ตกงาน ไม่ใช่แค่กระเป๋าแฟบ แต่สุขภาพกาย-จิตใจก็เสี่ยงพัง

ตกงานไม่ใช่แค่ไม่มีเงินใช้! แต่กระทบสุขภาพแบบคาดไม่ถึง เสี่ยงความดันโลหิตสูง ซึมเศร้า วิจัยชี้ 'ความเครียดทางการเงิน' มีผลต่อสุขภาพมากกว่าตัวเลขรายได้จริงในบัญชี
KEY
POINTS
- ตกงาน ไม่ใช่แค่เร
การถูกเลิกจ้างส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องการเงิน แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย โดยเฉพาะวัยทำงานในสหรัฐวันนี้หลายต้องเผชิญชะตากรรมครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีคำสั่งปลดและสั่งพักงานข้าราชการและพนักงานสัญญาจ้างจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ต้องเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
ในฐานะนักวิจัยด้านสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัย North Dakota ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเงินกับสุขภาพอย่าง ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ อันวารี-คลากส์ (Jeffrey Anvari-Clark) แสดงความกังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงกระทบเรื่องรายได้ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพระยะยาว
เมื่อมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเงิน กระทบต่อสุขภาพร่างกายได้!
เมื่อคนตกงาน ปัญหาทางการเงินเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ต้องเจอแน่ๆ คือ รายได้ลดลง เงินเก็บร่อยหรอ อาจจ่ายค่าเช่าหรือค่าผ่อนบ้านไม่ไหว และอาจต้องลดระดับการใช้ชีวิตลง มีงานวิจัยพบว่า ไม่ใช่แค่สถานการณ์ทางการเงินที่มีผลต่อสุขภาพ แต่ "มุมมอง" ต่อปัญหาการเงินต่างหากที่อาจทำให้สุขภาพร่างกายอยู่ในจุดที่แย่ยิ่งกว่า
ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนสองคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน แต่มีสิ่งที่ทำให้พวกเขาทั้งคู่ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยคนที่ 1 มองว่าการตกงานเป็นแค่ "ปัญหาชั่วคราว" ทำให้สามารถรับมือได้โดยไม่เครียดจนเกินไป ในขณะที่อีกคนอาจมองว่าการตกงานเป็น "หายนะ" ซึ่งคนนี้จะเกิดความเครียดที่รุนแรง จนสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่การใช้สารเสพติด
งานวิจัยของศาสตราจารย์ อันวารี-คลากส์ ที่ร่วมทำกับ เธดา โรส (Theda Rose) นักวิจัยด้านสังคมสงเคราะห์อีกคน (ณ ปี 2023) ในหัวข้อ "Financial Behavioral Health and Investment Risk Willingness: Implications for the Racial Wealth Gap" ยืนยันว่า ความเครียดจากมุมมองต่อการเงินนั้น มีผลมากกว่าตัวเลขเงินจริงในบัญชี
พวกเขาได้ศึกษาเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความสามารถทางการเงินของประชาชนสหรัฐฯ ในปี 2018 ซึ่งเก็บข้อมูลจากชาวอเมริกันกว่า 27,000 คน พบว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับการเงินมีผลต่อสุขภาพมากกว่าตัวเลขรายได้จริงๆ ถึง 20 เท่า กล่าวคือ คนที่มีรายได้ลดลงแต่ยังคงรู้สึกมั่นคงด้านการเงิน จะมีปัญหาสุขภาพ "น้อยกว่า" คนที่กังวลกับเรื่องเงินอย่างมาก แม้ว่ารายได้ของพวกเขาจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
การศึกษาแสดงให้เห็นว่า แม้คนสองคนจะมีรายได้ลดลงเท่ากัน แต่คนที่มองว่าตัวเองกำลังเผชิญ "หายนะทางการเงิน" จะมีความเครียดสูงกว่าคนที่มองว่าเป็นแค่ "อุปสรรคชั่วคราว" และความเครียดที่ว่านี้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพในที่สุด
ความเครียดทางการเงิน ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจอย่างไร?
งานวิจัยก่อนหน้านี้มักประเมินสถานการณ์ทางการเงินในแง่ตัวเลข เช่น การมีเงินสำรอง 400 ดอลลาร์สำหรับเหตุฉุกเฉิน หรือการสามารถชำระหนี้ได้ แต่การศึกษาของนักวิจัยด้านสังคมสงเคราะห์ พบว่า ทั้งตัวเลขและความรู้สึกเกี่ยวกับการเงินต่างก็มีผลต่อสุขภาพ
โดยพบว่าการที่รายได้ลดลงส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล "มากกว่า" การไม่สามารถจ่ายบิลได้เสียอีก และความวิตกกังวลนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อร่างกาย เช่น ทำให้เสี่ยงความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาโรคความดันสูงระยะยาว และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่นอีก เช่น โรคอ้วน และอาการปวดหลัง
นอกจากนี้ เมื่อเงินตึงมือ คนเราก็มักจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก่อน เช่น เวลาป่วยก็จะไม่อยากไปหาหมอเพราะมันแพง แม้ว่าจะมีประกันสุขภาพก็ตาม เพราะบางครั้งต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าไปก่อนถึงเบิกคืนทีหลัง
ในขณะเดียวกัน ความเครียดนี้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจด้วย การตกงานมักนำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง ..ที่น่าสนใจคือ คนที่มีปัญหาทางการเงินแต่ไม่เครียดกับสถานการณ์ของตัวเอง มักจะไม่มีอาการซึมเศร้า พูดง่ายๆ ว่าพวกเขาก็รู้สึกเป็นปกติเหมือนกับคนที่ไม่มีปัญหาทางการเงินเลย นั่นหมายความว่า "ความเครียด" คือปัจจัยสำคัญต่อการป่วยกายและใจ ไม่ใช่ตัวเลขในบัญชีที่ลดลง
งานวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาเดิมจำนวน 65 ชิ้น แล้วพบว่าหนี้สินมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และอาจนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย
วิธีรับมือภาวะ "ตกงาน" อย่างมีประสิทธิภาพและดีต่อสุขภาพ
บางคนพยายามจัดการความเครียดจากการตกงาน ด้วยวิธีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เล่นพนัน หรือใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้สถานการณ์การเงินแย่ลงไปอีก
ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาทางการเงินยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน บางคนอาจยืมเงินจากเพื่อนหรือครอบครัวมากเกินไป หรือระบายความเครียดใส่คนใกล้ตัว ทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์
แต่ในทางกลับกัน บางคนกลับใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างความแข็งแกร่งทางใจและปรับตัวให้ดีขึ้น วิธีที่ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตได้ดี ได้แก่
- ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนและครอบครัว
- ใช้เวลาหางานใหม่และขยายเครือข่ายทางอาชีพ
- อาสาสมัครเพื่อฝึกฝนทักษะและสร้างโอกาสใหม่ๆ
- เริ่มทำงานเสริมเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงทางการเงิน
- ดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาเครือข่ายสังคมรอบตัวให้มั่นคง
การตกงานเป็นเรื่องหนักหนาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ดูแลสุขภาพกายและใจให้ดี สถานการณ์อาจเลวร้ายลงกว่าเดิม ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือคือการมองโลกในแง่ดี และหาวิธีที่สร้างสรรค์ในการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ให้สุขภาพต้องได้รับผลกระทบ
อ้างอิง : CNN, The NewYork Times, MDPI Report