KRUA.CO ยกครัวเข้าคอม
กี่ครั้งที่คนมักจะโยนความผิดให้ ‘ยุคสมัย’ เมื่อพบความเปลี่ยนแปลงไม่ถูกใจ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีปัจจัยมากมายเป็นบริบทของการเปลี่ยนแปลงนั้น
สำหรับเจ้าแห่งตำราอาหารอย่างนิตยสารครัวก็เหมือนกัน แม้จะอยู่แถวหน้าของวงการนิตยสารเกี่ยวกับอาหารมายี่สิบกว่าปี แต่เมื่อทุกเหตุผลลงล็อกที่คำว่า ‘ปรับตัว’ จากเดือนกรกฎาคม 2560 ก็เป็นขวบปีที่ไร้ชื่อ ‘ครัว’ บนแผง แต่เปลี่ยนแปลงช่องทางสู่ออนไลน์เต็มตัว
ก่อนที่นิตยสารจะปิด ผู้บริหารรุ่นลูกได้เข้ามารับไม้ต่อจากพ่อและแม่ (ทวีทอง และ นิดดา หงษ์วิวัฒน์) หากใครได้ติดตามจะเห็นว่าหน้าตาและรายละเอียดบางอย่างถูกปรับโฉมใหม่ แต่คงไว้ซึ่งความแข็งแรงด้านวัฒนธรรมอาหารและสูตรลับแสนอร่อย
แล้ววันหนึ่งที่การปรับโฉมยังไม่ตอบโจทย์ ยอดขาย ยอดโฆษณา ผลกำไร ฯลฯ ในที่ประชุมจึงมีมติว่า “ต้องเลิก” แต่เลิกไม่ใช่ตาย ต้องย้ายบ้านจากกระดาษสู่แพลตฟอร์มใหม่
น่าน หงษ์วิวัฒน์ อธิบายว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน วิถีชีวิตคนเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนิตยสารครัว โดยเริ่มฤกษ์งามยามดีวันปีใหม่ไทย 13 เมษายนที่ผ่านมา เดินหน้าเว็บไซต์ KRUA.CO (ครัว ดอท โค) โดยวางตัวเป็น Online Publisher และ Online Magazine ที่มีหลายช่องทางให้ติดตามนอกจากเว็บไซต์
“เหตุผลต่างๆ ในเชิงธุรกิจประกอบกับวิถีชีวิตเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมาก ต้องยอมรับจริงๆ ว่านิตยสารกระทบก่อนเพื่อน การเข้าถึงของผู้อ่าน การลงโฆษณาของลูกค้าก็ปรับตัวลดลง เราก็เลยต้องทบทวนสิ่งที่เราจะทำต่อ”
ด้าน วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า “หลังจากคิดที่จะปิดเราก็คิดเลยว่าจะทำอะไรต่อ เราไม่ได้คิดว่าเลิกแล้วจะต้องเลิกไปเลย รู้สึกว่าประเด็นอาหารก็มีคนสนใจมากขึ้นทุกวันนะ เพียงแต่เราอยู่บนสื่อที่คนไม่เข้าถึงหรือเปล่า”
ตรงกับช่วงนั้นหลายคนบนออนไลน์เริ่มจับทางวิดีโออาหาร ซึ่งก่อนหน้านั้นครัวได้ทำอะไรทำนองนี้อยู่แล้ว แค่ไม่มีช่องทางเผยแพร่ออนไลน์ที่ชัดเจน ส่วนมากจึงออกเป็นรายสะดวก และที่สำคัญคือไม่เคยมีศูนย์กลางของทั้งเนื้อหาประเภทบทความและวิดีโอไว้ในที่เดียวกัน
เปรียบเทียบนิตยสารครัว กับ KRUA.CO วรรณแววอธิบายว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่พยายามสมดุลให้มีเนื้อหาเชิงวัฒนธรรมอาหารบวกกับเนื้อหาในกระแสด้วย ซึ่งน่านบอกว่านี่คือการที่ครัวพยายามเป็น ‘คนเดิม’ ยังมีจุดยืนเดิม ที่เปลี่ยนไปคือบุคลิกใหม่ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้มากขึ้น โดยยังคงวิสัยทัศน์ว่า “ทำเรื่องยากให้เข้าถึงง่ายที่สุด” พวกเขาจึงยังทำเรื่องเดิมแต่เปลี่ยนวิธีนำเสนอ
“พอเป็นเว็บ คุณพ่อกับคุณแม่ก็วางมือไปเป็นที่ปรึกษา ก็เลยเป็นไปโดยปริยายที่คาแรกเตอร์คนทำจะสะท้อนออกมาในผลงาน จะบอกว่าเหมือนเดิมก็ไม่เหมือนหรอกเพราะคนละคนทำ” วรรณแววบอก
เธอขยายความถึงจุดยืนของเว็บไซต์ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่นิตยสารครัวมีเสมอมา คือ ต้องการเชิญชวนให้คนทำอาหาร เพราะมีสูตรมากมายให้คนทดลองทำตาม เหมือนนิตยสารครัวที่มีสูตรให้อย่างสม่ำเสมอแก่ผู้อ่าน
“สูตรอาหารเป็นเสมือนจุดยืน เป็นฐานอันมั่นคงของสำนักพิมพ์แสงแดด และเป็นความภาคภูมิใจของเราที่มีทีมอาหารที่มีมาตรฐาน มีระบบทดลองสูตร”
อีกประการที่วรรณแววให้ความสำคัญคือ การรู้จักอาหารมากกว่าแค่กินเข้าไป เช่น ผักชนิดนี้มีที่มาอย่างไร หรือวัตถุดิบนี้แตกต่างจากอีกประเภทอย่างไร การรับรู้เรื่องทำนองนี้จะเพิ่มคุณค่าให้อาหารแต่ละคำอร่อยและสร้างความสุขได้มากขึ้น
ส่วนการทำงานเมื่อเปลี่ยนจากนิตยสารเป็นเว็บไซต์ ทีมงานยังคงเลือกเฟ้นประเด็นอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม เริ่มจากการประชุมกองบรรณาธิการ เสนอสิ่งที่ตนสนใจหรือต้องการทำแล้วน่าเล่าต่อ จากความสนใจส่วนตัวตกผลึกเป็นประเด็น ลับจนแหลมคม แผนต่อไปวรรณแววเปิดเผยว่าจะลองใช้วิธีแบบนิตยสาร คือ กำหนดธีม โดยอิงกับกระแสโลก กระแสสุขภาพ โดยข้อดีของเรื่องอาหารคือไม่มีหมดอายุ หยิบเรื่องใดมาเล่าใหม่ก็ยังน่าสนใจอยู่
“เราโชคดีที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นวันแรก เรามีแบ็คอัพข้อมูลมหาศาลที่ทำสะสมมาตลอด ถามว่าเราเคยทำเรื่องน้ำตาลมะพร้าวหรือยัง เคย แต่บริบทของน้ำตาลมะพร้าวกับสังคมไทยเปลี่ยนไป มุมมองการนำเสนอเปลี่ยนไป และเรื่องสูตรอาหารที่เราให้ เป็นการพลิกธุรกิจอย่างมหาศาล เพราะก่อนหน้านี้เราขายสูตร แต่ตอนนี้เราให้ฟรี เป็นการตัดสินใจที่สุดทาง เราต้านกระแสคลื่นลมแรงไม่ได้เลย” น่านกล่าว
เมื่อพูดถึงสูตร วรรณแวว เล่าต่อว่าปัจจุบันคนค้นหาสูตรง่าย โดยไม่สนใจว่าทำได้จริงหรืออร่อยไหม ต้องยอมรับว่าหลายสูตรในอินเทอร์เน็ตยังไม่น่าเชื่อถือ แล้วเหตุใดสูตรในมือนับพันนับหมื่นสูตรที่ผ่านการทดลองทำแล้วทำอีก กลั่นกรองแล้วกลั่นกรองอีก จึงจะไม่ได้รับการเผยแพร่
“สูตรเรามีตั้งแต่สมัยเป็นอะนาล็อก ตอนนี้ก็จัดการคอนเทนต์ใหม่ก่อนที่อยู่ในยุคนี้ จัดเก็บเป็นไฟล์ได้”
นอกจากเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสือ สูตรอาหาร รูปแบบที่พ่วงมากับสื่อออนไลน์หนีไม่พ้นวิดีโอ หากเป็นที่อื่นคงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ แต่สำหรับครัวไม่มีปัญหา เพราะผู้บริหารสาวฝาแฝดทั้งวรรณแววและแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ เดินบนเส้นทางภาพเคลื่อนไหวมาตลอด ส่วน น่าน ก็ชัดเจนด้วยความเป็นคนวงการหนังสือและการบริหาร
ส่วนการรับไม้ต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่สร้างไว้อย่างดี ทั้งวรรณแววและน่านออกปากเลยว่า “กดดัน”
“ทุกวันนี้ยังไม่ถึงจุดที่เห็นปันผล ยังรู้สึกเสมอว่าจะมีไหมนะ แต่ก็ไม่มีทางอื่นที่จะถอยหลัง ต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียวเลย ก็ไม่ได้มั่นใจ ก็กดดันแหละ พ่อแม่ทำมาได้ตั้งหลายปี แล้วเราจะทำได้ไหม ซึ่งวรรณก็เป็นคนที่สนใจเรื่องเนื้อหามาก ไม่ค่อยถนัดธุรกิจเท่าไร เราก็เลยโฟกัสการทำคอนเทนต์ให้ดีที่สุด พี่ต้อง (น่าน) ก็หารายได้ไป” วรรณแววบอก
ผ่านมาไม่นาน จากหน้ากระดาษสู่หน้าจอ แทบจะเรียกได้ว่ายังเป็นช่วงตั้งไข่ แต่นับจากนี้จนครบหนึ่งปี น่านยืนยันว่าจะต้องสร้างบ้านหลังใหม่ให้แข็งแรงมั่นคง
“ต้องยอมรับว่าพอเป็นออนไลน์ หลายอย่างที่เราทำตามสะดวกก็ทำไม่ได้ บางรายการที่เป็นแกนหลักของเว็บเราต้องทำให้เป็นรายประจำ ก็ต้องวางแผนกันใหม่ ซึ่งเราก็ต้องมานั่งจัดกระบวนการ วิธีการต่างๆ ในบ้านเราให้เรียบร้อย รวมถึงโครงสร้างเว็บไซต์ เมื่อผู้คนเข้ามาแล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ สะดวกที่สุดไหม ต้องยอมรับว่า 13 เมษายนที่เปิดตัวไป ยังไม่เป๊ะ ต่อจากนี้ไปเราจะต้องทำให้มันเป๊ะ
ในระยะกลาง เราอยากให้คนติดตามเยอะๆ แหละ ถ้าใครเห็นกระบวนการทำงานจะรู้เลยว่ามีความตั้งใจมากๆ ในแต่ละคอนเทนต์ และมันเป็นคอนเทนต์ที่สร้างอิมแพ็คให้แก่สังคม ชุมชน ถ้ามีคนติดตามจริงๆ เราจะรู้สึกดีมาก และเราคาดหวังว่าอิมแพ็คเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้เราด้วย”
ส่วนในระยาว แม้ผู้บริหารหนุ่มจะออกปากว่าไม่ฝันใหญ่มาก แต่ก็ต้องการให้ KRUA.CO เป็นที่รวมสูตรอาหารมากที่สุด เป็นสิ่งที่ทำแล้วคนเห็นคุณค่าทั้ง User และ Sponsor นั่นเพราะเขาเชื่อมั่นว่า อาหารมีประโยชน์ในหลายแง่มุม ทั้งสร้างความภาคภูมิใจ สร้างสุขภาพที่ดี สร้างสายใยระหว่างคนทำกับคนกิน เชิดชูคุณค่าของวัตถุดิบในชุมชน
และถึงที่สุดแล้วอาจจะกลายเป็นสังคมที่ผู้คนคอเดียวกันมาพบปะพูดคุย จัดกิจกรรม ต่อยอดการพบปะในโลกเสมือนให้ออกมาบนโลกความจริง เป็นขั้นกว่าของการเข้าถึง หลังจากยกครัวเข้าคอมสู่ผู้อ่านกลุ่มใหญ่กว่า