ซีอีโอ ราช กรุ๊ป เปิดสูตร 'Sense of Urgency” บริหารธุรกิจ ลุย 'พลังงานสะอาด'
กรรมการผู้จัดการใหญ่คนล่าสุด ของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) “นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์” ประกาศเดินหน้าธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “ทำแล้ว ทำต่อ ทำให้ดีขึ้น” พร้อมทักษะ “Sense of Urgency” ที่ต้องติดตามเทรนด์โลกต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้และขับเคลื่อนองค์กรตามเป้าหมาย
นิทัศน์ กล่าวว่า การเข้ามาเป็นซีอีโอคนล่าสุด ของ ราช กรุ๊ป ครั้งนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ศึกษาเรียนรู้ ถ้าสิ่งที่ทำอยู่ดีอยู่แล้วก็ทำต่อ แต่ถ้าอันไหนมียังมีช่องว่างที่ต้องปรับปรุง ก็จะเข้าไปช่วยผลักดัน โดยปวารณาตัวเองที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของราช กรุ๊ป เพื่อเพิ่มผลผลิตและ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ราช กรุ๊ป ได้เติบโตอย่างเต็มที่
“มันคือ Management Style ของผม ที่ต้องดูความต้องการของที่ที่เราเข้าไปดูแล ว่าเขาต้องการอะไร แล้วช่วยเสริม เหมือนกับ โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป. ลาว ที่เพิ่มลงนามเดินหน้าระยะที่ 3 ปี 2567-2573 ที่ให้ทาง สปป.ลาว เป็นคนคิดหลักสูตร ที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะให้กับครูและนักเรียน มันไม่ใช่ว่าเรามีอะไรมาแล้วเอาไปใส่ แต่ต้องถามว่าเขาต้องการอะไร”
เช่นเดียวกับหน้าที่ที่เข้ามารับผิดชอบบริหารบริษัท ราช กรุ๊ป คือ การเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ และส่งมอบ Code of Conduct จากบริษัทแม่ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)) และดูว่าราช กรุ๊ป จะสามารถช่วยเหลือต่อยอดอะไรให้กับบริษัทแม่ได้บ้าง
ราช กรุ๊ป มีจุดแข็งในความเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแกร่ง มีบุคลากร และสินทรัพย์กระจายไปในเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศ และมีโปรเจคมากมาย ทั้งใน ออสเตรเลีย สปป.ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยบุคลากรที่ถูกส่งไปทำงานในประเทศต่างๆ ถือเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่ือนองค์กรด้วยความเชี่ยวชาญและความเข้าใจตลาดในแต่ละพื้นที่ มากกว่าบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในไทย
ดึงจุดแข็งบวกความเชี่ยวชาญ
ซีอีโอคนใหม่ นำจุดแข็งของราช กรุ๊ป ผนวกกับความเชี่ยวชาญส่วนตัว ที่อยู่ในวงการพลังงานมานาน และอาศัยประสบการณ์หลายๆ ด้าน ที่ได้จากการทำงานในหลากหลายหน้าที่มาเชื่ือมต่อกัน เชื่อว่าจะทำให้สามารถมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้น หรือบางครั้งที่เห็นอะไรน่าสนใจ ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงตรงโน้นตรงนี้ได้ สามารถนำไปคุยกับทีมงานได้
นิทัศน์ ยอมรับว่า การเป็นผู้บริหารยุคนี้ยากกว่าเดิม เพราะต้องไว ผู้บริหารที่ดีต้องมี “Sense of Urgency” ซึ่งเป็นทักษะหรือความสามารถรับรู้ได้ว่า ต้องทำอะไรเพื่อให้อยู่รอด ผู้บริหารต้องไว ต้องค่อยติดตามการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าโชคดีที่ทำงานมาหลายหน้า
ที่ผ่านมา ก่อนเข้ารับตำแหน่ง นิทัศน์ ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อาทิ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า ผู้อำนวยการฝ่ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมถึง Chairman Technical Task Force No.3 Commercial Arrangement ของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสปป. ลาว ไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (Laos, Thailand, Malaysia and Singapore Power Integration Project: LTMS-PIP)
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ราช กรุ๊ป ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานไฮโดรเจน ซึ่ง กฟผ. ทำมานานแล้ว พอมาที่ราช กรุ๊ป ก็จะบอกได้ว่าอันนี้เคยทำมาแล้ว ให้ลองทำอีกแบบ เรียกว่า เคยลองผิดลองถูกมาก่อน เมื่อราช กรุ๊ปจะทำก็ไม่ต้องเสียเวลา ถือเป็นประโยชน์ที่ราช กรุ๊ป ได้จากซีอีโอคนใหม่
จัด 5 กลยุทธ์เคลื่อนองค์กร
การทำหน้าที่ซีอีโอราช กรุ๊ป ครั้งนี้ นิทัศน์ ประกาศ 5 กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กร ได้แก่ 1. กลยุทธ์ธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจนอกภาคผลิตไฟฟ้า หรือ Non-power 2. การลงทุน เพื่อรักษากระแสเงินสดและอัตราผลตอบแทนให้เหมาะสม 3. การบริหารสินทรัพย์ ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคงเชื่อถือได้สำหรับประเทศและลูกค้า 4. การบริหารการเงิน ให้พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 5. การบริหารทรัพยากรบุคคล
ในแง่การลงทุน หรือการเข้าไปพัฒนาธุรกิจไม่ว่าจะในประเทศไหน เป้าหมายของบริษัท คือ เข้าไปเพื่อพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษััทฯ มี ESG เป็นแกนในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การพัฒนาธุรกิจตรงไหน ก็จะมีการจ้างงาน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ
การพัฒนาสิ่งแวดล้อม โครงการที่ราช กรุ๊ป เข้าไปทำจะเป็นโครงการที่เป็นพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ตอบโจทย์โลกและตอบโจทย์ประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาสังคม เพื่อให้ราช กรุ๊ป และประเทศที่เข้าไปลงทุน สามารถเดินหน้าร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เช่นที่ สปป.ลาว กับการทำ “โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป. ลาว” ซึ่งเป็นการร่วมกับ รัฐบาล สปป. ลาว โดยกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะฝีมือด้านเทคนิคในอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทน แก่ครูและนักเรียนอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว
ส่วนแนวทางลงทุนด้านพลังงาน นิทัศน์ กล่าวว่า นอกจากการเดินหน้าโดยยึด 3 เสา คือ energy security หรือความมั่นคงทางด้านพลังงาน, สิ่งแวดล้อม และราคาที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ สิ่งที่ราช กรุ๊ป ยึดเป็นแนวททางในการลงทุนคือ ต้องสอดรับไปกับแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศนั้นๆ เช่น ออสเตรเลีย จะ Carbon Neutrality ในปี 2030 อินโดนีเซียจะ Carbon Neutrality ในปี 2060 แนวทางการลงทุนก็ต้องไม่ไปแตกแถวจากแผนของประเทศนั้นๆ