ลมหายใจ...ว่าวไทย

ว่าวไทยอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ปัจจุบันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ซึ่งคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือ คนที่คลุกคลีอยู่กับการเล่นว่าว
และทำว่าวตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยชรา
. . .
จากน่านฟ้าไทยที่ไม่เคยว่างเปล่าช่วงฤดูร้อน ว่าวตัวเล็กตัวน้อยแผ่ตัวโต้ลม ไม่สะทกสะท้านแสงแดดร้อนระอุ ทุกวันนี้ว่าวไทยยังขึ้นดีอยู่หรือไม่ หรือกลายเป็นเพียงความทรงจำที่นานวันจะสีจางลงเรื่อยๆ และเปื่อยขาดดั่งกระดาษว่าวถูกน้ำ
เชื่อว่าหลายคนคงมีความทรงจำเกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้านชนิดนี้ไม่มากก็น้อย เพราะในอดีต 'ว่าว' คือกิจกรรมสำหรับทุกครอบครัว ทุกชน ทุกชั้น ทุกหนแห่ง ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ อาจต่างกันตรงที่ว่าวไทยสนุกตื่นเต้นมากกว่าว่าวต่างประเทศ เพราะว่าวไทยถูกออกแบบให้ผู้เล่นกระตุกไปมา โยกซ้ายโยกขวาได้ ทว่าว่าวต่างประเทศมักจะขึ้นนิ่งๆ แล้วค้างเติ่งอย่างนั้นเฉยๆ
เมื่อเอ่ยถึงว่าวย่อมนึกถึง 'สนามหลวง' นัยหนึ่ง-สนามหลวงคือสถานที่สำหรับเล่นว่าว อีกนัยหนึ่ง-สนามหลวงคือแหล่งบรรจุประวัติศาสตร์ชาติไทยรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง 'ว่าว' ด้วย
-1-
ปริญญา สุขชิต หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ป.เป็ด ผู้นำเชียร์กีฬาระดับตำนานของไทย และเขาคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องว่าว เพราะคลุกคลีตีโมงตั้งแต่จำความไม่ได้กระทั่งทุกวันนี้ในวัย 64 ปี เขาและสนามหลวงไม่เคยแยกจากกัน
"ผมคลุกคลีกับสนามหลวงตั้งแต่ปี 2504 ช่วงนั้นพ่อทำว่าวขายที่สนามหลวง ทำว่าวประกวด ตอนนั้นเราเห็นว่าว่าวสนามหลวงสนุกสนาน ขณะเดียวกันเราก็เริ่มทำว่าวกับพ่อบุญธรรม แต่ความรู้จริงๆ นั้นได้มาจากกรรมพันธุ์มากกว่า คือได้มาจากตา"
ป.เป็ด เท้าความว่าในช่วงที่เขาเรียนโรงเรียนอุเทนถวาย ตาของเขาทำว่าวอยู่ในซอยข้างๆ โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ผู้เป็นพ่อนำมาขายตรงวัดมหาธาตุ เขาเองก็มาช่วยขาย
"จนกระทั่งมาอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม เราก็ยากจนน่ะนะ พอตกเย็น ก็ทำว่าวไปขายที่สนามหลวง เมื่อก่อนว่าวสนามหลวงตัวละสลึงหนึ่งถึงห้าสิบสตางค์ และว่าวที่นิยมกันสมัยนั้นคือว่าวอีลุ้ม มีพู่สองข้างไว้สำหรับตัดป่านคม ซึ่งตอนนั้นเฟื่องฟูมาก จำความได้ว่าสมัยนั้นมีรถรางผ่านตรงโรงละครแห่งชาติ เราก็ไปมุดใต้ถุนวัดชนะสงคราม รูดป่านคม เพราะเมื่อก่อนการรูดป่านคมมีเทคนิคง่ายๆ ถ้าป่านคมรูดด้วยแป้งแล้วสะดุดเมื่อไร ป่านนั้นคุณภาพไม่ดี เพราะว่าวของคู่ต่อสู้จะมาล็อคอยู่ตรงปมนั้นแล้ว จะทำให้ว่าวเราขาด ฉะนั้นเราต้องไปหาเสาที่กลมๆ ก็คือเสาใต้ถุนวัดชนะสงคราม เพื่อทำป่านคม ซึ่งเรื่องป่านคมนี่สมเด็จพระเทพฯ ท่านไม่โปรดนัก ท่านตรัสว่ามันเป็นว่าวอันธพาล พอครอบครัวเล่นว่าวกันอยู่ก็ไปตัดของเขา" ป.เป็ด เล่าอย่างออกรส
มองผิวเผิน...ว่าวก็ไม่ต่างจากการละเล่นอื่นๆ ที่เน้นหนักเรื่องความสนุกสนานมากกว่าอื่นใด แต่เมื่อหลงใหลเข้าขั้นหลงรัก จากเล่นๆ ว่าวกลับทำให้ชีวิตของ ป.เป็ด พลิกผันสู่วงการว่าวแถวหน้าของเมืองไทย โดยเขาเล่าว่าในสมัยที่ว่าวไทยเฟื่องฟู คนนิยมหอบลูกจูงหลานมานั่งนอนชมว่าวที่สนามหลวง เรียกว่ามาปิคนิคชมว่าวกันทีเดียว นั่นเพราะนโยบายที่สมาคมกีฬาไทยจัดให้มีร้านรวงเช่าพื้นที่ขายของได้ แม้จะสร้างความสกปรกบ้างแต่คึกคักอย่างยิ่ง
แต่หลังจากนั้นก็เกิดยุคมืดของสนามหลวง ด้วยนโยบายของปลัดกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง...
"กรุงเทพมหานครมีปลัดท่านหนึ่งยกเลิกสนามหลวง สี่ปีผ่านไป ว่าวก็เงียบเหงา ไม่มีจุฬา-ปักเป้า ไม่มีร้านค้า สนามหลวงสมัยก่อนยังไม่เรียบร้อยแบบนี้ มีหญ้าขึ้นสูงเท่าหัวคน เขาปล่อยปละละเลย"
คล้ายว่ากราฟชีวิตของว่าวไทยจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่ติดลมบนสักทีหนึ่ง แต่ด้วยค่าที่ ป.เป็ด ผูกพันกับว่าวไทยมากและทนไม่ได้หากต้องเห็นว่าวไทยต้องจากไปไม่มีวันกลับ สี่ปีอันมืดมืดจึงสิ้นสุดลง เพราะในช่วงครบรอบสองร้อยปีกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ ปรีดา รอดโพธิ์ทอง เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา เขาได้ขอให้ ป.เป็ดจัดงานว่าวขึ้นอีกครั้ง
"ผมก็บอกว่าถ้าผมจัด ให้ไปขอว่าวของบริษัทบุญรอด ที่เป็นสิงห์กับนกตีกันมา ช่วงนั้นเลยมีโอกาสได้ไปเจอคุณสันติ ภิรมย์ภักดี แกก็เลยชวนไปทำงาน บังเอิญด้วยว่า พระยาภิรมย์ภักดี เป็นนายสนามว่าวที่สนามหลวง"
งานว่าวในลักษณะ MOU ระหว่าง ป.เป็ด การท่องเที่ยวฯ และกรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้น และหลังจากนั้นงานว่าวก็ถูกจัดต่อเนื่องทุกปีๆ ณ สนามหลวง อาณาจักรแห่งว่าวไทย
-2-
ตั้งแต่ต้นปี 2553 วงการว่าวไทยและหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับสนามหลวงต้องสะเทือนอีกครั้ง ด้วยคำสั่งปิดปรับปรุงสนามหลวงที่จะกินระยะเวลานานกว่าหนึ่งปี แน่นอนว่าว่าวสนามหลวงจะหยุดชะงักไปแน่นอน
ทว่า สำหรับแฟนพันธุ์แท้ว่าวไทยอย่าง ป.เป็ด การปิดปรับปรุงสนามหลวงถือเป็นโอกาสอันดี เมื่อรู้ข่าวเขายอมรับว่าดีใจมาก เพราะ หนึ่ง - สถานที่เล่นว่าวจะสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น สอง - ทราบดีว่าแท้จริงแล้วไม่มีคำสั่งห้ามเล่นว่าวหลังจากปรับปรุงสนามหลวงจากปากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีเพียง ผู้อำนวยการเขตพระนครที่ให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้ลืมเรื่องเก่าๆ เมื่อ ป.เป็ดได้ยินดังนั้นก็ปรี๊ดแตก ตอกกลับ ผอ.เขตคนดังกล่าวไปว่าจะให้ลืมเรื่องเก่าๆ ได้อย่างไร
"จะลืมเรื่องเก่าๆ ได้อย่างไร ไม่ใช่แค่รัชกาลที่เก้าเสด็จพระราชดำเนินมางานว่าว รัชกาลที่เจ็ดก็เสด็จ รัชกาลที่ห้าท่านก็ทอดพระเนตรเล่นว่าวสนามหลวง เพราะไอ้การลืมเรื่องเก่าๆ ผมก็ค้านสุดตัว ผมด่าเลย มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งละอันพันละน้อยนี้เป็นวิถีชีวิตของชุมชน" ป.เป็ด กล่าวเสียงดัง
แน่นอนว่าภาพสนามหลวงในฤดูร้อนที่ 'ลมว่าว' พัดแรงเช่นนี้ ยังคงมีคนมาเล่นว่าวกันมากพอสมควร แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ป.เป็ด ยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่ห่างเหินจากการเล่นว่าว อาจเพราะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทันสมัยมากกว่า ท้าทายมากกว่า...แต่ไม่สร้างสรรค์เท่า
ถึงเขาจะรู้เช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นห่วงมากนัก เพราะ ป.เป็ด เปิดเผยว่า อีกไม่นานกำลังจะมีบางสิ่งเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามากอบกู้ศรัทธาแก่การละเล่น 'ว่าวไทย'
"กรุงเทพมหานครกำลังดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ว่าวกลางใจเมือง ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งนี่เป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะกรุงเทพฯไม่มีเรือนไทย ชาวต่างชาติมาถนนข้าวสารก็ไม่มีอะไรให้ดู สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นนิมิตรหมายให้กรุงเทพมหานครได้คิดทำร่วมกับผม โดยสมเด็จพระเทพฯพระราชทานพระนามพิพิธภัณฑ์ว่า 'สลาตัน' "
เมื่อพูดถึงพิพิธภัณฑ์ว่าวไทย ก็อดไม่ได้ที่จะยึดโยงกับกฎข้อห้ามขายของภายในสนามหลวง ซึ่งกระทบต่อทั้งผู้ขาย ผู้เล่น และผู้ชม หากไม่มีอะไรมาช่วยเหลือ กฎนี้อาจกลายเป็นกำแพงกั้นมิให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงว่าวไทยได้เลย พิพิธภัณฑ์ว่าวจึงมีบทบาทในเรื่องนี้
"พิพิธภัณฑ์จะมีแผงว่าวแบบโบราณที่ให้คนเช่าว่าวไปเล่นแล้วเอามาคืนได้ ต่อไปตลอดปีคนจะเล่นว่าวได้ แต่ที่เราขออย่างเดียวคือ ตราบใดที่ลมเปลี่ยนทิศไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เราจะไม่ให้เล่นว่าว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของเทศกิจคอยดูแล เพราะว่าวจะขาดลอยเข้าไป ซึ่งมีอยู่ในกฎมณเฑียรบาล แม้แต่ไอ้การเล่นว่าวจุฬา-ปักเป้า สิ่งที่เรากลัวที่สุดและเราต้องสั่งห้าม คือ ห้ามไปคว้ากันบนหลังคาธรรมศาสตร์ กระเบื้องแผ่นละยี่สิบ แต่ไอ้ค่าขึ้นนี่สองสามหมื่น ฉะนั้นพอว่าวจุฬา-ปักเป้าต่อสู้ไปริมนู้นเมื่อไร คนบรรยาย (พี่ชายของป.เป็ด) ก็จะบอกว่าให้เพลาๆ มือ แล้วรีบรอกเข้ามา"
และอีกหนึ่งสิ่งที่เคยทำให้ ป.เป็ด เครียดมาก เกรงว่าจะกระทบต่อความสนใจเรื่องว่าว คือ สนามหลวงถูกนำไปใช้ในกิจกรรมอันไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้นเพียงกิจจำเป็น อาทิ งานพระเมรุ งานพระศพ
"เราไม่ได้จัดว่าวสนามหลวงมาสองสามปีเนื่องจากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทำภารกิจจำเป็น สิ่งที่ห่วงที่สุดคือการชุมนุมทางการเมือง แต่ล่าสุดกรุงเทพมหานครห้ามชุมนุมแล้ว ทำให้เรายิ้มได้ ปัจจุบันมีว่าว มีตะกร้อ กระบี่กระบอง โดยชิงถ้วยพระราชทานทั้งหมด นับวันคนก็เยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ"
-3-
อย่างที่ ป.เป็ด บอกไปแล้วว่าการเล่นว่าวที่สนามหลวงจะต้องดูทิศทางลม เพื่อป้องกันการละเมิดกฎมณเฑียรบาล สำหรับฤดูร้อนนั้นแทบไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เลย เพราะตามธรรมชาติแล้ว ลมว่าวช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะพัดไปทางอื่น แม้ว่าแท้จริงแล้วเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่เหมาะสมเล่นว่าวมากที่สุดก็ตาม แต่เนื่องจากลมหนาวจะพัดไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
คล้ายว่าอะไรต่อมิอะไรก็ลงตัวดีแล้ว ทว่าอีกไม่นานการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจกระเทือนวงการว่าวไทยอีกครั้งใหญ่ ป.เป็ด ให้ความเห็นว่าลมตะเภาที่เข้ามาในช่วงปิดภาคเรียนพอดิบพอดีทำให้เด็กๆ ได้หยุดเรียน มาเล่นว่าว แต่พอบอกว่าจะเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียน เขาถึงกับกุมขมับ
"ชักปวดหัว เพราะอย่าลืมนะว่าเดิมปิดเทอมตรงกับเล่นว่าว"
นอกจากปัญหาระดับอาเซียน ภาพที่เล็กลงอย่างประเทศมาจนถึงระดับหมู่บ้าน ก็เป็นสาเหตุที่กำลังทำให้คนนิยมเล่นว่าวน้อยลง ที่ชัดเจนเลยคือการเล่นว่าวต้องใช้พื้นที่กว้างๆ ไม่มีเสาไฟฟ้าสายไฟฟ้าระเกะระกะ ด้วยค่าที่ปัจจุบันสังคมไทยกลายเป็นสังคมเมืองเกือบทั้งหมดแล้ว ผู้คนนิยมอาศัยในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ บ้านจัดสรร
"การละเล่นว่าวในหมู่บ้านจัดสรรต้องมีพื้นที่ส่วนกลางถึงยี่สิบไร่ขึ้นไป ไอ้การที่เขาจะมียี่สิบไร่นั้นยาก" ป.เป็ด แสดงความคิดเห็น "สอง รถติดมาก กว่าจะไปรับลูก กว่าจะไปที่ไหนสักแห่งก็หมดเวลาแล้ว นับวันรถก็จะติดมากขึ้นอีก"
เมื่อเป็นเช่นนี้ จากว่าวที่เป็นการละเล่น เป็นกีฬา ต่อมาจึงขยับปรับตัวเป็นงานโฆษณาสินค้าและโครงการต่างๆ นานา อนึ่ง เพื่อความอยู่รอดและเพิ่มค่าเพิ่มราคา ทั้งยังมีคนเห็นว่าวได้ทะยานสู่ท้องฟ้าอยู่เนืองๆ
"ว่าวโฆษณามีตั้งแต่สมัยผมเข้าบริษัทบุญรอด ประมาณสามสิบปีก่อน ช่วงนั้นได้ทำว่าวสิงห์กับนกตีกัน ถือเป็นการโฆษณาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก...กล้าคุยได้ เพราะใช้ลมเป็นตัวกำหนด ไม่ได้ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำยากที่สุด คือว่าวต้องสมดุลกันซ้ายขวา แต่ว่าวสิงห์เป็นว่าวที่มีหัวโผล่ออกไป มีหางโผล่ออกมา มันไม่สมดุล" ป.เป็ด เล่า
หลังจากว่าวสิงห์ตีกับว่าวนกขึ้นสู่ฟ้า ว่าวกาชาด ว่าวรถยนต์ ว่าวถวายพระพร ฯลฯ ต่างก็ตามมาเป็นกระบวน กระดาษติดกับไม้ไผ่จึงไม่ใช่แค่ของเล่นธรรมดาอีกต่อไป ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านว่าวเจ้าของซูเปอร์เป็ดอธิบายว่า..." มันเป็นการเพิ่มค่า เพราะเราไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ดี ในโลกไม่เคยมีว่าวรถยนต์ แต่ผมทำ เพราะฉะนั้นดังแน่"
...
แม้ว่าวไทยในกระแสลมยุคใหม่จะไปด้วยกันได้บ้างไม่ได้บ้าง หรืออาจไม่มีภาพว่าวติดลมบน มีคนนั่งนอนดูว่าวเป็นกิจลักษณะให้เห็นอีกต่อไป ทว่า การละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต มิใช่เพียงแต่ในชนชาติไทยเท่านั้น ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ว่าวยังคงสำคัญเสมอ เหมือนกับที่ ป.เป็ด ให้คำจำกัดความยาวเป็นหางว่าว ว่า...
"ว่าวเป็นงานหัตถกรรม ว่าวรวบรวมด้วยศิลปะแขนงต่างๆ หัตถกรรมก็เหลาไม้ วิจิตรศิลป์ก็เป็นการเขียนรูป พาณิชย์ศิลป์ก็ทำอย่างไรให้ขายได้ สถาปัตยกรรมก็ทำอย่างไรให้มันขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการประยุกต์ศิลป์ให้เป็นรูปร่าง มันรวมแล้วเป็นศิลปะในตัวของมันทั้งหมด"