ข้อคิดจากถนนในเยอรมนี
วันที่ 3 ต.ค.ของทุกปีเป็นวันรวมชาติเยอรมัน ในสายตาของคนที่พูดภาษาด๊อยช์เป็นภาษาแม่ถือเป็นวันที่มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อปี 1989 โลกแทบไม่อยากจะเชื่อว่าเยอรมันตะวันออกและตะวันตกจะทำลายกำแพง ที่แบ่งแยกพวกเขาแล้วมารวมกันเป็นชาติเดียวกันได้อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนชิ้นนี้จะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านั้น แต่จะกล่าวถึงถนนและการขับรถในเยอรมนีที่พึ่งไปมา โดยเห็นว่าหากจะกล่าวถึงด้านต่าง ๆ ของความสำเร็จของคนเยอรมัน เทคโนโลยีและการจัดการเรื่องถนนของเยอรมนีก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ และจะเป็นสิ่งที่ดีมากหากบางอย่างจะนำมาประยุกต์ใช้กับไทย
โดยรวมแล้วไม่ว่าจะเป็นถนนทางหลวงข้ามเมืองหรือถนนในท้องถิ่น เยอรมนีมีมาตรฐานถนนดีมาก พื้นแต่ละเส้นเรียบและไร้เสียงดัง ทั้งที่มีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา ช่างของเขาทำงานอย่างละเอียด การขุดเจาะใด ๆ จะเห็นการคุยกันหน้างานของวิศวกรอาวุโสกับคนงานก่อนเริ่มปฏิบัติการ มีการปิดกั้นพื้นที่ทำงานอย่างรัดกุม ไม่มีอะไรตกจากคานหรือกระเด็นมาโดนชาวบ้าน มีความปลอดภัยสูง ไม่มีตะปุ่มตะป่ำกลางพื้นถนน เลนถนนสีเดียวกัน ราดยางเนียน ไม่ชุ่ย บุคลากรไม่เนื้อตัวมอมแมม ดูดีกันทุกคน ใช้เครื่องจักรทำงานมากกว่าคน
ระบบรถสาธารณะเชื่อมถึงกันหมด ป้ายบอกทางต่อเชื่อมชัดเจนและง่าย การจำหน่ายตั๋วมีโปรโมชั่นหลายแบบ ปัจจุบันมีทั้งตั๋วเดือนที่ขึ้นรถไฟชั้น 2 ระหว่างเมือง รถไฟใต้ดิน รถเมล์บนดินและรถรางได้อย่างไม่จำกัดในราคาเพียง 49 ยูโรต่อเดือน หรือตั๋ววันที่เที่ยวได้เป็นกลุ่มในรัฐของตนในราคาที่หารกันแล้วตกวันละสิบกว่ายูโรต่อคนก็มี เครือข่ายรถสาธารณะเหล่านี้ใช้ระบบเชื่อใจกัน ประชาชนซื้อตั๋วได้ง่ายทางออนไลน์หรือจากตู้ ซื้อแล้วขึ้นได้ทันที ไม่มีการตรวจตั๋วหรือต้องผ่านการกั้นเสียก่อนจึงจะขึ้นได้
ปกติแล้วรถที่แล่นในเมืองแทบไม่มีการตรวจตั๋วแต่อย่างใด ส่วนรถข้ามจังหวัด มีตรวจบ้างแต่น้อยมาก เอาตั๋วกระดาษหรือตั๋วออนไลน์ที่เซฟไวในโทรศัพท์ยื่นให้นายตรวจสแกนผ่านอย่างง่ายดาย แต่ใครเบี้ยวอาจเจอปรับตรงจุด 60 ยูโร เส้นทางเดินรถค่อนข้างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม รถไฟเยอรมันมีปัญหาเรื่องความล่าช้าอยู่บ้างนิดหน่อย
ที่ต่างจากบ้านเราและประเทศอื่นในยุโรป คือ ถนนทางด่วนเยอรมันหรือออโต้บาห์น ไม่มีการเก็บค่าทางด่วนสำหรับรถเก๋ง ใครก็สามารถขับขึ้นได้ฟรี ป้ายบอกทางใหญ่ๆที่เห็นได้เหนือหัวบอกชื่อเมืองที่จะไปถึง โดยจะถึงเมืองที่ชื่อเขียนเป็นลำดับล่างสุดก่อน ไล่ขึ้นบน ไม่มีบอกว่าอีกกี่ กม.จะถึง อาจเพราะไม่จำเป็นเนื่องจากรถทุกคันมีแผนที่ GPS นำทางอยู่แล้ว ป้ายที่บอกนี้จะบอกด้วยว่าถนนสายนี้เข้าเมืองแล้วจะเจอส่วนไหนของเมืองก่อน เหนือ ใต้ ตะวันออกหรือตะวันตก ทำให้เข้าใจง่ายไม่หลงทิศ
เยอรมนีไม่มีระบบยูเทิร์น จึงเกิดอุบัติเหตุน้อย ที่นี่จะมีทางออกเลี้ยวไปอีกถนนหรือเลนตรงข้ามอยู่เสมอ แม้ว่าจะไกลไปบ้าง แต่ปลอดภัยกว่าการหักรถกลับหลังหันเหมือนระบบยูเทิร์น รถบรรทุกวิ่งได้เลนเดียวไม่เป็นเจ้าถนนไปได้ทั่ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะมีการแบ่งเลนกลางโดยอัติโนมัติให้รถกู้ชีพวิ่งเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว รถอื่นต้องหลบไปอยู่เลนข้าง
ปั๊มน้ำมันมีไม่ชุกเหมือนบ้านเรา ก่อนจะถึงแต่ละปั๊มจะมีป้ายบอกข้างทางด้วยว่าปั๊มอยู่ฟากไหนของถนน และปั๊มที่ถัดไปจากปั๊มนี้อีกกี่ กม. เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าจะจอดปั๊มนี้หรือไม่ แต่ละปั๊มราคาน้ำมันไม่เท่ากัน ไม่มีการฮั้วกัน ปกติแล้วน้ำมันในปั๊มบนทางด่วนและชายแดนมักแพงกว่าปั๊มในเมือง
ราคาน้ำมันในเยอรมนีอาจแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนิดหน่อย แต่ปัจจุบันราคาลงมาแล้วเมื่อเทียบกับตอนที่รัสเซียบุกยูเครนใหม่ ๆ การเติมน้ำมัน ผู้ขับขี่ต้องเติมเองแล้วไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิจ
เคาน์เตอร์เซอร์วิจในปั๊มน้ำมันจะเป็นจุดที่คึกคักมาก เพราะจะเป็นอาคารในตัวตึกที่อาจมีพื้นที่ใหญ่ขนาดขายอาหาร ขายของอุปโภคบริโภคจุกจิก รองรับคนได้หลายสิบคน หรือเป็นร้านเล็ก ๆ ที่มีเจ้าของร้านคนเดียวขายของเล็กน้อยก็ได้ ราคาสินค้าในปั๊มน้ำมันค่อนข้างมีราคาแพงกว่าร้านขายของชำปกติหรือซูเปอร์มาเก็ตหลายเท่า อาจเพราะมีไว้ให้ลูกค้าซื้อเฉพาะกิจ เช่น หิวข้าวเช้า หรือขนมของเล่นหลอกล่อลูกเด็กเล็กแดง
ปกติแล้วในปั๊มน้ำมันจะมีสุขาไว้บริการ แต่ก่อนเข้ามักต้องซื้อตั๋วราคา 0.5 -1 ยูโร ต่อครั้ง ตั๋วที่ใช้สำหรับสุขานี้มักสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อของในปั๊มน้ำมันได้ด้วย สุขาในปั๊มน้ำมันค่อนข้างสะอาด นอกจากนี้ ทางหลวงเยอรมันยังจัดพื้นที่สุขาและจอดพักสำหรับรถบรรทุกเป็นระยะ ๆ อีกด้วย
การทำผิดกฎจราจรสำหรับรถส่วนตัวค่าปรับสูงมาก เยอรมนีไม่มีโซนห้ามรถต่างถิ่นเข้าเหมือนกับบางประเทศก็จริง แต่การจอดรถตามฟุตปาทข้างทางนั้นสตริ๊กมาก ไม่ใช่เห็นที่ว่างก็จะจอดหรือจอดคาเปิดไฟฉุกเฉินค้างไว้ พื้นที่ข้างฟุตปาทอาจถูกสงวนไว้ให้รถตำรวจหรือรถท้องถิ่น ต้องดูบนพื้นเลนให้ดี
ทันทีที่จอดบนที่สาธารณะที่มีสิทธิ์จอดได้ทุกครั้งต้องมองหาตู้จ่ายเงินค่าจอดที่ควรอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เราจอด แล้วไปชำระค่าจอดเป็นรายชั่วโมงเสียก่อนด้วยเหรียญหรือการ์ด.