ที่จริงโลกนี้ ไม่ควรมีใครซึมเศร้า | พัฒน์นรี ศรีศุภโอฬาร
โรคซึมเศร้ากลายเป็นปัญหาของสังคม โดยเฉพาะสังคมที่เจริญแล้วที่ทุกคนอยู่ท่ามกลางการแข่งขันบีบคั้นทั้งในโลกความจริงและในสื่อโซเชียล นำไปสู่การเปรียบเทียบ
บางคนเกิดอาการหมดไฟและเกิดความรู้สึกต่ำต้อย คนที่รับมือไม่ไหวกลายเป็นคนซึมเศร้าและอาจจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ที่น่าตกใจคือประเทศไทยมีคนอยู่ในข่ายซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน จะมีทางไหนที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันได้รับเชิญให้ไปบรรยายหัวข้อ อิคิไก (Ikigai) ในฐานะนักเรียนเก่าญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาวิจัย ปริญญาโทและเอกเป็นเวลาเจ็ดปี รวมถึงแวะเวียนไปเป็นอาจารย์และนักวิจัยอาคันตุกะหลายมหาวิทยาลัย ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนญี่ปุ่นที่หลากหลาย แม้จะไม่มั่นใจนักแต่ก็เป็นโอกาสจะได้ลองไปแบ่งปันมุมมองว่าในสายตาดิฉันนั้นอิคิไกคืออะไร
อิคิไก เป็นคำพูดที่ใช้ในบทสนทนาทั่วไปของคนญี่ปุ่น อีกคำที่ใกล้เคียงกันและใช้กันบ่อยคือ ยาริไก (Yarigai) เมื่อเริ่มต้นค้นข้อมูลออกจะแปลกใจว่าทำไมมีแผนภูมิอธิบายอิคิไกเผยแพร่กันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นที่สนใจของคนทั่วโลกขนาดนี้
จึงไปลองสืบค้นดูพบว่า ผู้ที่ทำให้อิคิไกเป็นประเด็นในเชิงวิชาการ มีการให้คำนิยาม และแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีอิคิไก คือ คุณหมอเมโกะ คามิยะ จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือชื่อ Ikigai ni tsuite แปลไทยได้ว่า “ว่าด้วยเรื่องอิคิไก” ในปีพ.ศ. 2509
แรงบันดาลใจของคุณหมอมาจากการสังเกตว่า เหตุใดผู้คนที่ร่างกายมีความพิการจึงได้พยายามเหลือเกินที่จะใช้ร่างกายส่วนอื่นทำงานทดแทน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่คนไข้บางคนที่ร่างกายแข็งแรงดีแต่กลับหมดเรี่ยวแรงที่จะดำรงชีวิตอยู่ อะไรคือเหตุผลที่คนยังอยากและมีศรัทธาที่จะมีชีวิตอยู่คือคำถามตั้งต้นในการหาคำตอบ แล้วก็พบว่าสิ่งนั้นก็คืออิคิไก
คุณหมอให้คำนิยามอิคิไกว่ามีสองนัย นัยแรกคือวัตถุหรือ "เป้าหมายชีวิต" ตัวอย่างเช่น ลูกคืออิคิไกของฉัน (แต่ถ้าพูดว่าฉันมีชีวิตอยู่เพื่อลูก อาจจะมีนัยยะว่าฉันต้องอดทน มีความทุกข์แต่จะทนเพื่อลูก อิคิไกจะให้ความหมายในเชิงบวกมากกว่า) นัยที่สองคือความรู้สึก เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจ อิ่มเอมใจ สงบอยู่ภายใน
คุณหมอเปรียบว่าเหมือนมีบ่อน้ำผุดอยู่กลางอกเรา ที่มีแต่ความชุ่มชื่นผุดขึ้นมาต่อเนื่อง และนัยยะที่สองนี้เองที่มักจะปรากฏในบทสนทนาของชาวญี่ปุ่น เมื่อเราได้ทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ เหมือนเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เรามักจะพูดว่า “เฮ้อ.. ดีจังที่ได้เกิดมา ได้ทำสิ่งนี้ (ชีวิตนี้) มีอิคิไก”
ถ้าถามว่าอิคิไกของดิฉันคืออะไร คำตอบน่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดและการแบ่งปันความรู้นั้นกับผู้ที่สนใจ ความที่เป็นพี่คนโตในบ้านกงสี เมื่อกลับจากโรงเรียน ดิฉันมักจะเรียกน้อง ๆ มาล้อมวงแล้วเล่าเรื่องที่เรียนมาในวันนั้นให้น้อง ๆ ฟัง จนเพื่อนบ้านขอฝากลูกวัยใกล้เคียงกับน้องๆ ดิฉันมาเรียนด้วยยามปิดเทอม
เมื่อกำลังเรียนปริญญาเอกที่แสนยากเข็ญนั้น กำลังใจสำคัญที่ทำให้ฝ่าฟันทุกอุปสรรคมาได้คือ การจินตนาการถึงหน้าตาของนักศึกษาที่ดิฉันจะไปสอนเมื่อสำเร็จการศึกษา เมื่อมีคอร์สอบรมการสอนหนังสือ ดิฉันจะรีบสมัคร เพื่อพัฒนาการสอนให้ดียิ่งขึ้น ให้นักศึกษาเรียนอย่างมีความสุข (คิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นกันทุกคน)
ดิฉันบอกกับนักศึกษาเสมอว่าไม่เคยมี Blue Monday และทุกวันก็ไม่ใช่วันทำงาน ยาริไกคือการได้ทำงานที่สร้างประโยชน์และคุณค่าให้นักศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่สอนหนังสือ แต่อิคิไกคือความรู้สึกดีที่ได้มีโอกาสทำสิ่งนี้ ความรู้สึกขอบคุณทุกอย่างที่ทำให้เราได้ทำ รวมทั้งขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จ่ายเงินเดือนให้ดิฉันได้มาทำสิ่งที่ตัวเองชอบ
เมื่อเรามีอิคิไก เราจะรู้สึกขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างและทุกผู้คนที่นำพาให้เราได้ทำสิ่งนี้ เมื่อเรารู้สึกขอบคุณในทุกสิ่งแม้เป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องที่คนอื่นเห็นเป็นเรื่องธรรมดา คุณค่าก็จะเกิดในตัวเรา ชีวิตเราจะถูกเติมเต็มและบังเกิดความอิ่มเอม
อิคิไกจึงเป็นเรื่องของการคุยกับตัวเอง ชัดเจนกับตัวเอง รู้ว่าเราชอบอะไร จะทำอะไรให้โลกใบนี้ หาพื้นที่ที่ตัวเองจะเติบโตได้อย่างดี อย่างที่คนญี่ปุ่นว่า “หากเราไม่ได้เกิดเป็นซากุระก็จงเป็นดอกไม้ที่งามที่สุดในพันธุ์ของเราเถิด” ซึ่งอาจจะงามที่สุดเพราะกลีบดอกซ้อนมากชั้นที่สุด สีสดที่สุด หรือกลีบสวยที่สุด อิคิไกจึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่เราจะได้เฉิดฉายในแบบของเราเอง
ในวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นไม่ได้แบ่งแยกงานว่างานใช้แรงงานคืองานต่ำต้อยด้อยค่า แต่งานที่ต่ำต้อยด้อยค่าคืองานที่ทำอย่างลวก ๆ แบบขอไปที ทำแบบไม่ใส่ใจผู้รับไม้ต่อ หรือผู้รับบริการจากเรา แม้คนเก็บขยะหรือคนทำความสะอาดห้องน้ำก็คิดว่าเขากำลังสร้างโลกที่สะอาดสวยงามเพื่อคนอื่นๆ งานของเขาจึงเลอเลิศเสมอในความรู้สึก
ทุกวันเขาจะออกไปทำงานด้วยอิคิไกที่ว่ากำลังจะได้ออกไปใช้โอกาสที่จะสร้างโลกให้คนมีความสุข และนั่นคือคุณค่าของชีวิต คำว่าอิคิไกจึงมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่ตัวหนังสือจะอรรถาธิบายได้หมดจด
อิคิไก ไม่ใช่เป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่เสียทีเดียว อีกทั้งอิคิไกยังหมายถึงอดีตที่ได้ทำ ปัจจุบันที่ทำอยู่ และเส้นทางในอนาคตที่ยังยินดีทำต่อไปให้ดีงามยิ่งขึ้น อิคิไกเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำทุกวัน อย่างสม่ำเสมอ อย่างที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการเติมเต็มพลังชีวิตของเรา
การเติมเต็มพลังชีวิตนี่เอง จะเป็นยาที่ดีที่สุดที่จะป้องกันโรคซึมเศร้าที่คุกคามคนในสังคมอยู่ทุกวันนี้ เริ่มจากการค้นหาว่าเราหลงไหลในเรื่องอะไร สนใจในเรื่องอะไร จดจ่อกับเรื่องอะไรที่มักทำให้ลืมเวลาบ่อยๆ หรือใครชื่นชมเราในเรื่องอะไรบ่อยๆ แล้วก็ขอบคุณตัวเองที่ได้ทำสิ่งนั้น ขอบคุณตัวเองที่มีโอกาสสร้างความสุขให้คนอื่น ณ ปัจจุบัน
หมั่นเติมสิ่งเหล่านี้ลงในบ่อน้ำในใจของเรา เพื่อป้องการความคิดลบและการมองข้ามคุณค่าชีวิตของตัวเอง จึงเป็นเรื่องคุ้มค่าและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในชีวิตที่จะค้นหาว่าอะไรคืออิคิไกของเรา
เพราะไม่อยากให้โลกนี้มีโรคซึมเศร้า มาเริ่มค้นหาอิคิไกด้วยกันดีกว่า.