ยิ่งมี EQ ในการทำงาน ก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้วัยทำงานถึง 5 เท่า

ความฉลาดทางอารมณ์ในแง่ของการปรับอารมณ์และสติให้นิ่งและมีโฟกัส เชื่อมโยงกับสภาวะ Flow State มีสมาธิและจดจ่ออย่างเข้มข้น จึงทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น 5 เท่า
KEY
POINTS
- การมีทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ โดยเฉพาะในแง่การปรับอารมณ์และสติ เพื่อให้เข้าถึงโซน "Flow State" หรือ "สภาวะลื่นไหล" จะช่วยให้วัยทำงานมีสมาธิจดจ่อและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- หากเข้าสู่สภาวะนี้ได้ จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้
ไม่ใช่แค่ทักษะด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกการทำงานยุค 2025 แต่อีกหนึ่งทักษะสำคัญที่วัยทำงานควรฝึกฝนตนเองให้มากขึ้นก็คือ "ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)" ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นต่างชี้ตรงกันว่า ความฉลาดทางอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
เควิน ครูส (Kevin Kruse) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ LEADx ซึ่งเป็นบริษัทฝึกอบรมด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ได้อธิบายประเด็นนี้ผ่าน Forbes ว่า ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ สามารถแตกแยกย่อยออกไปได้หลายแง่มุม แต่มีแง่มุมหนึ่งที่สำคัญและหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ นั่นคือ การฝึกปรับอารมณ์และสติเพื่อให้เข้าถึงโซน "Flow State" หรือ "สภาวะลื่นไหล" ที่ช่วยให้วัยทำงานมีสมาธิจดจ่อและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ความฉลาดทางอารมณ์ เชื่อมโยง Flow State เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 5 เท่า
ตามข้อมูลของ สตีเวน คอตเลอร์ (Steven Kotler) ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านสภาวะลื่นไหลของสมอง เขาได้ให้คำจำกัดความของ Flow State ไว้ว่า “เป็นสภาวะที่มีสมาธิและความจดจ่อในกิจกรรมอย่างเข้มข้น ซึ่งผู้คนจะจมดิ่งอยู่กับงานจนลืมเวลาและสิ่งรบกวนอื่นๆ”
สภาวะดังกล่าวนอกจากจะทำให้วันทำงานของคุณผ่านไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพสมองและประสิทธิภาพการทำงาน โดยเขาค้นพบว่าวัยทำงานที่เข้าสู่สภาวะนี้ได้นั้น จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 5 เท่า หรืออาจมากกว่านั้น เพราะมีสมาธิดีขึ้น มีแรงจูงใจในการทำงานเพิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้สมองรับข้อมูลและประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้น เพิ่มความสามารถในการจดจำสูงขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น การฝึกปรับอารมณ์และสติเพื่อให้เข้าถึงโซน Flow State ยังทำให้วัยทำงานรู้สึกดีมาก เพราะสมองจะหลั่งสารนอร์อีพิเนฟริน โดปามีน เอนดอร์ฟิน อนันดาไมด์ และเซโรโทนิน ซึ่งล้วนเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข จึงทำให้เกิดความรู้สึกดีและมีอารมณ์ดีแจ่มใส
อย่างไรก็ตาม สภาวะลื่นไหล (Flow State) จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมากจากการฝึกฝนความฉลาดทางอารมณ์ การใช้กลยุทธ์ด้านความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้คุณเข้าถึงสภาวะลื่นไหลในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
แต่แน่นอนว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานในสภาวะลื่นไหลตลอดทั้งวัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือวัยทำงานต้องจัดสรรเวลาในแต่ละวัน (วันละ 2 ชั่วโมง) เพื่อให้เข้าสู่สภาวะ Flow State โดยเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งรบกวนน้อยที่สุด และเลือกประเภทงานของคุณเหมาะสม (ต้องเป็นงานที่ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป) ถ้าคุณทำได้ ประสิทธิภาพการทำงานของคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างมากและคุณจะรู้สึกดีไปด้วย
เปิด 5 ขั้นตอนฝึกฝนความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพื่อให้เข้าสู่ Flow State
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำกลยุทธ์สำคัญ 5 ประการ ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าถึงสภาวะลื่นไหลได้ง่ายขึ้น ดังนี้
1. ประเมินสภาวะทางอารมณ์: ก่อนเริ่มงาน ควรประเมินว่าตนเองกำลังรู้สึกวิตกกังวล หรือเบื่อหน่ายกับงานที่จะทำ การรู้เท่าทันอารมณ์จะช่วยให้สามารถปรับแนวทางการทำงานได้อย่างเหมาะสม
2. ปรับมุมมองการทำงาน: สำหรับงานที่น่าเบื่อ แนะนำให้สร้างความท้าทายหรือเกมในการทำงาน เช่น ตั้งเป้าหมายด้านเวลาหรือความแม่นยำ ส่วนงานที่สร้างความวิตกกังวล ควรแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อที่จะได้จัดการได้ง่ายขึ้นไปทีละส่วน
3. จัดการเวลาพักอย่างชาญฉลาด: การศึกษาระบุว่า รูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการทำงาน 52 นาที สลับกับการพัก 17 นาที หรือทำงานเป็นช่วงละ 45-80 นาที โดยไม่ควรทำงานต่อเนื่องเกิน 80 นาที เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานในช่วงที่เหลือของวัน ยกตัวอย่างนักเขียนชื่อดัง Ernest Hemingway ใช้เทคนิคหยุดงานในขณะที่กำลังทำได้ดี และรู้ทิศทางของงานต่อไป ซึ่งช่วยป้องกันภาวะติดขัดในการทำงาน
4. ออกกำลังกายระหว่างวัน: Haruki Murakami นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่วิ่งวันละหนึ่งชั่วโมงมานานกว่า 30 ปี เผยในหนังสือ "Novelist As A Vocation" ว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัส ซึ่งจะคงอยู่นาน 28 ชั่วโมง ส่งผลให้สมองมีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความวิตกกังวลและความรู้สึกเครียดสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. รักษาความรู้สึกสนุกและผ่อนคลาย: กวีระดับตำนาน Rainer Maria Rilke เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ยึดติด เหมือนวิธีคิดของเด็ก การจริงจังกับงานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อความคิดสร้างสรรค์และการตัดสินใจ
จำให้ขึ้นใจ EQ คือกุญแจสำคัญเพื่อจัดการอุปสรรคในการทำงาน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อุปสรรคสำคัญในการทำงานมักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น บางครั้งวัยทำงานก็ติดกับดักอารมณ์เชิงลบภายในตนเอง เช่น
- ติดนิสัย Perfectionist (ความสมบูรณ์แบบ) เกิดจากความกลัวการถูกตัดสินหรือล้มเหลวในการทำงาน
- ความไม่มั่นใจที่เกิดจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
- ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากความไม่แน่นอนหรือการไม่สามารถกำหนดขอบเขตการทำงานได้
ดังนั้นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ไม่ว่าคุณจะสามารถเข้าถึงสภาวะลื่นไหลได้หรือไม่ อันนั้นอาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม สิ่งนี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอีกว่า การฝึกฝนทักษะทางอารมณ์ควรทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอารมณ์เชิงบวกของตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การทำงานมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น ความฉลาดทางอารมณ์จึงไม่เพียงแต่เป็นทักษะเสริม แต่กลายเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานของทุกๆ อาชีพในโลกยุคใหม่นับจากนี้ไป
อ้างอิง: Forbes, Thisisyourbrain, HarvardBussinessReview, Themuse, Chireviewofbooks