7 เคล็ดลับเปลี่ยนงานให้ปลอดภัย ก่อนถูกเลิกจ้างในยุคทรัมป์ทำพิษ

การเลย์ออฟครั้งใหญ่ช่วง มี.ค. 2025 ที่ผ่านมา วัยทำงานในสหรัฐรู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้น แม้ยังมีงานทำ ผู้เชี่ยวชาญเตือน อย่ารอให้เจอปัญหาก่อนค่อยแก้ แนะ 7 วิธีรับมือ
KEY
POINTS
- การเลย์ออฟครั้งใหญ่ในสหรัฐเมื่อเดือน
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลายบริษัทใหญ่ทั่วโลกประกาศลดจำนวนพนักงานลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่เคยเป็นเป้าหมายอาชีพในฝันของใครหลายคน ยกตัวอย่างเช่น Siemens ประกาศลดพนักงานกว่า 6,000 ตำแหน่งในธุรกิจระบบอัตโนมัติและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta, Amazon และ Microsoft ก็มีแผนลดคนเช่นกัน
นอกจากงานสายเทคฯ แล้ว ธุรกิจค้าปลีกอย่าง Walgreens, CVS และ Joann Fabrics ก็เริ่มปรับโครงสร้าง ปรับลดจำนวนพนักงานเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐของสหรัฐฯ เองก็มีแผนลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ภายใต้โครงการที่เรียกว่า DOGE ซึ่งริเริ่มในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เตรียมลดตำแหน่งกว่า 60,000 ตำแหน่ง ส่วนกรมสรรพากร (IRS) ก็เตรียมปลดพนักงานอีก 45,000 คน
การเลย์ออฟครั้งนี้ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงานสหรัฐ และอาจกระทบถึงทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะเมื่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในที่ทำงาน
แม้คุณจะยังมีงานทำหรือรู้สึกมั่นคงในตอนนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพเตือนว่า “ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเตรียมหางานใหม่ คือตอนที่คุณยังมีงานเดิมอยู่” เพราะการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้คุณไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง
ต่อไปนี้คือ 7 วิธีที่วัยทำงานคนรุ่นใหม่สามารถนำไปใช้เพื่อดูแลเส้นทางอาชีพให้มั่นคงยิ่งขึ้น
1. ทบทวนจุดแข็งของตัวเอง
ถ้ายังไม่เคยนิยาม "ตัวเราในสายอาชีพ" อย่างชัดเจน นี่คือเวลาที่ควรเริ่มต้นทำมันสักที! เริ่มจาก "รู้จักตัวเองให้ชัด" ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเก่งอะไร เชื่อในอะไร และอยากให้คนอื่นจำเราในฐานะไหนในโลกการทำงาน
ถัดมาคือ "ขอฟีดแบคจากคนรอบข้าง" ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เคยร่วมทำโปรเจกต์ด้วยกัน ใช้ความเห็นเหล่านั้นมาช่วยปรับภาพลักษณ์และทิศทางของตัวเอง
2. อัปเดตเรซูเม่และโปรไฟล์ออนไลน์
การสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ อย่ารอให้ออกจากงานก่อนแล้วค่อยมาเริ่มทำ แต่ควรทำตั้งแต่ตอนนี้ โดยเริ่มจากปรับเรซูเม่ให้สะท้อนผลงานจากตำแหน่งงานล่าสุดของคุณ เน้นสิ่งที่วัดผลได้ เช่น เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จ หรือผลงานที่ชัดเจน นอกจากนั้นก็ควรอัปเดตโปรไฟล์การสมัครงานในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่าปล่อยให้โปรไฟล์ร้าง ใส่รายละเอียดที่แสดงความสามารถ จุดแข็ง และเส้นทางการเติบโตของตัวเองอย่างมืออาชีพอย่างสม่ำเสมอ
3. ขยายเครือข่ายคนรู้จักในสายงาน-นอกสายงานให้มากขึ้น
เครือข่ายคือโอกาส หลายครั้งคนเราไม่ได้งานจากการสมัครงานตามประกาศ แต่มักได้งานจาก "คนที่คุณรู้จัก" ในสายงานต่างๆ ดังนั้น คุณจึงควรติดต่อเพื่อนร่วมงานเก่า-เมนเทอร์-รุ่นพี่ในสายงาน อาจจะเริ่มจากแค่ทักทายหรืออัปเดตชีวิตก็เพียงพอในการต่อยอดความสัมพันธ์
อีกทั้งควรเข้าร่วมงานสัมมนา เวิร์กช็อป เข้าร่วมกลุ่มออนไลน์ในสายงานที่สนใจ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้คุณได้เจอคนใหม่ๆ ที่อาจกลายเป็นผู้เปิดประตูสู่อาชีพใหม่ๆ ต่อไป หรืออาจจะลองขอสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (informational interview) กับบริษัทที่คุณสนใจ เพื่อเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์โดยไม่ต้องรอให้มีตำแหน่งว่าง
4. เสริมทักษะใหม่อยู่เสมอ
เมื่อโลกทำงานในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คนที่มี "ทักษะใหม่" คือคนที่ได้เปรียบในยุคนี้ ดังนั้นคุณจึงควรเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ลงคอร์สออนไลน์ ที่ให้ใบรับรองเมื่อเรียนจบ หรือฝึกงานจริงจังในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ แล้วลองนำทักษะใหม่ไปใช้จริง อาจลองทำในที่ทำงานปัจจุบันหรือผ่านการเป็นอาสาสมัคร เพื่อสร้าง “เรื่องเล่าผลงาน” ไว้ใช้ยามสมัครงานใหม่
การติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ในตลาดแรงงานก็สำคัญ เพื่อดูว่าทักษะไหนกำลังเป็นที่ต้องการ เช่น AI, การวิเคราะห์ข้อมูล, การตลาดดิจิทัล อีกทั้งอย่ามองข้าม Soft Skills หรือทักษะจำพวกการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และความยืดหยุ่น เพราะสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่นายจ้างมองหาเสมอ
5. วางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า
การมีเงินสำรองคือเกราะป้องกันความเครียดหากวันหนึ่งคุณต้อง "ตกงาน" วัยทำงานควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 6 - 12 เดือน เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำหากต้องใช้เวลาหางานใหม่
ไม่เพียงเท่านั้น ควรพยายามปรับลดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง ช่วยให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ข้อสำคัญคือ วางแผนล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่น ใช้โบนัสไปกับสิ่งจำเป็น ไม่ใช่ซื้อของฟุ่มเฟือย
6. สร้างภาพจำที่ดีในที่ทำงาน
ไม่ว่าองค์กรของคุณจะต้องลดพนักงานหรือไม่ แต่หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์นั้นจริงๆ จำไว้ว่าพนักงานที่ “มีผลงานเป็นที่ประจักษ์” มักอยู่ในลิสต์ที่บริษัทควรรักษาไว้ ดังนั้น การรู้จักนำเสนอผลงานตนเองให้รับรู้ในที่ทำงานก็สำคัญ อาจเริ่มจากการรับอาสาทำโปรเจกต์ใหม่ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถรอบด้าน
ส่วนในแง่ของการทำงานตามบทบาทประจำวัน หากมีผลงานที่ดีก็ควรแจ้งผลงานกับหัวหน้าเป็นประจำ โดยเน้น “ผลลัพธ์” ที่ได้ ไม่ใช่แค่ “สิ่งที่คุณทำ” และควรทำงานร่วมกับทีมอย่างมืออาชีพ พนักงานที่ช่วยให้ทีมไปต่อได้มักจะมีคุณค่ากับองค์กรมากที่สุด
7. ดูแลภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์
โปรไฟล์ในโลกออนไลน์ของคุณ ก็คือเรซูเม่อย่างหนึ่ง ที่เปิดให้ทุกคนดูได้ตลอดเวลา ดังนั้น คุณควรอัปเดตโปรไฟล์โซเชียลมีเดียให้เหมาะกับสายอาชีพอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ภาพลักษณ์ในโลกออนไลน์ขัดแย้งกับตัวตนในที่ทำงาน
คุณควรแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและองค์กรของคุณ เพื่อแสดงความรู้ ความเข้าใจ และความเป็นส่วนหนึ่งของวงการ และอย่าลืมแสดงการมีส่วนร่วมกับกลุ่มหรือคอมมูนิตี้ในสายอาชีพเดียวกัน เพื่อแสดงว่าคุณเป็นคนที่ “ตามทัน” สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการ
อ่านมาถึงตรงนี้วัยทำงานคงได้ไอเดียสำหรับเตรียมพร้อมรับมือกับโลกการทำงานที่สุ่มเสี่ยงจะเสียงานในมือได้ตลอดเวลากันแล้ว หวังว่าคำแนะนำทั้งหมดข้างต้นจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย ย้ำอีกทีว่า.. จงดูแลเส้นทางอาชีพให้เหมือนการดูแลทรัพย์สินส่วนตัว
แม้จะไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตของตลาดแรงงานจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่คุณควรทำตอนนี้คือ “เตรียมพร้อม” ไม่ใช่รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยเริ่มต้น เพราะเส้นทางอาชีพคือหนึ่งในทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในชีวิตการทำงาน และคุณเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดอนาคตของมันได้
อ้างอิง: Forbes, APnews, Soft Skills