เติบโตด้วยแนวคิดทางการทูต พัดเลือน (phất lờn) จากเวียดนาม

เติบโตด้วยแนวคิดทางการทูต พัดเลือน (phất lờn) จากเวียดนาม

มีแต่ผู้นำที่หลงตนเองขนาดหนักเท่านั้น ที่จะปฏิเสธที่จะเรียนรู้จากคนที่เคยล้มลุกคุกคลานจนแทบไม่เหลืออะไร แล้วลุกขึ้นมายืนได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง

ผู้นำแบบนี้แหละที่ทำให้องค์กรของตนเดินหน้าไปอย่างไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง คือเดินหน้าไปโดยรอให้คนที่เคยอยู่ข้างหลังแซงไปหมด

อธิการบดีของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามหาวิทยาลัยที่ตนเองเชื่อมั่นว่าโด่งดังนำหน้ามหาวิทยาลัยของเพื่อนบ้านอย่างหลายช่วงตัว

วันหนึ่งตกสวรรค์มามีอันดับตำ่กว่ามหาวิทยาลัยที่ตนเองเคยมองเห็นว่าอยู่ข้างหลังไกล ๆ โดยอ้างว่าตัวชี้วัดในการจัดอันดับไม่ดีเพียงพอ ทั้งๆ ที่วันวานที่เคยนำหน้าเขาอยู่นั้น ไม่เคยต่อล้อต่อเถียงกับตัวชี้วัดเหล่านั้นเลย 

หลังจากเวียดนามมีนโยบายฟื้นฟูใหญ่ Đổi Mới ตั้งแต่ปี คศ. 1986 แนวคิด พัดเลือน (phất lờn) หรือ following the win ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศของเวียดนาม

ที่เน้นความยืดหยุ่น การปรับตัวตามสถานการณ์โลก และการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติ เหมือนกับการเอนตัวไปตามทิศทางลมเพื่อหลีกเลี่ยงแรงปะทะ

แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จ ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา คู่สงครามในอดีตให้กลับสู่สภาวะปกติ แต่ยังทำให้เวียดนามกลับมามีบทบาทในอาเซียน พร้อมกับดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกาในจำนวนมหาศาล

  ไม่น่าจะเสียหายอะไร ถ้าลองศึกษากันดูว่า จะปรับแนวคิด พัดเลือน มาใช้กับหน่วยงานของเราในยามที่บ้านเราเจอสารพัดวิกฤติได้อย่างไร 

จะลู่ตามลมให้รอดได้ โดยไม่หักโค่น แต่ไม่อ่อนแอจนเหมือนไร้แก่นได้นั้น ว่ากันว่ามีหลายเรื่องที่ต้องเตรียมการไว้ก่อน ตัวผู้นำมีบทบาทสำคัญมาก

ผู้นำเองต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น  รู้จักปรับมุมมองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกับมุมมองที่เคยสร้างความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ของเก่าอาจจะดี แต่อาจจะใช้ไม่ได้แล้วในวันนี้

ผู้นำจะเป็นคนแรกที่บอกว่า ที่ฉันเคยทำสำเร็จมาในวันก่อน วันนี้ฉันเชื่อว่าใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อปรับมุมมองใหม่แล้วก็ต้องนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์ มองกาลไกลเห็นวันหน้าที่ชัดเจนมากกว่าผู้ตาม

คนขับรถควรเห็นทางข้างหน้าชัดเจนว่าคนโดยสาร คงเสี่ยงมาก ๆถ้าคนโดยสารมองเห็นว่ากำลังจะมีอันตรายก่อนคนขับ

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้สถานการณ์ใหม่ ๆ ได้นั้น จำเป็นต้องมีอีคิวดีมากกว่าคนทั่ว ๆไป ไม่เผลอตัวให้อารมณ์มีบทบาทมากกว่ากลยุทธ์ ไม่ถูกใจเมื่อไหร่แล้วกลยุทธ์หายหมด กลายเป็นลู่ตามอารมณ์ แทน ลู่ตามลม

องค์กรที่จะนำแนวคิด พัดเลือน ไปใช้ ต้องเก่งเรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์ แต่ไม่ใช่แค่ SWOT กันท่าเดียว ต้องเรียนรู้จากฉากทัศน์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

มี Scenario Analysis  Framework ที่ครอบคลุมบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ยึดแน่นกับแผนยุทธศาสตร์ จนกระทั่งกำหนดเป็นกฎหมายไว้ตายตัว 

แต่มีพลวัตในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งถ้าปรับกลยุทธ์กันแต่ละทีต้องแก้กฏหมาย แก้กฏระเบียบคงไม่ทันแน่ ๆ

  ที่สำคัญคือการวางแผนกลยุทธ์ มีการจัดลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ไว้พร้อมสำหรับการตัดสินใจว่าเรื่องไหนจะเดินหน้าต่อ เรื่องไหนต้องปรับเปลี่ยน

กำหนดกลยุทธ์ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์นั้นได้ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้แม้ว่าลมจะเปลี่ยนทิศ ไม่ใช่มัวแต่นั่งด่าลมที่เปลี่ยนทิศ คิดแต่จะเปลี่ยนลม แต่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนวิธีเดินกันอย่างไร 

แนวคิด พัดเลือน ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของการจัดสรรทรัพยากร และการเงิน กระบวนการจัดสรรทรัพยากรเปิดช่องทางให้มีการปรับเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัว แต่ไม่ใช่ไม่มีหลักการ

มีการสำรองทรัพยากรไว้รองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างเพียงพอ แต่ไม่ใช่เก็บไว้จนไม่มีจะใช้เรื่องอื่นที่มีความจำเป็นในภาวะปกติ ใครจะทำตามแนวคิด พัดเลือน ต้องเก่งเรื่องการบริหารทรัพยากร พร้อมกับที่ไม่แสวงหาโอกาสที่จะฉ้อโกง

ค่านิยม สมรรถนะหลักและขีดความสามารถของบุคลากร เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาดูกันอย่างจริงจังว่า เชื่อกันอย่างนี้ เก่งเรื่องนี้ เก่งแค่นี้ พอหรือไม่ที่จะลู่ตามลมได้โดยไม่หักโค่น เป็นต้นไผ่ หรือเป็นแค่ต้นมะม่วงที่ผุพังรอวันล้ม.