อย่า "รังแก" ฉัน

อย่า "รังแก" ฉัน

ในโรงเรียนที่ทุกคนคิดว่า "ปลอดภัย" มีความ "รุนแรง" ชนิดร้ายกาจซ่อนอยู่ โดยเฉพาะกับนักเรียนกลุ่ม LGBT

"วัยรุ่นเกย์ฆ่าตัวตายเพราะถูกเพื่อนล้อ" / "นักเรียนข้ามเพศถูกพักการเรียนเหตุใช้ห้องน้ำหญิง" / "3 โจ๋ทรชน รุมโทรมสาวทอมบอย" / ฯลฯ


นี่ไม่ใช่แค่พาดหัวข่าวที่ดึงดูดความสนใจใคร่รู้จากผู้อ่านเพียงอย่างเดียว แต่นัยยะที่ซ่อนอยู่นั้น สะท้อนให้เห็นถึง "การละเมิดสิทธิ" ของกลุ่ม "คนรักเพศเดียวกัน" ที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา


สถานที่ที่ทุกคนคิดว่า "น่าจะ" ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชน

1.


"ตกลงลูกคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย"


เสียงตวาดจากต้นสายทำให้คนเป็นแม่หัวใจสั่นระรัว ไม่ใช่ตกใจกับเพศสภาพของลูกสาวที่ผิดเพี้ยนไป แต่เพราะ "น้ำเสียง" ของคนที่อยู่ในชุดสีกากีนั้น ทำให้ความผิดหวังเดินทางมาเยือน


"แม่รู้อยู่แล้วว่าหนูเป็นยังไง เขาเลยไม่ว่าอะไร แค่บ่นนิดหน่อยเรื่องทรงผม แต่ที่หนูรู้สึกแย่ เพราะครูลากหนูออกมานอกแถวตอนเคารพธงชาติ แล้วถามว่า เธอไปทำอะไรมา แล้วครูก็เอาเบอร์แม่ไป โทรหาแม่ ตอนนั้นหนูร้องไห้เลย" รุ้ง (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ เล่า


รุ้ง ยอมรับเต็มปากว่าเธอเป็น "ทอม" ซึ่งนับตั้งแต่รู้ตัวว่าชอบอะไร เธอก็แสดงออกถึงความเป็นตัวตนในทันที แน่นอนว่า บุคลิกที่ไม่เหมือนหญิงแท้ทั่วไปแบบนี้ "ขัดใจ" เพื่อนร่วมโรงเรียนและคุณครูเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการแสดงความรังเกียจ เหยียดเย้ยด้วยสาตา คำด่าทอ เสียดสี ปรี่เข้ามาทักทายรุ้งทุกวัน รุ้งยืนยันว่ายังรับไหว แต่ที่เหนื่อยใจเห็นจะเป็นคนที่น่าจะเข้าใจนักเรียนมากที่สุดอย่าง "คุณครู"


"เธอต้องใส่วิกมาเรียนนะ ไม่งั้นจะไม่เช็คชื่อ" / "ใครขาดวันจันทร์หัก 5 คะแนน(แม้จะมีใบรับรองการลาก็ไม่ละเว้น)" / "ส่งงานช้าไม่ถึง 30 วินาที คะแนนที่สอบได้เหลือครึ่งหนึ่ง" เหล่านี้เป็นเรื่องที่รุ้งยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงกับตัวเธอเอง ทว่า แม้จะถูกกลั่นแกล้งรังแกจากทั้งเพื่อนผู้หญิง เพื่อนผู้ชาย รวมถึงผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้อย่างไร รุ้งก็ไม่เคยท้อใจกับวิถีทางเพศที่เธอเลือก


"บางครั้งหนูก็น้อยใจ แต่ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นแบบนี้นะ แต่น้อยใจที่ทำไมหนูถึงแข็งแกร่งไม่เท่าเพื่อนผู้ชายเหรอ ทั้งๆ ที่บางทีหนูก็งัดข้อชนะผู้ชายนะ(หัวเราะ) คือมันคงไม่ใช่เรื่องร่างกายอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการยอมรับด้วย ซึ่งหนูมองว่า "ทอม" เป็นเพศที่สามที่ถูกมองว่าด้อยกว่าเพศที่สามอื่นๆ ทั้งหมด อย่างกะเทยยังมีความสามารถต่างๆ เป็นเชียร์ลีดเดอร์ก็ได้ เล่นบาสฯ ก็ได้ แต่ทอมไม่มีใครให้เป็นลีดฯ เลย หนูอยากเป็นลีดฯ นะพี่ แต่ไม่มีใครให้โอกาส" รุ้ง เล่าน้ำเสียงจริงจัง


"จริงๆ สิ่งที่หนูโดนหนูรับได้นะ หนูโดนด่าก็ด่ากลับ แต่หนูสงสารเพื่อนคนอื่นๆ อย่างเพื่อนที่เป็นกะเทยจะโดนบ่อย ครั้งหนึ่งเพื่อนกะเทยของหนูมันโดนเพื่อนผู้ชายลากไปอยู่หลังห้อง แล้วก็ทำท่าเหมือนมีเพศสัมพันธ์กัน คือไม่ได้ทำจริงๆ นะ แต่เพื่อนกะเทยหนูมันก็เจ็บตัว หัวหน้าห้องกับหนูเห็นก็เลยเข้าไปช่วยกันห้าม บอกพอแล้วๆ ถามว่าเพื่อนคนอื่นๆ ว่าไง เขาก็หัวเราะกัน เขามองว่าเป็นเรื่องขำๆ แต่สำหรับหนูมันไม่ตลกนะ ไม่ตลกเลย" สาวหล่อบอกอย่างเศร้าๆ

2.


"การรังแกในเด็กนักเรียนเป็นประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิทางการศึกษา ซึ่งสหประชาชาติให้มุมมองว่า การรังแกกันเกือบทุกชนิดมีนัยยะทางเพศภาวะ มันตอกย้ำประเด็นของความเป็นชายที่แข็งแกร่ง และความเป็นหญิงที่อ่อนแอ หมายความว่าผู้ชายกระทำ ผู้หญิงถูกกระทำ หรือการไม่ทำตามบทบาทบรรทัดฐานทางเพศเรื่องความเป็นหญิงเป็นชาย หมายถึงคุณไม่เป็นชายที่แท้จริง ไม่เป็นหญิงที่อ่อนหวาน คุณก็อาจจะถูกรังแกได้"

รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว ก่อนจะเผยถึงผลวิเคราะห์จากการวิจัยระดับชาติ เรื่อง "การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา : รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการการป้องกัน ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย" ที่จัดทำโดย ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนับสนุนของ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์การยูเนสโก ว่า...


เด็กๆ ที่เป็น LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual,Transgender) ในประเทศไทย ร้อยละ 55.7 ถูกรังแกใน 1 เดือนที่ผ่านมา เกือบ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 30.9 ของนักเรียนที่ระบุตัวเองว่าเป็น LGBT รายงานว่า เคยถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 29.3 เคยถูกล่วงละเมิดทางวาจา และร้อยละ 24.4 ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 7 ของเด็กๆ กลุ่มนี้ ยอมรับว่าพวกเขาพยายามฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมาด้วย


"รูปแบบการรังแกที่พบก็มีทั้งทางวาจา การด่าทอซึ่งๆ หน้าผ่านสื่อออนไลน์ วิธีการทางร่างกายก็มีตบเตะ วิธีการทางสังคมก็มีการแบน ปิดกั้น ไม่ให้เข้ากลุ่ม ในโลกทางกายภาพและโลกออนไลน์ มีการไถเงินในโลกออนไลน์ พฤติกรรมทางเพศก็คือการแตะ การลูบ จับก้น เต้านม ถูไถอวัยวะเพศ เช่น กลุ่มน้องทอมก็มีการตั้งกลุ่มเกลียดทอมคลับ ก็ถือว่ามีการแบนกัน หรืออย่างวันที่เราเข้าไปทำการวิจัยในโรงเรียนวันหนึ่งก็เห็นน้องที่ออกสาวหน่อยถูกขึ้นคร่อม โดยมีเพื่อนผู้ชายทำท่าคล้ายจะข่มขืน หรือบางคนก็โดนทักทายแบบเหมือนจะตบหน้า นั่นเป็นความชุกที่เราเห็นว่ามีมาก"


ด้าน ผศ.ดร.โธมัส กวาดามุช นักวิจัยอาวุโส เสริมว่า พื้นที่ที่ทุกคนคิดว่าปลอดภัยอย่างในห้องเรียนและห้องน้ำ กลับเป็น "นรกเล็กๆ" สำหรับนักเรียนกลุ่ม LGBT บางคน และนั่นก็เป็นเหตุผลให้น้องๆ บางคนกลั้นปัสสาวะมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี


"คนอาจจะมองว่ามันไม่ร้ายแรงมาก แต่เขาโดนทุกวัน ซึ่งพอทุกวันมันสะสม แล้วพอเราทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ก็พบว่าน้องๆ ที่เขาโดนทุกวันจะมีภาวะเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และยาเสพติด มันก็จะเป็นปัญหาสังคมรูปแบบอื่นๆ ตามมา ซึ่งประเทศไทยเราไม่เคยพูดเรื่องนี้มาก่อน เราจะพูดแต่ว่าการแกล้งกันคือการยกพวกตีกัน การใช้อาวุธ เราจะคิดแค่นั้น แต่เราไม่เคยคิดเลยว่า การโดนนิดๆ หน่อยๆ แบบนี้มันสะสม และเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นๆ"

3.


จัสติน แซส หัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประจำกรุงเทพฯ ขององค์การยูเนสโก กล่าวว่า การรังแกที่เกิดจากการเป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นการรังแกยังมีผลกระทบต่อภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล การสูญเสียความนับถือตนเองและความเชื่อมั่นในตนเอง การเก็บตัว และการโดดเดี่ยวทางสังคม


"เราล้มเหลวในการส่งเสริมสิทธิของเยาวชนไทยที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ในการที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ในบรรยากาศการเรียนการสอนที่ปลอดภัย"


แน่นอนว่า นอกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันแล้ว ครูและบุคลากรทางการศึกษาบางคนก็ยังมีทัศนะที่ไม่ดีต่อเด็กๆ กลุ่ม LGBT โดยแสดงออกถึงความรุนแรงทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว นั่นเป็นเหตุผลให้เด็กๆ กลุ่ม LGBT บางคน ไม่อยากมาโรงเรียน


ที่ผ่านมายังไม่มีโรงเรียนไหนมีมาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง จะมีก็แต่เพียงการรับมือเป็นครั้งคราว อย่างเช่น การจัดห้องนอนของนักเรียนกลุ่มชายรักชายออกจากนักเรียนชายด้วยกันเวลาออกค่าย การพูดอบรมหน้าเสาธง การสอนเพศศึกษา หรือเวทีในการแสดงออกของเด็กกลุ่ม LGBT ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่วิธีป้องกันการรังแกอย่างถูกต้องและได้ผลยาวนาน


"เรามีการเสนอแนะว่า โรงเรียนต้องมีนโยบายเกี่ยวกับความรุนแรงบนพื้นฐานเพศภาวะในบริบทโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นของการรังแก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มนักเรียนที่เป็น LGBT จำเป็นต้องมีการทบทวนคำนิยาม หรือคำอธิบายต่างๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน ที่มีอคติต่อเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ นักเรียนที่ถูกรังแกจำเป็นต้องมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ เช่น อาจจะมีสายด่วน ฮอตไลน์ เว็บบอร์ด หรือแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ สุดท้ายโครงการฝึกอบรมครูตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรมีการบรรจุเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศเข้าไปด้วย เพื่อในอนาคตที่พวกเขาจะไปเป็นครู จะได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย" รศ.ดร.โธมัส เสนอแนะ


สุดท้าย ดร.รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการ องค์การแพลน สำนักงานประเทศไทย เชื่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นหนึ่งพลังที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก LGBT ที่ถูกมองข้ามมาตลอด


"สังคมต้องยอมรับว่า ความรุนแรงใน LGBT ในโรงเรียนมีอยู่จริง และมากกว่าครึ่งของเด็ก ถูกรังแกตลอดเวลา เป็นคำถามว่า คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะมีมาตรการอะไรที่จะช่วยลดความรุนแรงเหล่านี้ได้บ้าง"


น่าแปลกที่ประเทศไทยเป็นดั่ง "สวรรค์" ของคนรักเพศเดียวกันที่ทั่วโลกรับรู้ หากแต่ในความเป็นจริง ความรู้สึกของคนในสังคมนั้นเป็นเพียง "ความอดทน" ต่อคนรักเพศเดียวกัน มากกว่า "การยอมรับ" ด้วยหัวใจที่แท้จริง