ทะเลทรายนามิบ มรดกโลกแห่งกาฬทวีป
นี่คือทริปเดินขึ้นเนินทราย Dune ที่เป็นที่สุดของประสบการณ์การเดินทางท่องทวีปแอฟริกาตอนใต้ของฉัน
เดินทางมาครึ่งโลกเพื่อจะได้สัมผัสกับทะเลทรายดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
การท้าทายตัวเองให้ใจแข็งพอที่จะเดินฝ่าเปลวแดดที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส กลางผืนทรายสุดลูกหูลูกตาใจกลาง อุทยานแห่งชาตินามิบ-น็อคลัฟท์ (Namib-Naukluft National Park) ซึ่งพื้นที่อุทยานมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกแห่งนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของทะเลทรายนามิบ ของประเทศนามิเบียเท่านั้น แต่กว่าที่คณะของพวกเราจะเดินทางมาถึงอุทยานแห่งชาตินามิบ-น็อคลัฟท์ นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
จากสุวรรณภูมิ ไปเช็กแล็บก็อก ที่ฮ่องกง แล้วบินยาวกว่า 14 ชั่วโมงไปลงสนามบิน ออ เทมโบ ที่โจเบิรก์ (johannesburg ) จากโจเบิรก์อีก 2 ชั่วโมงมา ลงเครื่องที่สนามบินวินด์ฮุกตอน 3 ทุ่ม แล้วนั่งรถบัสอีก 1 ชั่วโมงมาพักที่โรงแรม ได้งีบนิดหน่อย ตื่น 6 โมงเช้าเก็บข้าวของ เพื่อเดินทาง ไปตามทางหลวง C23
สองข้างทางจากเมืองหลวงของนามิเบีย วินด์ฮุก เป็นเมืองที่ทันสมัย และสะอาด ว่ากันว่าที่นี่น่าจะเป็นเมืองที่สะอาดที่สุดของแถบแอฟริกาเลยทีเดียว อาคารที่ทำการภาครัฐ และบริษัทต่างๆ ดูโอ่อ่า ชนิดที่ต้องถามตัวเองว่า นี่เราอยู่ชานเมืองในยุโรป หรือกาฬทวีปกันแน่ ส่วนย่านชานเมือง จะเห็นบ้านเรือนหลังใหญ่ แต่พอยิ่งไกลออกไป จะเป็นบ้านหลังเล็กๆ ชั้นเดียว อยู่ไกลจากกัน
ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงรถของเราก็วิ่งออกจากเขตที่อยู่อาศัย มองไปทางไหนก็เห็นแต่ฟ้า ภูเขา หิน ไม้พุ่มต้นไม่ใหญ่นัก และถนนที่มุ่งตรงไปข้างหน้าที่ประมาณ 2 ชั่วโมงก็ต้องแวะพักให้โชเฟอร์ยืดเส้นยืดสาย ซึ่งพวกเราก็จะได้เดินดูของที่ระลึก ที่นิยมก็จะมี ‘เนื้อแห้ง’ จากสารพัดสิงสาราสัตว์ ที่แล่เป็นชิ้นๆ แล้วอบจนเป็นแท่งกรอบๆ เป็นอาหารทานเล่น หรือ snack ของคนนามิเบียน นอกนั้นจะเป็นงานหัตถกรรม ไม้แกะสลัก การประดิษฐ์สิ่งของเหลือใช้ให้กลายเป็นของทีระลึกรูปแบบต่างๆ
นานๆ ทีจะผ่านชุมชนเล็กๆ ริมทางบ้าง ชาวพื้นเมืองในชุดสีสันสดใสกับหมวกทรงกลมบาน เหมือนมีจานใบใหญ่วางไว้บนศีรษะเดินจ่ายตลาด ธนาคาร โรงพัก ที่ทำการรัฐ โบสถ์ สร้างเป็นตึกแถวชั้นเดียวอย่างง่ายๆ ประเมินด้วยสายตาคงมีคนอาศัยไม่มาก ราวๆ ไม่เกิน 500 คน บางแห่ง เหลือแค่ป้ายแสดงให้เห็นว่าเคยมีคนอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันไม่มีใครอยู่อีกแล้ว เพราะไม่มีแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ที่จะสามารถอยู่ได้
รถยังวิ่งตรงไปเรื่อยๆ อีกสักชั่วโมงเราก็มาถึงช่วงที่จะต้องเลี้ยวขวา และต้องจอดตามระเบียบที่ทางการกำหนดไว้เหมือนเคย ใครอยากซื้อหาอะไรก็ซื้อตุนซื้อเตรียมได้เลย (ยากเหมือนกันนะที่จะซื้อของจากร้านขายของที่แทบจะไม่มีสินค้าวางขาย) นี่เป็นชุมชนสุดท้ายบนถนนสายหลัก จากนี้ไปจะเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติที่จะมีแค่รถของพวกเรา กับธรรมชาติของนามิเบีย เท่านั้น!
ฉันสังเกตุว่า ต้นไม้ที่เคยเห็นมันค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ภูเขาที่เห็นสีเขียวแต่งแต้มอยู่บ้างก็น้อยลงๆ ตอนนี้ภาพ 2 ข้างทางเห็นเพียงภูเขาหิน ต้นหญ้าแห้งๆ กรวด และยิ่งวิ่งไปเรื่อยๆ เหลือแค่ ทราย และ ทราย เท่านั้น
ภายใต้แสงแดดแผดเผาตลอดทั้งวันแต่อากาศกลับไม่ร้อน ใต้ผืนทรายนามิเบียอุดมไปด้วยทรัพยากร แร่ชนิดต่างๆ กระทั่ง เพชร สังเกตง่ายๆ คือถ้าเห็นเสาไฟฟ้า สายไฟระโยงระยางไปทั่วอยู่ไกลลิบๆ เข้าไปในทะเลทรายสีนวล นั่นคือ “เหมือง” เหมืองทั้งหมดจะขุดลงไปทำงานกันอยู่ใต้ทะเลทรายนามิบ
กว่า 400 กม. ที่เราเดินทางจากเมืองหลวงของนามิเบีย จนมาถึง สวาคัปมุนด์(swakopmund) เมืองท่าชายฝั่งทะเลแอตแลนติกที่สวยงามตามแบบฉบับบาวาเรียของเยอรมัน (ฉันประทับใจเมืองนี้มากแต่ขออุบเรื่องราวของที่นี่ไว้ก่อนจะเขียนเล่าให้ฟังตอนหน้า) เพราะคราวนี้รีบไปให้ถึง Walvis bay ก่อนมืดค่ำ เพื่อแวะพักค้างคืน
รุ่งขึ้นการเดินทางข้ามทะเลทรายนามิบก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง ใช้เวลา 6 ชั่วโมงในหุบเขาหินที่แห้งแล้งและสูงชัน เส้นทางแปลกตานี้แวดล้อมไปด้วยสารพัด “หิน” บางช่วงผ่านร่องหินที่เคยเป็นแม่น้ำมาก่อน เส้นสายที่บันทึกเป็นริ้วแนวตามก้อนหินสีเข้มที่สายน้ำได้กัดเซาะ และเปลือกหอยที่ยังเหลือ หล่นอยู่ตามพื้นให้เราพอจินตนาการภาพในอดีตได้ คำถามคือแล้วแม่น้ำทั้งสายมันแห้งเหือดหายไปไหน?
นักท่องเที่ยวอย่างฉันเห็นแค่เพียงว่า นี่มันคือภูเขาก้อนหินสวยแปลกตา แต่ในด้านภูมิศาสตร์ทรัพยากรของนามิเบียแล้ว ภูเขาหินเหล่านี้อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ ทั้งเพชร ยูเรเนียม ทองแดง เงินและอื่น ๆ
นามิเบียเป็นประเทศผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลก มีเหมือง ทั้งที่อยู่ในแผ่นดินและในทะเล เพชรของนามิเบียเป็นเพชรสำหรับทำเครื่องประดับที่มีคุณภาพสูงมาก ส่วนมากเพชรดิบของนามิเบียจะถูกผูกขาดโดย บริษัท De Beers ดำเนินการทำเหมืองในใต้ชื่อบริษัท Namdeb นอกจากนี้ยังมีแร่ยูเรเนียมที่จำเป็นต้องใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าโดยมีปริมาณสำรองมากติดอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย การทำเหมืองแร่เป็นเสาหลักเศรษฐกิจของประเทศ และ 90% ของแร่ธาตุเพื่อการส่งออกมีมูลค่าเกือบ 20% ของจีดีพี
เส้นทาง C14 สายนี้ยังมีเซอร์ไพรส์อีกอย่างหนึ่งคือ การเดินทางผ่านเส้นศูนย์สูตรโลกที่ลากผ่านกึ่งกลางทวีปทำให้ทวีปแอฟริกามีพื้นที่ครึ่งหนึ่งอยู่ในซีกโลกเหนือและอีกครึ่งอยู่ในซีกโลกใต้ ซึ่งแปลว่าเราได้ไปยืนอยู่ทั้ง 2 ซีกโลกด้วยนะ
จากเส้นทางหิน ตกเย็นก็เดินทางมาถึง เขตอุทยานแห่งชาตินามิบ-น็อคลัฟท์ เราพักค้างคืนที่ Sossusvlei lodge เป็นที่พักสะดวกสบายเกินกว่าที่คาดหมายไว้อย่างมาก เต็นท์กึ่งถาวรมีทั้งเตียงนุ่มสบาย เครื่องปรับอากาศและน้ำอุ่น ด้วยอาหารที่พักในบริการแบบมาตรฐานยุโรป ทำให้ไม่อยากจะเชื่อเลยว่ากำลังนอนอยู่กลางทะเลทรายจริงๆ
ทุกคนเตรียมตัวพร้อมตั้งแต่เช้ามืด ตั้งกล้องรอถ่ายภาพแสงแรกที่โผล่ขึ้นริมขอบฟ้าเช้านี้ กองทรายที่เห็นอยู่ไกลลิบโน่นบดบังบางส่วนของดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดลำแสงสีทองสวยจนไม่ทันนับว่า กล้องทั้ง 8 ตัวของทุกคนในคณะเรา ลั่นชัตเตอร์ไปมากเท่าไหร่
ตอนนี้เรายังอยู่ด้านนอกของอุทยานฯ การจะเข้าไปใช้ชีวิตกลางทะเลทรายตลอดทั้งวัน ต้องตระเตรียมเสบียงอาหาร น้ำดื่ม น้ำมันรถ และของจำเป็นทุกอย่างให้พร้อม สถานีบริการน้ำมันกลางทะเลทราย มีสินค้าทุกอย่าง ใครขาดเหลืออะไรช้อปได้ที่นี่ ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ คุณซื้ออะไรไป ขากลับกรุณานำ packaging ทุกอย่างออกมาทิ้งที่นี่ด้วย
อุทยานแห่งชาตินามิบ-น็อคลัฟท์แห่งนี้เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทาย มีแค่สัตว์และพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่สามารถมีชีวิตรอดได้ในพื้นที่แห้งแล้งมีฝนตกแค่ไม่ถึง 10 มม./ปี สภาพภูมิอากาศโหดร้าย แต่ทัศนียภาพกลับสวยงามอย่างที่สุด ขอรับรองว่าจะไม่มีที่ไหนทำให้คุณตื่นตาตื่นใจได้เท่านี้
รถแล่นช้าๆ ผ่านทุ่งหินที่มีหญ้าขึ้นอยู่เล็กน้อย (ทุ่งหญ้าสะวันนา) ฉันเห็น ละมั่งแอฟริกา (Impala) นกกระจอกเทศ (Ostriches) สปริงบ็อค (Springbok) และสัตว์เจ้าถิ่นที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนามิเบีย โอริกซ์กาเซล (Oryx gazelle) เขาตรงแหลมชี้ขึ้นฟ้าของมันโดดเด่นเห็นได้ชัด พวกมันเดินกินหญ้าอยู่ไกลๆ แอบชมสัตว์พวกนี้ว่า รูปร่างอันสะโอดสะองของพวกเจ้านี่คงจะเป็นเพราะมีของกินน้อยนิดแต่ต้องวิ่งหากินทั้งวันแน่ๆ
ผ่านเนินหินมาแค่โค้งเดียว ก็ได้ตะลึงพรึงเพริดกับเนินทรายสีแดงกองมหึมาตลอดสองข้างทาง เนินทรายพวกนี้เคลื่อนที่ได้เพราะสายลม วันนี้มันอาจมีรูปทรงที่ลาดเอียงไม่เหมือนกับสัปดาห์หน้า ลมจะพัดละอองทรายปลิวไปไหนต่อไหนตลอดเวลา เวลาที่ลมทะเลทรายพัดแรงๆ ภูเขาทรายก็อาจเลื่อนได้ไกลถึง 20 เมตรในหนึ่งวัน เนินทราย (dune) บางเนินอาจสูงถึง 300 เมตร และเคลื่อนที่ได้ในอัตราเร็วปีละ 10 เมตร นักธรณีวิทยาอธิบายว่า ทุกเนินทรายในโลกมีความลาดเอียงไม่เคยเกิน 32 องศา
ในที่สุดฉันก็มายืนประจันหน้ากับ Dune 45th เนินทรายที่เชื่อว่าทุกท่านเคยเห็นผ่านตามาแล้ว เพราะมันคือหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของนามิเบีย เนินทรายสีส้มแดงสูง 170 เมตรนี้ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรง กม. ที่ 45 ระหว่างทางเซสเรียมไปซอสซัสฟลาย ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะหลักกิโลเมตรบอกระยะทางนั่นเอง แดดยามสายทำให้เกิดแสงเงาที่น่าทึ่ง กองทรายด้านหนึ่งกระทบแสงแดด ทรายสีแดงอร่ามขึ้นกว่าเดิมเป็นสีแดงเพลิง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นเงาสีดำสนิท ทำให้เห็นเส้นสายของแสงเงาคดเคี้ยวตรงขอบเนินทราย กลุ่มของเราแค่ชะลอรถถ่ายภาพ แต่มีหลายคณะที่มีเวลามากๆอจะเดินข้าม Dune 45th ไปอีกฝั่งเพื่อลงไปชมซอสซัสฟลาย
ซอสซัสฟลาย (Sossusvlei) หรือ แอ่งดินสีขาวขนาดใหญ่ มันคือ “บึงเกลือ” แอ่งกระทะที่เป็นดินเหนียวอัดแน่น แต่ผิวหน้ากลับปกคลุมด้วยไปด้วยเกลือ น่ามหัศจรรย์เข้าไปอีกที่แอ่งนี้ถูกโอบล้อมด้วยเนินทรายสีแดงสูงตระหง่าน ดูจากแผนที่เราจะเห็นซอสซัสฟลายอยู่ทางทิศใต้ของทะเลทรายนามิบ ชื่อของบึงเกลือแห่งนี้เป็นคำผสมกันระหว่างคำว่า Vlei เป็นคำแอฟริกาใต้ ที่แปลว่า บึง ส่วน Sossus หมายถึง ไม่กลับ หรือ ตาย
ในช่วงฤดูน้ำในบึงจะมีน้ำที่เอ่อมาจากแม่น้ำ Tsauchab เป็นเหมือนโอเอซิส ในช่วงนั้นบึงแห่งนี้จะเป็นที่ชุมนุมของสารพัดสัตว์ เวลาที่น้ำเหือดแห้งไป ก็จะกลายสภาพเป็นเกลือที่มีพื้นผิวแห้งแตกระแหงไปทั่ว ซากต้นไม้สีดำที่เห็นอยู่ในบึง คาดว่าเมื่อก่อนน่าจะเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำจืด จึงมีต้นไม้ขนาดใหญ่ได้ขนาดนี้ ซึ่งจากหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่าเกิดความแห้งแล้งในแถบนี้นานกว่า 400 ปี ต้นไม้จึงยืนต้นตายในที่สุด
การเดินข้ามเนินทรายไปอีกด้านหนึ่งเพื่อชมบึงเกลือแห่งความตายไปได้หลายเส้นทาง ไกด์ของเราเลือกที่จะให้ไปขึ้นจากเนินด้านในของอุทยานฯ ที่มีความสูงชันไม่มาก แบบมือสมัครเล่นอย่างเราสามารถเดินได้ ต่างจากพวกนักท่องเที่ยวฝรั่งมีเครื่องแต่งกายเพื่อผจญภัยในทะเลทรายโดยเฉพาะ แถมยังฝึกฝนร่างกายมาอย่างดีจึงขอขึ้นเนินสูงชันที่ Dune 45th
เราลงจากรถโค้ชเปลี่ยนมานั่งรถล้อโตเพื่อตะลุยทะเลทราย เส้นทางเรียบๆ แต่ควบคุมรถได้ยากมาก นั่งโยกหัวสั่นหัวคลอน กระเด้งกระดอนมาอีก 15 นาที ก็ถึงจุดที่จะต้องท้าทายตัวเองแล้ว นั่นคือ ยอดสูงสุดของสันเนินทรายที่ไกลออกเกือบ 3 กม.
ตอนนี้สองเท้าของฉัน กำลังย่ำลงบนผืนทรายสีแดงส้ม เม็ดทรายที่นุ่มอ่อน ละเอียดเหมือนผงแป้งทำให้ขาจมลงไปครึ่งหน้าแข้งในทุกๆ ฝีก้าว การเดินไปจมลงทรายไปอย่างนี้ เหนื่อยกว่าเราเดินปกติบนพื้นราบหลายๆ เท่า ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ตรงหัวเป๊ะ และมีเวลา ไป- กลับ แค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง
น้ำดื่มขนาด 500 cc ขวดเดียว ที่พกไปหมดตั้งแต่กิโลเมตรแรก ทำได้แค่เดิน เดิน และเดินต่อไป ไม่มีร่มไม้ มีแค่ฟ้ากับทราย มีแสงแดดเปรี้ยงยามเที่ยงวันเป็นกำลังใจ ค่อยๆ เรียนรู้ว่าตรงขอบๆ ทรายจะแน่นกว่าตรงกลางๆ เดินไปเรื่อยๆ อากาศที่แห้งจัดทำให้เพื่อนบางคนเลือดกำเดาไหล แต่เรายังไม่หยุดเดิน เวลาผ่านไปเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงจุดที่ชะโงกเห็นบึงเกลือขาวๆ ด้านล่าง ฉันทิ้งตัวลงนอนหมดสภาพตรงนั้น เหนื่อยเหลือเกิน ได้แต่นอนยิ้มให้ชัยชนะเล็กๆ ของตัวเองครั้งนี้
เราใช้เวลาเกิน 2 ชั่วโมง นานกว่าที่กำหนดแต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะมันเป็นแค่คำขู่ที่สร้างพลังให้กับนักท่องเที่ยว พอไกด์เฉลยความลับนี้ทำเอาพวกเรากรี๊ดกันลั่นรถ เพราะรีบเดินกลับแทบตาย ...ใช่ ก็แทบตายจริงๆ แหละ
ในช่วงที่เราเดินบนพื้นราบในบริเวณทะเลทรายสีแดง เจอต้นไม้เปลือกลำต้นแห้ง ไม่มีใบไม้ติดสักใบ ยืนเด่นตระหง่าน มันคืออาเคเชีย (Acacia) เป็นไม้พุ่มที่เป็นญาติกับพืชตระกูลอาเคเชียมีด้วยกัน 1,300 สปีชีส์ทั่วโลก มีรูปฟอร์มของต้นไม้ที่แตกต่างไปในแต่ละสถานที่ที่มันอยู่ แต่สิ่งเดียวที่ฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอของพวกมันคือความทรหดอดทนและอายุยืนนานหลายร้อยปี
ตอนที่เดินข้าม Dune ฉันพบต้นไม่มีใบแต่มีหนามแหลมขนาดใหญ่ มันคือ "นารา" เป็นไม้พุ่มมีหนามในวงศ์แตงผลรับประทานได้ กิ่งก้านที่มีแต่หนามยืดยาวขยายออกไป มีรากสามารถหยั่งลึกลงไปในทรายได้ถึง 15 เมตรเพื่อดูดน้ำ
แต่ในทะเลทรายแถบนี้จะไม่พบต้นไม้ที่อึดที่สุดในโลก มันอยู่รอดมาได้เพียงสายพันธุ์เดียวไม่มีวงศ์สกุลอื่นๆ เหลือให้ลำดับญาติ อย่างต้น“เวลวิสเชีย” พืชท้องถิ่นชนิดนี้เป็นอีกสัญญลักษณ์หนึ่งของทะเลทรายนามิบ Welwitschia mirabilis จัดเป็นพืชที่เป็นฟอสซิลที่มีชีวิต มันได้บันทึกวิวัฒนการกว่า 55 ปี ไว้ในต้น ใบ และทุกส่วนของมัน เวลวิสเชียจะขึ้นอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลนามิเบียด้านที่ติดกับแองโกลา ลักษณะลำต้นเตี้ยเรี่ยไปกับผืนทราย และจะกว้างออกเหมือนเป็นจานใบใหญ่ ใบแบนยาวสองใบสีเขียวอมน้ำเงิน รูปร่างคล้ายงู รากหยั่งลึกลงในดิน ดูดซับน้ำได้ดี น่าเสียดายที่เดินทางไปไม่ถึงบริเวณนั้นจึง อดเห็นฟอสซิลมีชีวิต ของจริงตัวเป็นๆ
จากอุทยานแห่งชาตินามิบ-น็อคลัฟท์ จะมุ่งหน้ากลับมาที่เมืองหลวงวินด์ฮุก เราไม่ได้ใช้เส้นทางเหมือนตอนมา ไกด์บอกให้เราดูเมฆฝนตั้งเค้าดำทะมึนที่ภูเขาด้านหน้า เรายิ่งงงเพราะยิ่งห่างออกมาจากเขตอุทยานฯ สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าก็เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ พอมาถึงจุดที่ฝนลงเม็ดมา หญ้าระบัดต้นอ่อนๆ คงเพิ่งงอกขึ้นมาได้สักวันสองวัน ความชื้นทำให้อากาศดีขึ้นมาก ฉันหายใจสบายขึ้น 200 กิโลเมตรต่อมาเราผ่านป่า พุ่มไม้เขียวสด บ้านเรือน ผู้คนเต็มไปหมดตลอดสองข้างทาง ยิ่งใกล้เมืองหลวงถนนยิ่งกว้างขึ้น เส้นทางนี้เป็นทางระหว่างเมืองที่สะดวกและทันสมัยมาก เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรและขนส่ง นามิเบียมีระบบถนนที่สร้างไว้อย่างดี มีเส้นทางครอบคลุมทั้งหมดกว่า 40,000 กิโลเมตร สามารถเดินทางสู่เมืองหลักต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและสะดวกสบาย ส่วนถนนไปแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ จะเป็นถนนลาดยาง
ในทวีปแอฟริกา ถือว่านามิเบียเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อทั้งในเรื่องความปลอดภัย และความเจริญที่ก้าวล้ำกว่าประเทศต่างๆ ในแถบนี้หลายเรื่อง หลังได้รับเอกราชจากแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1990 “นามิเบีย” ก็ได้จัดการปัญหาภายในประเทศ ทั้งปัญหาการแบ่งแยกชนชั้น การคอร์รัปชั่น ปฎิรูปที่ดิน สนับสนุนชนพื้นเมืองให้มีส่วนรวมทางเศรษฐกิจ และอีกหลายด้าน จนกลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจสูง
ประเทศนี้มีความก้าวหน้ามากในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการบรรจุบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นประเทศแรกในแถบแอฟริกา รวมถึงมอบอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแล เพราะในพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศแถบชนบทให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรจากสัตว์ มีระบบการจัดการที่เหมาะสม และยึดถือนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
ประเทศนามิเบียยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Gift to the Earth จาก WWF ซึ่งเป็นประเทศที่สองที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ เพราะกว่ายี่สิบปีที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนชาวนามิเบียได้ร่วมกันพัฒนาวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ชุมชนมีจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์ ให้ประชาชนในท้องถิ่นทุกคนมีส่วนร่วมด้านการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและสัตว์ป่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวบุคคล ชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
รางวัล Gift to the Earth ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ WWF เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับรางวัลนั้นเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญและมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก
ขอยืนยันว่านามิเบียเป็นประเทศที่มีธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ใจ ลองถามกูเกิลดูก็ได้ แล้วคุณจะเห็นด้วยกับดิฉัน
............
การเดินทาง
จากกรุงเทพมีสายการบินที่ไปถึง สนามบิน ออ แทมโบ หลายไฟลท์แต่ต้องแวะต่อเครื่อง เช่น เอมิเรตส์แอร์ไลน์ แต่จะแวะต่อเครื่องที่ดูไบ ส่วนการเดินทางครั้งนี้ เราเดินทางกับ south Africa Airways เพื่อสะดวกในการต่อเครื่องบินในทวีป โดยไปขึ้นเครื่องที่ฮ่องกง ไปลงโจฮันเนสเบิรก์