จัดแข่ง เอฟวัน ในไทย เป็นแค่ความฝันหรือเป็นความจริง แล้วมันคุ้มค่าแค่ไหน?
ข้อความสั้นๆที่ ปิติ ภิรมย์ภักดี โพสต์บนช่องทาง Facebook ส่วนตัวกลายเป็นข้อความที่ได้รับความสนใจจากทั้งคอกีฬาและคนกีฬาชาวไทยทั้งประเทศทันที “ไทยจะจัด F1”
“F1” ที่ว่านี้หมายถึง การแข่งขันรถแข่งสูตรหนึ่ง หรือ “ฟอร์มูลาวัน” การแข่งรถที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาล ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากแฟนๆกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ที่มีจำนวนตัวเลขผู้ชมเพิ่มขึ้นทุกปี
ใครบ้างจะไม่อยากดูสุดยอดนักแข่งอย่าง แม็กซ์ แวร์สเตปเพน, ลูอิส แฮมิลตัน, ชาร์ลส์ เลอแกลร์ก, คาร์ลอส ไซนซ์ หรือแม้แต่ไอ้หนุ่มหน้าใสวัย 18 ปีอย่าง โอลิเวอร์ แบร์แมน ที่ได้โอกาสลงแข่งแจ้งเกิดไปในรายการซาอุดีอาระเบีย กรังด์ปรีซ์ เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว
แน่นอนว่าการจัดการแข่งขันระดับโลกอย่างเอฟวันนั้นย่อมเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างทาง แต่การจะเซ็นสัญญาเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก บางครั้งมีเงินอย่างเดียวก็อาจจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดทุกอย่าง
และในอดีตไทยเองก็เคยถูกจับตามองมาแล้วว่ามีโอกาสที่จะได้เป็น เจ้าภาพการแข่งขันF1 ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
คำถามคือแล้วแบบนี้ความฝันในการเป็นเจ้าภาพเอฟวันสักครั้งของไทยจะเป็นความจริงอย่างที่เจ้าพ่อ “สิงห์” บอกไหม แล้วมันมีราคาที่ต้องจ่ายสักเท่าไรกัน
ย้อนรอยความฝันเอฟวันแบบไทยๆ
แนวคิดการเสนอตัวจัดการแข่งขันรถแข่งเอฟวันในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะครั้งหนึ่งเคยมีแนวโน้มว่ามีโอกาสที่เราจะได้เป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 2015
คนที่เป็นผู้บอกเรื่องนี้คือ เบอร์นี เอคเคิลสโตน อดีตประธานฟอร์มูลาวัน ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2012 ถึงโอกาสที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันสุดยอดรถแข่งระดับโลก ในแบบ “ไนต์เรซ” หรือการแข่งแบบกลางคืน ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่สิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2008
“พวกเขาบอกว่าจะจัดในปี 2014 แต่ผมขอบอกว่าปี 2015” เอคเคิลสโตนกล่าวในเวลานั้น “เรื่องนี้จริงจังและทุกอย่างเป็นไปได้ดี”
ในการกล่าวของอดีตบิ๊กบอสของเอฟวันครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีอีเวนต์ใหญ่ในไทยเมื่อปี 2010 เมื่อ มาร์ค เวบเบอร์ นักขับจากทีมเรด บูล ได้มาขับโชว์แฟนเอฟวันในไทยที่ถนนราชดำเนิน โดยที่มีผู้สนใจเข้าชมการขับโชว์สั้นๆถึงกว่า 100,000 คน
รวมถึงอีกครั้งในรายการ “เรซ ออฟ แชมเปียนส์” ซึ่งมี เซบาสเตียน เวทเทิล กับ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ อดีตนักขับระดับแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่มาโชว์ตัวที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน
ย้อนกลับไปในปี 2013 การกีฬาแห่งประเทศไทยเคยเสนอให้จัดการแข่งขันเอฟวันในรูปแบบสตรีทเซอร์กิต ซึ่งจะขับผ่านทิวทัศน์ที่สวยงามของกรุงเทพมหานคร ให้ชาวโลกได้เห็นสถานที่ที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศอย่างพระบรมมหาราชวัง, อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และวัดอรุณราชวราราม
สนามจะมีความยาวทั้งสิ้น 5.995 กิโลเมตร และคาดว่าจะรองรับผู้ชมได้มากถึง 150,000 คน อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวได้หายเงียบไปตามสายลมและกาลเวลา
ไทยจะเป็นเจ้าภาพได้ไหม?
จริงๆแล้วประเทศไหนในโลกก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าภาพของการแข่งขันฟอร์มูลาวันได้ทั้งนั้น ถ้ามีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ่าย
ค่าลิขสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันให้กับทางด้านฟอร์มูลาวัน สนนราคานั้นมีตั้งแต่ 20-57 ล้านดอลลาร์หรือตั้งแต่ 715 ล้านบาท ไปจนถึง 2,000 ล้านบาทต่อปี
โดยที่มูลค่านั้นแปรผันตามระยะเวลาในสัญญาด้วย ยิ่งสัญญาระยะยาวมากขึ้นเท่าไรก็จะต้องจ่ายแพงมากขึ้นเท่านั้น
รายการที่จ่ายค่าสัญญาน้อยที่สุดคือรายการเก่าแก่อย่างโมนาโก กรังด์ปรีซ์ ที่ 20 ล้านดอลลาร์ โดยเหลือสัญญาถึงปี 2025 ส่วนรายการที่แพงที่สุดคือรายการ อาเซอร์ไบจาน กรังด์ปรีซ์ ซึ่งจ่ายเงินสูงถึง 57 ล้านดอลลาร์ และมีสัญญาเหลือถึงแค่ปี 2024 นี้
ส่วนรายการที่ทำสัญญายาวนานที่สุดคือ บาห์เรน กรังด์ปรีซ์ ที่มีสัญญาถึงปี 2036 จ่ายเงินปีละ 52 ล้านดอลลาร์
แต่ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเป็นเจ้าภาพนั้นไม่ได้จบแค่นี้ เพราะยังมีรายจ่ายส่วนอื่นๆอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสนามแข่งไม่ว่าจะเป็นสนามที่เป็นเซอร์กิต หรือสตรีทเซอร์กิต ที่จะต้องทำพื้นถนนให้เหมาะสมสำหรับการแข่งขันในระดับสูงสุด นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างส่วนบังคับการที่จะควบคุมการแข่งขัน ห้องทำงานของสื่อมวลชนจากทั่วโลก ไปจนถึงอัฒจันทร์สำหรับผู้ชมที่จะเข้ามาชมกันอย่างมากมายมหาศาลในหลัก “แสนคน” แน่นอน
สำหรับการแข่งขันที่สิงคโปร์นั้น มีข้อมูลเปิดเผยว่ามีต้นทุนในการจัดราวปีละ 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 4,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนปีละ 90 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2,400 ล้านบาท ที่เหลือคือส่วนที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องไปหาสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน
เพียงแต่เม็ดเงินที่ใช้ตรงนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมินสำหรับไทยในเวลานี้ เพราะยังไม่มีรายละเอียดความชัดเจนว่าหากจะจัดการแข่งขันเอฟวันในบ้านเรา จะใช้สนามแข่งที่ใดกันแน่
ระหว่าง การแข่งF1บนถนนในเกาะรัตนโกสินทร์ ตามแผนเดิมตั้งแต่สิบปีก่อนที่น่าตื่นเต้น และเชื่อว่าจะเป็นภาพที่สวยงามอย่างแน่นอน หรือจะหันไปใช้ สนามแข่งช้าง เซอร์กิต ที่บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสนามแข่งรถแห่งเดียวที่ได้รับการรับรองในระดับมาตรฐานสูงสุด ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างมาก
โดยที่การจะไปให้ถึงเกณฑ์ที่ทางเอฟวันกำหนดไว้เป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และต้องใช้ความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน
ที่อาจจะต้องชวนกันร้องเพลงเลยว่า “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เหมือนว่าไม่มีวัน จะพรากไป (พรากไป) ทำอะไรได้ดังฝันใฝ่ ถ้าเราร่วมใจ จุดหมายที่ฝันกันไว้ ก็คงไม่เกินมือเรา”
สิ่งตอบแทนที่จะได้จากเอฟวัน
สมมติว่าหากทำสำเร็จ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรถแข่งเอฟวันขึ้นมาจริงๆจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง? สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมามีหลายด้านด้วยกัน อาทิ
ด้านการท่องเที่ยว
จะมีแฟนเอฟวันจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทย โดยที่ยังไม่รวมทีมงานรถอีก 10 ทีม, ทีมงานฝ่ายจัดการแข่งขัน, สื่อมวลชน, สปอนเซอร์ ซึ่งจะได้ใช้เวลาร่วมสัปดาห์ในไทย ซึ่งจะได้รับการโปรโมตไปทั่วโลก ผ่านทั้งช่องทางของสื่อ และโซเชียลมีเดียที่ทรงพลัง เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งของโลก
ด้านอุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร
แน่นอนว่าคนเดินทางมาแล้วย่อมมีการใช้จ่ายในเรื่องการท่องเที่ยว ที่พัก การเดินทาง ไปจนถึงเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งไทยเรามีของดีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นร้านระดับอยู่ในมิชลินไกด์ หรือร้านลับอีกมากมาย
สปอนเซอร์และโฆษณา
ด้วยจำนวน eyeball มหาศาล สปอนเซอร์ย่อมสนใจที่จะหาทางอยู่ในสายตาของคนที่เฝ้ารอเอฟวันอยู่แล้ว ทำให้หากเป็นเจ้าภาพเอฟวันแล้วจะมีเม็ดเงินจากสปอนเซอร์และโฆษณาทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค หรือระดับในประเทศที่พร้อมจ่ายไม่อั้นเพื่อช่วงชิงสายตาคนแน่นอน
การจ้างงาน
จะเกิดการจ้างงานชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวนมากสำหรับสตาฟฟ์จัดการแข่งขัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปจนถึงแรงงานต่างๆ
ธุรกิจท้องถิ่น
จำนวนผู้คนมากมายมหาศาลที่ถูกดึงดูดโดยเอฟวัน หมายถึงโอกาสทองสำหรับธุรกิจท้องถิ่นทั้งสินค้าและบริการที่จะได้ต้อนรับผู้คนเหล่านั้น
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน
เพราะการแข่งเอฟวันทุกอย่างต้องได้มาตรฐานสูงสุด นั่นหมายถึงอาจมีการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพิ่มเติมหากยังไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่ง และสิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนมรดกตกทอดให้แก่ประเทศเจ้าภาพด้วย
ทั้งนี้แม้จะไม่มีใครยืนยันได้ว่าการเป็นเจ้าภาพเอฟวันสุดท้ายแล้วจะนำเม็ดเงินมหาศาลหรือเป็นผลดีต่อธุรกิจท้องถิ่นจริงๆหรือไม่ เพราะมีทั้งกรณีศึกษาที่ได้ผลดีอย่างรายการ ไมอามี กรังด์ปรีซ์ ที่มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจท้องถิ่นถึง 449 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ก็มีกรณีของ ลาส เวกัส กรังด์ปรีซ์ รายการน้องใหม่เมื่อปีที่แล้วที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ช่วยให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นสักเท่าไรเหมือนกัน
ถึงอย่างน้อยโอกาสในการจัดการแข่งขันระดับเอฟวัน ก็ถือเป็นเรื่องหอมหวลที่เย้ายวนใจเสมอ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างไทย
สิ่งตอบแทนที่จะได้จากการเป็นเจ้าภาพเอฟวันสักครั้ง (และให้ดีคือหลายครั้ง) อาจไม่ได้หมายถึงแค่เม็ดเงินที่จะกลับมาอย่างเดียว
ภาพลักษณ์ที่ดีและสวยงาม เรื่องราวที่ตราตรึงทั้งที่เกิดในสนามหรือนอกสนามแข่ง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้
ดังนั้นคุ้มหรือไม่ อยู่ที่ใครมองเรื่องนี้อย่างไรมุมไหนมากกว่า
อ้างอิง