ศึกกุมภกรรณ ตอน 'โมกขศักดิ์'
สอดแทรก 'คุณธรรม' ไว้ในบทร้องได้อย่างสนุกสนาน คงรูปแบบโขนหลวงในราชสำนักครบถ้วน ท่ามกลางฉาก-เทคนิคอลังการ
มนต์สะกดขลังไม่เสื่อมคลายสำหรับการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชุด ศึกกุมภกรรณ ตอน 'โมกขศักดิ์' ยังคงรูปแบบโขนหลวงในราชสำนักอย่างครบถ้วน ทั้งภูษาอาภรณ์ เครื่องประดับ กระบวนท่ารำอันวิจิตรงดงาม การบรรเลงเพลงปี่พาทย์ การขับร้อง เสริมด้วยเทคนิคแสง-สี-เสียง องค์ประกอบฉากที่สมกับการเล่าเรื่องนิยายแห่งหมู่ทวยเทพ
ช่วงครึ่งแรกของการแสดงวางน้ำหนักไว้ที่การเล่าเรื่อง โชว์บทร้องซึ่งประพันธ์โดยสอดแทรกคุณธรรมหลายเรื่องไว้อย่างละเมียดละไม พร้อมซ่อนอารมณ์ขันไว้พองาม โดยเฉพาะในเรื่อง ความซื่อสัตย์ มีสัจจะ การยึดมั่นในการทำความดี การกระทำที่อยู่ในทำนองคลองธรรม แม้เป็นสายเลือดเดียวกัน หากกระทำสิ่งไม่ถูกต้อง ผิดหลักศีลธรรม ผู้ร่วมวงศ์วานก็ต้องทักท้วง ขอให้ญาติตนผู้นั้นกลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่สนับสนุนหรือเออออด้วยทุกเรื่อง
ดังเช่นบทร้องที่กุมภกรรณยก 'หลักธรรม' ขึ้นทัดทานทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นพี่ชาย หลังถูกสั่งให้ออกรบกับทัพพระราม ว่าต้นเหตุแห่งสงครามนี้ไม่ใช่ใคร แต่เป็นทศกัณฐ์เองที่ลักตัวนางสีดามาจากพระราม เพราะทำผิดศีล ลุ่มหลงในตัณหา แค่เพียงคืนนางสีดากลับไป สงครามก็จะยุติลงทันที
ที่กุมภกรรณต้องตั้งโรงพิธีลับหอกโมกขศักดิ์ เพราะโมกขศักดิ์เกิดสนิม เนื่องจากกุมภกรรณจำใจทำผิดหลักธรรมที่ตนเองยึดถือ ออกรบตามคำขอแกมข่มขู่ของพี่ชาย
บทร้องแม้ทอดเวลาเนิ่นนาน แต่ ครูร้อง ร้องคำเจรจาได้สุดคำ เด็ดขาด กินใจ แทรกอารมณ์ขันถูกจังหวะ ประกอบกับนักแสดงที่ออกท่าทางได้ราวกับร้องด้วยตัวเอง สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน สื่อสารความหมายได้อย่างงดงาม
แม้ฉากตื่นเต้นสุดพิสดารไปรวมกันอยู่ในช่วงครึ่งหลังของการแสดง แต่ทุกฉากของโขนที่จับเอาตอนนี้มาแสดง ก็พาผู้ชมหลุดเข้าไปโลกแห่งจินตนาการอย่างเพลิดเพลิน เช่น ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ที่อวดฝีมืออันละเอียดประณีตของช่างเขียนลายเต็มความกว้างและความสูงของเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ฉากที่ผู้ปกครองหลายคนนัดแนะบุตรหลานให้จับตาก่อนเข้าชมการแสดง เดาออกไหมว่าเป็น ฉากลับหอกโมกขศักดิ์ ฉากนี้เปิดตัวด้วยโรงพิธีสำหรับลับหอกที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์ หัวใจของฉากนี้คือหนุมานกับองคตที่จะแปลงกายเป็นหมาเน่าที่มีอีกาจิกกินลอยมาในแม่น้ำเพื่อทำลายพิธีลับหอก ซึ่งไม่ทำให้เด็กๆ(รวมทั้งผู้ใหญ่)ผิดหวัง อีกาไม่ใช่แค่เกาะหมาเน่าลอยมาเฉยๆ แต่กระพือปีกให้ดูสยองได้ยิ่งขึ้น ส่วนหมาเน่าก็ขึ้นอืดมาเต็มที่ชวนแสยะ
สุดยอดแห่งการถ่ายทอดวรรณกรรมออกมาเป็นการแสดงบนเวทีได้อย่างล้ำจินตนาการและน่าตื่นเต้น ยกให้ ฉากยุดรถพระอาทิตย์ ซึ่งเกี่ยวพันต่อเนื่องไปกับ ฉากเก็บยาที่เขาสรรพยา จำได้สมัยเป็นนักเรียนว่าเป็นฉากที่สนุก มีของวิเศษ และเต็มไปด้วยความเหนือจริง เพราะเป็นหนึ่งในบทท่องอาขยานในวิชาวรรณคดีไทย ขึ้นต้นว่า
บัดนั้น พระยาพิเภกยักษี
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทา
ทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์ ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์
อันโมกขศักดิ์อสุรา พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้
ทรงอานุภาพฤทธิรุทร ต้องใครจะฉุดนั้นไม่ไหว
แต่มียาคู่หอกชัย ให้ไว้สำหรับแก้กัน
แม้นละไว้จนรุ่งราตรี ต้องแสงพระระวีจะอาสัญ
ขอให้ลูกพระพายเทวัญ ไปห้ามพระสุริยันบนชั้นฟ้า
อย่าเพ่อรีบรถบทจร ข้ามยุคนธรภูผา
แล้วให้ไปเก็บตรีชวา ทั้งยาชื่อสังกรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพตปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลงองค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวันหอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา
บนเวทีศูนย์วัฒนธรรมฯ รถพระอาทิตย์ขนาเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ชักรถประหนึ่งลอยมาในท้องฟ้าอย่างสง่างามน่าอัศจรรย์(ไม่มีเส้นสายสลิงให้แลเห็น) หนุมานเหาะเข้าหมายฉวยท้ายรถเพื่อยื้อยุดรถพระอาทิตย์ แต่พระอาทิตย์ตกใจ แผลงเพลิงกรดเผาหนุมานจนไหม้เป็นจุล แต่ก็ทำให้รถพระอาทิตย์ชะงักลงได้ ผู้ชมพากันกระซิบกระซาบคนข้างๆ ให้ดูล้อรถพระอาทิตย์ที่หยุดหมุนลงแล้ว
จำได้ว่า อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ความตั้งใจเดิมอยากให้ม้าเคลื่อนไหวควบฝีเท้าได้ด้วย แต่เกรงแย่งซีนตัวแสดงที่ต้องร่ายรำในบทเทพพระอาทิตย์
หลังพระอาทิตย์ชุบชีวิตหนุมานขึ้นมาใหม่และชักรถหลบเข้ากลีบเมฆเพื่อให้หนุมานไปเก็บยา แต่สังกรณี-ตรีชวาหาได้อยู่นิ่งรอให้จับ หนุมานต้องเนรมิตกายโอบเขาสรรพยา เป็นอีกฉากที่เรียกเสียงปรบมือ เมื่อหนุมานร่ายมนต์แล้วเยื้องย่างหายไปด้านหลังของเขาสรรพยา ฉับพลันภูเขาสูงใหญ่ก็พลิกกลับมาพร้อมประติมากรรมหนุมานขนาดใหญ่กางแขนโอบภูเขาทั้งลูก ยังไม่พอ ประติมากรรมหนุมานยังสำแดงเดชใช้หางพันรอบภูเขาเพื่อจับสังกรณี-ตรีชวา
การดูโขนเมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นหนุ่มสาว เป็นความบันเทิง เป็นความรื่นรมย์ของคนยุคนั้น ฟังท่านเล่าถึงการดูโขนครั้งใด ก็สัมผัสได้ถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ท่านได้รับ เล่าได้ไม่รู้จักเหนื่อย
สำหรับผู้เขียน การดูโขนพอศอนี้ นอกจากความสุข ยังคือความอิ่มเอิบใจ รู้สึกเป็นบุญตาทุกครั้งที่ได้มีโอกาสชมผลงานของครูช่างศิลป์ ครูเขียนบทร้อง ครูร้อง ครูรำ นักแสดงตัวเอก นักแสดงลิงตัวเล็กตัวน้อย 'ซน' สมรับบทลิง ฯลฯ ถ้าคุณยายยังอยู่ก็คงมีเรื่องให้กลับไปคุยกันที่บ้านได้ไม่รู้จบ
เป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศเรามีสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าเช่น 'โขน'
หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น 'กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ' คลิก http://www.facebook.com/sundaybkk