รู้จัก 'ขนมหนวดมังกร' สำรับของชนชั้นสูงแห่งราชสำนักจีนโบราณ
ทำความรู้จัก "ขนมหนวดมังกร" หรือ "ขนมไหมฟ้า" ไม่เพียงเสน่ห์ด้านรูปลักษณ์ที่คล้ายรังไหม และลีลาการยืดสะบัดในถังแป้ง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่มีมานานกว่า 2,000 ปี ถือเป็นสำรับนำเข้าจากราชสำนักจีนที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน
ใครเคยอ่านนิยายจีนโบราณ คงคุ้นกับชื่อ "ขนมหนวดมังกร" ที่มีการบรรยายถึงความขาวเหมือนก้อนรังไหม เส้นฝอยละเอียดขดเป็นก้อนกลมขนาดพอดีคำ ปัจจุบันกลายเป็นขนมที่ชวนตื่นตาตื่นใจกับลีลาการยืดจนเป็นเส้นเล็กๆ จำนวนหลายร้อยเส้น ซึ่งในประเทศไทยมีการตั้งโต๊ะทำขายในย่าน "เยาวราช" หรืองานอีเวนต์ใหญ่ๆ ตามศูนย์การค้าชื่อดังทั่วประเทศ
สำรับของชนชั้นสูงแห่งราชสำนักจีน
"ขนมหนวดมังกร" สันนิษฐานกันว่า เริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น หรือราวๆ 2,000 ปีที่แล้ว ไม่ใช่ของกินที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถหาทานได้ เพราะเป็นสำรับโบราณที่ทำถวายองค์จักรพรรดิและชนชั้นสูงในวังเท่านั้น โดยต้นเครื่องที่กำกับครัวของหวานต้องมีความชำนาญอย่างสูง เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องใช้ทักษะการยืดเส้นจนเป็นเส้นบางๆ นับหมื่นๆ เส้น
ต่อมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมโดยขบวนการ "ยุวชนแดง" มีการถอนรากถอนโคนวัฒนธรรม โดยห้ามแสดงออกหรือประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ฮั่น ซึ่ง "ขนมหนวดมังกร" ก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้ขนมชนิดนี้ค่อยๆ หายไป จากนั้นค่อยๆ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่กระจัดกระจายไปทั่วโลกแทน
สำหรับชื่อ "ขนมหนวดมังกร" ในภาษาจีนคือ 龍鬚糖 (ตัวเต็ม) หรือ 龙须糖 (ตัวย่อ) อ่านตามสำเนียงจีนกลางว่า "หลงซูถัง" แปลตรงตัวว่า น้ำตาลหนวดมังกร คำว่า "หลง" คือมังกร แต้จิ๋วอ่านว่า เล้ง/เล่ง เป็นสัตว์มงคลของจีน แสดงถึงพลังอำนาจ ความเจริญรุ่งเรือง ความยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญอดทน จึงเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระจักรพรรดิ ส่วน "ถัง" คือน้ำตาล อย่างถังหูลู่ ผลไม้เคลือบน้ำตาลที่หลายคนรู้จักกันดี ปัจจุบันขนมหนวดมังกรมีหลายชื่อตามแต่จะเรียกกัน ไม่ว่าจะเป็น ไหมเงิน ไหมขาว ไหมจีน ไหมฟ้า และ Dragon's Bard Candy ในชื่อภาษาอังกฤษ
'ขนมหนวดมังกร' กับขั้นตอนอันเป็นมงคล
เมื่อลงลึกถึงขั้นตอนในการทำ "ขนมหนวดมังกร" แต่ละขั้นตอนมีความมงคลซ่อนอยู่ ยกตัวอย่างการกวนน้ำผึ้งกับแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเหนียว และข้าวโอ๊ต ที่แสดงถึงความอบอุ่น ผูกพัน กลมเกลียว หรือขั้นตอนการยืดให้เป็นเส้น แสดงถึงสุขภาพที่ดีอย่างไม่มีขอบเขตและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน และเมื่อยืดจนได้เส้นเรียวสวยดุจเครามังกรแล้ว ก็จะถูกแบ่งในสัดส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งหมายถึงความเท่าเทียมที่ทุกคนจะกินโดยทั่วกัน ส่วนไส้ที่เพิ่มเข้าไปในเครามังกร ไม่ว่าจะเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์ งาขาว และถั่วลิสง เปรียบได้กับ "ทองคำ" ที่เป็นสมบัติล้ำค่าของจักรพรรดิ ช่วยเสริมสิริมงคล และความร่ำรวยเงินทอง เป็นต้น
ปัจจุบัน "ขนมหนวดมังกร" กลายเป็นเมนูที่ชวนตื่นตาน่าสนใจตามย่าน ไชน่าทาวน์ ของมหานครต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เทศกาลตามถนนสายต่างๆ งานออกร้านตามห้างชื่อดัง นอกจากนั้นยังถือเป็น "ขนมมงคล" ที่นิยมใช้เป็นของว่างในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เทศกาลตรุษจีน เป็นต้น
How to กินให้อร่อยและวิธีการเก็บ
ขนมชนิดนี้ เมื่อทำเสร็จใหม่ๆ จะมีความนุ่มพริ้ว กินแล้วละลายในปาก สักพักจะเช็ตตัว เส้นจะออกแข็งๆ หนึบๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของขนมหนวดมังกร
สำหรับวิธีการกินให้อร่อยคือ กัดหรืออมทั้งคำให้เส้นน้ำผึ้งละลายในปากสักพักแล้วค่อยเคี้ยวไส้ เพราะถ้าเคี้ยวเลยขนมจะติดฟันเกินไป หากอยากกินแบบละลายในปากทันที ต้องกินตอนทำเสร็จใหม่ๆ เท่านั้น
ถ้ายังไม่กินในทันที ให้รีบนำขนมเข้าตู้เย็น (อยู่ได้นานสุด 3 เดือน) แต่ถ้าไม่แช่เย็นและเปิดกล่องกินแล้ว ขนมจะอยู่ได้ 1-3 วัน จากนั้นจะละลายและแข็งตัวเป็นก้อน
"ขนมหนวดมังกร" หาซื้อได้ที่ไหนบ้าง?
ขนมหนวดมังกร หรือ ขนมไหมฟ้า ถือเป็นศิลปะที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญที่ละเอียดอ่อน จึงหาคนสืบทอดได้ยาก ปัจจุบันมีตั้งโต๊ะและทำขายกันไม่มีเจ้า เรารวมมาให้เป็นตัวเลือก ดังนี้
- ขนมหนวดมังกร เยาวราช ซ.เท็กซัส
- โรงขนมหนวดมังกรขอนแก่น
- ร้าน ร.ต.อักษร เที่ยงตรง (ตลาดบ้านใหม่ 100 ปี จังหวัดฉะเชิงเทรา)
นับเป็นอีกหนึ่ง "ขนมโบราณ" ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งไม่เพียงรสชาติที่หวานนุ่มละมุนลิ้น แต่ขนมหนวดมังกรยังแฝงไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนที่มีมานานกว่า 2 สหัสวรรษ
ข้อมูลอ้างอิง