"ม้าไทย" มรดกสุดท้ายแห่งสายพันธุ์

ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมนุษย์

แต่รู้หรือไม่ว่า "ม้า" เป็นสัตว์ชนิดเดียวในกลุ่มนี้ที่ไม่มีพื้นเพอยู่ในประเทศไทย แล้วม้ามาจากไหน ทำไมจึงเรียกม้าไทย และสำคัญอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์โลก

.................

ย้อนไปกว่า 5,000 ปี จีนเป็นชนชาติแรกๆ ของโลกที่รู้จักนำม้ามาเลี้ยงเพื่อการใช้งาน จากนั้นก็พัฒนามาเป็นม้าเพื่อการศึกสงคราม ม้าสื่อสาร ม้าพิธีการ และม้าเพื่องานอเนกประสงค์ต่างๆ ที่สุดแล้วก็กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงในตำนานที่ทุกชนชาติรู้จักกันเป็นอย่างดี

ม้ามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ทว่า ม้าส่วนใหญ่ที่พบเห็นอยู่ในโลกนั้นเป็นม้าที่เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์โดยฝีมือของมนุษย์ จะมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นม้าซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และ "ม้าไทย" ก็อยู่ในกลุ่มที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะอาจจะถูกจัดให้เป็น "ม้าธรรมชาติฝูงสุดท้าย" ของโลกในอีกไม่นาน

ไม่ใช่แค่ "สายพันธุ์" ของม้าไทยเท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ "คุณค่า" ที่แฝงอยู่ในเพื่อนร่วมโลกต่างสายพันธุ์ชนิดนี้กลับสะท้อนวิถีชีวิตของคนและม้าที่ผูกพันกันมายาวนาน จนไม่อาจแยกออกจากกันได้เลย

เจาะดีเอ็นเอม้าไทย

มองโกเลีย เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมการเลี้ยงม้ามาช้านาน ที่โดดเด่นก็ตั้งแต่ยุคสมัยเจงกิสข่านที่ใช้กองทัพทหารม้าในการแผ่ขยายอาณาเขต และม้าสายพันธุ์มองโกเลีย ยังเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ม้าที่มีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ม้าทั่วโลกดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาของมูลนิธิม้าลำปาง นำโดย สพ.ญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร ประธานมูลนิธิฯ ที่ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้มาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2546 พบว่า ม้าพื้นเมืองไทย เป็นม้าที่มีดีเอ็นเอ(DNA)อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับม้าพื้นบ้านมองโกล(Domestic Horses)

"เมื่อ 11 ปีที่แล้ว เราไปทางภาคเหนือและดูม้าที่ลำปาง ได้มีโอกาสไปกับ ดร.คาร์ล่า คาร์ลีตัน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ไปเห็นสุขภาพของม้าหลายๆ เรื่อง ก็มีโอกาสศึกษา ขณะที่เราดำเนินงานและจัดตั้งเป็นกองทุนคลินิคม้าเล็กๆ ขึ้นมา เราก็เริ่มสังเกตว่า ม้าไทย ม้าพื้นเมืองไทยมีลักษณะภายนอก หรือ phenotype ที่โดดเด่นใกล้เคียงกับม้ามองโกลเลีย นั่นเป็นที่มาของการที่แทนที่เราจะดูแค่สุขภาพ เรื่องการตรวจโรค เราก็เริ่มเก็บดีเอ็นเอ และเราก็เริ่มเทียบเคียงดีเอ็นเอนั้นกับม้าสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก ปรากฎว่า ดีเอ็นเอม้าที่เราเก็บมาจากตัวอย่างม้าในชุมชนจังหวัดลำปางไม่ใช่กลุ่มที่เข้ากับกลุ่มที่มนุษย์สร้างขึ้นเลย มันจะเป็นม้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ"

แม้จะพบดีเอ็นเอม้าที่น่าสนใจ แต่ สพ.ญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร หรือ หมอน้อง บอกว่า พบแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สาเหตุเป็นเพราะคนส่วนใหญ่นิยมเอาม้าไทยไปผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะและคุณสมบัติม้าที่ต้องการ ทว่า การผสมดังกล่าวถือเป็นการทำลายล้างดีเอ็นเอที่น่าสนใจไป

"เราเลยต้องเดินทางไปภาคเหนือ ไปตามตะเข็บชายแดน หรือหาตามชุมชนบนภูเขาที่เขามีโอกาสผสมข้ามสายพันธุ์น้อยมาก แล้วก็เก็บดีเอ็นจากที่นั่น ปรากฏว่าคราวนี้เราเจอแจ็คพอตเลย เราเจอกลุ่มม้าไม่กี่ตัวที่เราไปสำรวจยืนยันว่าอันนี้เป็นยีนส์โบราณ เป็นที่มาของการที่เราเดินทางไปมองโกเลียเพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราสันนิษฐานและมองดูว่าหน้าตาคล้ายๆ กันมันใช่มั้ย ปรากฏว่า นอกจาก phenotype จะใกล้เคียงกันแล้ว ผลดีเอ็นเอที่เก็บมาเทียบกัน เป็นกลุ่มเดียวกัน ม้าไทยกับม้ามองโกเลียเป็นกลุ่มเดียวกัน"

ม้าสายพันธุ์พื้นบ้านมองโกเลีย เป็นม้าเลี้ยงสายพันธุ์สุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในโลก และเป็นสายพันธุ์เดียวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อม้าไทยมีดีเอ็นเอตรงกับม้าพื้นบ้านสายพันธุ์มองโกล นั่นก็แปลว่า ม้าไทยคือม้าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสายพันธุ์สุดท้ายของโลกด้วยเช่นกัน

"ม้าในมองโกเลียจริงๆ จะมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นม้าป่า และกลุ่มม้าบ้าน...ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่ที่จะเรียกรวมเอาม้าป่าเป็นกลุ่มเดียวกับม้าบ้าน ซึ่งม้าป่าจะมีชื่อเรียกสายพันธุ์ว่า Mongolian Przewalski ซึ่งเป็นกลุ่มม้าป่าที่ไม่สามารถเอามาเทียบเคียงกับม้าบ้านที่เป็นกลุ่ม Domestic Horses ได้ ฉะนั้นในกลุ่มที่เราเทียบเคียงกันระหว่างม้าไทยกับม้ามองโกลก็คือ ม้าพื้นเมืองไทยกับ Domestic Horses ด้วยกัน" น.สพ.เทียนธาดา โพธิพงศธร สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิม้าลำปาง อธิบาย

สำหรับลักษณะที่สำคัญของม้าพื้นเมืองไทย น.สพ.เทียนธาดา โพธิพงศธร หรือ หมอคุง บรรยายว่า ความสูงของม้าจะอยู่ระหว่าง 120-140 เซ็นติเมตร มีโครงสร้างที่แข็งแรง กล้ามเนื้อหนา กีบแข็ง ทนทาน และมีรูปร่าง รวมถึงสีที่ตรงกับเอกลักษณ์ของม้าโบราณ

"โครงสร้างกล้ามเนื้อค่อนข้างแข็งแรง จึงมีกำลังที่จะลากสิ่งของได้ดีกว่าพันธุ์ลูกผสม ส่วนโครงสร้างกีบก็ทนทาน ใช้เดินขึ้นภูเขาหรือเหยียบพื้นที่แข็งมากๆ ได้ ซึ่งถ้าเทียบกับม้าเทศ หรือม้าสายพันธุ์ลูกผสมแล้ว ไม่สามารถใช้ได้แน่นอน"

ความแข็งแกร่งด้านสุขภาพร่างกาย การปรับตัวให้อยู่รอดในความท้าทายของภูมิอากาศและภูมิประเทศ เป็นความน่าทึ่งของม้าพื้นเมืองไทย ที่นับวันความสามารถพิเศษของม้ากลุ่มนี้จะถูกลืมเลือน จนมองไม่เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในตัวของมัน

ม้าไทยมาจากไหน

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติไม่ได้สร้างม้าให้เกิดขึ้นมาอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร และไม่มีหลักฐานโครงกระดูก หรือโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ว่าเคยมีม้าอยู่ในโซนเอเชียอาคเนย์นี้เลย คำถามคือ แล้วม้าไทยมาจากไหน?

สพ.ญ.ศุภวรรณ ตันมณี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องม้าในดินแดนประเทศไทย จากหลักฐานโบราณคดี อธิบายว่า ทุกครั้งที่มีการอพยพหรือการค้าขาย ม้าจะเป็นสัตว์ที่ถูกนำไปใช้งานด้วย เพราะฉะนั้นม้าและมนุษย์ก็จะเคลื่อนย้ายไปตามการอพยพ การเดินทาง และการค้าขายเป็นหลัก

"สันนิษฐานว่า ม้าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวาราวดี เพราะมีหลักฐานเรื่องเกี่ยวกับการค้าขาย การเดินเรือ และการที่ม้าจะเข้ามาเป็นเครื่องบรรณาการหรือเป็นสินค้า ในสมัยพระนารายณ์ก็มีการบันทึกเกี่ยวกับการที่จะนำม้าเข้ามา ว่าม้ามาจากปัตตาเวีย หรือชวา อันนั้นชัดเจนว่าเป็นม้าสายพันธุ์อาหรับ ส่วนม้าสายพันธุ์มองโกลมาในหลายระยะมาก ทั้งจากการเดินทาง หรือจากการส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการ ซึ่งบรรณาการไม่ได้ส่งมาแบบรัฐต่อรัฐ อาจจะเป็นพ่อค้าเอาเข้ามา เพราะว่าในการเดินทางจะมีเรือพ่อค้าอีกหลายร้อยลำตามมาเยอะแยะ แต่ที่เห็นมากก็คือเส้นทางบก เราต้องนึกภาพถึงเส้นทางเรือกับเส้นทางบกที่ม้าจะมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าดูตามเส้นทางบกม้าก็อาจจะมาจากทางจีน พม่า ลาว เข้ามาได้หมด"

ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่จะใช้วิเคราะห์ถึงการเข้ามาของม้าในเมืองไทยคงเป็นการศึกษาจากเส้นทางม้าชา หรือ Tea Horse Road ซึ่งเกิดขึ้นราวคริสตศตวรรษที่ 7 ในเขตมณฑลยูนาน ประเทสจีน โดยหมอน้องอธิบายว่า ในตอนนั้นทิเบตมีความต้องการบริโภคใบชาปู่เอ๋อ (Puer) จากมณฑลยูนาน ทว่า การขนส่งต้องเดินทางผ่านภูเขาสูงชัน บ้างก็เป็นหุบเหวลึก และลำธารที่มีน้ำไหลเชี่ยวกราก การนำม้ามาเป็นพาหนะทุ่นแรงจึงเกิดขึ้น กระทั่งเกิดเส้นทางค้าใบชาบนหลังม้าขึ้น

จากยูนานไปทิเบต อินเดีย และเวียดนาม จนท้ายที่สุดเส้นทางนี้ทำให้ม้าพื้นเมืองแพร่ขยายเข้ามาสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เกิดเป็นวัฒนธรรมการเลี้ยงม้าขึ้นมา และม้าจากยูนานก็เป็นม้าสายพันธุ์เอเชียที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเชื่อมโยงกับม้ามองโกล

"คนชอบถามบ่อยๆ ว่า ไปสนใจทำไมประวัติศาสตร์ม้า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ม้า ความจริงมันคือประวัติศาสตร์มนุษย์ ถ้าเราทำลายประวัติศาสตร์ม้าก็เท่ากับเราได้ทำลายประวัติศาสตร์มนุษย์ด้วย ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในแง่ของการดูมรดกเราที่เราน่าจะรู้ เพราะว่าเราจะได้รู้ภูมิหลังของตัวเรา ภูมิหลังของประเทศเรา ภูมิหลังของชนชาติของเรา" หมอน้อง กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น หลักฐานล่าสุดคือโครงกระดูกม้าแบบสมบูรณ์ ที่ขุดค้นพบจากโบราณสถานเวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ ก็ช่วยยืนยันได้ถึงการมีอยู่ของม้าไทยตั้งแต่สมัยอดีตกาล เรื่องนี้ นิรมล พงศ์สถาพร นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ บอกว่า หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ของเวียงท่ากานน่าจะมีความเก่าแก่ย้อนอดีตไปได้ถึงสมัยหริภุญไชย ซึ่งนอกจากโบราณสถาน ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์แล้ว "โครงกระดูกม้า" ก็เป็นโบราณวัตถุชิ้นใหม่ที่น่าสนใจในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี

"มีคำถามหลายคำถามว่า ม้าเป็นสัตว์ที่ถูกฝังเพื่อการอุทิศให้กับกระดูกคนมั้ย หรือเป็นอาหารมั้ย เนื่องจากกระดูกม้าเราเจอครบโครงตั้งแต่หัวถึงหาง ทำให้เราพบว่า ม้าตัวนี้ไม่ได้เป็นสัตว์ที่ถูกตัดชิ้นส่วนไปเพื่อการบริโภคเหมือนวัวควาย ...เพราะฉะนั้นม้าตัวนี้น่าจะเป็นม้าที่ถูกใช้งาน หรือสัตว์เลี้ยงชั้นพิเศษของกลุ่มคนนี้ก็ได้ และอีกข้อหนึ่งที่บอกได้ว่า ม้าตัวนี้ไม่ได้ฝังเพื่ออุทิศให้โครงกระดูกโครงไหนเลย ก็เพราะตำแหน่งการวางของโครงกระดูกของม้าไม่ได้วางไว้อย่างสัมพันธุ์กับโครงกระดูกไหนเลย และฝังอยู่ในพื้นที่ที่มีโครงกระดูกมนุษย์อื่นๆ ฝังอยู่อย่างหนาแน่นด้วย"

การพบโครงกระดูกม้าที่โบราณสถานเวียงท่ากานถือเป็นการขยายภาพประวัติศาสตร์ของการมีม้าในประเทศไทยให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการพบโครงกระดูกม้าที่นครราชสีมา ลพบุรี และสุโขทัย แต่เป็นการพบแบบไม่สมบูรณ์ คือชิ้นส่วนม้า หรือบางตัวก็มีครบร่าง ขาดเพียงแต่ส่วนหัวเท่านั้น และจากการประเมินค่าอายุก็อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ที่เวียงท่ากานมีอายุเก่าแก่ไปกว่านั้น

"โครงกระดูกม้าที่เราพบที่เวียงท่ากานก็เป็นพันธุ์ที่เมื่อเอาไปตรวจ radiocarbon dating โครงกระดูกนั้นเป็นโครงกระดูกม้าโพนี่จริงๆ เพราะจากการวัดความสูงจากกระดูก scapula และ biometric อื่นๆ ทำให้เรารู้ว่าความสูงของมันประมาณ 12 แฮนด์ คือ 120 เซ็นติเมตร คนก็อาจจะบอกว่า ทำไมรู้ว่าเป็นม้าโตเต็มที่แล้ว มันอาจจะเป็นม้าเด็กก็ได้ เราก็มีหลักฐานยืนยันจากลักษณะของซี่ฟัน ซี่ฟันจะให้อายุที่ประมาณ 15-18 ปี นี่เป็นผู้ชำนาญการดูเรื่องฟันม้าโดยเฉพาะ และแลปที่ทำ radiocarbon dating ก็ยืนยันมาว่า โครงกระดูกเหล่านี้น่าจะมีอายุอยู่ช่วงประมาณศตวรรษที่ 11 หรือย้อนไปประมาณ 900 ปี"

รักษ์ม้าไทยอย่างไรดี

การค้นพบครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสมมติฐานที่ว่า ม้าในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับม้ามองโกล และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ ไม่ทำลายความสมบูรณ์ของมรดกทางธรรมชาติที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด

"ปัจจุบันม้าแทบทุกชนิดในโลกที่เรารู้จักเป็นม้าสายพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ผลพวงจากการที่เราสร้างขึ้นมาก็จะมีผลเสียบางอย่าง คือความต้านทานโรคน้อย ติดลูกยาก ในขณะที่ม้าพื้นเมืองหรือม้าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จะมีความต้านทานโรค ติดลูกง่าย หรือหลายๆ อย่างที่ทำให้เขามีความอยู่รอดได้ นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญว่าทำไมการเลี้ยงม้าที่เป็นม้าไทยหรือม้าพื้นเมืองมันจึงเหมาะกับสภาพอากาศหรือสภาพภูมิประเทศบ้านเรา" สพ.ญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร อธิบาย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติเด่นของม้าพื้นเมืองไทย ม้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติฝูงท้ายๆ ของโลก และมีอยู่น้อยนิดในเมืองไทย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในไม่ช้า

มูลนิธิม้าลำปางในฐานะที่ศึกษาเรื่องนี้มาตลอดจึงพยายามผลักดันให้มีการจดทะเบียนม้าไทยให้เป็นสายพันธุ์ในระดับสากล และมุ่งเน้นเรื่องการเพาะขยายสายพันธุ์ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวนของกลุ่มผู้เลี้ยงด้วย

มนุษย์มีผลต่อวิวัฒนาการของสัตว์ที่เราเลี้ยงทุกชนิด แต่ม้าเป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่มีผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะม้าประเทศไทยถึงเป็นเอกราชจากพม่า เพราะม้าคนอินเดียถึงรู้จักชาจีน และกระเบื้องสุโขทัยก็ไปปรากฏทั่วเอเชีย และเพราะม้าอีกเช่นกันที่ทำให้เจงกิสข่านขยายอาณาจักรไปได้ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว อเล็กซานเดอร์มหาราชรู้จักช้างอินเดียเพราะม้า และอเมริกาก็เกิดขึ้นได้เพราะสัตว์ชนิดเดียวกัน

ถ้าม้าสำคัญขนาดนี้ ม้าไทยก็น่าจะอยู่ในข่ายที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่หากมนุษย์เป็นผู้ทำลายประวัติศาสตร์ม้า ก็เท่ากับได้ทำลายประวัติศาสตร์มนุษย์ลงไปด้วยเช่นกัน

...........................

หมายเหตุ : ติดตามชมสารคดีเรื่อง "ม้าไทย" (ตอนจบ) ในรายการ 108 พันเก้า วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.00-10.30 น. ช่อง NOW26 หรือชมรายการย้อนหลังได้ที่ www.bangkokbiznews.com/kttv/programs/07/