รู้จัก Cool Japan! .ต้นแบบ Soft Power ไทย
คึกคักอย่างยิ่งสำหรับงาน THACCA SPLASH จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. เพื่อตอกย้ำนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลไทย รวมคนจากสายอาชีพต่างๆ และเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่อย่างมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายนี้ส่วนหนึ่งมอง Cool Japan! เป็นต้นแบบ ซึ่งอยู่ในธนูดอกที่ 3 ของอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) แผนปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ ฟื้นตัวจากสองทศวรรษที่สูญหาย
อันที่จริงแล้วก็มอง Cool America เป็นต้นแบบอีกทีหนึ่ง เป็นการกลับมาส่งออกเสน่ห์วัฒนธรรมป็อบญี่ปุ่น (Pop culture) สู่ตลาดโลกอีกครั้ง มองเห็นศักยภาพของภาคการบริการต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการผลิตเริ่มชะลอตัว
Cool Japan! ครอบคลุมกว้างตั้งแต่แอนิเมชัน มังงะ เกม ภาพยนตร์ ซีรีส์ละคร แฟชั่น อาหารเครื่องดื่ม ผักผลไม้ กีฬา ท่องเที่ยว วัฒนธรรมการกินการใช้ชีวิต ค่านิยมต่างๆ หรือการออกแบบสไตล์มินิมอล เป็นต้น
หลายคนยังจำรุ่นบุกเบิกได้ อาทิ เพลง J-POP สินค้า Character อย่าง Hello Kitty, Sanrio เกม Pokemon, Super Mario การ์ตูน Doraemon หนังยอดมนุษย์อย่าง Ultraman ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่ตาย
เหมือนกับ Mickey Mouse, Donald Duck, Toy Story ของ Waltz Disney รวมทั้งหนังฮอลลีวูด ขณะที่กระบวนการผลิตสื่อมีเดียยุคใหม่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ ช่วยลดต้นทุนการผลิต โซเชียลมีเดียก็ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
เดิมทีญี่ปุ่นเรียกวงการนี้ว่า อุตสาหกรรมเนื้อหา (content industry) ธุรกิจจะรอดหรือตายแข่งขันกันที่เนื้อหา ไม่ใช่แค่ความบันเทิงแบบฉาบฉวย
จุดแข็งสำคัญของนโยบายคือ การผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วน ทั้งรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐ ผู้ผลิตสินค้าและบริการ สมาคมวิชาชีพ สถาบันการศึกษา ฯลฯ
มีเป้าหมายชัดเจนมุ่งตรง (concentrate) ไปที่เสน่ห์ความเป็นญี่ปุ่นผสมผสานได้กับความเป็นสากล ไม่นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นแบบทะเล่อทะล่าหรือบีบบังคับ และอาศัยการสร้างความกลมกลืนโดยไม่รู้ตัว
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือ สไตล์การทำงานของญี่ปุ่นที่ต่างจากอเมริกา ญี่ปุ่นจะใช้โปรดักชันเฮ้าส์และผู้กำกับเป็นศูนย์กลาง รวบรวมมืออาชีพด้านต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันและผลิตผลงานออกมา เช่น สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli)
ขณะที่บริษัทของอเมริกานั้นจะใช้บริษัทเอาต์ซอร์สข้างนอกหลายๆ แห่งทำแล้วค่อยเอามาประกบรวมกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่ญี่ปุ่นส่งออกวัฒนธรรมชนชั้นกลางที่เป็นสากลข้างต้น ญี่ปุ่นกลับอนุรักษ์รากอารยธรรมเก่าแก่ไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ละครโนห์ คาบูกิ เคียวเง็น ราคุโกะ (ใส่ยูกาตะเดี่ยวไมโครโฟน) รวมทั้งโรงละคร Takarazuka ที่มีนักแสดงหญิงล้วน บทผู้ชายหรือโอะโตะโกะยาคุนั้นมีแฟนคลับล้นหลาม ตั๋วเต็มตั้งแต่นาทีแรก
คนต่างชาติเข้าถึงวัฒนธรรมขั้นสูงเหล่านี้ได้ยากยิ่ง เพราะซื้อตั๋วไม่ทัน มีรับจ้างต่อคิวซื้อและตั๋วผีออนไลน์ แต่ไม่ได้ใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือส่งออก กลับอนุรักษ์และใช้เป็นทูตทางวัฒนธรรมมากกว่า
กระทรวงการคลังออกสรุปผลงานครบรอบ 10 ปีของกองทุนความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อผลักดันนโยบาย Cool Japan! ที่เริ่มในปี 2557 พบว่าดำเนินการทั้งหมด 62 โครงการ ยุติไปแล้ว 19 โครงการ ขาดทุนสะสมกว่า 3.09 หมื่นล้านเยน (หรือ 7.1 พันล้านบาท)
กล่าวว่ารัฐบาลมีหน้าที่ผลักดันนโยบาย ปลดล็อกกฎระเบียบที่ไม่เอื้อ แต่ไม่ควรแทรกแซง เพราะบริษัทเอกชนต้องแข่งขันได้เองในระดับสากล คอนเท้นต์คุณภาพจริงเท่านั้นที่จะอยู่รอด อย่างไรก็ดี มีมุมมองว่าแม้จะขาดทุนแต่ผลพลอยได้จากการสร้างกระแสก็คุ้มค่า
ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ จึงประกาศกลยุทธ์ New Cool Japan ลงทุนเพิ่มอีก 4 เท่าจากของเดิมเพื่อผลักดันนโยบายนี้ต่อไปจนถึงปี 2576
โดยจะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมที่มีความเสี่ยงระยะกลางและยาวที่เกินความสามารถของภาคเอกชน การจัดอีเวนต์ทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อ reboot ญี่ปุ่นใหม่อีกครั้ง
หันกลับมาที่ไทยนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (อาทิ ดีทรอยต์ออฟเอเชีย ครัวไทยสู่ครัวโลก ศูนย์กลางแฟชั่นเมืองร้อน) ตามด้วยนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งด้วยนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
โดยมีคุณพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาของทั้ง 3 นโยบายนี้ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสร้างงานที่ดี (decent work) ที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของคนไทย
หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากสองทศวรรษที่สูญหาย อาจต้องพิจารณาธนู 3 ดอกของอาเบะโนมิกส์ว่ายังต้องปรับโครงสร้างอะไรอีก
ทั้งนี้ สิ่งที่สัมผัสได้เหมือนกันในทุกประเทศคือ วงการ Soft Power เต็มไปด้วยคนที่มีแพชชั่น หลงใหลในงานของตนเอง ซื่อสัตย์ต่ออาชีพที่ต้องการให้ความบันเทิง ความสุข และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คน มาคอยติดตามผลงานของคนไทยที่จะออกสู่ตลาดโลกกันเถอะค่ะ
ดูเพิ่มเติมได้ใน การประกอบการระหว่างประเทศ: ร้านอาหารไทยและอาหารแปรรูปในอาเซียน.