ไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคท ย้อนรอยเช็กลิสต์ผลไม้ที่เคยเจอสารตกค้างในอดีต

ไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคท ย้อนรอยเช็กลิสต์ผลไม้ที่เคยเจอสารตกค้างในอดีต

ไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคท แต่ก่อนหน้านี้ผลไม้ชนิดอื่นๆ ก็เคยตรวจเจอสารตกค้างจำนวนมาก ย้อนรอยเช็กลิสต์ผักผลไม้ที่เคยตรวจพบสารตกค้างในรายงาน 4 ปีก่อน ด้าน อย. เน้นย้ำ! หลักเลือกซื้อให้ปลอดภัยพร้อมแชร์วิธีล้างผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค

หลังจากที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยผลการสุ่มตรวจ “องุ่นไชน์มัสแคท” 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งพบสารเคมีเกษตรตกค้างในองุ่นเกินค่ามาตรฐานจำนวนมาก เมื่อเรื่องนี้เผยแพร่ออกไปก็สร้างความตกใจให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภค “งดซื้องดกิน” แบบกะทันหัน จนเกิดปรากฏการณ์องุ่นไชน์มัสแคทเหลือค้างตามท้องตลาดเต็มไปหมด แม้พ่อค้าแม่ค้าหลายเจ้าจะลดราคาอย่างหนักแต่ก็ยังขายไม่ออก 

แต่ล่าสุด..ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปก่อนหน้านี้อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จริงๆ แล้ว ผลการตรวจสอบองุ่นไชน์มัสแคทที่พบสารตกค้าง 36 รายการนั้น พบค่าเกินมาตรฐานเพียงเล็กน้อย หรือพูดง่ายๆ ว่าพบสารปนเปื้อนจริงแต่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย 

ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยว่า สารปนเปื้อนเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อองุ่นไชน์มัสแคททำให้ล้างออกไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงคือ สารบางชนิดเป็นสารที่ถูกใช้ในระหว่างการปลูก ทำให้ต้นไม้ดูดซึมสารเข้าไปเพื่อเป็นอาหาร แต่ไม่ได้หมายถึงว่าสารนั้นดูดซึมเข้าไปในผลไม้ ดังนั้น การล้างผลไม้ก่อนรับประทานตามวิธีที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทานได้ตามปกติ

ไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคท แต่ก่อนหน้านี้เคยพบผลไม้อื่นๆ ที่มีสารตกค้างอีกเพียบ

รู้หรือไม่? ไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคทเท่านั้นที่ตรวจเจอสารตกค้าง แต่หากย้อนกลับไปในปี 2563 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว Thai-PAN เคยทำรายงานผลการสุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ชนิดต่างๆ ตามท้องตลาดในไทยมาก่อน ซึ่งมีรายงานพบว่ามีผักสดและผลไม้หลายชนิด มีสารตกค้างจำนวนมากเช่นกัน โดยเป็นการตรวจวิเคราะห์การสุ่มตรวจผักและผลไม้จำนวน 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ (ประกอบไปด้วยผลไม้จำนวน 9 ชนิด ผักจำนวน 18 ชนิด และของแห้ง 2 ชนิด) เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกบริโภคผักที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า 

หมวดผลไม้ที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด 7 อันดับแรก ได้แก่ 

1. องุ่นแดงนอก พบสารตกค้าง 100%
2. พุทราจีน พบสารตกค้าง 100%
3. ส้มสายน้ำผึ้ง พบสารตกค้าง 81%
4. ฝรั่ง พบสารตกค้าง 60%
5. แก้วมังกร พบสารตกค้าง 56%
6. น้อยหน่า พบสารตกค้าง 43%
7. ลองกอง พบสารตกค้าง 14%

หมวดผักสดที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด 7 อันดับแรก ได้แก่ 

1. พริกขี้หนู-พริกแดง พบสารตกค้าง 100%
2. ขึ้นฉ่าย พบสารตกค้าง 100%
3. คะน้า พบสารตกค้าง 100%
4. มะเขือเทศเล็ก พบสารตกค้าง 100%
5. ผักชี พบสารตกค้าง 88%
6. ผักกวางตุ้ง พบสารตกค้าง 81%
7. กะเพรา พบสารตกค้าง 81%

ไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคท ย้อนรอยเช็กลิสต์ผลไม้ที่เคยเจอสารตกค้างในอดีต

ก่อนซื้อผักผลไม้ ต้องรู้ที่มาของสินค้า แหล่งปลูกที่ปลอดภัย และล้างสะอาดก่อนกินเสมอ

หน่วยงานดังกล่าวได้มีคำแนะนำถึงผู้บริโภคด้วยว่า หากต้องการลดการสัมผัสกับสารตกค้างจากผักผลไม้ให้ได้มากที่สุด ก็ควรบริโภคสินค้าที่ระบุที่มาการผลิตต้นทางชัดเจน เช่น เป็นผักผลไม้จากแปลงผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ การล้างน้ำหลายๆ ครั้ง ก็ช่วยลดสารพิษได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับประเภทของสารที่ใช้ในการฉีดพ่น ขณะที่การหันไปบริโภคผักผลไม้ท้องถิ่นที่รู้ที่มาแหล่งผลิตเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และหากเป็นไปได้การปลูกผักกินเอง จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทั้งในกรณีล่าสุดของ “องุ่นไชน์มัสแคท” และกรณีที่พบสารตกค้างในผลไม้ชนิดอื่นๆ ตามรายงานย้อนหลังดังกล่าว ล้วนแต่สะท้อนให้ผู้บริโภคตระหนักได้มากขึ้นว่า ในเมื่อเราไม่ได้ปลูกผักผลไม้กินเอง แต่เป็นการซื้อหาจากท้องตลาดมาบริโภค แน่นอนว่ามันไม่ได้สะอาดปลอดภัย 100% ดังนั้นก่อนจะบริโภคทุกครั้งต้องล้างให้สะอาดมากที่สุดเสมอ

อย. ได้แนะนำถึง วิธีล้างผักผลไม้ ที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อลดปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ด้วย 3 วิธี ดังนี้ 

วิธีที่ 1 การล้างน้ำธรรมดา

• แช่น้ำ 15 นาที (เขย่า/ลูบเบาๆ) 
• จากนั้นล้างแบบผ่านน้ำไหลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วินาที 
• วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการล้างผักและผลไม้ต่างๆ 

วิธีที่ 2 แช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือเบกกิ้งโซดา

• ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม ต่อน้ำ 4 ลิตร
• แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน 15 นาที จากนั้นล้างน้ำสะอาด

วิธีที่ 3 แช่ในน้ำผสมเกลือ

• โดยแช่ในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (เกลือ 1 ช้อนโต๊ะหรือ 18 กรัม ต่อน้ำ 2 ลิตร) 
• แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน 15 นาที จากนั้นล้างน้ำสะอาด

นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผักผลไม้ที่ได้รับรองเกษตรอินทรีย์ หรือ GAP เป็นหลัก และควรบริโภคผัก ผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนที่เกษตรกรมักใช้กับพืชผลนอกฤดูกาล รวมถึงควรบริโภคผักผลไม้หลากหลายชนิด ไม่ควรบริโภคชนิดเดียวซ้ำๆ ข้อปฏิบัติเหล่านี้ก็ช่วยให้หลีกเลี่ยงสารตกค้างในผักผลไม้ได้เช่นกัน