ธงชาติไทย ในวงโคจรรอบดวงจันทร์
ความจริงที่น้อยคนจะทราบว่า ครั้งหนึ่ง "ธงไตรรงค์" เคยได้ร่วมเยือนวงโคจรของดวงจันทร์ไปกับยานอพอลโล15 ในฐานะตัวแทนของมวลมนุษยชาติ
ภาพก้าวแรกบนพื้นผิวดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศสหรัฐฯ เป็นภาพคุ้นตาของผู้คนที่สนใจในแวดวงวิทยาศาสตร์ และคงไม่ผิดหากจะนับว่าเป็นภาพที่เติมเต็มความใฝ่ฝันแต่บรรพกาลของมวลมนุษยชาติที่จะมีมนุษย์ขึ้นไปประทับรอยเท้าบนดาวดวงอื่น และเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการแสวงหาความรู้จากห้วงจักรวาลไกลโพ้น
ความสำเร็จของการเดินทางสู่ดวงจันทร์เกิดขึ้นต่อมาอีกหลายครั้ง โดยมีน้อยคนที่จะรู้ว่า "ธงไตรรงค์" ธงชาติไทย เป็นหนึ่งในบรรดาธงจากนานาชาติที่ได้ร่วมเดินทางสู่ห้วงอวกาศและวงโคจรของดวงจันทร์ และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษยชาติด้วยเช่นกัน
- ธงชาติไทย ในวงโคจรรอบดวงจันทร์
ความฝันในการเดินทางสู่ดวงจันทร์ของมนุษย์ชาติอาจนับย้อนกลับไปปีพ.ศ.2510 เมื่อโครงการ "อพอลโล" โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Aeronautics and Space Administration - NASA) หรือ "องค์การนาซา" ได้จัดการซ้อมใหญ่การเดินทางในห้วงอวกาศด้วยยาน "อพอลโล 1" แต่ก็ต้องประสบความล้มเหลวหลังเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ในห้องนักบิน ทำให้นักบินอวกาศทั้ง 3 ถูกไฟคลอกเสียชีวิตทั้งหมด
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โครงการอพอลโลต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง ก่อนจะเกิดโครงการ "อพอลโล 4" (นาซาได้กำหนดให้การทดสอบอพอลโลที่มีมาก่อนอพอลโล 1 เป็นรหัสอพอลโล 2 และ 3 ตามลำดับ โดยเป็นการกำหนดขึ้นภายหลังอพอลโล 1 ถูกไฟไหม้ หลังจากนั้นโครงการที่เดินหน้าต่อไปจึงเริ่มต้นที่อพอลโล 4) ต่อเนื่องมาจนถึงโครงการ "อพอลโล 6" เป็นการทดสอบการโคจรรอบโลกโดยปราศจากนักบินอวกาศ
กระทั่งถึงอพอลโล 7 จึงมีการนำนักบินอวกาศ 3 คน ร่วมเดินทางเพื่อทดสอบการโคจรรอบโลก การปล่อยยาน "อพอลโล 7" เดินทางสู่ห้วงอวกาศเกิดขึ้นท่ามกลางสายตาจับจ้องจากชาวโลกที่ยังคงติดตากับภาพนักบินอวกาศทั้ง 3 ที่ถูกย่างสดในยานอพอลโล 1 แต่แล้วการปล่อยยานอพอลโล 7 ก็เป็นไปโดยไม่มีปัญหา ทำให้นาซากำหนดเป้าหมายต่อไปด้วยการส่งอพอลโล 8 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งนาซาก็ประสบผลสำเร็จ รวมไปถึงยานอพอลโล 9 และ อพอลโล 10
ปีพ.ศ.2512 ความฝันในการฝากรอยเท้าของมนุษย์บนดวงจันทร์ก็เป็นจริง เมื่อนาซาได้ส่งยานอวกาศอพอลโล 11 พร้อมนักบินอวกาศไปเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดย นีล อาร์สตรอง ผู้บังคับการ "อพอลโล 11" เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์
จากความสำเร็จในครั้งนั้น นาซาได้สานต่อโครงการ โดยส่งยาน "อพอลโล 12" และ "อพอลโล 13" ต่อไป แต่ทั้งสองครั้งไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ตามด้วยยาน "อพอลโล 14" และ "อพอลโล 15"
โครงการ "อพอลโล 15" ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้นำยานยนต์ไปขับบนดวงจันทร์ มีนักบินอวกาศ 3 นายทำหน้าที่ควบคุมยาน คือ เดวิด สก๊อตต์ ตำแหน่งผู้บังคับการยานอพอลโล 15 เจมส์ ออร์วิน ทำหน้าที่เป็นนักบินผู้บังคับยานที่ไปลงจอดบนดวงจันทร์ (Lunar Module) และนักบินอวกาศคนสุดท้ายคือ อัลเฟรด วอร์เดน ทำหน้าที่เป็นนักบินยานบังคับการ (Command Module) ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยลูนาร์โมดูลไปลงบนดวงจันทร์ จากนั้นก็ได้โคจรไปรอบๆ ดวงจันทร์เพื่อรอรับลูนาร์โมดูลกลับและเดินทางกลับสู่โลก
โครงการอพอลโล 15 ประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้นาซ่าส่งยานสู่ดวงจันทร์อีก 2 ลำ คือ "อพอลโล 16" และต่อมาคือ "อพอลโล 17" ซึ่งเป็นยานลำสุดท้ายที่ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ภายใต้โครงการอพอลโล
ระหว่างการปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศของยานอพอลโล 15 นี้เอง ที่ "ธงไตรรงค์" ได้เป็นส่วนหนึ่งของบรรดาธงชาติจากนานาประเทศที่ได้ไปเยือนวงโคจรของดวงจันทร์ในฐานะ "ตัวแทนของมวลมนุษยชาติ"
"ภารกิจของยานอพอลโล 15 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ระหว่างภารกิจครั้งนั้นนักบินอวกาศชื่อ Alfred M. Worden ตำแหน่ง Command Module Pilot ก็คือคนที่บังคับการยานโคจรรอบดวงจันทร์ ในขณะที่ยานบังคับการโคจรรอบดวงจันทร์คุณวอร์เดนก็ได้เซ็นชื่อกำกับบนผืนธงชาติประเทศต่างๆ ที่นำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล 15 เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจและกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยแล้ว อีก 39 ปีต่อมาคุณวอร์เดนซึ่งเป็นเจ้าของธงชาติชุดนั้นก็ได้นำออกมาประมูลผ่านบริษัทประมูลชื่อดังในอเมริกาคือ Nate D. Sanders Auctions ซึ่งก็มีธงไตรรงค์ของไทยที่ได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในครั้งนั้นรวมอยู่ด้วย" พฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย บอกเล่า
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการติดตามธงไตรรงค์ผืนประวัติศาสตร์ ธงชาติไทยผืนเดียวที่ได้เดินทางไปกับยานอพอลโล 15 และได้โคจรรอบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เพื่อนำมาจัดแสดงอย่างถาวรในประเทศไทย
- เชิญธงประวัติศาสตร์สู่แผ่นดินไทย
"ธงผืนนี้ถ้าไม่ได้จัดแสดงที่สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้ส่งยานอพอลโลก็ควรจะจัดแสดงในประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศไหนก็ได้ที่ได้ไปแล้วเอาธงชาติเราไปแปะโชว์ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมว่าผมคงเดือดดาลพอสมควร" พฤฒิพล กล่าวกลั้วหัวเราะ
ปฏิบัติการตามล่าคว้าธงไตรรงค์ผืนเล็กๆ ที่ประเมินค่ามิได้ทางประวัติศาสตร์ผืนนี้มาสู่ประเทศไทยจึงเริ่มขึ้น พฤฒิพล เล่าว่า ในฐานะผู้อำนวยการ "พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย" ทำให้เขามีเครือข่ายความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ธงและนักค้นคว้าเรื่องธง หรือ "นักธัชวิทยา" ทั่วโลก และจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเครือข่ายนี้เองทำให้เขาได้ทราบว่าจะมีการนำธงชาติไทยที่ได้ขึ้นไปกับยานอพอลโล 15 ออกประมูล
"กว่าจะได้ธงชาติไทยผืนนี้กลับมาจัดแสดงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ตั้งแต่ได้ข่าวว่าจะมีการประมูลธงชาติไทยอยู่ในล๊อตนี้ด้วย ก็ตามข่าวมาเรื่อยๆ ว่าจะประมูลเมื่อไหร่ ต้องรอเขาเปิดประมูลอย่างเป็นทางการ เมื่อแข่งขันประมูลก็มีการสู้ราคากันไปมา กว่าจะได้มารวมค่าขนส่ง ค่าประกันแล้วก็อยู่ในระดับหลักแสนบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ผมทำด้วยตัวเองในฐานะที่ผมเป็นผู้ดำเนินการพิพิธภัณฑ์เอกชน ใช้เงินส่วนตัวทั้งหมดโดยไม่ได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐเลย ใช้ความพยายามส่วนตัว ใช้คอนเนกชั่นที่ผมมีกับพิพิธภัณฑ์ธงทั่วโลก ใช้กำลังกาย กำลังใจในการติดตาม ติดต่ออย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้ธงผืนนี้มาสู่ประเทศไทย" พฤฒิพลกล่าวอย่างภูมิใจ
หลังจากการเสนอราคาแข่งขันจนกระทั่งเป็นผู้ชนะการประมูล ยังมีขั้นตอนต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่าธงชาติไทยที่ประมูลได้นั้นเป็นธงที่ได้เดินทางไปพร้อมกับยานอพอลโล 15 จริง โดยมีการออกหนังสือรับรองจากนักบินอวกาศ Alfred M. Worden ในฐานะนักบินประจำยานบังคับการเพื่อยืนยันว่าเป็นของแท้ รวมไปถึงหนังสือรับรองการชนะประมูลจากบริษัทผู้จัดการประมูล เพื่อยืนยันการได้มาด้วยการชนะประมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ทราบความเป็นมาของธงชาติผืนประวัติศาสตร์ผืนนี้
"ธงผืนนี้เดินทางจากเคนเนดีสเปซเซ็นเตอร์ ขึ้นไปสู่อวกาศ...ไม่ระเบิดกลางทางก็บุญแล้วนะ (หัวเราะ) แล้วไปโคจรรอบดวงจันทร์ กลับมายังพื้นโลก แล้วก็ไปอยู่ในบ้านของคุณวอร์เดนอีกประมาณ 40 ปีก็มีการนำออกมาประมูล เราก็ตามไปประมูลจนชนะมา แล้วธงผืนนี้ก็ขึ้นเครื่องบินหลายทอดเพื่อจะมาเมืองไทย แล้วมาขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ของไปรษณีย์เพื่อจะมาส่งให้ผม ขั้นตอนนี้ละที่ผมลุ้นที่สุด...ได้แต่ภาวนาว่าอุตส่าห์ไปโคจรรอบดวงจันทร์อย่ามาหายที่เมืองไทยเลย ในที่สุดก็มาถึงมือเรียบร้อย..."
"...ถามว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับธงผืนเล็กๆ ผืนหนึ่ง ธงชาติคือศักดิ์และศรีของประเทศชาติ ธงผืนนี้คือหลักฐานที่ธงชาติของเราได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในฐานะตัวแทนมวลมนุษยชาติทั้งหมดบนโลก มันก็สร้างความภูมิใจว่าครั้งหนึ่งธงชาติเราเคยได้ขึ้นสู่อวกาศไปไกลถึงวงโคจรของดวงจันทร์ ถึงคนไทยจะไม่ได้นำขึ้นไปทำเองแต่ธงชาติของเราก็ได้รับเกียรติให้ร่วมเดินทางไปด้วย และในฐานะที่เราคิดว่าธงไทยควรจะเป็นของประเทศไทย ก็ได้ใช้ความพยายามจนในที่สุดเราก็นำธงผืนนี้มาไว้ในเมืองไทยได้สำเร็จ ทำให้คนไทยได้มีโอกาสภาคภูมิใจว่านี่คือธงไตรรงค์ ธงชาติไทยที่เดินทางไปไกลสุดขอบฟ้า ออกจากโลกไปโคจรรอบดวงจันทร์และกลับสู่โลก จนกระทั่งได้นำมาจัดแสดงในประเทศไทยที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย เพื่อให้คนไทยได้ชมอย่างถาวรตลอดไป” พฤฒิพล สรุป
เมื่อ นีล อาร์มสตรอง ฝากรอยเท้าแรกของมนุษย์ลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ เขาได้กล่าวว่า “นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”
การนำธงไตรรงค์ที่เคยโคจรรอบดวงจันทร์มาสู่ผืนแผ่นดินไทยในครั้งนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น "ก้าวเล็กๆ ของคนไทยคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของธงชาติไทย"
(หมายเหตุ : ในการปฏิบัติภารกิจของยานอพอลโล 17 เป็นอีกครั้งที่มีการนำธงชาติของประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วย หลังภารกิจรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบธงชาติไทยและหินดวงจันทร์ชิ้นหนึ่งเป็นของขวัญแก่ประเทศไทย แต่ได้ "สูญหาย" ไปในเวลาต่อมา)