เทรนด์ Coffee Badger มาแทนที่ Quiet Quitting ทำไมพนักงานสนใจงานน้อยลง?

เทรนด์ Coffee Badger มาแทนที่ Quiet Quitting ทำไมพนักงานสนใจงานน้อยลง?

เทรนด์การทำงาน Coffee Badger หรือ Coffee Badging เคยมีมาก่อนหน้านี้สักพักแล้ว แต่นับวันก็ยิ่งมาแรง จนอาจแซง Quiet Quitting เมื่อพนักงานเน้นเข้าออฟฟิศมาดื่มกาแฟ คุยงานสั้นๆ แล้วกลับบ้านไปทำงานต่อ

KEY

POINTS

  • มีพนักงานเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีส่วนร่วมในงานและออฟฟิศ ในขณะที่พนักงาน 50% ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในงาน และที่เหลืออีก 16% ขาดการมีส่วนร่วมในงานอย่างจริงจัง
  • เทรนด์การทำงานแบบ Coffee Badger หรือ Coffee Badging สะท้อนภาพของการที่พนักงานจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในงานน้อยลง เข้ามาออฟฟิศมากินกาแฟ คุยงานสั้นๆ แล้วกลับบ้านไปทำงานต่อ
  • พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในออฟฟิศนานๆ ทั้งวันของวัยทำงานยุคนี้ มีเหตุปัจจัยซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

ช่วงหลังการระบาดใหญ่โควิด-19 โลกการทำงานเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด องค์กรธุรกิจพยายามฟื้นตัวกลับมาให้เร็ว บริษัทหลายแห่งมีนโยบายให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเต็มเวลาเหมือนเดิมในช่วงหลายปีมานี้ จนเห็นแนวโน้มการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มสูงขึ้น แม้พนักงานจะเข้าออฟฟิศมากขึ้นใกล้เคียงกับช่วงยุคก่อนโควิด แต่กลับพบว่าการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงานลดลง

ตามผลสำรวจของ Gallup ในปี 2023 ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า ปัจจุบันมีพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีส่วนร่วมในงานและสถานที่ทำงาน ในขณะที่พนักงานประมาณ 50% ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในงานเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากวิวัฒนาการของเทรนด์การทำงานที่เรียกว่า "Quiet Quitting" และที่เหลืออีก 16% ขาดการมีส่วนร่วมในงานอย่างจริงจัง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับบอกว่า เทรนด์ Quiet Quitting ซึ่งหมายถึงการทำงานตามหน้าที่ไปวันๆ ไม่ทุ่มเทให้งานแบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่รับงานเกินหน้าที่ ไม่แฮปปี้กับงานแต่ไม่ลาออก ฯลฯ กลายเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานยุคหลังการระบาดใหญ่อย่างชัดเจนที่สุด

แต่มากไปกว่านั้น ล่าสุด.. ก็เกิดเทรนด์ใหม่ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกับ Quiet Quitting ขึ้นมา นั่นคือ Coffee Badger หรือ Coffee Badging สะท้อนภาพของการที่พนักงานจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในงานน้อยลง กล่าวคือ พวกเขาพยายามทำงานน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเลี่ยงการเป็นจุดสนใจของเจ้านายหรือผู้จัดการ 

Coffee Badger หรือ Coffee Badging คืออะไร?

ลักษณะเด่นของการทำงานแบบ Coffee Badging ก็คือ การเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศเพื่อไปดื่มกาแฟสักแก้ว และคุยงานหรือประชุมสั้นๆ เวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือใช้เวลาทำงานในออฟฟิศสักครู่เพื่อให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า "เห็นหน้าบ้าง" มันอาจหมายถึงการดื่มกาแฟขณะคุยงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือดื่มระหว่างเข้าร่วมการประชุมงาน แต่หลังจากนั้นก็ออกไปทำงานของตนจากระยะไกล หรือทำงานจากที่บ้านให้เสร็จ

เชื่อไหมว่ามีพนักงานทำแบบนี้จำนวนไม่น้อย ยืนยันจากผลสำรวจของ Owl Labs ในปี 2023 ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รายงานว่า มีพนักงานแบบไฮบริดมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 58% ที่ยอมรับว่าตนเองเข้าไปออฟฟิศแค่แป๊บเดียว แล้วออกจากออฟฟิศทันทีที่คุยงานหรือประชุมเสร็จ 

ด้าน เดวิด แซตเตอร์ไวท์ (David Satterwhite) ซีอีโอของ Chronus บริษัทซอฟต์แวร์ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการมีส่วนร่วมของพนักงาน สะท้อนมุมมองของเขาว่า “พนักงานคุ้นเคยกับความยืดหยุ่นในการทำงานจากที่บ้าน และอาจมาที่ออฟฟิศเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น การจะบังคับให้พวกเขากลับเข้าสำนักงานแบบเดิมๆ เหมือนยุคก่อนนั้นเป็นเรื่องยากเกินไป”

ขณะที่ โรเจอร์ ฮอลล์ (Roger Hall) นักจิตวิทยาด้านธุรกิจจากเมืองบอยซี รัฐไอดาโฮ กล่าวว่า แนวโน้มการเกิดพฤติกรรมข้างต้นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าการทำงานเสมือนจริงนั้นง่ายขึ้นมากเพียงใด และพนักงานจำนวนมากรู้สึกไม่ผูกพันกับงานมากขึ้น

“เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างง่ายๆ มนุษย์ก็จะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นอีกเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ” เขากล่าว

พฤติกรรม Coffee Badging ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น แต่มีเหตุมาจากพนักงานเชื่อมโยงกับงานมากเกินไป

นักจิตวิทยาด้านธุรกิจ อธิบายอีกว่า พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในออฟฟิศนานๆ ทั้งวันของวัยทำงานยุคนี้ มีเหตุปัจจัยซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 พนักงานต้องเชื่อมโยงกับงานมากขึ้นผ่านออนไลน์ ทั้งการประชุม การแจ้งเตือนงานผ่านแพลตฟอร์มสื่อสารต่างๆ ซึ่งเกิดการทวงงาน คุยงาน แทบจะตลอดเวลา จนกระทบกับสมาธิในการทำงาน

จากการศึกษาใหม่ของ Unily พบว่าพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศเกือบ 50% มีภาวะอาการสมาธิสั้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกครึ่งชั่วโมง และเกือบ 1 ใน 3 มีสมาธิสั้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 15 นาที

ฮอลล์กล่าวว่า “การถูกรบกวนแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเพื่อให้กลับมามีสมาธิในระดับลึกอีกครั้ง ลองคำนวณดูว่า หากการถูกรบกวนเกิดขึ้นทุกๆ 15 นาที นั่นก็แปลว่า ไม่มีใครมีสมาธิในระดับลึกเลยตลอดทั้งวัน เมื่อทำงานไปจนสิ้นสุดวัน สมองของเราก็จะถูกใช้งานจนหมด ผลที่ตามมาคือ เราทำงานได้น้อยลง ซึ่งนั่นก็ส่งผลกระทบทั้งผลิตผลในงานและสุขภาพ”

Gallup พบว่าพนักงานที่ไม่ค่อยจะมีส่วนร่วมในงาน หรือขาดการมีส่วนร่วมในงานอย่างจริงจัง ทำให้สูญเสียผลผลิตไปประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วประเทศ

พนักทำงานไม่อยากเสียเวลาอยู่ที่ออฟฟิศมากขึ้น

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ พนักงานคนไหนเข้าออฟฟิศทำงานทั้งวัน หรือคนไหนเข้ามาแป๊บเดียวแล้วออกจากออฟฟิศเร็วกว่าเวลาเลิกงานเท่านั้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาขาดแรงจูงใจและความสนใจในงาน” เดวิด แซตเตอร์ไวท์ ให้ความเห็น

งานวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า พนักงานจะมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น เมื่อพวกเขามีโอกาสในการพัฒนา เรียนรู้ เป็นที่ปรึกษา และพัฒนาอาชีพการงาน ดังนั้น หากพวกเขาขาดโอกาสเหล่านี้ก็นำมาซึ่งพฤติกรรมขาดการมีส่วนร่วมในงานตามไปด้วย ซึ่งหนึ่งในอาการที่แสดงออกมาให้เห็นก็คือ Coffee Badging (ไม่อยากอยู่ออฟฟิศนานๆ) สะท้อนถึงปัญหาร้ายแรงที่อาจจะตามมา

แม้ว่าพนักงาน 56% จะมองว่าตัวเองมีความทะเยอทะยาน แต่ 47% กลับไม่เน้นความก้าวหน้าในอาชีพการงานเลย ตามผลสำรวจ Workmonitor ประจำปี 2024 ของ Randstad ซึ่งได้ทำการสำรวจพนักงาน 27,000 คนทั่วโลก

รายงานระบุว่าในปัจจุบัน พนักงานมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน เวลาที่ยืดหยุ่น และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตมากขึ้น และมีพนักงานเพียงไม่กี่คนที่ต้องการใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศนานกว่าที่เป็นอยู่

ซานเดอร์ ฟาน นูร์เดนเด้ (Sander van’t Noordende) ซีอีโอของ Randstad กล่าวกับ CNBC ว่า เราเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบไฮบริดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการระบาด และผู้คนต่างไม่ต้องการละทิ้งสิ่งนี้ไป มีพนักงานจำนวนไม่น้อย (37%) บอกว่า พวกเขาจะพิจารณาลาออกจากงานหากนายจ้างขอให้พวกเขาใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศมากขึ้น และ 39% ยื่นคำขาดขอทำงานจากที่บ้านบ้างในบางวัน (ทำงานแบบไฮบริด) และเป็นสิ่งที่นายจ้างไม่สามารถต่อรองได้