ลดชั่วโมงทำงานไปมีลูก! เกาหลีใต้หวังแก้วิกฤติอัตราเกิดใหม่ต่ำ

ลดชั่วโมงทำงานไปมีลูก! เกาหลีใต้หวังแก้วิกฤติอัตราเกิดใหม่ต่ำ

รัฐบาลเกาหลีใต้เล็งลดชั่วโมงทำงาน หวังแก้วิกฤติอัตราการเกิดต่ำ สถาบันวิจัยคยองกีชี้ ควรลดจาก 52 ชม. เหลือ 35 ชม. ต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อแก้ปัญหานี้

KEY

POINTS

  • เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก นักวิจัยจาก GRI ชี้ว่า ชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่เอื้อต่อการวางแ

การลดชั่วโมงทำงานสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงถือเป็น 'ขั้นตอนที่จำเป็น' สำหรับเกาหลีใต้ ในการกระตุ้นอัตราการเกิดใหม่ของประชากร ซึ่งประเทศนี้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก โดยผลการศึกษาใหม่จากสถาบันวิจัยคยองกี (GRI) ได้ตำหนิวัฒนธรรมการทำงานของชาวเกาหลีใต้ ที่เรียกร้องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ว่า เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดที่ต่ำอย่างน่าตกใจของประเทศ 

นักวิจัยชี้ว่า ชั่วโมงทำงานปัจจุบันที่ยาวนานถึง 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น ไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่เพียงพอในการส่งเสริมการวางแผนครอบครัวและการมีลูก

ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวยังบอกอีกว่า ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเกินไปทำให้คู่รักหนุ่มสาวไม่อยากมีครอบครัว ดังนั้น การลดชั่วโมงทำงานลงเหลือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงเป็น "ขั้นตอนที่จำเป็น" หากเกาหลีใต้หวังที่จะพลิกฟื้นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลก  

เกาหลีใต้อัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก เหตุชั่วโมงทำงานยาวนานเกินไป

ข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้ในปี 2023 แสดงให้เห็นว่า จำนวนทารกที่คาดว่าจะเกิดจากผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วงชีวิตการเจริญพันธุ์ลดลงจาก 0.78 ในปี 2022 มาอยู่ที่ 0.72 ในปี 2023 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่จำเป็นในการรักษาประชากรที่ 2.1

นักวิจัยจาก GRI อธิบายเพิ่มเติมว่า ชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายของเกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 40 ชั่วโมงมาตรฐานและ 12 ชั่วโมงล่วงเวลา อย่างไรก็ตาม นักวิจัยมองว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานดังกล่าว ไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่เพียงพอในการสนับสนุนการวางแผนครอบครัว

จากการสำรวจของ GRI ในปี 2024 ที่สอบถามพนักงาน 1,000 คนในช่วงอายุ 20-59 ปี พบว่า ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเกินไปเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการจัดสมดุลกับความรับผิดชอบในครอบครัว โดยมี 26.1% ของผู้ชายและ 24.6% ของผู้หญิงระบุว่าเหตุผลเรื่องชั่วโมงทำงานเป็นอุปสรรคหลักที่ขัดขวางการมีลูก

โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้สองทาง (ทั้งสามีและภรรยาต่างก็ทำงานนอกบ้านกันทั้งคู่) ซึ่งมีช่วงอายุประมาณ 30 ปี แสดงความต้องการที่จะลดชั่วโมงทำงานอย่างแรงกล้า โดยหวังว่าจะลดเวลาทำงานลง เฉลี่ย 84-87 นาทีในแต่ละวัน

ทางการเกาหลีใต้ต้องจริงจังกับมาตรการลดชั่วโมงทำงานของแรงงาน

GRI แนะนำให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้นำในการลดชั่วโมงทำงานมาตรฐาน และพิจารณานับเวลาเดินทางบางส่วนเป็นชั่วโมงทำงานที่ได้รับค่าจ้างด้วย โดย "ยู จอง-คยุน" (Yoo Jeong-gyun) นักวิจัยจาก GRI สะท้อนมุมมองผ่าน The Korea Herald ว่า ช่องว่างราว 1 ชั่วโมงระหว่างชั่วโมงทำงานจริง กับชั่วโมงที่พนักงานต้องการนั้น ส่งผลกระทบมากที่สุดกับวัยทำงานคู่สามีภรรยาที่มีลูก ดังนั้น การลดเวลาทำงานตามกฎหมายเหลือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงเป็นมาตรการที่จำเป็น 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้ดำเนินการทดสอบการลดชั่วโมงทำงานเพื่อส่งเสริมสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงประชากร โดยในปี 2024 จังหวัดคยองกี ได้เริ่มโครงการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ในกว่า 50 องค์กร ซึ่งให้พนักงานเลือกรูปแบบการทำงานใหม่ ระหว่าง "บีบรวมชั่วโมงในสัปดาห์หนึ่ง" หรือ "ทำงานในแต่ละวันน้อยลง"

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้ดำเนินโครงการอื่นๆ อีก เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดใหม่ให้เพิ่มขึ้น เช่น การขยายสิทธิประโยชน์การลาคลอด ในปี 2024 รัฐบาลได้เพิ่มวันลาคลอดให้พนักงานชายที่มีลูกน้อย เป็น 20 วัน โดยยังคงได้รับเงินเดือน และขยายสิทธิในการลาของพ่อให้สามารถลาหลายช่วงเวลาได้ อีกทั้งยังเพิ่มการจ่ายค่าลาคลอดและกำหนดสิทธิลาคลอดใหม่ๆ สำหรับวันลางานของพ่อแม่ที่มีลูกเล็กแบเบาะ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีเวลาเลี้ยงลูกและสร้างครอบครัวให้ดีได้อย่างเต็มที่ 

 

อ้างอิง: South China Morning Post, KoreaHerald