'โควิด-19' ฝันร้ายของ 'ธอร์' นักเดินทางรอบโลกผู้หยุดสถิติไว้ที่ 194

'โควิด-19' ฝันร้ายของ 'ธอร์' นักเดินทางรอบโลกผู้หยุดสถิติไว้ที่ 194

'ธอร์ พีเดอร์สัน' นักเดินทางชาวเดนมาร์ก ใช้เวลากว่า 6 ปี เดินทางมาแล้ว 194 ประเทศบนโลก เขาเกือบจะบันทึกสถิติการเดินทางรอบโลกโดยโดยไม่ใช้วิธีเดินทาง 'ทางอากาศ' ได้สำเร็จแล้ว หากโลกไม่เกิดการระบาดของ 'โควิด-19' และเขาต้องติดอยู่ที่ 'ฮ่องกง' นานนับเดือน

 

‘การเดินทางรอบโลก’ ยังคงเป็นความใฝ่ฝันอันดับต้นๆ ของผู้คนที่รักการผจญภัยเสมอ เช่นเดียวกับ ธอร์ พีเดอร์สัน (Torbjorn C. ‘Thor’ Pedersen) นักท่องเที่ยวและนักผจญภัยชาวเดนมาร์ก ที่เดินทางมาแล้ว 194 ประเทศ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้โปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Once Upon a Saga’ เพื่อไปยังทุกประเทศบนโลกโดยไม่ใช้วิธีเดินทางทางอากาศ

ก่อนหน้านี้ ธอร์ เคยเป็นทหารรับใช้ชาติอยู่ 3 ปีและเคยปฏิบัติภารกิจที่แอฟริกาตะวันออกในฐานะทหารประจำกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ หลังจากนั้นก็ทำงานด้านขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อยู่ 12 ปีในหลายประเทศ กระทั่งเมื่อปี 2013 เขาตัดสินใจออกเดินทางรอบโลก เพื่อเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินทางไปใน 203 ประเทศโดยไม่ใช้เส้นทางบิน

“ผมชื่นชอบเรื่องราวของนักผจญภัยที่ออกไปสำรวจโลกมาตลอด ผมสนใจเรื่องนักเดินทางคนแรกที่ไปถึงขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ คนที่เดินทางไปรอบโลกหรือพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ ฮีโร่ที่ผมชอบมาก ๆ มาตลอดหลายปีคือ อิบน์ บะฏูเฏาะฮ์ (Ibn Battuta) นักสำรวจชาวโมร็อกโกที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 700 ปีก่อน ผมชอบคิดว่าผมอาจเกิดมาช้าไปเพราะแทบจะไม่เหลือการผจญภัยอะไรให้ทำแล้ว ผมคิดด้วยว่ามีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเดินทางไปทุกประเทศรอบโลกได้ แต่เมื่อผมรู้ว่าไม่เคยมีใครเดินทางรอบโลกโดยไม่ใช้เครื่องบินมาก่อนและวิธีนี้สามารถทำได้โดยใช้ต้นทุนที่น้อยมาก ผมเลยรู้สึกสนใจขึ้นมาครับ”

กว่า 6 ปี กับการเดินทางตามความฝัน ชีวิตของเขาไม่เคยต้องหยุดนิ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ แต่แล้วหลังจากเดินทางมาถึงฮ่องกง ในราวปลายเดือนมกราคม พร้อมๆ กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศปิดพรมแดน ทำให้เขาต้องติดอยู่ที่นั่นนานนับเดือน

 

3

 

"จริง ๆ ผมตั้งใจมาฮ่องกงเพื่อเป็นทางผ่านจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ตอนนั้นผมมาจากประเทศไมโครนีเซีย (Micronesia) และกำลังจะไปประเทศปาเลา (Palau) ผมมาถึงฮ่องกงช่วงตรุษจีนและพบว่าแพลนการเดินทางต้องล่าช้าไปจากเดิมอีก 7 วันแทบจะทันที เพราะช่วงเจ็ดวันนั้นปาเลาประกาศปิดพรมแดน และอีกหลายประเทศในภูมิภาคก็ประกาศตามมา

ช่วงสองเดือนแรกที่ผมอยู่ฮ่องกง ผมติดต่อทำความรู้จักกับคนหลายคน ค้นคว้าข้อมูล นัดพบผู้คน และหาทางที่จะเดินหน้าโปรเจ็กต์นี้ต่อไปให้ได้ แต่ว่าเมื่อโรค Covid-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก มันก็ชัดเจนว่าสถานการณ์เกินกว่าที่ผมจะควบคุมได้และรู้แล้วว่าผมคงต้องติดอยู่ที่นี่ ช่วงวันแรกๆ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทุกชั่วโมงและพรมแดนก็ถูกสั่งปิดเร็วมาก แต่ผมก็รู้สึกโชคดีที่ติดอยู่ฮ่องกง ไม่ใช่ที่อื่น"

เมื่อแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เขาจึงไม่ปล่อยให้เวลาแต่ละวันในฮ่องกงสูญเปล่า ธอร์ใช้เวลาออกไปสัมผัสธรรมชาติที่สวยงามรอบเมือง วิ่งและเดินขึ้นเขา รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และได้เล่าเรื่องราวผ่านทางบล็อก http://www.onceuponasaga.dk/

“ช่วงแรกที่ติดอยู่ที่นี่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาทางที่จะออกจากฮ่องกง แต่สุดท้ายผมก็หันมาท้าทายตัวเองด้วยการเดินเขาบนเส้นทางปีนเขา ultra-hikes ที่มีชื่อเสียงของฮ่องกงแทน ตอนนี้ผมพิชิต 3 ใน 4 ของเส้นทางเหล่านั้นได้แล้วและเตรียมตัวจะพิชิตเส้นทางสุดท้าย ผมได้ร่วมงานกับบริษัทและโรงเรียนหลายแห่ง และมีโอกาสไปพูดสร้างแรงบันดาลใจอยู่หลายครั้ง ผมยังได้ไปเที่ยวชมย่านต่างๆ ของฮ่องกงและได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจมากมาย 

จริงๆ แล้วผมอาจติดอยู่บนเรือหรือติดเกาะเล็กๆ ที่ไหนสักแห่งในแปซิฟิก ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่มาติดอยู่ที่ฮ่องกง ผมอาจต้องจัดการเกี่ยวกับเรื่องตม.บ้าง แต่ขั้นตอนก็สะดวกสบายและง่ายดายมาก ฮ่องกงมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาหารที่นี่ก็อร่อยมาก ที่เห็นชัดเลยก็คือ หลังจากผ่านไป 4 เดือนผมมีกลุ่มเพื่อนที่ผมจะไปสังสรรค์ด้วยแล้ว และผมไม่คิดว่าการใช้ชีวิตที่ฮ่องกงจะทำให้ทัศนคติหรือมุมมองของชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไป”

 

2

 

แม้จะยังเหลืออีกเพียง 9 ประเทศที่จะต้องเดินทางไปให้ถึง ได้แก่ ปาเลา วานูอาตู ซามัว ทองก้า นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ แต่ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะวางแผนการเดินทาง เพราะปัจจัยหลักๆ ในตอนนี้ขึ้นอยู่กับการระบาดของ Covid-19 ซึ่งยังไม่มีสัญญาณว่าโลกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติเมื่อไร สำหรับธอร์แล้ว คำถามสำคัญก็คือ ...จะให้เวลากับโปรเจ็กต์นี้ได้อีกนานแค่ไหน เพราะใช้เวลาไปแล้ว 6 ปีครึ่ง

“เป้าหมายหลักคือ การสร้างประวัติศาสตร์โลกหน้าใหม่ ส่วนเป้าหมายรองลงมาคือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านมนุษยธรรมของสภากาชาดในฐานะทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador) ของสภากาชาดเดนมาร์ก และผมต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าผู้คนที่ผมได้เจอในทุกประเทศ ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน มันมีความเข้าใจผิดว่า ที่นั่นที่นี่อันตรายและมีความขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมพบว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัว งาน การศึกษา บาร์บีคิว ดนตรี และถ่ายรูปเซลฟี่”

ถึงวันนี้ไม่ว่าจะตัดสินใจ “ไปต่อ” เพื่อทำฝันให้เป็นจริง หรือ “ยุติ” ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป สิ่งที่ธอร์ได้รับจากความพลิกผันก็คือ บทเรียนหน้าใหม่ของการเดินทาง

"ตอนนี้การเดินทางเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะพรมแดนถูกปิดหมดและถ้าเดินทางก็ต้องถูกกักตัวด้วย แต่ผมก็คิดว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับวิธีการเดินทางอยู่บ้างในอนาคต อย่างสายการบินก็คงบังคับให้มีการตรวจอุณหภูมิผู้โดยสารและมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบ่อยขึ้น ผู้โดยสารอาจจะต้องเซ็นเอกสารรับรองเพื่อยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ป่วยและไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดบุคคลที่ป่วยติดต่อกัน 14 วันก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน แต่ระบบพื้นฐานหลักๆ ก็คงจะยังเหมือนเดิม ทั้งแท็กซี่ สนามบิน โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ฯลฯ และเศรษฐกิจทั่วโลกก็ต้องการเม็ดเงินเข้ามาหมุน

ดังนั้นคนก็จะกลับมาเดินทางกันตามปกติอีกครั้ง แต่การขึ้นเรือขนส่งสินค้าในฐานะผู้โดยสารอาจจะยากขึ้น แต่ทุกอย่างก็คงเป็นไปตามนั้น รถประจำทางและรถไฟก็คงกลับมามีผู้โดยสารแน่นเหมือนเดิม"

สำหรับธอร์ ไม่ว่าโปรเจ็กต์นี้จะจบลงอย่างไร ...กว่า 6 ปี กับการเดินทาง 194 ประเทศ สิ่งที่โลกบอกกล่าวกับเขา และเขาต้องการบอกต่อกับชาวโลกอยู่ในคำสำคัญ 3 คำ คือ 

"มุมมอง (Perception) คนมักมองว่าโลกนั้นเล็ก ไม่เป็นมิตร และอันตราย ความเป็นจริ (Reality) โลกใบนี้กว้างใหญ่ไพศาลแต่ก็เชื่อมต่อใกล้ชิดกัน ผู้คนส่วนใหญ่มีมิตรไมตรี และแม้ว่าโลกจะมีอันตรายอยู่จริงแต่ก็ถือว่าน้อยมากที่จะเจอ เพราะโลกยังเต็มไปด้วยสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายคือ ผู้คน (People) 

ทุกคนก็คือมนุษย์ ไม่ว่าจะมุมไหนของโลก สำหรับผมแล้วผู้คนต่างก็ต้องการสิ่งเดียวกัน แฟชั่น โซเชียลมีเดีย อาหารที่ดีและอร่อย ความปลอดภัย ความรัก ช่วงเวลาดีๆ ความสงบสุข การได้รับการยอมรับ และความภาคภูมิใจในตัวเอง ทั้งหมดล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตในทุกที่ที่ผมได้ไปเยือน”