'ชาป่า' การ rebranding ใหม่ของ 'เหมี้ยงล้านนา'

'ชาป่า' การ rebranding ใหม่ของ 'เหมี้ยงล้านนา'

กระแสดื่ม "ชาป่า" จากต้นชาที่เกิดเองในธรรมชาติกำลังมาแรง มีราคาสูงกว่าใบชาจากไร่ชาที่คนปลูก สนนราคาหลักพันบาทต่อ 100 กรัม ในไทยเองก็มีต้นชาป่าซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นแต่เดิม แต่คนล้านนาเรียกว่า ต้นเหมี้ยง (เมี่ยง)

KEY

POINTS

  • "ชาป่า" ไม่เป็นที่รู้จักนัก ทั้งที่คนไทยรู้จักและดื่มชาตามแบบจีนมานานแล้ว ถึงขนาดมีการทำไร่ชาบนดอยทางภาคเหนือ แต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักน้ำชาจากใบชาป่าสักเท่าไหร่
  • สิบสองปันนาขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งชาป่าหรือต้นชาโบราณที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะ ชาผู่เออร์ เป็นชาที่พบบนที่ราบสูงทิเบต มีราคาสูง เพราะขนส่งลำบาก
  • ขณะที่ไทยเองก็พบว่ามีชาป่าอยู่ไม่น้อย ซึ่งมีในป่ามายาวนานแล้ว แต่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ใบเหมี้ยง" ปัจจุบันถูก Rebranding เป็น "ชาป่าออร์แกนิค" ที่ดีต่อสุขภาพ พลิกโฉมให้ขายได้ราคาสูง

​กระแสดื่ม "ชาป่า" หรือใบชาที่ได้มาจากต้นชาในป่าธรรมชาติกำลังเติบโตอย่างเงียบๆ ปัจจุบันมีสินค้าใบชาจากต้นชาธรรมชาติในป่าจำหน่ายมากขึ้นด้วยสนนราคาแพงกว่าชาไร่หรือชาปลูก ลองเสิร์ชที่จำหน่ายออนไลน์ มีหลายระดับ เฉลี่ย 1 ขีด (100 กรัม) อยู่ที่ 200-500 บาท ยังมีที่อัพเกรดขึ้นไปขายแพงกว่านั้นเป็นหลักพันบาทก็มี

​ย้อนหลังกลับไปสินค้าชาป่าไม่เป็นที่รู้จักนัก ทั้งที่คนไทยรู้จักและดื่มชาตามแบบจีนมานานแล้ว ต่อมามีไร่ชาปลูกบนดอยภาคเหนือ เช่นที่แม่สลองก็เริ่มปลูกกันมาแต่เริ่มตั้งชุมชนจีนฮ่อ ชาที่ใช้ดื่มกันส่วนใหญ่เป็นชาปลูกตามฝรั่ง ซึ่งได้เริ่มพัฒนาการปลูกไร่ชาในยุคอาณานิคมก่อนสงครามโลกเสียอีก สินค้าชาทั้งชาแบบจีนและชาฝรั่งในตลาดยุคก่อนส่วนใหญ่เป็นชาปลูกทั้งสิ้นทั้งปลูกในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

​ชาในป่าก็มีเส้นทางของเขามายาวนานเช่นกัน เพียงแต่แวดวงคนดื่มชาของไทยมีจำกัด จึงไม่เป็นที่รับรู้กว้างขวาง

\'ชาป่า\' การ rebranding ใหม่ของ \'เหมี้ยงล้านนา\'

​​สิบสองปันนา แหล่งชาป่าหรือต้นชาโบราณที่สำคัญระดับโลก

ชาป่า เป็นที่รู้จักของวงการชาระดับโลก ในญี่ปุ่นชาป่าธรรมชาติ  เรียกว่า Yamacha (山茶, หรือ mountain tea/ ชาภูเขา ) ราคาที่โน่น 1 ขีด 100 กรัม เท่าๆ กันคิดเป็นเงินบาทไทยหลายพันบาท ส่วนที่จีนนั้น มีการจำแนกชาประเภทต่างๆ จัดระบบและศึกษาศาสตร์ด้านนี้มายาวนาน ชาป่า ที่จัดว่าแพงมากๆ คือ ต้นชาโบราณอายุเป็นร้อยปี ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Camellia sinensis var. assamica ในเขตสิบสองปันนา

​สิบสองปันนาขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งชาป่าหรือต้นชาโบราณที่สำคัญ ชาที่นั่นต้นใหญ่ชนิดที่เวลาเก็บเกี่ยวต้องปีนขึ้นไปเก็บ สมัยโบราณชาสิบสองปันนาโดยเฉพาะที่เมืองผู่เออร์โด่งดังมาก เพราะเป็นแหล่งส่งออกไปยังทิเบตผ่านเส้นทางม้าต่างไต่ภูเขาขึ้นไป ชาจากผู่เออร์เป็นชาที่พบบนที่ราบสูงทิเบต มีราคาสูงเพราะขนส่งยากลำบาก เขาจึงคิดค้นวิธีนึ่งก่อนและทำให้แห้งอัดเป็นแผ่นเป็นแท่งเพื่อให้ขนส่งได้ง่าย และขนส่งได้จำนวนมาก เวลาบรรทุกบนหลังม้าจะสูงท่วมหัว 

ว่ากันว่าราคาชาผู่เออร์มีราคามากกว่าทองคำ เพราะคนทิเบตจำเป็นต้องดื่มชา เป็นองค์ประกอบการย่อยอาหารที่มีเส้นใยขนาดใหญ่ ชาจึงไม่ใช่แค่เครื่องดื่มหากเป็น "อาหารยา" จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมหลังคาโลก ในยุคต่อมาเมื่อการคมนาคมดีขึ้น ชาป่านึ่งและอัดแห้งจากผู่เออร์ก็ขายได้น้อยลง หันไปจับตลาดท่องเที่ยวบ้าง แต่สำหรับต้นชาโบราณขนาดใหญ่ในป่า หรือ  野生茶 ก็ยังเป็นชาที่ได้รับความนิยมอยู่ดี เพราะได้รับการยกให้เป็นชาชั้นดีมีตลาดเฉพาะกลุ่ม

ในเวียดนามและลาวเหนือ มีต้นชาป่าโบราณมากมายเป็นแหล่งใหญ่ของภูมิภาค กลายเป็นแหล่งส่งออกผลผลิตชาป่าไปยังตลาดจีน-ญี่ปุ่น พื้นที่ไหนมีต้นชาโบราณคนที่นั่นจะรักษาดูแลอย่างดี หากมีชื่อเสียงมากถึงขนาดมีคนต่างถิ่นเดินทางไปเยี่ยมชม ได้รับผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวอีกทาง

\'ชาป่า\' การ rebranding ใหม่ของ \'เหมี้ยงล้านนา\'

'ชาป่า' ในประเทศไทยมีมานานแล้ว แต่บ้านเราเรียกว่า 'ต้นเหมี้ยง'

​ที่จริงแล้วคนไทยโดยเฉพาะคนภาคเหนือ มีต้นชาป่ามากมายมาแต่เดิม เพราะอยู่ในเขตความสูงและภูมิอากาศเดียวกับสิบสองปันนา เวียดนาม สปป.ลาว แต่คนเหนือล้านนาไม่ได้เรียกว่าต้นชา หากเรียกกันว่า "ต้นเหมี้ยง" หรือ "เมี่ยง"  

​ต้นเหมี้ยงหรือเมี่ยง ที่แท้คือชาสายพันธุ์อัสสัมที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในเขตป่าที่สูงบนดอย คนล้านนาทางเหนือรู้จักคุณประโยชน์มาแต่โบราณ พื้นที่ไหนมีต้นชาป่าเยอะเขาจะเรียกว่าป่าเหมี้ยงหรือป่าเมี่ยง ดังนั้นศัพท์คำนี้จึงกลายเป็นชื่อชุมชน หรือ ชื่อหมู่บ้านตำบลมากมายในภาคเหนือ มีชื่อบ้านป่าเมี่ยง ดอยป่าเมี่ยง ซ้ำๆ กันหลายพื้นที่

\'ชาป่า\' การ rebranding ใหม่ของ \'เหมี้ยงล้านนา\'

​คนเหนือไม่ได้ดื่มชา แต่เขาเก็บใบเหมี้ยง (ใบเมี่ยง) มาทำผลผลิตอื่นเรียกว่า “เหมี้ยง” ที่หมายถึงใบชาหมัก ผ่านขั้นตอนนึ่ง ปรุงรส หมัก และบรรจุใส่กระทงหรือเข่งเล็กๆ วางขายปลีกในตลาดเพื่ออมเล่น

​ในยุคก่อนต้นเหมี้ยงมีราคาดี เพราะเขาเอามาผลิตเป็นเหมี้ยงหมัก อาหารพื้นเมืองส่งขายแคบๆ คนในภูมิภาคนี้รู้จักเทคนิคเหมี้ยงหมักเอาใบชามานึ่งก่อนแล้วหมักมายาวนาน ในพม่าปัจจุบันก็ยังนิยมนำมารับประทานเล่น รวมถึงทำอาหารประเภทยำ ส่วนในล้านนากลับตีบตันลง คล้ายๆ กับความนิยมกินหมากพลูที่น้อยลง ใบชาจากต้นเหมี้ยงประสบปัญหาขายไม่ออกอยู่ระยะหนึ่ง จนมีผู้เข้าไปติดต่อนำไปจำหน่ายในรูปของ "ชาป่า" ที่มีมูลค่าสูงกว่าเหมี้ยงหมักแบบเดิมหลายเท่า

\'ชาป่า\' การ rebranding ใหม่ของ \'เหมี้ยงล้านนา\'

Rebranding เหมี้ยงเดิมๆ ให้กลายเป็น "ชาป่าออร์แกนิค"

การค้าขายในลักษณะนี้จึงเป็นความสมประโยชน์แบบ win-win ระหว่างตลาดชาป่ายุคใหม่ กับชาวบ้านเจ้าของป่าเหมี้ยงบนดอย หากใช้ศัพท์การตลาดยุคใหม่มาจับอาจบอกว่า นี่เป็นการให้นิยามความหมายของสินค้าใหม่ หรือ Rebranding เหมี้ยงแบบเดิมให้กลายเป็น "ชาป่าออร์แกนิค" ที่ดีต่อสุขภาพ ราคาดีกว่ากันหลายเท่า ทั้งยังเป็นภาพลักษณ์ใหม่เชื่อมกับตลาดชาระดับโลก

​ปัจจุบันต้นชาป่าในภาคเหนือที่เป็นป่าเหมี้ยงของชาวบ้านเดิมน่าจะถูกระบบการตลาดยุคใหม่เข้าไปเชื่อมโยงรับซื้อสินค้าแทบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีต้นชาป่าธรรมชาติที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ของรัฐ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ที่หลงหูหลงตา ชาป่าโบราณจริงๆ อายุเป็นร้อยปีนั้น ไม่ได้มีแค่ยอดอ่อนหรือใบชาเท่านั้นที่ขายได้ ตัวของมันเองยังมีค่าทางการท่องเที่ยว ดึงดูดคนไปเยี่ยมชม จะมีผลดีต่อชุมชนใกล้เคียงอีกทอดหนึ่ง

\'ชาป่า\' การ rebranding ใหม่ของ \'เหมี้ยงล้านนา\'

​ทราบว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพบกลุ่มต้นชาโบราณที่บนดอยแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก ได้สำรวจป่าชาโบราณบริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก ต.ปางหินฝน พบว่ามีมากถึง 750 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางร่วม 2 เมตร รายงานเบื้องต้นคาดว่าเป็นชากลุ่ม Camellia sinensis var. taliensis เนื่องจากมียอดอ่อนสีแดง และมีรายงานพบในเทือกเขาในมณฑลหยุนหนานของจีนเท่านั้น ซึ่งจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ย่อมถือเป็นกลุ่มต้นชาป่าโบราณที่น่าสนใจอีกพื้นที่หนึ่ง มีที่ศักยภาพต่อยอดได้อีกหลายประการ

​ต้นเหมี้ยงล้านนา ที่แทบจะหมดราคาในเชิงเศรษฐกิจในยุคหนึ่ง แต่กลับมีอนาคตสดใสในชื่อเรียกใหม่ สอดรับกับเทรนด์บริโภคเพื่อสุขภาพ

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ