'โคมลอย' ลอยห่างจากคนท้องถิ่นไปทุกขณะ
วาระประจำปีว่าด้วยเรื่องการลอยโคมที่ยังรอมาตรการชัดเจนเพื่อสมดุลระหว่างรายได้จากการท่องเที่ยวกับความปลอดภัย
อันที่จริงยังไม่ใช่เทศกาลที่จะพูดเรื่องโคมลอยวันเพ็ญเดือนสิบสอง นี่เพิ่งสิงหาคมเอง แต่มันเกิดมีประเด็นประชาชนคัดค้านการจัดมหกรรมลอยโคมฉลองเทศกาลยี่เป็งที่ห้วยตึงเฒ่า เขตทหารกลางเมืองเชียงใหม่ แถมประกาศจะทำสถิติโลก 2 หมื่นใบอีกต่างหาก
ยังดี มทบ. 33 เจ้าของสถานที่ ไหวตัวกับกระแสสังคม ยกเลิกการจัดงานไปแล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่สมควรจบ เดือนสิงหาคมนี่แหละเป็นโอกาสอันเหมาะกับการกล่าวถึงปัญหาโคมลอย เพราะยังพอมีเวลาให้จัดการ
เจ้าโคมลอยจุดไฟสวยงามอร่ามฟ้ามันเป็นข้อถกเถียงและขัดแย้งมานานไม่ใช่แค่ปีสองปีนี้ แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปเสียที สมัยที่คสช.เข้ามาใหม่ มีประกาศห้ามลอยโคมเด็ดขาด ท้องฟ้าวันเพ็ญเดือนสิบสองปราศจากโคมลอยได้เพียงปีเดียว จากนั้นก็มีการเปิดให้ขออนุญาตเป็นรายๆ ไป ที่เชียงใหม่เมื่อปีกลายขอกันถึง 6 หมื่นกว่าลูก ในความเป็นจริงมากกว่านั้นเพราะเมื่อถึงเวลาใครใคร่ลอยก็ได้ลอย ทั้งจุดทั้งปล่อยตรงหน้าจวนผู้ว่าฯเชียงใหม่ เชิงสะพานนวรัฐนั่นล่ะ
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการลอยโคมบอกว่า ‘นี่ไม่ใช่ประเพณียี่เป็งดั้งเดิม’ เพิ่งจะฮิตทำกันเมื่อสิบกว่าปีนี่เอง แต่เสียงของการค้าและการท่องเที่ยวเสียงดังกว่า การลอยโคมทีละมากๆ มันสวยจริง ดึงดูดจริง ขายได้จริง มันเป็นเงินเป็นทอง ขายบัตรเพื่อกินดื่มดูการแสดงและลอยโคมใบละ 1,500-3,500 นะครับ แล้วมันก็มีทัวร์ที่ยอมควักเงินซื้อด้วยสิ
ถ้ามีคนซื้อตั๋วสัก 5 พันคน คูณ 2 พัน ตกเป็นเงินหมุนเวียนในคืนนั้น 10 ล้านบาทเฉพาะงานเดียว ดังนั้นใบอนุญาตปล่อยโคมจึงกลายเป็นเงินเป็นทองขึ้นมา
โคมลอยเป็นอะไรที่โรแมนติก สวย และดึงดูด มันจึงแพร่หลายกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการท่องเที่ยวและบริการ ที่ภูเก็ตก็มี เคยไปถึงเมืองมะริด นั่งกินอยู่บนดาดฟ้าโรงแรม หันไปดูอ้าว! เจ้าถิ่นโต๊ะโน้นกำลังปล่อยโคมอย่างสนุกสนาน ดูดี เท่ ทันสมัย
ในโลกนี้ยังมีเมืองที่ใช้โคมลอยเป็นจุดขาย แถมประสบความสำเร็จด้วย เช่น เขตผิงซี ไต้หวัน มีเทศกาลลอยโคมช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ทำเป็นประเพณีมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ทว่าเบื้องหลังของที่นั่นเขาก็มีความขัดแย้งเช่นกัน กลุ่มอนุรักษ์ต่อต้านการลอยโคมปริมาณมากเกินไป มีข้อขัดแย้งเรื่องวัสดุที่ไม่ใช่ไม้ไผ่เหลา-กระดาษแบบเดิมซึ่งสามารถเผาไหม้เร็วในอากาศก่อนจะตกลงมาเป็นอันตราย วัสดุยุคใหม่เบา แต่ทนไฟ แถมกลายเป็นขยะเช่นโครงลวด เป็นต้น แต่แรงคัดค้านของที่นั่นก็ยังสู้ประเพณีและการท่องเที่ยวไม่ได้
ยี่เป็งที่เชียงใหม่จะจัดในเดือนพฤศจิกายน ยังมีเวลาอีกนาน... แต่ก็เชื่อได้ว่า ยิ่งใกล้วันความขัดแย้งว่าด้วยการปล่อยโคมก็จะยิ่งดังขึ้นๆ เช่นเดียวกับที่เคยเกิด แล้วก็จะมีการห้ามขายแต่ให้มาขอใบอนุญาตเป็นรายๆ ไป นัยว่ามีการควบคุม ซึ่งที่สุดก็จะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จัดงานปล่อยโคมทีละมากๆ เป็นพันลูกสามารถจัดได้สำเร็จสมประสงค์อยู่ดี เพราะเหตุผลว่าด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว ยังเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเสมอ
ไม่ทราบว่านอกจากยี่เป็งเชียงใหม่ที่มีข้อขัดแย้งแบบนี้แล้ว ยังมีเมืองอื่นหรือไม่ หากมีก็คงคล้ายๆ กัน แต่สังคมเราไม่ควรจะจมอยู่กับวังวนที่ไม่ขยับไปไหนแบบนี่อีกแล้ว ไม่ว่าจะที่เชียงใหม่ หรือที่จังหวัดไหน
ความขัดแย้งใดๆ ควรจะยุติได้ด้วยข้อมูลและเหตุผล ซึ่งมันก็ถึงเวลาแล้วที่สถาบันวิชาการใดสักแห่งควรจะทำวิจัยศึกษาพฤติกรรมของเจ้าโคมลอยให้เป็นเรื่องเป็นราว วัสดุชนิดนี้ เชื้อเพลิงชนิดนี้ สามารถลอยได้ไปไกลแค่ไหน สูงแค่ไหน หากเปลี่ยนเชื้อเพลิงจะมีพฤติกรรมอย่างไร โคมลอยยุคก่อนทำจากไม้ไผ่เหลา เดี๋ยวเอาง่ายทำจากลวด แล้วก็ใช้ทิชชูผ่าท่อนชุบขี้ผึ้งเป็นเชื้อเพลิง มันจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการรีไซเคิลแค่ไหน หากจำเป็นต้องลอยควรใช้วัสดุใด กระแสลมเดือนพฤศจิกายนพัดไปทางใด เขตพื้นที่อำเภอ-ตำบลใดที่ปลอดภัย เขตใดอันตรายต่อการบิน ฯลฯ
ไหนๆ ก็ไหนๆ เอาให้มันชัดเจนกันไป
ระบบการตลาดและธุรกิจท่องเที่ยวจากการลอยโคมก็เช่นกัน รูปแบบแบบไหนที่นายทุนได้กำไรเน็ต แบบไหนที่กระจายรายได้ให้กับชาวบ้านมากสุด เพราะที่ผ่านๆ มา ยิ่งห้าม ก็ยิ่งมีช่องโหว่ให้นายทุนนักธุรกิจได้ขายทีละเยอะๆ ส่วนชาวบ้านห้ามทั้งผลิตทั้งขาย คนที่ร่ำรวยคือพวกที่เข้าถึงอำนาจอนุญาต เชียงใหม่เมื่อก่อนมีอีเวนท์ลอยโคมเยอะๆ มากๆ แค่รายเดียว คือของสำสักสงฆ์เครือข่ายธรรมกายแถวแม่โจ้ ขายได้เยอะจนติดตลาด ต่อมาก็เกิดมีอีเวนท์แบบเดียวกันอีกหลายเจ้า แย่งกันขอ แย่งกันขายบัตร
ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ได้ทราบมาว่ามีบริษัทท่องเที่ยวใหญ่ของจีนเข้ามามีบทบาท ขอจัดอีเวนท์เทศกาลลอยโคมด้วยตัวเอง โดยผ่านองค์กรตัวแทน ในทางธุรกิจบริษัททัวร์ใหญ่ซึ่งมีเครือข่ายในจีนอยู่แล้วย่อมได้เปรียบในการหาและส่งลูกค้า จะเอาเป็นหมื่นย่อมสามารถหาได้ แต่ในทางการกระจายรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นแบบนี้เข้าข่ายกินรวบ เพราะเป็นผู้หาตลาดเอง ขายบัตรเอง ทำทัวร์(ผ่านบริษัทในเครือ)เอง และจัดงานเอง
การท่องเที่ยวบ้านเราในระยะหลังเริ่มถูกทุนจีนเข้ามาเทคโอเวอร์รับเหมาทำแทนแทบหมดแล้ว เมื่อก่อนพ่อค้าแม่ค้าผลไม้ในตลาดสดร่ำรวย เพราะทัวร์จีนมาลงซื้อกินทีละมากๆ สวมสร้อยทองเส้นใหญ่ แต่พอเขาตั้งหลักได้ เขาไปซื้อแผงเอง ซื้อล้งเอง ทำทัวร์ลงมากินผลไม้กันเอง บรรดาแผงคนไทยที่เคยอู้ฟู่ได้ไม่นาน บัดนี้กลับมาหงอยเหงาขายให้ลูกค้าท้องถิ่นตามเดิม
อันที่จริงผู้ที่ควรจะได้รับเม็ดเงินจากเทศกาลสำคัญของชาติที่สุดควรจะเป็นคนเล็กคนน้อยในท้องถิ่น แต่ระบบโคมลอยที่ทำกัน ยิ่งอยู่ไป ยิ่งหากจากผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นไปทุกขณะ
เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แถมต้องถ่างตาเฝ้าดับไฟตลอดคืนอีกต่างหาก