CEO ต้องแข็งแกร่งทั้งกายใจ ฝึกฝน 4 นิสัยเพื่อความสำเร็จในปี 2025

ซีอีโอต้องแข็งแกร่งทั้งกายและใจ เพราะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ได้อย่างเฉียบแหลม ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ดีที่สุด ต้องเริ่มจากการดูแลตัวเองอย่างมีวินัย
KEY
POINTS
- การดูแลตนเองคือกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จระยะยาว สำหรับ CEO การดูแลตนเองไม่ใช่แค่เรื่องของการผ่อนคลาย แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตัดสินใจได้เ
หลังจากทำงานเหนื่อยหนักมาตลอดสัปดาห์ วัยทำงานย่อมอยากพักผ่อนเป็นธรรมดาเพื่อดูแลตนเองไม่ให้ร่างพังไปเสียก่อน โดยหากพูดถึง "การดูแลตัวเอง" พนักงานออฟฟิศหลายคนอาจนึกถึงวันพักผ่อนในสปาหรือออกไปท่องเที่ยว แต่สำหรับ CEO แล้ว การดูแลตนเองไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการผ่อนคลาย แต่เป็นกลยุทธ์เพื่อรักษาประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดในระยะยาว และหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
เนื่องจากหน้าที่หลักของผู้นำองค์กร คือ การตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรอย่างเฉียบแหลม ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของบริษัทมูลค่าหลายล้านหรือพันล้านดอลลาร์ จึงต้องมีความอึดทึกทนต่อแรงกดดัน และมีวิสัยทัศน์ที่ช่วยให้เห็นโอกาสก่อนคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอหรือผู้นำจำนวนมากมักผลักดันตัวเองจนเกินขีดจำกัด โดยคิดว่าพวกเขาสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ในภายหลัง แต่บ่อยครั้งก็เผลอปล่อยไว้จนสายเกินไป ร่างพัง สุขภาพทรุดโทรม จนอาจทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิมอีกต่อไป
งานวิจัยจาก Global Advances in Health and Medicine ระบุว่า 64% ของซีอีโอหรือผู้บริหารธุรกิจ ประสบกับความเครียดจากการทำงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2025 ตัวชี้วัดความสำเร็จสูงสุดของ CEO จะไม่ใช่แค่ผลประกอบการของบริษัท แต่รวมถึงสมดุลชีวิตส่วนตัวด้วย
หากละเลยเรื่องนี้ ผู้นำองค์กรย่อมได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ส่งผลให้สมรรถภาพในการทำงาน การตัดสินใจ และประสิทธิภาพการทำงานในภาวะผู้นำลดลง ดังนั้นซีอีโอยุคใหม่ต้องเข้าใจว่า "การดูแลตนเองจึงไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย" แต่เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการรักษาประสิทธิภาพระยะยาว ..ต่อไปนี้คือนิสัยสำคัญ 4 ประการที่ช่วยให้ CEO ทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเสียสละสุขภาพของตนเอง
การตระหนักรู้ในตนเองคือข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์
ซีอีโอ ผู้ก่อตั้ง และผู้นำระดับสูง มักผูกพันตัวตนเข้ากับตำแหน่ง บริษัท และความสำเร็จของตนเอง ลองถามตัวเองว่า..คุณเป็นใครเมื่อไม่มีหัวโขนเหล่านั้น? ภาวะหมดไฟไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการสูญเสียตัวตนไปด้วย หลายคนทุ่มเทให้กับธุรกิจจนละเลยสุขภาพ ความสัมพันธ์ และความสุขส่วนตัว ซึ่งจะกัดกร่อนความแข็งแกร่งทางจิตใจและความสามารถในการตัดสินใจ
การพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเองด้วยการตรวจสอบพลังงาน อารมณ์ และลำดับความสำคัญของตัวเองเป็นประจำ จะสามารถช่วยให้คุณกลับมาตั้งหลักได้ ลองถามตัวเองว่า สุขภาพกายของฉันเป็นอย่างไร? ความแข็งแกร่งทางจิตใจของฉันดีแค่ไหน? ความสัมพันธ์สำคัญของฉันยังมั่นคงหรือไม่? ฉันยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนหรือเปล่า?
ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า การตระหนักรู้ในตนเองไม่ใช่แค่เรื่องของการเติมเต็มส่วนตัว แต่เป็นทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มสัญชาตญาณความเป็นผู้นำ ปรับปรุงการตัดสินใจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของคุณในระยะยาว
ควบคุมบทสนทนาภายในตนเอง ให้เหมือนกับนักกีฬาระดับโลก
รู้หรือไม่? นักกีฬาชั้นนำระดับโลกมักจะให้ความสำคัญกับ “การพูดคุยกับตัวเอง” เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ก่อนที่พวกเขาจะคว้าแชมป์ พวกเขาได้เอาชนะมันในใจมาก่อนแล้ว ผู้นำองค์กรเองก็ต้องมีวินัยทางจิตใจแบบเดียวกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจ
บทสนทนาภายในสามารถเป็นพลังบวกที่ช่วยเสริมความมั่นใจและความยืดหยุ่นได้ และในทางตรงกันข้าม มันก็เป็นอุปสรรคที่บั่นทอนความสามารถในการตัดสินใจและลดประสิทธิภาพการทำงานได้เช่นกัน หลายคนติดกับดักความสมบูรณ์แบบมากเกินไป ความรู้สึกผิด และเสียงวิจารณ์ภายในที่คอยตอกย้ำความล้มเหลวของตนเองอยู่เสมอ
กุญแจสำคัญไม่ใช่การพยายามปิดกั้นความสงสัยในตัวเอง แต่เป็นการฝึกให้ตนเองมีทัศนคติที่สร้างสรรค์มากขึ้น แทนที่จะตำหนิตัวเอง ให้ลองคิดในเชิง Coaching ที่ช่วยผลักดันตนเองไปข้างหน้า มองว่าการพูดคุยกับตัวเองเป็นนิสัยที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการนำองค์กร
ปกป้องพลังงานของคุณ ให้เหมือนกับปกป้องงบดุลของบริษัท
ซีอีโอส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับงบดุลทางการเงินของบริษัท แต่ละเลยทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของตนเองไป นั่นคือ พลังงานกายและใจของตนเอง ลองนึกถึงพลังงานของคุณเหมือนกับงบดุลทางการเงิน ทรัพยากรของคุณกำลังรั่วไหลไปที่ไหนบ้าง โดยเริ่มจากหาคำตอบให้กับข้อสงสัยเหล่านี้
- การประชุม (หรือบุคคล) ที่ทำให้หมดแรง?
- ภาระผูกพันที่ไม่จำเป็น?
- ความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจที่ไม่สิ้นสุด?
ผู้นำหลายคนทำงานราวกับว่าตนเองเป็นอมตะ รับมือกับทุกปัญหาด้วยตัวเอง แต่แนวทางที่ดีกว่าคือการจัดสรรพลังงานอย่างมีกลยุทธ์ ไม่ใช่แค่การบริหารเวลา เพราะเช่นเดียวกับธุรกิจ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) มีความสำคัญ การกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนไม่ได้หมายความว่าคุณจำกัดความทะเยอทะยาน แต่มันช่วยให้คุณสามารถสร้างผลลัพธ์ได้สูงสุดโดยไม่เสียสุขภาพ
กำหนดมาตรฐานความเป็นเลิศให้กับสุขภาพของคุณ
โค้ชระดับตำนานอย่าง Bill Walsh ได้เปลี่ยนทีม 49ers ให้เป็นแชมป์โดยเริ่มจาก "มาตรฐานความเป็นเลิศ" ที่กำหนดวิธีฝึกซ้อม การสื่อสาร และระเบียบวินัย ซึ่งช่วยสร้างผลลัพธ์ที่แน่นอนและมีความสม่ำเสมอ หลักการเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้กับสุขภาพของคุณได้ ลองคิดถึงการมี “คู่มือการปฏิบัติงานส่วนตัว” สำหรับการออกกำลังกาย, โภชนาการ, การนอนหลับ, ความแข็งแกร่งทางจิตใจ, การพักฟื้น, ความสัมพันธ์ส่วนตัว ฯลฯ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
ในท้ายที่สุดแล้ว "การดูแลตนเอง" คือตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของซีอีโอ ในปี 2025 เพราะโลกการทำงานในยุคนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลในปี 2024 อาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในปีนี้ก็ได้ ระดับความเครียดและอัตราการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง CEO จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นอีกในปี 2025 เพราะความกดดันในวงการธุรกิจไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
แม้ว่ารายได้ การเติบโต และส่วนแบ่งตลาดจะมีความสำคัญ แต่อย่าลืมว่าตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดยังคงเดิม นั่นคือ สุขภาพของคุณ การดูแลตนเองไม่ได้หมายถึงการถอยห่างจากงาน แต่เป็นการฝึกวินัยการออกกำลังกาย การนอนที่ดี กินอาหารดี เพื่อการันตีว่าคุณจะแข็งแรงและแข็งแกร่งในทุกวัน และสามารถนำพาองค์กรได้อย่างเต็มศักยภาพทั้งในวันนี้ พรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไปอนาคต