‘ศิลปหัตถกรรมไทย’ เป็นสิ่งมีชีวิต ต้องค้นหา สืบสาน ก่อนสูญหาย

เผยมุมมองความคิด ของ 'ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์' กับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องแข่งกับเวลา ผลักดันงาน ‘ศิลปหัตถกรรมไทย’ ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยมีงานศิลปหัตถกรรมไทยมากมาย จากคนไทยผู้อยู่ร่วมกับคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานานหลายร้อยปี
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT มองว่า เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอนุรักษ์งานต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ ด้วยการสนับสนุน ครูศิลป์ ครูช่าง และ ทายาท
ส่งเสริมงานหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน ยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ร่วมสมัย
"การทำงานของ SACIT สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย องค์การมหาชน ภายใต้กำกับของกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจ 3 ประเด็นคือ สืบสาน, สร้างสรรค์, ส่งเสริม ไม่ใช่แค่การทำ Documentary (ภาพยนตร์สารคดี) แล้วจบแค่นั้น
ภารกิจแรกคือ สืบสาน ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ธำรงอยู่ต่อได้ งานหัตถกรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ถ้าไม่มีคนทำ มันก็สูญสลายหายไป
เป็นองค์ความรู้ที่ต้องส่งต่อ รุ่นสู่รุ่น ถ้าไม่มีการส่งต่อ ก็จบแค่นั้น ไม่มีการสืบทอดต่อไป
ประเทศไทยมีความร่ำรวยทางมรดกวัฒนธรรม มีงานศิลปหัตถกรรม ที่มีความเสี่ยงสูง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว งานเหล่านี้ใกล้สูญ
เรามีชาติพันธุ์อยู่ 70 กว่าชาติพันธุ์ มีความหลากหลาย แต่ละชาติพันธุ์มีอัตลักษณ์สะท้อนออกมาในงานช่างฝีมือแทบทุกแขนง ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ งานศิลปหัตถกรรม
.
ภารกิจที่สอง คือ สร้างสรรค์ งานหัตถกรรมที่มีอยู่ในอดีต อาจไม่ได้รับใช้บริบทในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง หีบหมาก เมื่อวัฒนธรรมการกินหมากหมดไป ตระกร้าหมาก เชี่ยนหมาก ก็หมดฟังก์ชั่นไปโดยปริยายเพราะว่า คนเลิกใช้
งานหัตถกรรมอีกหลายชนิด ที่ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เราต้องสร้างฟังก์ชั่นใหม่ให้กับมัน ด้วยการดีไซน์ ไม่ได้หมายถึงลวดลาย แต่หมายถึงโครงสร้าง รูปลักษณ์ต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
ยกตัวอย่าง งานในชุมชนเครื่องเขินในเชียงใหม่ ปกติจะทำของใช้ในวัดในบริบทของพุทธศาสนา ปัจจุบันมีพลาสติกเข้ามา บทบาทของเครื่องเขินก็ค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง
มีการปรับตัวทำเป็นเคสโทรศัพท์บ้าง เพื่อให้งานเหล่านั้นยังมีอยู่ ทำให้งานหัตถกรรมมันมีฟังก์ชั่นและร่วมสมัย
.
Cr. Kanok Shokjaratkul
ประการที่สามคือ ส่งเสริม โปรโมชั่น ในแง่ของการตลาด ทำมาแล้ว จะไปขายที่ไหน ขายใคร โอกาสไหน รวมทั้งทำให้เกิดความต้องการ สร้างกระแสให้อยากใช้
เช่น การพัฒนารูปแบบกระเป๋าขึ้นมาชนิดหนึ่ง ทำจากเสื่อกก ก็ต้องทำให้เกิดกระแสความนิยม เพื่อให้งานเหล่านั้นไปต่อได้
งานหัตถกรรมมันเหมือนสิ่งมีชีวิต มีวงจรชีวิต ที่เกิดขึ้น เติบโต ซบเซาลง รีบอร์น ขึ้นมาใหม่เป็นวิถีแบบนี้ อะไรที่หมดฟังก์ชั่นไปไม่สามารถกลับมาได้
เราต้องทำให้อย่างน้อยที่สุดให้สิ่งเหล่านั้นได้รับการบันทึกเอาไว้ และให้ได้รับการสืบสานโดยคนรุ่นปัจจุบัน เพื่อให้งานช่างฝีมือมันอยู่ต่อ
Cr. Kanok Shokjaratkul
อาจต้องมี การต่อรอง เช่น คนทำตีนจกแบบแม่แจ่ม เดิมเริ่มตั้งแต่ปลูกฝ้าย เอาฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นฝ้าย นำไปย้อมสี ใช้ขนเม่นจกด้วยมือเป็นตีน ทำเป็นตัว ทำเป็นซิ่นฝา แล้วมาต่อใช้
ปัจจุบัน ไม่มีใครทำขนาดนี้แล้ว ทั้งวงจร แม้กระทั่งครูเองก็ไม่ทำครบวงจรขนาดนั้น วิถีชีวิตของคนมันเปลี่ยนไป ถูกลดทอนลง เป็นการต่อรองในเชิงทางวัฒนธรรม
อาจจะซื้อฝ้าย ซื้อไหม มาจากที่อื่น ย้อมสีจากที่อื่น แล้วเราก็มาทำให้สำเร็จ นี่เป็นการต่อรองเพื่อให้มันอยู่ต่อ เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นมันจะไม่มีชีวิตอยู่ต่อได้เลย
สิ่งนี้เกิดขึ้นกับงานวัฒนธรรมทุกชนิด คือการต่อรอง
ถ้ามันต่อรองต่อไปไม่ได้ มันก็ต้องตาย ถ้ามันหมดสิ้นแล้วจริง ๆ ไม่มีคนถัก ไม่มีคนทอ ไม่มีคนสาน ไม่มีคนทำงานในเรื่องเหล่านี้แล้วมันก็ต้องตายไป
Cr. Kanok Shokjaratkul
ภารกิจของเราคือ พยายามอย่างที่สุด เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นมันคงอยู่ เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป เราส่งเสริมบุคคล 4 ประเภท
1. คนรุ่นใหม่ Young Craft เด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่เข้ามาสู่วงการงานหัตถกรรม มีเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไปคนอยู่กับตัวเองมากขึ้น โหยหาอดีตมากขึ้น มีอิสรภาพในการออกแบบงานของตัวเอง ทำให้เกิดงานคราฟต์สกุลช่างใหม่ๆ ในอนาคต
2. ทายาทหัตถศิลป์ คนที่สืบสานงานศิลป์ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ครู หรืออาจไม่ได้เป็นลูกหลานโดยสายเลือดแต่ว่ารู้จากครู ขึ้นมาเป็น แต่ละปี เราจะสรรหาบุคคลเหล่านี้ แล้วยกย่องให้มีเส้นทาง Career Path เดินต่อไป
3. ครูช่าง ศิลปหัตถกรรม บุคคลที่ทำงานช่างจนอยู่ตัวแล้ว มีศักยภาพถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปได้ มีอายุราวกลางคน แต่ยังแอคทีฟมาก
4. ครูศิลป์ของแผ่นดิน คนที่ได้รับยกย่องเป็นปูชนียบุคคลในงานช่างสาขานั้น ๆ มีการถ่ายทอดให้กับคนไปแล้วจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับในสาขานั้น ๆ
.
เราจะหาบุคคลเหล่านี้ในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย แล้ว entitle ให้ท่านเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน หลาย ๆ ท่านจากเราก็ไปเป็นศิลปินแห่งชาติ
ปัจจุบันเรามี ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 110 ท่าน ที่ล่วงลับไปแล้วก็เยอะ เป็นภารกิจที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา
ทำยังไงให้ภูมิปัญญาของครูเหล่านี้ได้รับการบันทึกและถ่ายทอดก่อนที่ท่านจะหมดเรี่ยวแรงไป ตอนนี้เรามีครูช่าง 262 คน มี ทายาท 109 คน ยังคราฟต์ 10 คน
บางสาขา บางครู ไม่มีลูกหลาน แต่มีลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทายาททางสายงาน ไม่ใช่สายเลือด ก็เป็นครูช่าง เป็นทายาท ได้"
ผู้สนใจงานคราฟต์ชุมชน ดูได้ที่เว็บไซต์ SACIT Achieve https://archive.sacit.or.th/