ขอทำงานน้อยลง ลดเงินเดือนก็ได้! เทรนด์การทำงาน เพื่อชีวิตแฮปปี้ มีเวลามากขึ้น

ขอทำงานน้อยลง ลดเงินเดือนก็ได้! เทรนด์การทำงาน เพื่อชีวิตแฮปปี้ มีเวลามากขึ้น

เปิดเทรนด์“Frugality” รูปแบบการทำงานแบบใหม่ของยุคนี้ เมื่อพนักงานเลือกทำงานน้อยลง เพื่อที่จะมีเวลาใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น โดยยอมแลกกับค่าจ้างที่ลดลง

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของคนทั้งโลกไปอย่างสิ้นเชิง จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลง “ตลาดงาน” ในยุคปัจจุบัน ไล่มาตั้งแต่ การลาออกครั้งใหญ่ หรือ “The Great Resignation” ที่มีทั้งออกไปเพราะติดใจการ work from home จนไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศ ไปจนถึงที่คิดว่าการทำงานแบบเดิมไม่ตอบโจทย์แล้ว เลยแห่กันลาออก แต่ก็มีพนักงานส่วนหนึ่งที่พอออกไปจริง ๆ แล้วพบว่าไม่ได้ดีอย่างที่คิด ก็เลยเกิดเทรนด์ “Boomerang Employees” คือพนักงานเก่าที่ลาออกไปแล้วกลับมาทำงานที่เดิม  

ขณะเดียวกัน ในหมู่คนรุ่นใหม่ ก็เกิดเทรนด์ย้ายงานบ่อยๆ เพื่ออัปเงินเดือน หรือ “Job Hopper” ส่วนที่ยังอยู่ ไม่ออกไปไหน ก็หาทาง “อยู่” ในรูปแบบที่โอเคกับชีวิตมากขึ้น เช่น เทรนด์ “Quiet Quitting” หมายถึงการทำงาน “แค่” ตามขอบเขตการรับผิดชอบและจะไม่ทำมากกว่านั้น!  ขณะที่ฝั่ง “นายจ้าง” ก็ไม่น้อยหน้า มาพร้อมกับเทรนด์ “Quiet Firing” หรือการบีบให้ออกจากที่ทำงานไปอย่างเงียบ ๆ 

ล่าสุด! ได้เกิดเทรนด์ใหม่ในโลกของการทำงานขึ้นอีกครั้ง คือ การขอเลือกรับค่าแรงที่น้อยลง เพื่อแลกชั่วโมงการทำงานที่ลดลง เรียกว่า “Frugality” ซึ่งแปลตรงตัวว่าประหยัด อดออม

แม้ว่ารายได้จะลดลง จนต้องประเมินเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างรอบคอบ รัดเข็มขัดยิ่งขึ้น ละทิ้งการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยบางส่วน แต่ก็ได้ “เวลา” ในการใช้ชีวิตกลับมา ซึ่งพวกเขามองว่า “คุ้มค่า” กับเงินที่เสียไป 

 

ยกตัวอย่าง มารี เครสปิน พนักงานฝ่ายบุคคลวัย 31 ในฝรั่งเศส ที่เดิมทีมีรายได้เดือนละ 2,300 ยูโร แต่เธอยอมที่จะใช้ชีวิตอย่างประหยัดมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องทำงานที่เคร่งเครียดด้วยรายได้ที่ลดลงเหลือ 1,600 ยูโรต่อเดือน

แม้ว่าเธอจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านได้น้อยลง แถมยังหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองใส่แทนเสื้อผ้าแบรนด์เนม แต่เมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานที่ลดลงจาก 40 ชั่วโมง ครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 20-25 ชั่วโมงเท่านั้น “งานไม่ควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ การมีเวลาทำในสิ่งที่คุณต้องการคือความสุขสบายที่แท้จริงในทุกวันนี้”

แนวโน้มของทัศนคติพนักงานเปลี่ยนไปตั้งแต่ที่มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น รวมถึงความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่แม้ว่าจำนวนชาวอเมริกันที่สมัครใจออกจากงานในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาจะลดลง แต่ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดยุคโควิด-19 ขณะที่การเปิดรับสมัครงานอยู่เกือบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากการสำรวจในเดือนก.ค. โดยเว็บไซต์หางานออนไลน์ FlexJobs พบว่าเกือบสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถาม ยินดีจะลดค่าจ้าง เพื่อปรับปรุงสมดุลชีวิตการทำงานและการทำงาน

ซีลีน มาร์ตี ผู้เขียนหนังสือ “Working Less to Live Better” และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sciences Po ในฝรั่งเศส กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนตระหนักว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต พวกเขาสามารถใช้จ่ายน้อยลง ซื้อน้อยลง และไม่ต้องทำงานหนักเพื่อใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย”

  • ลดเงินเดือนแลกความสุข

อัตราเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้คนจำนวนมากไม่มีทางเลือกต้องทำงานหลายชั่วโมงและรับจ๊อบเสริมหลายแห่ง เพื่อหาเงินให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้นและมั่นคง กลับตัดสินใจลดเงินเดือนลงเพื่อลดภาระงาน

เจอโรม เลอเมย์ ช่างเทคนิคโทรคมนาคมวัย 36 ปี พร้อมกับภรรยาและลูกสามคน ในรัฐควิเบก ของแคนาดา มีรายได้ราว 77,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งลดลง 20% หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจลดวันทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์เมื่อปีที่ผ่านมา แต่พวกเขากล่าวว่ายังคงมีความสุขดี แม้จะต้องประหยัดมากขึ้น แต่ก็มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เพลิดเพลินกับธรรมชาติ พวกเขาซื้อของมือสอง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง และมีความสุขไปกับเทศกาลดนตรีและกิจกรรมในชุมชนที่ไม่ต้องเสียค่าเข้างาน

“ทั้งหมดนี้คือการหาความสมดุลในชีวิต หยุดแข่งกันทำงานอย่างบ้าระห่ำ แต่หันมาเพลิดเพลินกับช่วงเวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัวอย่างแท้จริง” เลอเมย์กล่าว

แนวโน้มของการใช้ชีวิตด้วยความมัธยัสถ์ เพื่อลดการทำงานลง กลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนรุ่นใหม่ที่พยายามดิ้นรนสร้างความมั่งคั่ง ท่ามกลางราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแซงหน้าค่าแรงที่ได้รับ

จากการวิจัยล่าสุดจาก Murmuration องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการศึกษา ที่ทำร่วมกับมูลนิธิ Walton Family Foundation พบว่า ประมาณ 61% ของเด็กอายุ 15-25 ปีกล่าวว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตที่บ้าน ขณะที่อีก 42% ระบุว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการเงินให้ได้เป็นจำนวนมาก

 

  • รวมเทรนด์ “งานไม่ใช่ทุกสิ่ง” ที่มาแรงทั่วโลก

ปรากฏการณ์เหล่านี้มีเกิดขึ้นทั่วโลก ใน Reddit เว็บบอร์ดชื่อดังของสหรัฐ มีสมาชิกในห้องสนทนา Antiwork กว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มคนที่ต้องการใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องทำงาน

ก่อนหน้านี้เกิดเทรนด์การทำงานที่เรียกว่า “Quiet Quitting” หรือ QQ ที่เป็นการทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ได้ทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทำงานให้ตามค่าจ้าง ซึ่งจุดประสงค์หลักของ QQ คือ การเยียวยาตนเองไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน ละทิ้งวัฒนธรรมการทำงานที่แข่งกับเวลาแล้วหันมามีใช้ชีวิตมากขึ้น

ขณะที่ในจีนกำลังเกิดเทรนด์ในหมู่คนวัยมิลเลนเนียลชนชั้นกลางที่เรียกว่า “Lying flat” หรือ “ถังผิง” ซึ่งเป็นภาวะของการอยู่นิ่ง ๆ ปล่อยให้หมดไปในแต่ละวัน โดยไม่ทำอะไรมากไปกว่าที่จำเป็น ไร้ความกระตือรือร้น ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ต้องการประสบความสำเร็จ แค่เอาตัวรอดไปวันๆ เป็นการประท้วงต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานแบบ 9-9-6 ที่ทำงาน 9.00 น. ถึง 21.00 น. หกวันต่อสัปดาห์ 

ส่วนในฝรั่งเศสเกิดกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Détravail” แปลว่า ไม่ทำงาน (dework) ที่มีแนวคิด ทำงานให้น้อยลงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก พวกเขาจะนัดพบกันทุกเดือนเว้นเดือนในพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กเพื่อแชร์เคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีลดค่าใช้จ่ายและลดชั่วโมงทำงาน

 

  • ลดงาน ลดการปล่อยก๊าซ 

คนหนุ่มสาวจำนวนมากทั่วโลกเริ่มสนใจที่จะลดค่าใช้จ่ายและเปลี่ยนตารางการทำงานให้น้อยลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ท่ามกลางความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น

นิกิตา คร็อกเกอร์ อดีตพี่เลี้ยงเด็กวัย 32 ปีที่ผันตัวมาเป็นอาสาสมัครในหน่วยงานด้านสภาพอากาศ ปัจจุบันเธอพักอาศัยกับสามีและลูก ๆ ในบ้านคุณปู่ของสามี โดยใช้ชีวิตด้วยเงินเดือนของสามีที่เป็นครูประถม 58,000 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยที่ยังมีเงินเหลือเก็บ คร็อกเกอร์กล่าวว่า “ฉันไม่แยแสกับระบบทุนนิยม ตอนนี้ฉันตระหนักว่างานขององค์กรมีข้อเสียมากกว่าข้อดี”

สังเกตได้ว่าเทรนด์การทำงานในระยะหลังนั้นให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่นั้นให้ความสำคัญกับความสุขในชีวิต แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำ แต่ค่าครองชีพสูง เพราะลำพังแค่ทำงานเต็มเวลาก็ไม่เพียงพอแล้ว ถ้าเกิดโดนลดเงินเดือนลงไปคงสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และอาจจะไม่มีความสุขทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต


ที่มา: BloombergFinancial AdvisorThe Latch