ปฏิบัติการไล่ล่างาสีเลือด

ปฏิบัติการไล่ล่างาสีเลือด

เหตุใด ใครๆ ถึงอยากล่า นกชนหิน หรือนกเงือกขนาดใหญ่ ...

 

หลายปีก่อน หากเราพิมพ์คำว่า นกเงือก ค้นหาใน Google ภาพที่ปรากฏให้เห็นคือ ภาพนกทูแคน พอ ๆ กับภาพนกเงือก เป็นการสะท้อนว่า ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จักนกเงือกและอาจจะรู้จักนกทูแคนแห่งทวีปอเมริกาใต้ มากกว่านกเงือกในเมืองไทย

 

ในโลกนี้มีนกเงือกหลายสายพันธุ์ถึง 54 ชนิด ส่วนในประเทศไทยมีนกเงือกให้จดจำกันถึง 13 ชนิด นกเงือกในป่าเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า เช่นเดียวกับเสือโคร่ง นกเงือกและเสือโคร่ง ต่างใช้พื้นที่ป่าหากินเป็นบริเวณกว้างมาก ตัวหนึ่งบินบนฟ้า อีกตัวหากินบนพื้นดิน

หากป่าใดมีนกเงือก แสดงว่าป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์

 

นกเงือกยังช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิด นกเงือกชอบกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหาร สามารถกระจายพันธุ์ไม้ทั่วป่าแม้ในพื้นที่สูงชันที่มนุษย์ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปได้

 

ในบรรดานกเงือกทั้ง 13 ชนิดในเมืองไทย นกชนหินเป็นนกหายากมากที่สุด และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากการล่านกอดีตที่ผ่านมา ลูกนกเงือกชนหินเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม ของบรรดานักสะสมสัตว์ป่า ตลาดขายสัตว์ป่ามีราคาสูงถึงตัวละ 20,000 บาท แต่ภัยคุกคามนกชนหิน ไม่ได้มีเพียงการจับลูกนกในรังไปขาย ล่าสุดคือการตัดหัวเอาโหนก

 

ชาวมุสลิมทางภาคใต้เรียกนกชนหินว่า บุหรงตอเราะ เป็นนกเงือกขนาดใหญ่โต ประมาณ 120 เซนติเมตร 

นกชนหิน มีหน้าตาคล้ายนกดึกดำบรรพ์นกเงือกเป็นนกโบราณ ถือกำเนิดมาไม่ต่ำกว่า 50 ล้านปี เป็นนกที่พบเห็นได้ยากมาก ในประเทศพบได้เฉพาะทางภาคใต้ และเป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกตันคล้ายงาช้างสีแดงคล้ำ

 

โหนกตันคล้ายงาช้างนี่แหละ คือ สิ่งที่ยั่วยวนให้บรรดานักล่าเข้าป่า เพื่อแสวงหามาแกะสลักคล้ายงาช้าง

 

โหนกของนกชนหิน มีคุณลักษณะเทียบเท่างาช้าง เพราะโหนกที่มีสีเหลืองและแดงจะตันแข็ง เรียกว่า งาสีเลือด หรืองาสีแดง หายากมาก กลายเป็นสัญลักษณ์ความมั่งคั่ง เพราะหัวนกชนหินนั้นหายากยิ่งกว่างาช้าง มีราคาแพงกว่างาช้างเสียอีก ถูกนำไปใช้ทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย หรือหัวเข็มขัด

 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ในป่าเกาะบอร์เนียว ถิ่นอาศัยของนกชนหิน มีการล่านกชนหินเพื่อเอาหัวมากกว่า 6,000 ตัวต่อปี จนแทบจะสูญพันธุ์ไปจากเกาะ

แหล่งรับซื้อสำคัญคือตลาดมืดในประเทศจีน และสิงคโปร์ หัวนกชนหินมีราคาสูงไม่ต่ำกว่าหัวละ 30,000 บาท

 

จากความต้องการเครื่องประดับที่ทำจากงาสีเลือด ของลูกค้าคนจีนที่มีกำลังซื้อสูงมาก และเป็นที่นิยมกันในหมู่นักสะสม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ได้ปรับสถานภาพการอนุรักษ์นกชนหิน จากสัตว์ป่าใกล้ถูกคุกคาม เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

 

อนุสัญญาไซเตสที่ว่าด้วยการค้าพืชป่าและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ก็ให้การคุ้มครองนกชนิดนี้ในขั้นสูงสุด หมายความว่าห้ามมิให้มีการค้าระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด แต่ตลาดมืดก็ยังคงเฟื่องฟู

 

 เมื่อนกชนหินในป่าบอร์เนียว ถิ่นอาศัยสำคัญของนกชนหินถูกล่าจนใกล้หมดป่า นกชนหินในป่าบูโดใต้สุดของแดนสยามคือเป้าหมายต่อมาของบรรดานักล่า

 

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาพูดถึงความกังวลต่อเหตุการณ์ล่าหัวนกชนหินในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

 

เขาได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กPreedaBudoระบุว่า

 “ขณะที่พิมพ์ข้อความอยู่นี้ ผมนอนอยู่ในเปลบนเขาตะโหนด อ.รือเสาะ ใจสับสนและกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มาว่า ตอนนี้มีพรานจากรือเสาะและยะลากำลังขึ้นเขามาล่าสัตว์ และสัตว์ที่เขามาล่าคือหัวนกชนหิน.. มีตลาดรับซื้ออยู่ในเมืองนราเขาให้ราคาถึงหัวละหมื่น ชาวบ้านมาบอกว่าสองวันก่อนเขาเจอพรานมาซุ่มยิงนกเงือกที่ต้นไทรสุก..พบยิงนกชนหินถึง 4 ตัว ใจหายและรู้สึกโกรธจะทำอย่างไรกันดี ?สิ่งที่เราช่วยกันดูแลรักษากำลังถูกทำลาย และผมก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพียงแค่บันทึกบอกกล่าวและได้ระบายอะไรบ้าง ชาวบ้านที่ให้ข้อมูลเขาก็กลัวเพราะพวกมันมีปืน ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า “ผมเคยเตือนเขาแล้วว่าอย่ายิงนกเงือก เขาอนุรักษ์กัน มันกลับท้ายิงผมอีก”

 

 แหล่งข่าวในจังหวัดนราธิวาสบอกผู้เขียนว่า พรานที่เข้าไปล่านกชนหิน คืออดีตทหารพรานประมาณ 4-5 คน ตอนแรกเข้าป่ามาล่าหมูป่า แต่ตอนนี้ยิงนกชนหินตามใบสั่งของใครบางคนในจังหวัดนราธิวาส ตัดเอาเฉพาะหัวนกมีโหนกตันสีแดงคล้ายงาช้าง ที่เรียกว่า งาสีเลือด

 

 นกเงือกชนหินในไทย คาดว่าจะมีประชากรประมาณ 50 - 80 คู่ ในอุทยานแห่งชาติ บูโดสุไหงปาดี น่าจะเหลือไม่เกิน 10 คู่ ทำให้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเป็นใยนกชนหินว่า จะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า จึงมีการรณรงค์ “สนับสนุนให้นกชนหินเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย” เพื่อการป้องกันและคุ้มครองตามกฎหมายจะเคร่งครัดขึ้น

เพราะคงไม่มีใครต้องการหัวนกเงือก มากกว่านกเงือก

...........................

ที่มา : คอลัมภ์สมรู้ ร่วมคิด วันที่ 8 ตุลาคม 2652