มรดกอาเบะโนมิกส์ (1/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

มรดกอาเบะโนมิกส์ (1/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

การจากไปอย่างไม่คาดฝันของอดีตนายกฯ “ชินโซ อาเบะ” สร้างความเศร้าสลดให้กับคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ เป็นข่าวช็อกสะเทือนขวัญผู้คนทั่วโลก แม้จะจากไปแต่ผลงานยังเหลือไว้ในความทรงจำ

โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกกล่าวขานตลอด 8 ปีของการดำรงตำแหน่งคือ อาเบะโนมิกส์ (Abe+economics) ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เลียนแบบเรแกนโนมิกส์ของสหรัฐ ในทศวรรษ 1980

แนวคิดนี้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์และตำราเรียนของคนญี่ปุ่น และเป็นกรณีศึกษาของฮาร์วาร์ด บิซิเนสสคูล มีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จึงขอนำมาบอกเล่าใหม่อีกครั้ง เพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยในครั้งนี้

ชินโซ อาเบะ” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในเดือน ธ.ค. 2555 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำถึงขั้นโคม่า มีอัตราการเติบโตติดลบตลอดสองทศวรรษที่สูญหาย กระทั่งแต่งตั้งฮารุฮิโกะ คุโรดะ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเขาครองตำแหน่งนี้เพิ่งจะครบรอบ 2 สมัย (10 ปี) เมื่อไม่นานมานี้เอง ก็ได้นำเอานโยบายอาเบะโนมิกส์มาใช้

มรดกอาเบะโนมิกส์ (1/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

อาเบะ ประกาศนโยบายนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 โดยพูดว่า “เขาจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น by my Abenomics” หวังหลุดพ้นวงจรเศรษฐกิจตกต่ำที่กลืนกินญี่ปุ่นมานาน และเพิ่มพูนความมั่งคั่ง

ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงเกินร้อยละ 3 แก้ปัญหาเงินฝืด สินค้าราคาตกต่ำ อัตราการว่างงานที่สูง เพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ และเพื่อต้านทานพลังของจีนที่ผงาดแข็งกร้าวทางเศรษฐกิจและการเมือง นำเอาคำขวัญในยุคเมจิกลับมาใช้ ที่ว่า “สร้างเศรษฐกิจร่ำรวย สร้างกองทัพเข้มแข็ง (Fukoku Kyouhei)

นโยบายอาเบะโนมิกส์ ประกอบด้วย ลูกธนู 3 ดอก คือ มาตรการการเงิน มาตรการการคลัง และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สองนโยบายแรกดำเนินการโดยรัฐบาลเข้าแทรกแซงเพิ่มปริมาณเงินในระบบ รวมทั้งอัดฉีดค่าใช้จ่ายภาครัฐ หวังให้หลุดจากกับดักเงินฝืด ส่วนนโยบายที่สามเป็นหน้าที่ภาคเอกชนและแรงงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตทะยานและยั่งยืนในระยะยาว

  • ธนูดอกที่ 1 มาตรการการเงิน โดยมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็นร้อยละ 2 เพิ่มกำไรของภาคเอกชน และเพิ่มค่าจ้าง ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ภาคเอกชนมีกำไรเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นนิกเคอิพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กลับสู่ระดับเศรษฐกิจเฟื่องฟูก่อนฟองสบู่แตกปี 2547 อีกครั้ง 

มรดกอาเบะโนมิกส์ (1/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

(ภาพถ่ายโดย Satoshi Hirayama)

  • ธนูดอกที่ 2 มาตรการการคลัง อาเบะเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นขั้นบันไดจากร้อยละ 38 เป็น 35 และ 30 ตามลำดับ ซ้ำยังกล้าหาญชาญชัยขึ้นภาษีการขาย (shohizei) หรือภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ในปี 2557 ต่อมาขึ้นเป็น 10% ในปี 2562

เปลี่ยนผ่านจากยุคเฮเซ สู่ เรวะ เพื่อค้ำจุนภาระค่าใช้จ่ายด้านการดูแลผู้สูงอายุในยุคสูงวัยระดับสุดยอด (ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 21 ของประชากรรวม) ที่หนักอึ้ง และหนี้สาธารณะที่ญี่ปุ่นสั่งสมมานานถึงร้อยละ 226 ต่อจีดีพี ติดอันดับต้นๆ ของโลกในขณะนั้น ขณะที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าแตะ กลัวเสียคะแนนนิยม

  • ธนูดอกที่ 3 การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นการจ้างงานและการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก แบ่งเป็นมาตรการขึ้นค่าจ้าง แรงงานหญิง แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานต่างชาติ และแรงงานหนุ่มสาว ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง พนักงานไม่ประจำหรือพนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นสูงมาก (เทียบกับแรงงานนอกระบบของไทย แต่ญี่ปุ่นมีกฎหมายรองรับ)

เริ่มจากการปฏิรูประบบค่าจ้าง อาเบะมิได้สะทกสะท้านต่อแรงกดดันของภาคธุรกิจที่ต้องการกดค่าจ้างให้ต่ำ บีบบังคับให้บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นจับเข่าคุยกับสหภาพแรงงานเพื่อขึ้นค่าจ้าง หลังจากที่ไม่ได้ขึ้นมานาน นายจ้างมักอ้างเหตุผลว่าหากค่าจ้างสูง ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาจะลดลง และค่าจ้างมีอาถรรพณ์อย่างหนึ่งคือ “ขึ้นแล้วลงไม่ได้” ยื้อยุดฉุดกันนาน แต่หลังจากขึ้นค่าจ้าง กงหมุนวงล้อเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อน เกิดการจับจ่ายใช้สอย ย้อนแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

ด้านแรงงานหญิง อาเบะโด่งดังเป็นพลุแตกภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นกับคำว่า “เศรษฐกิจพลังผู้หญิง” หรือ วีเมนโนมิคส์ (womenomics) นโยบายนี้ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดของญี่ปุ่น ที่ต่ำเตี้ย 1.5 ช็อก ตัวเลขบ่งบอกอัตราการเกิดของเด็ก 1.5 คนต่อหญิงวัยเจริญพันธ์ุ 1 คน 

สะท้อนจำนวนประชากรที่จะเริ่มลดลงอย่างทวีคูณ ซึ่งของไทยถึงระดับ 1.5 ช็อก ตั้งแต่ปี 2547 ญี่ปุ่นหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลชีวิตกับการทำงาน และเชิดชูบทบาทของสตรี หวังพึ่งแรงงานหญิงที่มีการศึกษาสูงทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน

สามนโยบายย่อยสำคัญในเรื่องนี้ คือ

  1. การเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทั้งภาคการเมืองและภาคธุรกิจ รัฐมนตรีหญิงในสมัยอาเบะมีสัดส่วนสูงกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ในภาคเอกชนบริษัทชั้นนำต่างกำหนดสัดส่วนกรรมการหญิงและผู้บริหารระดับสูงหญิงเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 30 ภายในปี 2563) ขณะเดียวกัน ยูริโกะ โคะอิเคะ ผู้ว่าฯ กรุงโตเกียวหญิงคนแรก ได้รับเลือกตั้งแลนด์สไลด์สองสมัยติดต่อกัน ถือเป็นดอกผลจากวีเมนโนมิกส์นี้ เธออยู่พรรค LDP เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกในรัฐบาลอาเบะสมัยที่หนึ่ง อาเบะเชื่อว่าต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเติบโตอย่างเฉพาะเจาะจง (target growth) มิใช่โตเองตามธรรมชาติ (organic growth)
  2. ตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กที่รอเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กให้เหลือศูนย์ การขาดพี่เลี้ยงเด็กและสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นปัญหาหนักอกมานาน อาเบะโนมิกส์สานฝันของคุณแม่ทำงานลูกอ่อน ให้ทำงานได้อย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ภายในปี 2560 สถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐาน พี่เลี้ยงเด็กที่ได้รับการฝึกฝนมีประกาศนียบัตรรับรอง (hoikushi) มีเพิ่มขึ้นจนเพียงพอ ไม่ต้องเฝ้ารออีกต่อไป
  3. การมอบ Kurumin Mark หรือเครื่องหมายผ้าห่มเด็กทารก ให้กับองค์กรหรือบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงเพื่อติดข้างโลโก้สินค้าให้ผู้บริโภคได้รับรู้ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ชายลาคลอด (ช่วงก่อนและหลังภรรยาคลอด) ยกเลิกทำงานโอทีดึกๆ เพื่อให้คุณพ่อมีเวลาไปรับลูกที่โรงเรียน

การ์ตูนชื่อดังเรื่อง Ikumen (ล้อเลียนคำว่า Ikemen แปลว่าหน้าตาหล่อเหลา มาจากคำว่า ikuji เลี้ยงลูก+men ผู้ชาย) ออกวางขายเป็นซีรีส์ เพื่อสอนวิธีเลี้ยงลูกให้คุณพ่อมือใหม่ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงลาเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุด 3 ปี (ลาแบบได้ค่าจ้างตามสัดส่วน) โดยนายจ้างห้ามปฏิเสธรับกลับเข้าทำงาน

บทความตอนจบจะกล่าวต่อถึงธนูดอกที่ 3 ในส่วนอื่นๆ ผลลัพธ์ที่เกิดกับญี่ปุ่นและตัวอาเบะเอง

คอลัมน์ บทความพิเศษ
รศ.ดร.เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ) 
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์