คนไทยสมองไหล? Gen Z 79% อยากย้ายประเทศไปหางานเงินเดือนสูง-ชีวิตดีขึ้น
คนไทยสมองไหล?! Jobsdb เผย คนไทย 66% อยาก ‘ย้ายประเทศ’ ไปหางานที่มีเงินเดือนสูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอยากได้ประสบการณ์การทำงานระดับนานาชาติ โดยเฉพาะ Gen Z สนใจย้ายไปต่างประเทศมากถึง 79%
เปิดรายงานผลสำรวจใหม่ล่าสุด Global Talent Survay 2024 จาก Jobsdb by seek เจาะลึกเทรนด์การทำงานและความสมัครใจในการโยกย้ายงานไปต่างถิ่น ผลสำรวจพบว่า “แรงงานไทยมากถึง 66% สนใจที่จะโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุน้อยชาว GEN Z ให้ความสนใจในการย้ายไปทำงานต่างประเทศมากถึง 79%”
ทั้งนี้ ปัจจัยของความสนใจโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างแดน มาจากความมุ่งมั่นอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากได้งานที่มีเงินเดือนสูงขึ้น ตลอดจนโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์การทำงานในระดับนานาชาติ
แม้จะยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า วัยทำงานคนรุ่นใหม่ที่อยากย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างแดนนั้นมีจำนวนเท่าไร แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง “ความต้องการนี้ของวัยทำงานในปี 2018 (ช่วงก่อนการระบาดโควิด)” กับ “ความต้องการนี้ของวัยทำงานในปี 2023 (หลังการระบาดโควิด)” พบว่า ความสนใจอยากย้ายประเทศไปหางานทำของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ..นี่อาจเป็นสัญญานเตือนถึง “ปรากฏการณ์สมองไหล” ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
สิงคโปร์ รั้งอันดับ 1 ประเทศที่คนไทยอยากย้ายไปทำงานมากที่สุด
สำหรับแรงงานไทยที่อยากย้ายไปทำงานต่างประเทศนั้น ผลสำรวจบอกอีกว่า ประเทศปลายทางที่แรงงานไทยให้ความนิยมได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศจีน ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ เช่นความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ศักยภาพทางการตลาด และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม 60% ของผู้ที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศมีความตั้งใจที่จะกลับมายังประเทศไทยในท้ายที่สุด เเละอีก 18% ที่ต้องการอยู่ต่ออย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ สำหรับสาขาอาชีพที่คนไทยอยากย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ได้แก่
- การศึกษาและการฝึกอบรม (85%) อาจารย์เเละผู้สอนในประเทศไทยเชื่อว่า หากไปทำงานสายนี้ในต่างแดนจะได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย เเละเติบโตในหน้าที่จากการสอนระหว่างประเทศ
- กฏหมาย (73%) นักกฎหมายชาวไทยกำลังมองหาบทบาทระดับนานาชาติเพื่อขยายความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและสร้างเครือข่ายระดับโลก
- การจัดการธุรกิจ (73%) นักบริหารธุรกิจมีความต้องการที่จะมองหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงเพื่อการเติบโตด้านการตลาด สื่อดิจิทัล และอุตสาหกรรม AI
- ไอที (72%) ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมีความมุ่งมั่นที่จะไปทำงานในประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคฯ อย่าง สหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะเสริมสร้างความรู้ในแง่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล
- วิศวกรรมและเทคนิค 69% วิศวกรไทยมีความต้องการที่จะทำงานในองค์กรขนาดใหญ่เเละครบวงจร
Remote Work - Digital Nomad แรงงานไทยสนใจทำงานรูปแบบนี้ไม่น้อยเช่นกัน
นอกจากนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่า คนไทยสนใจอยากทำงานกับบริษัทต่างชาติโดยไม่มีการโยกย้ายถิ่นฐานจริง แต่เป็นการโยกย้ายแบบเสมือน (Virtual Mobility) เรียกอีกอย่างว่าเป็นการทำงานแบบ Remote work หรือ Digital Nomad กล่าวคือ ทำงานระยะไกลผ่านทางออนไลน์ โดยวัยทำงานชาวไทยตอบรับการทำงานรูปแบบนี้สูงถึง 76% ในปี 2023 ซึ่งมากกว่าปี 2563 ที่มีสัดส่วนเพียง 50%
ไม่ใช่แค่คนไทยที่สนใจทำงานรูปแบบนี้ แต่หากมองในภาพใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พบว่าเทรนด์นี้เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ชาวอาเซียนกว่า 66% อยากหางานทำในต่างประเทศในรูปแบบที่ไม่ต้องมีการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือทำงานแบบ Remote work เช่นกัน
เมื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นอีกในระดับโลก ผลการสำรวจนี้ก็รายงานด้วยว่า วัยทำงานทั่วโลกมีความต้องการอยากโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานที่ดีกว่า เงินเดือนสูงกว่า ไม่ต่างจากแรงงานไทยเลย โดย 63% ของผู้หางานทั่วโลก เปิดรับและสนใจการย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงาน และมีความคาดหวังถึงโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน
แรงงานต่างชาติก็สนใจมาทำงานที่ไทยมากขึ้น เหตุค่าครองชีพไม่แพง แถมได้คุณภาพชีวิตดี
นอกจากนี้ ตามรายงานดังกล่าวยังระบุถึงสถานการณ์ "แรงงานต่างชาติ" ที่สนใจมาทำงานในประเทศอีกด้วย โดยผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยถูกยกให้เป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นที่ต้องการของผู้หางานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ขยับขึ้นมาลำดับที่ 31 ในปี 2566 จากลำดับที่ 39 ในปี 2561 จากการจัดอันดับโลก
ประเทศไทยดึงดูดผู้ที่มีความสามารถหลากหลายจากทั่วโลกถึง 62% ให้เข้ามาทำงาน โดยพวกเขาบอกว่าเหตุผลที่ทำให้อยากมาทำงานในไทยก็เนื่องจาก ชื่นชอบในคุณภาพชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นมิตรและการไม่แบ่งแยก รวมถึงค่าครองชีพที่ไม่แพง เอื้อต่อการอยู่อาศัย เอื้อต่อการดูแลครอบครัว เช่น มีโรงเรียนนานาชาติเยอะให้ลูกเข้าเรียนได้ เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจจากกระทรวงแรงงานในเดือนมีนาคมปี 2566 ที่เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพนักงานต่างชาติกว่า 2.7 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 7% ของแรงงานในประเทศ
แนะผู้ประกอบการ-นายจ้างไทย ปรับองค์กรเพื่อตอบรับโลกการทำงานแบบนานาชาติ
จากผลสำรวจข้างต้น สะท้อนชัดเจนว่าปรากฏการณ์แรงงานไทยสนใจหางานทำในต่างประเทศ และ/หรือ หางานในบริษัทต่างชาติมากขึ้นนั้น ย่อมส่งผลกระทบถึงการจ้างงานของบริษัทไทย อาจขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เพราะคนเก่งๆ สมองไหลออกไปต่างประเทศเรื่อยๆ ดังนั้นบริษัทในไทยจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์การจ้างงาน เพื่อดึงดูดผู้หางานกลุ่มนี้ให้กลับมาทำงานในไทย รวมถึงสามารถดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงไปพร้อมกันได้ด้วย โดยมีวิธีการปรับฉากทัศน์องค์กรที่น่าสนใจ ดังนี้
1. วางแผนเกี่ยวกับความต้องการบุคลากรต่างชาติ
เพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรในอนาคต ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนจำนวนบุคลากรล่วงหน้า โดยเฉพาะในสาขาที่มีทักษะสูง เนื่องจากประชากรสูงวัยและภาคดิจิทัลมีช่องว่างด้านบุคลากร จึงอาจพิจารณาดึงคนจากประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ที่สนใจย้ายมาทำงานในไทย
2. หากลยุทธ์เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากทั่วโลก
เพื่อดึงดูดแรงงานคุณภาพจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการในประเทศไทยควรปรับข้อเสนอหรือค่าตอบแทนขององค์กร ให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานทั่วโลกโดยการมุ่งเน้นไปที่คุณภาพชีวิต วัฒนธรรมองค์กร รายได้ ภาษี และค่าครองชีพ นอกจากนี้ การเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มสรรหาบุคลากร ก็ช่วยเปิดโอกาสในการค้นหาผู้หางานได้มากขึ้นเช่นกัน
3. การต้อนรับดูแลบุคลากรจากทั่วโลกที่ย้ายมาทำงานในไทย
ผู้ประกอบการไทยควรให้การสนับสนุนดูแลบุคลากรจากทั่วโลกที่ย้ายมาทำงานในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการช่วยเหลือด้านวีซ่า ที่อยู่อาศัย และการย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการปฐมนิเทศและโปรแกรมเพื่อนร่วมงานในช่วงแรก
4. การรักษาพนักงานคุณภาพระดับโลก
เพื่อปลดล็อกศักยภาพของวัฒนธรรมองค์กร องค์กรควรสร้างบรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้างเเละไม่แบ่งแยก โดยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการทำงาน เเละมุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลาย เช่น การจัดทีมงานระหว่างวัฒนธรรม การฝึกอบรมหัวหน้างานเกี่ยวกับการไม่ลำเอียง และการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม