หาดูยาก! เผยโฉย 'รองเท้านารีคางกบใต้' เทพธิดาความรัก บนเขาหลวง
หาดูยาก! เผยโฉย "รองเท้านารีคางกบใต้" หรือรองเท้านารีม่วงสงขลา เทพธิดาแห่งความรักและความงาม กล้วยไม้ป่าบนอุทยานแห่งชาติเขาหลวง พร้อมเปิดรายชื่อรองเท้านารีที่พบในประเทศไทย
เผยโฉย "รองเท้านารีคางกบใต้" หรือรองเท้านารีม่วงสงขลา กล้วยไม้ป่าหาดูยากบนอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ทำไมกล้วยไม้ถึงได้ชื่อว่า "รองเท้านารี"
สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum) เป็นพันธุ์ไม้ประเภทกล้วยไม้ ได้ตั้งสกุลนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน มาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ Paphia หมายถึงเทพธิดาแห่งความรักและความงาม และ pedilon หมายถึงรองเท้าของผู้หญิง ซึ่งหมายถึงลักษณะกลีบดอกที่เป็นถุงลึกคล้ายรองเท้า พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทำความรู้จักรองเท้านารีคางกบใต้
- รองเท้านารีม่วงสงขลา หรือ รองเท้านารีคางกบใต้ 𝘗𝘢𝘱𝘩𝘪𝘰𝘱𝘦𝘥𝘪𝘭𝘶𝘮 𝘣𝘢𝘳𝘣𝘢𝘵𝘶𝘮 (Lindl.) Pfitz.
- วงศ์ ORCHIDACEAE
ลักษณะทั่วไปของรองเท้านารีคางกบใต้
ใบรูปขอบขนานเรียงสลับระนาบเดียว ด้านบนของใบมีลายคล้ายลายหินอ่อน ดอกเดี่ยว กว้าง 5 เซนติเมตร สีม่วงแดง ก้านดอกยาวกว่าใบ
ใบประดับดอกรูปหอก กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปหอกกลับ ส่วนปลายสีขาวและมีเส้นสีม่วงอมเขียวเรียงขนานกัน กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมกัน มีขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงบน กลีบดอกรูปแถบปลายแหลมสีขาว ที่ขอบด้านบนมีตุ่มนูนขนาดเล็ก กลีบปากเป็นถุงลึกสีม่วง
สถานที่พบรองเท้านารีคางกบใต้
พบในแถบอินโดจีนไปจนถึงตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมาเลเซีย ส่วนของประเทศไทยพบได้ในพื้นที่ป่าเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500-700 เมตร หรือมากกว่านั้น
เท่าที่เคยพบมา มีทั้งที่ป่าเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนสันเย็น ในเขต อุทยานแห่งชาติเขานัน รอยต่อนครศรีธรรมราชกับสุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่
รองเท้านารีในประเทศไทย
ตามรายงานในประเทศไทยพบรองเท้านารีชนิดต่าง ๆ ดังนี้
- รองเท้านารีคางกบคอแดง (P. appletonianum var. wolterianum)
- รองเท้านารีม่วงสงขลา หรือรองเท้านารีคางกบภาคใต้ (P. barbatum)
- รองเท้านารีฝาหอย (P. bellatulum)
- รองเท้านารีคางกบ, รองเท้านารีคางกบคอขาว หรือ รองเท้านารีไทยแลนด์ (P. callosum)
- รองเท้านารีดอยตุง (P. charlesworthii)
- รองเท้านารีเหลืองปราจีน หรือรองเท้านารีเหลืองกาญจน์ หรือรองเท้านารีเหลืองอุดร (P. concolor)
- รองเท้านารีเชียงดาว (P. dianthum)
- รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (P. exul)
- รองเท้านารีอินทนนท์ลาว (P. gratrixianum)
- รองเท้านารีขาวชุมพร (P. godefroyae)
- รองเท้านารีเหลืองตรัง หรือรองเท้านารีเหลืองพังงา (P. godefroyae var. leucochilum)
- รองเท้านารีเหลืองเลย (P. hirsutissimum var. esquirolei)
- รองเท้านารีอินซิกเน่ (P. insigne)
- รองเท้านารีขาวสตูล (P. niveum)
- รองเท้านารีเมืองกาญจน์ (P. parishii)
- รองเท้านารีปีกแมลงปอ หรือ รองเท้านารีสุขะกุล (P. sukhakulii)
- รองเท้านารีขาวพังงา หรือ รองเท้านารีไทย (P. thaianum)
- รองเท้านารีอินทนนท์ (P. villosum)
- รองเท้านารีช่องอ่างทอง (P. × ang-thong) บ้างพิจารณาเป็นลูกผสมธรรมชาติ บ้างถือเป็นชนิด บ้างถือเป็นชนิดย่อยของ รองเท้านารีขาวชุมพร
- รองเท้านารีเกาะช้าง (P. × siamense) เป็นลูกผสมธรรมชาติ ระหว่างรองเท้านารีคางกบคอขาว และรองเท้านารีคางกบคอแดง
อ้างอิง-ภาพ : หนังสือคู่มือกล้วยไม้ (สลิล สิทธิสัจจธรรม) , ฝ่ายศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ,กล้วยไม้เมืองไทย, รศ.ดร. อบฉันท์ ไทยทอง, สำนักพิมพ์บ้านและสวน , วิกิพีเดีย