ดอยหลวง ไฟป่า ชีวมณฑล ระเบียงดาว และเด็กดื้อ กับเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ดอยหลวง ไฟป่า ชีวมณฑล ระเบียงดาว และเด็กดื้อ เปิดภาพรวมสถานการณ์ "ดอยหลวงเชียงดาว" จะไปถึงเป้าหมายเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ระดับโลกอย่างไร?
ป่าดอยหลวงเชียงดาวเพิ่งได้รับประกาศยกย่องเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล Biosphere Reserve แห่งล่าสุดของไทยเมื่อ 2564 ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ได้รับการประกาศยกย่องจาก UNESCO จำนวน 5 แห่ง สำหรับพื้นที่ 4 แห่งก่อนหน้าประกอบด้วย
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2519
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2520
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2520
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2540
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว และ พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวได้จัดประชุมถอดบทเรียนไฟป่าเหลียวหน้าแลหลังฝ่าวิกฤติฝุ่นควัน ในวงนอกจากการพูดถึงปัญหาไฟป่าไฟลามและปัญหาผลกระทบแล้ว ประเด็นที่มองไกลออกไปคือ อนาคตของดอยหลวงเชียงดาวและพื้นที่รอบๆ ผู้เขียนได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรแสดงความเห็น พยายามมองไปข้างหน้าให้ไกลออกไป
สิ่งนี้คือความเห็น.. ทั้งที่ได้นำเสนอในวงและอยากนำเสนอเพิ่มต่อสาธารณะ โดยขอแบ่งเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้
ประเด็นแรก - พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่
รัฐไทย คือหน่วยงานราชการของไทยไม่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับสถานะ “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” อันเป็นการยกย่องจาก UNESCO อย่างที่ควรเป็น ทั้งที่เรามีพื้นที่ธรรมชาติที่ได้รับการยกย่องมาก่อนถึง 4 แห่ง เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว แต่สาธารณะกลับไม่รู้จักสถานที่ดังกล่าวเท่าที่ควร รวมถึงชื่อ “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” ก็ไม่คุ้นหู ต่างจากคำว่า “มรดกโลก” ที่กว้างขวางกว่า โด่งดังและดึงดูดให้เข้าไปเที่ยวเยี่ยมชมมากกว่า
อาจเป็นเพราะว่า หน่วยงานหลักที่ดูแลพื้นที่สงวนชีวมณฑลคือหน่วยงานอนุรักษ์ด้านป่าไม้ บวกกับสถานะของพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ประกาศ หากไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งก็คือพื้นที่อนุรักษ์นั่นล่ะที่เป็นสถานะหลัก มิติอื่นตามแนวปรัชญาของ Biosphere Reserve เช่น การเชื่อมโยงกับคน กับชุมชน กิจกรรมเศรษฐกิจยั่งยืน ฯลฯ ต่างถูกระเบียบภารกิจและงบประมาณของระบบราชการไทยจำกัดอยู่ ขณะที่หน่วยงานอื่น เช่น จังหวัด อทป. ททท. ที่จะเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนเพื่อขยายความรับรู้ ก็เข้าไปดำเนินการไม่ได้ (ด้วยระเบียบราชการที่ว่า)
เอาเข้าจริงกฎหมายที่ใช้ในพื้นที่สงวนชีวมณฑล (และการบริหารจัดการพื้นที่สงวนฯ ถูกบังคับให้ใช้) ถูกเขียนมาเพื่อการเฉพาะของเขตรักษาพันธุ์สัตว์หรือไม่ก็อุทยานแห่งชาติ ดังนั้นการบริหารดำเนินการของพื้นที่สงวนฯ จึงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่แทบไม่มีกิจกรรมหรืองบประมาณรองรับโดยตรง
ต่อให้ได้รับสถานะมา แต่ก็ไม่มีกิจกรรม ไม่มีข่าวสารประโคมเป็นพิเศษ หรืออาจจะไม่อยู่ในนโยบายหลักในแต่ละช่วงเวลาด้วย คนไทยจึงไม่คุ้นเคยกับสถานะของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดังที่กล่าวมา
ดอยหลวงเชียงดาว ได้รับสถานะพื้นที่สงวนชีวมณฑลมาสวมเพิ่มเข้าไป น่าจะเป็นดอยหลวงนี่ล่ะที่ทำให้สังคมรู้จักสถานะของพื้นที่สงวนชีวมณฑลกว้างขวางขึ้นในสื่อสาธารณะ จากที่เงียบเหงามาตลอดในรอบ 40 ปี
ไหนๆ ก็มีสถานะใหม่เพิ่มเข้ามาให้แล้วก็สมควรจะถือโอกาสนี้ทบทวนและมองไปข้างหน้าไกลๆ อะไรคือวิสัยทัศน์ของเชียงดาวนับจากนี้
ประเด็นที่สอง - ความขัดแย้ง !
ก็เพราะเชียงดาวมีแสงในตัวเอง ดอยหลวงเชียงดาวจึงแตกต่างไปจากพื้นที่สงวนชีวมณฑล 4 แห่งที่เป็นรุ่นพี่ เชียงดาวมีความโด่งดังและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญด้วยตัวเองมาก่อน และคนก็แห่กันขึ้นดอยหลวงมานานแล้ว จนกระทั่งมีการจัดระบบระเบียบการเดินขึ้นเขา วิธีการ จำนวนคน เป็นเรื่องเป็นราวในระยะหลัง ขณะที่รอบๆ ดอยหลวงก็มีธุรกิจการท่องเที่ยวใหม่ๆ มากมายเข้ามาตั้ง ระดับที่มีวิลล่าหลังละกว่าหมื่นบาทต่อคืนก็มี ดอยหลวงเชียงดาวสามารถรับท่องเที่ยวได้ตลอดปี และเริ่มขยายมุมการมองเห็นดอยไปทุกด้านทั้งทิศเหนือ-ใต้-ออก-ตก แบบเดียวกับที่พักรอบๆ ภูเขาไฟฟูจิที่ญี่ปุ่น
ประเด็นของความเป็นดาวฤกษ์มีแสงในตัวเองของเชียงดาวก็คือ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนในป่าที่ประกอบหรือขยายทำโฮมสเตย์กับเจ้าหน้าที่ป่า จากสมัยก่อนโน้นที่เคยมีแห่งแรกคือบ้านระเบียงดาว ที่บ้านนาเลาใหม่ ก็ได้มีกิจการทำนองเดียวกันอีกหลายที่รอบๆ ดอยหลวงเชียงดาว รวมทั้งชุมชนที่อยู่ในเขตป่าและมีปัญหาขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์คาราคาซังมานาน
เรื่องเหล่านี้มันคาราคาซังมานานพอสมควรก่อนแล้ว !
หลัง คสช.ใหม่ๆ มีนโยบายทวงคืนผืนป่าเคยมีการจับกุมและรื้อถอนโฮมสเตย์ จากนั้นก็มีข่าวการเจรจาและจัดระเบียบหลายรอบ จนล่าสุดหลังสงกรานต์ 2567 ที่มีเหตุไฟป่าไหม้หลายจุดในเขตดอยหลวงเชียงดาว จนทำให้อธิบดีกรมอุทยานฯ มีคำสั่งปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว เพื่อแก้ปัญหาไฟไหม้ รวมถึงการลักลอบของเถื่อนต่างๆ และปัญหาจัดระเบียบโฮมสเตย์
ปรัชญาแนวคิดของพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มุ่งพัฒนาเขตอนุรักษ์อย่างยั่งยืนระหว่างนิเวศกับมนุษย์ มีพื้นที่ core zone อนุรักษ์อย่างเข้มข้น พื้นที่กันชน buffer zone ที่อนุญาตให้มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมถึงพื้นที่เชื่อมโยง transition zone คล้ายๆ กับการจัดการมรดกโลก ซึ่งหากใช้กรอบที่ว่ามาสวมเข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่จริง ชุมชนหมู่บ้านในเขตป่าน่าจะจัดอยู่ใน buffer zone ที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยว การพักแรมได้ ภายใต้แนวทางอนุรักษ์
ซึ่งเวลานี้แนวทางดังกล่าวก็ดำเนินอยู่ แต่ยังไม่สุด !! กล่าวคือ กรมอุทยานฯ เองก็ยังไม่คลอดกฎหมายลูกระเบียบต่างๆ รองรับสิทธิทำกินหรือประกอบอาชีพตามมาตรา 121 (รับรองสิทธิ) รวมถึงระเบียบปฏิบัติการทำโฮมสเตย์กิจการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ทยอยบังคับใช้ ไล่ตามหลังความเติบโตด้านการท่องเที่ยว
มันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมาเป็นระยะๆ ตอนที่เจ้าหน้าที่จับกุมไล่รื้อโฮมสเตย์เมื่อปี 2561-2562 ในปีนั้นเกิดไฟป่ามากมายที่ดอยหลวงเชียงดาว ขนาดลามขึ้นยอดดอยซึ่งมันเป็นการสูญเสียใหญ่ของชาติทีเดียว โชคดีที่ไฟไม่ไปทำลายพืชพรรณเปราะบางบนยอด ทำให้สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่หากโชคไม่ดี ไฟในครั้งนั้นจะกลายเป็นไฟหายนะที่ทำลายพืชพรรณเฉพาะถิ่นกึ่งหิมาลัยที่มีอยู่แค่แห่งเดียวของประเทศไทยให้หายไปตลอดกาล
ไฟที่เชียงดาวมีหลายสาเหตุ ซึ่งก็รวมถึงเคยมีไฟที่แกล้งจุดจากความไม่พอใจ ไฟสะท้อนความโกรธแค้น แม้หลายชุมชนคนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ก็ยังเกิดมีเด็กดื้อแอบจุดไฟลักษณะที่ว่าเป็นไฟที่ไม่ควรเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟที่จุดเพื่อต่อรองโดยใช้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป
ประการที่สาม - ภาพอนาคต
อำเภอเชียงดาว มีทรัพยากรและต้นทุนดั้งเดิมที่อุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมมาก สำหรับการสถาปนาแหล่งท่องเที่ยว ecotourism destination ระดับโลก ต้องยอมรับว่าการที่จะไปถึงขั้นดังกล่าวไม่ได้เพราะยังติดปัญหาระเบียบขั้นตอนการบริหารจัดการภายใน
ทั้ง ททท. ทั้งจังหวัดก็อยากพัฒนาให้เชียงดาวเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งปรัชญาของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็อยากเห็นการเชื่อมโยงแหล่งอนุรักษ์กับเศรษฐกิจยั่งยืนซึ่งก็ไม่หนีไปจาก ecotourism และเศรษฐกิจสีเขียวของมนุษย์และนิเวศดอยหลวง แต่จนบัดนี้ เป้าหมายร่วมกันของแต่ละฝ่ายยังไม่เกิดขึ้น สมควรที่จะต้องให้เกิดมี Master Plan ขึ้นมาสักแผนหนึ่ง ที่ฉายภาพร่วมกันให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในเขตพื้นที่มองเห็นด้วย
ไหนๆ ก็ได้ตราของ UNESCO มาแล้ว ไปต่อให้ถึงเป้าหมายพื้นที่ท่องเที่ยวสีเขียวเชิงอนุรักษ์ระดับโลกเลยไหม ?
ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสังคมวิถีชีวิตโดยรวมเท่านั้น เศรษฐกิจชุมชนระดับชาวบ้านอาจจะแก้ความขัดแย้งดั้งเดิม รวมถึงปัญหาไฟเกษตร ไฟป่า ไฟลักลอบ ไฟขัดแย้ง ได้ด้วย
ที่ปัญหายังไม่จบสิ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะแต่ละฝ่ายยังมองไม่เห็นเป้าหมายไกลๆ เอาแค่กรมอุทยานเองก็ยังอยู่ระหว่างการสร้างกฎกติการะเบียบภายใน ในเมื่อรัฐเองยังไม่รู้ว่ากฎจะออกมาหน้าตาแบบไหน ประชาชนก็ยังต้องรอคอย
ปัญหาสำคัญของระบบราชการไทย คือ ระเบียบใครระเบียบมัน พื้นที่ใครพื้นที่มัน อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่เอกสารสิทธิ์นิดเดียวที่เหลือเป็นป่า และป่าก็มีกฎระเบียบของตน ระเบียบของฝ่ายป่าที่เปิดให้ทำกิจกรรมก็มี เช่น กฎหมายที่จะรับรองสิทธิ์ทำกิน ระเบียบที่จะรับรองการประกอบกิจการโฮมสเตย์ ฯลฯ แต่มันยังล่าช้าทำให้ฝ่ายอื่น เช่น จังหวัด ททท. หรือหน่วยงานอื่นที่สมควรจะมาร่วมด้วยช่วยกันทำดอยเชียงดาว ซึ่งเพิ่ง (อุตส่าห์) ได้รับสถานะเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศ ควรจะมีภาพรูปธรรมวิสัยทัศน์ทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าที่กำลังเป็นอยู่
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ