นยิ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว ทางที่ดีควรหยุดพักบ้าง เพื่อให้คุณมีสมาธิ และมีความคิดที่เฉียบคมยิ่งขึ้น ดังนั้นการหยุดพักบ้างในบางครั้งก็ทำให้มีพลังกลับมามากกว่าเดิม

5. การหยุดพักตามแนวคิด Niksen ช่วยปรับสุขภาพสมองให้เหมาะสม โดยจะไปเพิ่มทักษะการแก้ปัญหาและความยืดหยุ่นทางปัญญาโดยรวม มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (ตีพิมพ์ในวารสาร Neuron ประจำเดือนสิงหาคม 2023) ชี้ว่า ช่วงเวลาแห่งความเกียจคร้านมีส่วนทำให้เกิดการเปิดใช้งานโหมดเริ่มต้น (DMN) ในสมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการไตร่ตรองตนเองและการบูรณาการข้อมูลใหม่

ทั้งนี้ DMN หมายถึง ส่วนต่างๆ ของสมองที่โดยปกติแล้วจะหยุดทำงาน เมื่อเราเพ่งความสนใจไปที่สิ่งเร้าภายนอก แต่หากเราหยุดสนใจสิ่งเร้าภายนอก (หรือก็คือการพักอยู่นิ่งๆ) “สมองจะเปลี่ยนไปสู่โหมดเริ่มต้น” ซึ่งนำไปสู่กระบวนการคิดไตร่ตรองตนเอง การฝันกลางวันอย่างอิสระ การล่องลอยของจิตใจ การระลึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว และการจินตนาการถึงอนาคต ฯลฯ

กระบวนการทางสมองดังกล่าว ถือเป็นการเสริมสร้างสุขภาพสมองได้ดีที่สุด โดยการส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบประสาทและป้องกันความเหนื่อยล้าทางจิตใจ แถมยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย เนื่องจากช่วยให้จิตใต้สำนึกสามารถประมวลผลข้อมูลและสร้างแนวคิดใหม่ๆ โดยไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดด้วยความเป็นเหตุเป็นผล การไหลของความคิดอย่างอิสระนี้สามารถนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมของคนเราได้