เทรนด์ทำงาน Coffee Badging ซีอีโอเผยช่วยเพิ่ม Productivity ให้พนักงานได้
เทรนด์การทำงาน Coffee Badging อาจมาแรงต่อเนื่องในปี 2024 เมื่อซีอีโอของ Owl Labs มองว่าวิธีนี้ช่วยให้พนักงานมีประสิทธิผลดีขึ้น เพราะบริษัทจ้างคนมาทำงานให้เสร็จ ไม่ใช่จ้างมาให้ถูกเฝ้าต้องเข้าออฟฟิศ
ไม่นานมานี้ มีเทรนด์ทำงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า “Coffee Badging” ซึ่งหมายถึงการทำงานรูปแบบหนึ่งที่คล้ายกับการทำงาน “Hybrid work” หรือการทำงานได้ทั้งจากออฟฟิศ(ทั้งวัน) และทำจากที่บ้าน(ทั้งวัน)ผสมผสานกันไป แต่จุดที่แตกต่างออกไปคือ Coffee Badging จะเป็นลักษณะที่พนักงานเข้าออฟฟิศชั่วครู่ชั่วคราว นานพอที่จะได้ “ดื่มกาแฟ” ยามเช้ากับเพื่อนร่วมงาน คุยงานกันเล็กน้อย ก่อนจะกลับไปทำงานต่อที่บ้านให้เสร็จ ไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศทั้งวัน
ที่ผ่านมาบางคนอาจมองว่าการทำงานแบบ Coffee Badging เป็นการอู้งาน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่! โดยมีคำอธิบายจาก “แฟรงค์ ไวเชาพต์” ซีอีโอของ Owl Labs ผู้ผลิตอุปกรณ์การประชุมทางวิดีโอในบอสตัน ระบุว่า เทรนด์การทำงานดังกล่าวไม่ใช่การอู้งานหรือขี้เกียจ แต่มันคือวิถีการทำงานแบบยืดหยุ่นอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง
ทำไมซีอีโอบางคนสนับสนุนเทรนด์ทำงาน Coffee Badging ?
ไวเชาพต์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารองค์กรมากกว่า 20 ปี ทั้งในบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็ก และบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Yahoo กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้พนักงานสร้างตารางเวลางานที่เหมาะกับพวกเขาเอง ในสถานที่ที่สมเหตุสมผลและสะดวกต่อการทำงาน ไม่ว่าจะทำที่บ้าน ที่ออฟฟิศ ที่เวิร์กกิ้งสเปซอื่นๆ ฯลฯ ทั้งยังเปิดกว้างและยอมรับกับเทรนด์ Coffee Badging ด้วย
เขาบอกว่า กลยุทธ์การทำงาน Coffee Badging ควรเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชาทุกแห่ง เมื่อพนักงานได้รับประโยชน์จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศแล้ว หลังจากนั้นหากพนักงานขอแยกออกไปทำงานต่อให้เสร็จที่อื่น แล้วมันได้ประสิทธิผลที่ดี ก็ควรปล่อยให้พวกเขาทำไป
“เราจ้างคนมาทำงานให้เสร็จ ไม่ได้จ้างคนมาเพื่อให้เราคอยเฝ้าพวกเขาทำงาน อย่าเข้าใจผิด ผมเองก็ชอบให้พนักงานมีส่วนร่วมในสำนักงานซึ่งมันมีประโยชน์แน่นอน แต่ผมต้องการให้มันเกิดขึ้นโดยสมัครใจ ไม่ต้องบังคับ” ไวเชาพต์ กล่าว
ผลสำรวจชี้ การให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงาน ช่วยให้พวกเขามีประสิทธิผลมากขึ้น
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Coffee Badging เป็นการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจให้พนักงานได้ ยืนยันจากการศึกษาของ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ได้สำรวจความเห็นในหมู่พนักงานดิจิทัลมากกว่า 10,000 คนทั่วโลกในปี 2021 พบว่า 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นช่วยให้พวกเขามีประสิทธิผลมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลสำรวจบางชิ้นพบด้วยว่า นายจ้างส่วนใหญ่ก็ต้องการทำงานจากที่บ้านมากเท่ากับที่พนักงานของตนทำ อ้างอิงจากผลสำรวจพนักงานและผู้จัดการชาวอเมริกัน 3,000 คนจากบริษัทซอฟต์แวร์ Checkr
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการทำงานแบบ Coffee Badging หรือแม้แต่แบบ Hybrid work อาจถูกจริตกับบริษัทขนาดเล็กมากกว่าบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon หรือ Disney ที่ยังคงประกาศใช้นโยบายให้พนักงานเข้ามาทำงานออฟฟิศเป็นหลัก เพราะมองว่าพนักงานจะเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกันและมีประสิทธิผลมากขึ้น ก็ต่อเมื่อเข้าออฟฟิศเท่านั้น
คำแนะนำจากซีอีโอถึงซีอีโอ ควรยืดหยุ่นเวลาเข้างานในออฟฟิศหรือไม่?
ขณะที่ ซีอีโอของ Owl Labs มีคำแนะนำต่อผู้นำองค์กรคนอื่นๆ ด้วยว่า การกำหนดนโยบายให้พนักงานว่าต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศมากน้อยแค่ไหน นั่นขึ้นอยู่กับเนื้องานของแต่ละองค์กรมากกว่า ผู้นำต้องเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตนเอง และทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับสถานที่ทำงานที่มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงของใครของมัน แน่นอนว่าทุกคนต้องเข้าออฟฟิศมาประชุมหรือหารืองานร่วมกันบ้าง มันคือสิ่งจำเป็น แต่หลังจากนั้นใครจะอยู่ทำงานต่อที่ออฟฟิศหรือจะกลับไปทำงานต่อที่บ้าน ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นได้
“การให้พนักงานเข้าออฟฟิศนั้นมีบทบาทสำคัญจริง แต่การบังคับว่าต้องต้องเข้ามาในสำนักงานในวันนี้ เวลานี้ และอย่าออกไปเร็วกว่าเวลานี้ นั่นเป็นแนวคิดคร่ำครึที่ตายไปแล้ว การสอดส่องเวลาเข้าออกออฟฟิศของพนักงานเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง บริษัทอาจสูญเสียความไว้วางใจจากพวกเขา” ไวเชาพต์ ให้ความเห็นทิ้งท้าย