เจาะลึกดราม่ามวยหญิงโอลิมปิก จุดอ่อนไหวประเด็นเรื่องเพศและความยุติธรรม
กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนแรงในโลกกีฬาไปแล้ว เมื่อนักชกทีมชาติอิตาลี แองเจลา คารินี ไม่ยอมแข่งขันต่อกับ อีมาน เคลิฟ จากทีมชาติแอลจีเรีย ในการแข่งขันมวยหญิงโอลิมปิก รุ่นเวลเทอร์เวต จนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในเวลาเพียงแค่ 46 วินาที
KEY
POINTS
Key points
- ชื่อของอีมาน เคลิฟ กลายเป็นชื่อที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจทันทีหลังจากจบไฟต์ปัญหา เพราะมีการตั้งคำถามกับเพศสภาพของเธอไม่ได้ว่านี่ใช่ผู้หญิงจริงไหม
- เคลิฟ ไม่ใช่นักมวยที่ไม่มีที่มาที่ไป ความจริงแล้วเธอผ่านการขึ้นชกมาหลายรายการนับตั้งแต่เข้าสู่วงการมวยสากลสมัครเล่นในปี 2018 โดยหนึ่งในรายการที่เข้าแข่งขันก็คือโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียวในปี 2021
- IBA ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้เคลิฟ ถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันเป็นเพราะมีการตรวจสอบ DNA แล้วพบโครโมโซม XY ในตัวของเธอ ซึ่งโครโมโซมตัวนี้คือโครโมโซมเพศชาย
- แถลงการณ์เป็นการแสดงจุดยืนของ IOC ที่หนักแน่นในการตัดสินใจอนุญาตให้ทั้งเคลิฟ และหลินหยูถิง ซึ่งมีโปรแกรมขึ้นชกวันนี้ลงแข่งขันในโอลิมปิกตามเดิม
ก่อนที่เธอจะนั่งคุกเข่าร้องไห้ด้วยความเจ็บใจ และไม่ขอจับมือกับคู่ชกหลังจบการแข่งขัน การไม่ขอชกต่อของคารินี และบทสัมภาษณ์หลังจบการแข่งขัน นำไปสู่การเปิดประเด็นคำถามใหญ่ในโลกของมวยหญิง เพราะสิ่งที่กลายเป็นจุดตัดสินในไฟต์นี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของฝีไม้ลายมือแล้ว แต่เป็นเรื่องของความยุติธรรมและความปลอดภัยในการแข่งขัน
ในมุมของนักชกหญิงชาวอิตาลี คู่ต่อสู้ของเธอมีพลังหมัดที่หนักหน่วงชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต และหากฝืนชกต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อตัวเธอได้ เพราะคารินีเชื่อว่าคนที่เธอชกด้วยนั้น ไม่ได้เป็นผู้หญิงธรรมดาๆเหมือนเธอ
นักชกต้องสงสัย
ชื่อของ อีมาน เคลิฟ กลายเป็นชื่อที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจทันทีหลังจากจบไฟต์ปัญหา หลายคนดูบันทึกการแข่งขันที่เห็นเธอตะบันหมัดใส่คารินีอย่างหนักหน่วงรวดเร็ว รวมถึงจากภาพนิ่งแล้วอดตั้งคำถามกับเพศสภาพของเธอไม่ได้ว่านี่ใช่ผู้หญิงจริงไหม
บางคนคิดว่าเคลิฟ คือนักมวยที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาเข้าแข่งขันในรายการของผู้หญิง ซึ่งเป็นการเอาเปรียบกันอย่างยิ่ง
แต่ข้อเท็จจริงคือยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าเคลิฟ เคยเป็นผู้ชายหรือผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาก่อน
ในทางตรงกันข้ามตามประวัติแล้วเพศกำเนิดของเธอคือเพศหญิง เป็นลูกสาวที่เติบโตในครอบครัวที่เคร่งครัดศาสนาในแอลจีเรีย ซึ่งการจะผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนเพศในเอกสารทางราชการถือเป็นความผิดร้ายแรง
เคลิฟ ไม่ใช่นักมวยที่ไม่มีที่มาที่ไป ความจริงแล้วเธอผ่านการขึ้นชกมาหลายรายการนับตั้งแต่เข้าสู่วงการมวยสากลสมัครเล่นในปี 2018 โดยหนึ่งในรายการที่เข้าแข่งขันก็คือโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียวในปี 2021 ด้วย เพียงแต่ครั้งนั้นไม่ได้มีประเด็นปัญหาดราม่าอะไร แล้วเรื่องเกิดจากไหน?
โครโมโซม XY ของชายแท้
คำครหาที่เป็นตราบาปของเคลิฟ เกิดจากการถูก IBA (หรือ AIBA เดิม) องค์กรมวยนานาชาติตัดสิทธิ์จากการลงแข่งขันมวยชิงแชมป์โลกที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคมปีกลาย
ตอนนั้นเธออุตส่าห์ตะลุยเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศแล้ว แต่กลับโดนตัดสิทธิ์เสียก่อน ซึ่งในทีแรก IBA ชี้แจงว่าเป็นเพราะเคลิฟถูกตรวจสอบแล้วพบว่า “ขาดคุณสมบัติที่จะแข่งขัน”
ในทีแรกทางคณะกรรมการโอลิมปิกแอลจีเรีย แก้ต่างว่าเป็นเพราะเคลิฟมีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายสูงกว่ากำหนด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ และพร้อมที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยที่นักมวยสาวแกร่งยังบอกว่า “มีคนสมคบคิดไม่อยากให้แอลจีเรียได้เหรียญทองด้วย”
แต่ต่อมา IBA ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้เคลิฟ ถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันเป็นเพราะมีการตรวจสอบ DNA
พบโครโมโซม XY ในตัวของเธอ ซึ่งโครโมโซมตัวนี้คือโครโมโซมเพศชาย ดังนั้นถึงจะเป็นเพศหญิงแต่ “ลักษณะเพศทางกายภาพ” (Biological) ของเธอคือชาย
ในช่วงก่อนถึงการแข่งขันมวยโอลิมปิก IBA ยังออกแถลงการณ์ตั้งคำถามถึงหลักการและความยุติธรรมของการแข่งขันหลังจากที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อนุญาตให้เคลิฟ และหลินหยูถิง สองนักชกที่เคยถูกตัดสิทธิ์จากรายการเดียวกันด้วยเหตุผลเหมือนกัน สามารถลงแข่งขันมวยกับนักชกหญิงคนอื่นได้
มันไม่ใช่แค่เรื่องของความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยด้วย และนั่นเป็นที่มาของการกล่าวหาเคลิฟ รวมถึง IOC และสร้างบรรยากาศที่เลวร้ายให้แก่วงการมวยหญิงโอลิมปิก
การตอบโต้ของ IOC
หลังเกิดกระแสดราม่ารุนแรงระดับโลก IOC ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ในประเด็นนี้ทันที โดยใจความสำคัญของแถลงการณ์มีดังนี้
นักชกหญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ทุกคน “ผ่านคุณสมบัติ”
- ตอบโต้ IBA คู่กรณีซึ่งมีปมจากการตัดสิทธิ์ไม่ให้เป็นผู้ดูแลการแข่งขันมวยโอลิมปิก ว่ามีส่วนชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องคุณสมบัติของนักชกหญิง 2 คน
- แจงกระบวนการตรวจสอบของ IOC ว่าเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่กระบวนการตรวจสอบของ IBA นั้นไม่ได้เป็นการตรวจสอบที่เหมาะสม
IOC ยังขอความเห็นใจแก่นักกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ “ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะลงเล่นกีฬาโดยปราศจากการเหยียดเชื้อชาติ”
แถลงการณ์ฉบับนี้จึงเป็นการแสดงจุดยืนของ IOC ที่หนักแน่นในการตัดสินใจอนุญาตให้ทั้งเคลิฟ และหลินหยูถิง ซึ่งมีโปรแกรมขึ้นชกวันนี้ลงแข่งขันในโอลิมปิกตามเดิม โดยย้ำด้วยว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎเดิมที่เคยใช้ใน “โตเกียว 2020” และ “ริโอ 2016”
ขณะที่ทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกแอลจีเรีย ประณามคนที่ปล่อยข่าวลือว่าเคลิฟเป็นผู้ชายว่าเป็นการโกหกอย่างร้ายแรง
สิ่งที่น่าสนใจคือกรณีนี้อาจเป็น “สงครามนอกสนาม” ระหว่าง IOC กับ IBA โดยมีเหยื่อคือนักมวยที่ลงแข่งขันในโอลิมปิก
คำถามที่ไม่มีคำตอบ
จากท่าทีของ IOC หมายถึงเคลิฟจะยังได้สิทธิ์ในการลงแข่งขันตามเดิม ในฐานะนักมวยหญิงที่ผ่านคุณสมบัติถูกต้องตามกฎของการแข่งขันโอลิมปิก แต่มันนำไปสู่คำถามที่สำคัญตามมา
อย่างแรกคือภาพลักษณ์ของการแข่งขันที่ติดลบอย่างช่วยไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากแม้ว่าเคลิฟจะไม่ได้เป็นคนแปลงเพศมาอย่างที่ลือกัน แต่ข้อสงสัยในเรื่องของความได้เปรียบเกี่ยวกับฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลอย่างมากต่อการแข่งกีฬาย่อมเคลือบแคลงใจของทุกคน
ไม่ใช่เฉพาะนักชกด้วยกันเอง แต่รวมถึงสตาฟฟ์โค้ช และแฟนกีฬาที่เฝ้าจับตาดู จริงอยู่กฎจะระบุเรื่องของการ “เปิดกว้าง” (เหมือนม็อตโต้ของการแข่งขัน Games Wide Open) แต่เรื่องของฮอร์โมนและโครโมโซมนั้นมีผลอย่างมาก
กรณีของเคลิฟที่มีรายงานว่าเป็น ภาวะ Difference of Sexual Development หรือ “ภาวะDSD” ซึ่งหาพบได้ยากที่จะมีคนเกิดเพศหนึ่งแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายไปเป็นอีกเพศหนึ่งในเวลาต่อมา การจะถูกตั้งคำถามจากคู่ชกเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
อย่างต่อมาคือเรื่องของความปลอดภัยของนักกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกังวลสูงสุด เพราะหากเคลิฟหรือหลินหยูถิงมีความได้เปรียบด้านร่างกายจริง ก็เหมือนการปล่อยให้ผู้ชายขึ้นชกกับผู้หญิง เป็นอันตรายอย่างยิ่งที่อาจถึงขั้นเจ็บหนักหรือเสียชีวิตได้
เพราะขนาดคารินี โดนไป 2 หมัดยังมีรายงานว่าดั้งจมูกหักเลยด้วยซ้ำ
สุดท้ายคือเรื่องของความยุติธรรม ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ความยุติธรรมต่อการแข่งขัน ต่อนักกีฬาที่เข้าแข่งขัน แต่รวมถึงนักกีฬาในฐานะคนคนหนึ่งด้วย
คารีนาก็เจ็บปวดที่ต้องยอมแพ้แบบนี้ เคลิฟก็เจ็บปวดที่ตกเป็นเป้าของคนทั้งโลก และคู่แข่งคนต่อๆไปก็อยู่ในภาวะไม่เชื่อมั่นต่อการแข่งขัน
สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามของคนที่รับผิดชอบดูแลอย่าง IOC และหน่วย Paris Box Unit (PBU) หน่วยเฉพาะกิจที่จัดตั้งดูแลการแข่งมวยในโอลิมปิกโดยเฉพาะ
เพราะสิ่งที่จะแก้วิกฤติครั้งนี้ได้คือความโปร่งใสชัดเจน และกฎเกณฑ์ที่บริสุทธิ์ยุติธรรมต่อทุกคนอย่างแท้จริง
อ้างอิง