ลูกรักในที่ทำงานมีอยู่จริง! วิจัยชี้ 84% ของหัวหน้ายอมรับว่าเลือกปฏิบัติ

ลูกรักในที่ทำงานมีอยู่จริง! วิจัยชี้ 84% ของหัวหน้ายอมรับว่าเลือกปฏิบัติ

ลูกรักคนโปรดในที่ทำงานมีอยู่จริง! วิจัยชี้ 84% ของหัวหน้ายอมรับว่าเลือกปฏิบัติ หลายบริษัทพบกรณีเล่นพรรคเล่นพวกในที่ออฟฟิศ

KEY

POINTS

  • วิจัยชี้ หัวหน้างาน 56% จะเลื่อนตำแหน่งให้คนที่ชอบก่อนจะพิจารณาความสามารถของพนักงานคนนั้นๆ อย่างเป็นทางการ ขณะที่หัวหน้างาน 84% ยอมรับว่ามีการเลือกปฏิบัติในองค์กร
  • วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ ส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าที่คิด เช่น ทำให้ความพึงพอใจในงานและขวัญกำลังใจของทีมลดลง
  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูงมีคำแนะนำถึงพนักงานที่ไม่ใช่ลูกรักว่า ควรรับมือสิ่งนี้อย่างไม่มีอคติ แล้วจะทำให้ก้าวหน้าเติบโตได้ แม้ไม่ใช่ลูกรักคนโปรด

ระบบลูกรักหัวหน้าในที่ทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่มักไม่ถูกพูดถึงอย่างโจ่งแจ้งหรือเปิดเผยต่อคนภายนอก รู้หรือไม่? วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ ทำให้ความพึงพอใจในงานและขวัญกำลังใจของทีมลดลงอย่างเงียบๆ และจะส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าที่คิด ข้อมูลจาก Harvard Business Review รายงานอ้างถึงการศึกษาวิจัยหนึ่ง พบว่า ผู้จัดการหรือหัวหน้างาน 56% จะเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานที่ชอบ ก่อนจะเริ่มกระบวนการพิจารณาความสามารถของพนักงานคนนั้นๆ อย่างเป็นทางการ 

นอกจากนี้ หัวหน้างาน 84% ยังยอมรับด้วยว่ามีการเลือกปฏิบัติในองค์กรของตน และความชื่นชอบส่วนตัวมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าใครควรได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ยิ่งโลกการทำงานทุกวันนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบผสมผสานและการทำงานจากระยะไกล ก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้น 

การเลือกปฏิบัติหรือการมีระบบลูกรักในที่ทำงาน มักเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและค่อนข้างเป็นอัตวิสัย จึงยากที่จะระบุและวัดผลได้ การเลือกปฏิบัติต่อพนักงานบางคนที่หัวหน้าถูกใจเป็นพิเศษ อาจหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมองค์กรจนกลายเป็นบรรทัดฐานปกติทั่วไป ทั้งๆ ที่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน และหากผู้นำระดับสูงของบริษัทแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเสียเอง ปัญหาก็จะยิ่งถูกมองข้ามไป เพราะพนักงานตัวเล็กๆ ไม่มีใครกล้าพูด ไม่กล้าทักท้วงเรื่องนี้ เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อตนเอง

หากบริษัทใดมีเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็อาจทำให้พนักงานส่วนใหญ่ (ที่ไม่ใช่ลูกรักของหัวหน้า) อาจรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่แน่ใจว่าต้องทำตัวอย่างไรกับสถานการณ์นี้  อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอย่าง “ไดนา เดนแฮม สมิธ” (Dina Denham Smith) โค้ชที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูงของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เช่น Adobe, Netflix, PwC, Dropbox, Stripe ฯลฯ และเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Cognitas บริษัทด้านดิจิทัลทรานฟอเมชัน ได้มีคำแนะนำถึงพนักงานที่ไม่ใช่ลูกรัก ดังนี้ 

1. จัดการอารมณ์ของตนเอง ควบคุมสติเอาไว้

การรู้สึกว่าถูกมองข้ามในที่ทำงาน ไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่ได้รับเลือกให้เลื่อนตำแหน่ง (แม้จะมีผลงานดี) อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม ไม่มั่นคง และขุ่นเคืองได้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรปล่อยให้ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นลุกลามบานปลาย เพราะจะทำให้เสียสมาธิจนประสิทธิภาพในงานถดถอยลงได้ เนื่องจากความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้ มักทำให้เครียด และเกิดอคติจนคิดไปไกลกว่าความเป็นจริง กับดักทางจิตใจเหล่านี้จะสร้างวงจรความรู้สึกเชิงลบที่ร้ายแรง นำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายตัวเอง เช่น เงียบขรึมจนคนอื่นไม่กล้าเข้าใกล้ หงุดหงิดใส่คนรอบข้าง หรือระเบิดใส่หัวหน้า ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อให้เรายังคงมีสุขภาพจิตที่ดีและมีประสิทธิภาพการทำงาน วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การปล่อยวาง ลองทบทวนความรู้สึกตนเองอย่างมีสติ ยอมรับว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้แต่ก็จัดการได้เช่นกัน พิจารณาว่าเราอาจไม่รู้ข้อมูลทั้งหมดมากพอที่จะตัดสินใคร พยายามอย่าคิดเอาเองว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องส่วนตัว และมองหาเพื่อนร่วมงานที่ช่วยซัพพอร์ตกันและกันให้งานดียิ่งๆ ขึ้นไปดีกว่า

2. สังเกตและปรับปรุง อย่าไปแก้ไขคนอื่น แก้ไขที่ตัวเองก่อนดีสุด

การรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและถูกมองข้าม อาจทำให้คุณไม่ชอบหัวหน้าของคุณ แต่อย่างที่บอกไปว่าอย่าให้ความรู้สึกนั้นครอบงำคุณ พยายามอย่ามีอคติกับหัวหน้า นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด และควรรับมืออย่างเป็นมืออาชีพ ให้สังเกตว่าการพูดคุยหัวข้อไหนที่จะกระตุ้นความสนใจของหัวหน้าได้ และเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าในหัวข้อเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ลองวางตัวเองเป็นหัวหน้าที่ต้องทำงานกับลูกน้องหลายคน แล้วมองการทำงานจากมุมนั้น จะทำให้คุณเข้าใจหัวหน้ามากขึ้น และทำให้เห็นว่าคุณจะสามารถช่วยงานตรงไหนได้บ้าง การเสนอช่วยงานหรือเสนอไอเดียแก้ปัญหางานต่างๆ จะช่วยให้หัวหน้าเห็นศักยภาพของคุณมากขึ้น อาจพูดคุยถึงสิ่งที่คุณชอบหรือชื่นชมในตัวหัวหน้า คนเราต้องมีข้อดีสักอย่าง สิ่งนี้เป็นการเพิ่มพลังบวกในที่ทำงาน หรือพูดคุยถึงสิ่งที่คุณและหัวหน้ามีร่วมกัน เช่น มีลูกที่มีอายุใกล้เคียงกัน ชอบทีมกีฬาเดียวกัน หรือชอบดนตรีสดเหมือนกัน การสนทนาหัวข้อเหล่านี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

3. สังเกตว่าคนที่เป็นลูกรักหัวหน้า ทำอะไรได้ดีและประสบความสำเร็จ 

ทิ้งความเคียดแค้นและอคติไปให้หมด ลองสังเกตว่าพนักงานคนโปรดของหัวหน้า พวกเขาทำผลงานอะไรได้ดีและประสบความสำเร็จจนเจ้านายชื่นชอบเป็นพิเศษ ลองเรียนรู้และฝึกฝนตาม เพื่อให้ตัวเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะคนทำงานมืออาชีพ เราควรลงทุนในความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้คุณจะไม่ได้เป็นคนโปรดของหัวหน้า แต่อย่างน้อยเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ หรือแม้แต่คนที่เป็นลูกรักก็จะมองเห็นผลงานของคุณ และทำให้คุณมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น

อย่าเข้าใจผิดว่าการทำแบบนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นคนประจบประแจง ในทางตรงข้าม มันกลับช่วยให้คุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นมืออาชีพมากขึ้น แม้ว่าคุณจะไม่เคยกลายเป็นคนโปรดของหัวหน้า แต่คุณควรปรับปรุงความสัมพันธ์ที่สำคัญนี้ให้ดีขึ้น ควรเน้นการสื่อสารเชิงรุกกับเจ้านายของคุณให้มากขึ้น ลองเริ่มชวนคุยเรื่องต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงบวกในที่ทำงาน 

4. สอบถามความคาดหวังของหัวหน้า และบอกความต้องการในการเติบโตของคุณ

แม้ว่าคุณจะทำงานร่วมกันมาสักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่หากไม่รู้ว่าหัวหน้าคาดหวังอะไรจากเรา ก็อาจทำให้เราไม่เติบโตในอาชีพการงาน ดังนั้นควรสอบถามความคาดหวังของหัวหน้าที่มีต่อคุณให้ชัดเจน และขอคำติชมเกี่ยวกับผลงานอย่างสม่ำเสมอ เจ้านายหลายคนไม่บอกชัดเจนเกี่ยวกับความคาดหวังของพวกเขา ลูกน้องก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ตรงกับเป้าหมายหรือไม่ เมื่อเข้าใจไม่ตรงกันก็อาจเป็นสาเหตุของปัญหาในที่ทำงานได้

อีกทั้งพนักงานควรบอกความสนใจในการเติบโตทางอาชีพของตนเองอย่างเคารพ หัวหน้าไม่สามารถอ่านใจคุณได้ ดังนั้นการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาจึงมีความสำคัญ อีกทั้งอย่าลืมที่จะโชว์ความสำเร็จของคุณให้คนอื่นมองเห็นมากขึ้น ความคิดที่ว่า “งานดีจะพูดแทนตัวเองได้” เป็นแนวคิดเชิงอุดมคติมากเกินไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว การคิดว่าเจ้านายจะสังเกตเห็นพรสวรรค์และความสำเร็จทั้งหมดของคุณ บางครั้งก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น หากเราทำผลงานได้ดีก็ต้องประกาศออกมาบ้าง เพื่อให้หัวหน้ามองเห็นชัดเจน

ระวัง! สิ่งที่ไม่ควรพูดคุยกับหัวหน้าคือเรื่องการเมือง ศาสนา การเงินส่วนตัว

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจาก แอนดี้ โคเฮน (Andy Cohen) และ ไดแอน ฮอสกินส์ (Diane Hoskins) ซีอีโอร่วมของ Gensler ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบริหารจัดการพนักงาน ก็ได้สะท้อนความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การพูดคุยกันตัวต่อตัวแบบไม่เป็นทางการกับหัวหน้า จะทำให้พนักงานสามารถสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติและอิสระมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจ และได้รับการสนับสนุนเป้าหมายทางอาชีพของคุณได้ดียิ่งขึ้น 

“การสนทนาเหล่านี้สามารถกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายและสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง อาจจะพูดคุยเกี่ยวกับความสนใจและงานอดิเรกของหัวหน้าและของตนเอง นอกเหนือจากบทสนทนาเรื่องโปรเจ็กต์งานปัจจุบันที่พวกเขาสนใจ สิ่งนี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายได้” ฮอสกินส์ กล่าว 

ส่วนเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงนั้น อลิสัน กรีน (Alison Green) กูรูผู้ให้คำแนะนำเรื่องชีวิตการทำงาน ได้กล่าวไว้ในบล็อกส่วนตัวชื่อ Ask A Manager ซึ่งระบุว่า การพูดคุยกับหัวหน้า พนักงานไม่ควรพูดคุยเรื่องศาสนา การเมือง หรือปัญหาทางการเงินกับผู้จัดการของคุณ การสนทนาแบบไม่เป็นทางการเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของคุณนั้นทำได้ แต่ไม่ควรลงรายละเอียดที่มากเกินจำเป็น

อย่างไรก็ตาม หากความพยายามอย่างต่อเนื่องของคุณยังคงไม่ได้รับการยอมรับ และไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสม อย่างน้อยที่สุดก็ยืดอกได้ว่าคุณทำเต็มที่แล้ว และหากมีโอกาสดีอื่นๆ เข้ามา คุณก็พร้อมที่จะรับโอกาสนั้น แถมยังมีประสบการณ์อันมีค่าที่ได้รับจากสภาวะที่ยากลำบาก ผลงานที่โดดเด่น และมีเครือข่ายเพื่อนร่วมงานที่พร้อมสนับสนุนคุณต่อไป