ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย | วรากรณ์ สามโกเศศ

ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย | วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อได้ยินประโยค “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” ของกลุ่มดิไอคอน ทำให้นึกถึงอะไรหลายอย่างที่นำไปสู่ด้านลบ ทั้งๆ ที่แวบแรกก็คิดว่าเข้าท่าดีเหมือนกันเพราะชี้แนะให้ทำอะไรที่ฉลาดจะได้ไม่จนอีกต่อไป มาดูกันว่าเหตุใดประโยคนี้อาจสร้างผลด้านลบขึ้นได้

มีเรื่องตลกของฝรั่งที่ได้ยินมาหลายปีแล้วว่า ภายใต้ระบอบนาซีในเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารคนใดที่ “ฉลาดแต่ขี้เกียจ” ก็จะคัดไปเป็นทหารประเภทนั่งโต๊ะเพราะสอดรับกับอุปนิสัย พวกนี้จะพยายามเสนอทางแก้ไขปัญหาให้ทุกอย่างง่าย แต่มีประสิทธิภาพเพราะความฉลาด

พวกที่ “ฉลาดและขยัน” ก็จะคัดไปเป็นผู้นำ ส่วนพวกที่ “โง่และขี้เกียจ” ก็จะเอาไปเป็นทหารที่ใช้แรงงานไม่ใช้สมองมาก เช่น ล้างรถ

สำหรับพวกสุดท้ายคือ “โง่แต่ขยัน” นั้นต้องระวังมากที่สุดเพราะอาจไปทำสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงได้ นาซีจึงจัดการเอาไปทำปุ๋ยซะ

ข้อความของกลุ่มไอคอนที่ถูกจับข้อหาฉ้อโกงที่ว่า “ขยันผิดที่” ก็คล้ายกับ “โง่แต่ขยัน” กล่าวคือทำงานในอาชีพหรืองานที่ไม่เข้าท่าเเล้วยังไงก็ไม่มีวันรวย หากจะรวยก็ต้อง “ทำงานให้ถูกที่” คือมาขายของเป็นพวกเดียวกับเขา

ถ้าถอดโค้ดทั้งหมดออกมาก็คือ พวกคุณทั้งหลายกำลังทำงานที่ไม่เข้าท่า ยังไงก็ไม่รวย ถ้าทำ “ถูกที่” คือขายของกับพวกเราแล้ว คุณก็จะรวยได้ใน 10 ปี

“รวย” ของคนกลุ่มนี้คือ รวยเป็นร้อยๆ ล้านตามภาพที่เขาพยายามแสดงให้เห็นว่า คนที่เชื่อเขาแล้วมาขายของด้วยนั้นจะรวยอย่างไร มีสไตล์การมีชีวิตที่เหนือกว่าเทพมากเพียงใด

ดังนั้น “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” จึงสร้างความคิดว่างานที่ทำอยู่นั้น ไม่มีวันทำให้รวยได้เลย มันมีงานอื่นที่ทำให้รวยอย่างพวกเขา และทำได้ใน 10 ปีด้วย 

 อุ!!! แม่เจ้า ถ้าจะรวยแบบนี้ได้ใน 10 ปีก็ต้องเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ทำงานสีเทาหรือดำ ไม่ว่าพนันออนไลน์ ต้มตุ๋นผู้คนจากการเป็นเจ้าของคอลเซ็นเตอร์หรือจากการเป็นผู้บริหารระดับสูงของแชร์ลูกโซ่ (อย่าลืมว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 ครั้งละ 6 ล้าน 20 ครั้ง จึงจะรวย ใกล้เคียงเป้าหมายได้!)

“ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” จึงเท่ากับชี้แนะให้ผู้คนฝันหวานกลางแดดว่า จะเป็นโครตมหาเศรษฐีได้อย่างรวดเร็วทันใจ จงละทิ้งงานปัจจุบัน มาร่วมเป็นครอบครัวของเขา

ที่น่ากลัวก็คือความคิดอยากรวยเร็ว จากการทำงานสบายของคนไทยจำนวนหนึ่ง ในปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นั้นมันอยู่ในห้วงความคิดทุกวันนี้อย่างเเรง

เข้าใจว่ามาจากการได้ยินเรื่องเล่าของการร่ำรวยจากตลาดการเงินสมัยใหม่ เช่น จากการเก็งกำไรคริปโทเคอร์เรนซี การลงทุนหรือทำงานในงานเทคโนโลยีสมัยใหม่หรืองานสีเทาอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย

ลองคิดดูว่าเมื่อผู้คนถูกกรอกหูทุกวันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ว่า มีหนทางที่รวยมหาศาลอยู่ เพียงแต่รอจังหวะดีที่เขาจะได้ไปร่วมเเล้วเขาก็จะรวยมหาศาลเหมือนคนอื่น 

คนเหล่านี้ก็จะรู้สึก “ดูถูก” งานที่ตนเองทำเพราะไม่ให้รายได้มากมายที่จะทำให้เป็นมหาเศรษฐีได้ ความรักความเอาใจใส่เรียนรู้งาน ความพยายามที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้งานออกมาที่ดีที่สุดก็จะหายไป 

เพราะวันหนึ่ง ๆ เอาแต่ฝันรอจังหวะดีนั้นซึ่งไม่มาถึง จนผลิตภาพในการผลิตของตน หรือ productivity ซึ่งเป็นหัวใจของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไม่เพิ่มขึ้นและอาจต่ำลงด้วยซ้ำ

ถ้าคนจำนวนมากอยู่ในสภาวการณ์เดียวกัน นี่คือผลเสียประการแรกของประโยคที่เป็นพิษนี้

ประการที่สอง ประโยคนี้ตลอดจนการโน้มน้าวใจของทีมนั้นเน้น “รวย” เป็นเป้าหมายของชีวิตจนคุณธรรมเป็นเรื่องรอง ในตอนนี้ลองไปถาม 18 ผู้ต้องหาดูสิว่ามีกี่คนที่อยากรวยน้อยกว่านี้แต่ไม่ติดคุก 

มั่นใจได้ว่าทุกคนจิตตก จิตใจหดหู่ รู้สึกไม่สบายจากการขาดอิสรภาพ อยู่กินไม่สบายเหมือนบ้าน คิดถึงเเละเป็นห่วงกังวลว่าลูกเมียสามีพ่อแม่เเละครอบครัวรู้สึกอย่างไร จะอยู่กันอย่างไรจะติดอยู่นานไหม

เมื่อไรจะได้ประกันตัว เขาจะไปค้นเจออะไรที่เเอบซ่อนไว้ไหม จะมีใครทรยศยอมถูกกันเป็นพยานเเละให้การปรักปรำ ฯลฯ ความรู้สึกเหล่านี้แหละที่ทำให้คุกเป็นนรกมากกว่าการอยู่กินไม่สบาย

ประการที่สาม มันเป็นประโยคที่ทรงพลังเพราะเรียกร้องสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ของผู้คน นั่นก็คือความรวย และสัมผัสความสงสัยในใจและยืนยันว่างานที่ทำอยู่ไม่ทำให้รวยได้เหมือนดังที่คนทั่วไปคิดอยู่ (คล้ายกับท้าทาย “อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา”)

และเสนอทางออกให้ด้วยการโน้มน้าวเชิงจิตวิทยา ให้เกิดความโลภเมื่อเห็นบรรดาผู้คนที่อยู่ใน “ครอบครัว” ที่ร่วมขายสินค้าล้วนประสบความสำเร็จ

ร่ำรวยเกินพรรณนา มนุษย์เรานั้นเมื่อความโลภเข้าทางประตูมาครอบงำ ความมีเหตุมีผลก็ออกทางหน้าต่างเสมอ เมื่อเสริมด้วยบรรยากาศเเห่งความโลภที่จะได้รับผลตอบแทนเเละมีคนน่าเชื่อถือมายืนยัน ที่เหลือก็คือสิ่งที่เราเห็น

ในตอนแรกชักจูงให้ขายสินค้า เมื่อจ่ายเงินแล้ว บางคนก็ได้สินค้ามาบ้าง เมื่อขายไม่ออกหรือไม่ส่งสินค้าให้ก็แนะนำให้หาคนมาเป็นสมาชิก และจะได้เงินตอบแทนสูง งานของคนขายก็เลยซ้อนกันคือ ทั้งขายสินค้าตรงแบบมีลูกทีมขายต่อๆ กัน และแชร์ลูกโซ่คือชักชวนคนมาร่วม 

(ได้เงินจากคนที่เข้ามาในเครือข่าย เเละบริษัทเอาเงินที่ได้มาจ่ายให้คนที่อยู่ในเครือข่ายก่อนหน้า เเละหาคนเข้ามาใหม่ต่อกันเป็นลูกโซ่ คนที่ชักชวนก็ได้เงินตอบเเทน) สักพักก็เลิกขายโดยหันมาชักจูงคนอย่างเดียว รูปแบบต้มตุ๋นนี้มีในต่างประเทศมากมาย และเลียนแบบกันมา

มีเรื่องหนึ่งอยู่ในใจ การที่ท่านอาจารย์ ว.วชิรเมธี พูดเชียร์ไอคอนเพียงประโยคเดียวในการพูดกว่า 30 นาทีนั้น ไม่เหมาะสมแน่นอน แต่ต้องดูเจตนา ท่านอาจารย์เป็นพระการศึกษาสูงไม่เคยมีเรื่องเสียหาย สร้างประโยชน์แก่ศาสนาและประชาชนมากมาย

ผมไม่ใช่ลูกศิษย์ท่าน แต่ในฐานะคนกลาง เราไม่ควรทำลายโค่นล้มท่านเพราะความผิดพลาดที่ท่านไม่รู้ว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร ควรรักษาท่านไว้เป็นสิ่งมีค่าของสังคม

อย่าทำอะไรที่โง่เขลา สูญเสียท่านไปเพราะความผิดพลาดที่ใครก็พลั้งเผลอได้ด้วยกันทั้งนั้นเลยครับ

ประโยคที่ฟังดูสวยหรูจำนวนมากในสังคมเรา ต้องฟังแบบกรอง เพราะมีทั้งบริสุทธิ์ใจ และมีผลประโยชน์แอบแฝงครับ.