วันสุดท้ายใน Shiraz

วันสุดท้ายใน Shiraz

เวลาเพียงแค่ 3 วัน ในชีราซ คงไม่เพียงพอแน่ ที่จะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างที่เมืองนี้มี

เพราะมาถึงจุดนี้ ความรู้สึกบอกเลยว่าถูกใจที่นี่มากกว่าเมืองหลวงอย่างเตหะรานอยู่มากโข เมื่อเลือกจะไปให้ครบทุกสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไม่ได้ ก็ขอเลือกเดินหลงทางไปเรื่อยๆ ตามที่ถนัดแล้วกัน


วันสุดท้ายในชีราซเริ่มต้นขึ้นด้วยการตื่นแต่เช้าตรู่ เพราะมีนัดกับฟากาล ซามี มารีอานา และฆวน แก๊งเพื่อนใหม่จากหลากหลายประเทศ ที่เพิ่งรู้จักกันที่แพร์ซโพลิส เพื่อจะไปเยือน Nasir al-Mulk หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Pink Mosque มัสยิดสีชมพู ที่ร่ำลือกันว่าสวยที่สุดในเมืองนี้

ส่วนที่ต้องตื่นแต่เช้า เพราะแสงอาทิตย์จากทิศตะวันออกจะฉายผ่านกระจกสีในมัสยิด เกิดเป็นเงาของลวดลายที่ถือเป็นไฮไลท์ของโบสถ์ ซึ่งถ้าไปช่วงบ่ายก็จะหมดสิทธิ์เห็นแน่นอน


ก่อนแยกย้ายกันเมื่อคืน ซามี ที่เคยไปโบสถ์นี้มาแล้ว ย้ำนักย้ำหนาว่าจะต้องมาให้ถึงก่อน 6 โมงครึ่งเท่านั้น เพราะถ้าช้ากว่านั้น จะต้องเจอกับกองทัพนักท่องเที่ยวจากประเทศหนึ่งแถบเอเชียที่ถล่มกันเข้ามาในมัสยิดแห่งนี้ พร้อมระดมถ่ายรูปกันแบบไม่ยั้ง พลันจะทำให้สุนทรียภาพในการเสพย์ความงามของเงาจากกระจกสีหายไปจนหมดสิ้น (ซามีไม่ขอระบุชื่อประเทศ แต่บอกใบ้ให้ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศนี้ขึ้นชื่อลือชาเรื่องกิริยายิ่งนัก) ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้ซามีขอมาซ้ำที่มัสยิดสีชมพูนี้อีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะคราวที่แล้วมาสาย..


ผมถึงมัสยิดตามนัด 6:30 น. และได้พบทุกคนที่มารอกันอยู่แล้ว


อันที่จริง ผมก็ได้มีโอกาสวนเวียนเข้าออกวัด วัง บ้าน โบสถ์ วิหาร มัสยิด อยู่บ่อยครั้ง แต่ขอคอนเฟิร์มว่า มัสยิดสีชมพูแห่งชีราซ สวยงามติดอันดับต้นๆ ในชีวิตเท่าที่เคยเห็นมา แค่นั่งเฉยๆ มองดูความสวยงามของแสงและเงาก็เพลินแล้ว


เรานั่งเล่นกันแบบเงียบๆ จนถึงเกือบสิบโมง ทุกคนก็เป็นอันตกลงว่า ขอแยกย้ายกันเพื่อเดินทางไปจุดหมายต่อไปของแต่ละคน ส่วนผมรอจับรถรอบดึกเพื่อไปยังเมือง Yazd ดินแดนแห่งผืนทะเลทรายกว้างใหญ่ เลยยังมีเวลาเดินเล่นในเมืองอีกนานโข แต่ก็เป็นอันว่า ขอบอกลาทุกคนกันที่มัสยิดแห่งนี้
หลังจากกลับมากินอาหารเช้าที่โฮสเทล ก็นั่งจิบชาซักพัก จนถึงตอนนี้เริ่มรู้สึกว่าติดชาไปแล้วเรียบร้อย


แต่นั่งได้ครู่เดียว คุณลุงกับคุณป้าที่นั่งโต๊ะติดกันก็หันมาชวนคุย ตามสเต็ปชาวอิหร่านผู้อัธยาศัยดีเว่อร์ แกก็ถามว่าไปไหนมาแล้วบ้าง แล้วกำลังจะไปไหนต่อ แล้วก็แนะนำว่าให้ไปที่ไหนดี สุดท้ายก็คือการชวนไปเที่ยวที่บ้าน


คนอิหร่านมักชอบชวนคนเพิ่งรู้จักกันไปเที่ยวที่บ้านนะครับ เขาถือเป็นเรื่องปกติ แต่น่าเสียดายที่ผมต้องขึ้นรถคืนนี้ เลยไม่ได้ตอบตกลงกับคุณลุงไป


เมื่อคุยกันเรียบร้อย ผมก็ออกเดินจากที่พักไปเรียกแท็กซี่ เพื่อไปยังสุสาน Hafez เอกกวีแห่งชีราซ ที่ถึงกับมีคำกล่าวว่า นอกจากอัล กุรอานแล้ว หนังสือที่ทุกบ้านของชาวอิหร่านต้องมี ก็คือบทกวีของฮาเฟซและซาดี


บรรยากาศของที่นี่ดูคล้ายสวนสาธารณะ ที่มีวิหารตั้งโลงศพอยู่ตรงกลาง และก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติ และชาวอิหร่านจากต่างเมือง สิ่งที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่ง คือการทำความเคารพหลุมศพ ที่เขาจะใช้มือสัมผัส แล้วรำลึกถึงผู้ที่จากไป


ผมได้พบกับเด็กนักเรียนกลุ่มใหญ่ ที่มาทัศนศึกษากับโรงเรียน เมื่อเห็นผมถือกล้อง ทุกคนก็กรูกันเข้ามาให้ถ่ายรูปไม่หยุด จนคุณครูถึงกับต้องเดินมาห้าม แต่พอผมยกกล้องขึ้นถ่าย คุณครูท่านนั้นก็ดันยืนเป็นแบบร่วมกับนักเรียนด้วยเสียอย่างนั้น สุดท้ายคนที่ผมคาดว่าน่าจะเป็นครู เลยเดินมาดุทุกคนเสียงดังทั้งคุณครูและลูกศิษย์ (ฮา)


จาก Tomb of Hafez ผมทำท่าจะโบกรถอีกครั้ง เพื่อไปยัง Tomb of Saadi สุสานของอีกหนึ่งมหากวี ที่อยู่ไกลออกไป แต่ยังไม่ทันได้รถ จู่ๆ ก็มีสองหนุ่มอิหร่าน ขับรถมาจอดใกล้ๆ แล้วส่งเสียงเรียก ผมเข้าใจว่าเขาคงเรียกคนอื่น เลยเดินต่อไป แต่ปรากฏว่าเขาไปวนรถมาอีกรอบ คราวนี้เรียกผมชัดเจน


“พี่จะไปไหนครับ”


“สุสานของซาดีครับ” ผมตอบ


“ขึ้นรถเลยพี่ เดี๋ยวไปส่ง”


ผมก็ดันหน้ามึนขึ้นรถเขาไปเสียด้วย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะครับ ไม่ควรทำตาม แต่อารามย่ามใจว่าคนประเทศนี้เขาอัธยาศัยดีกันมากๆ ทำให้ผมเปิดประตูด้วยจิตใต้สำนึก ซึ่งสุดท้ายเขาก็ไปส่งผมโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทนจริงๆ แค่อยากคุยกับคนจากประเทศอื่น


ที่สุสานของซาดี คอนเซ็ปต์โดยรวมก็คล้ายกับสุสานฮาเฟซ คือมีสวนล้อมรอบ แต่ที่นี่ออกจะใหญ่กว่าเสียหน่อย ผมได้แวะเข้าห้องน้ำที่นี่ ซึ่งขณะผมกำลังปฏิบัติกิจ ก็มีคุณลุงท่านหนึ่งมาเข้าห้องน้ำเช่นกัน แต่ขณะที่แกกำลังล้างมือหลังจากเสร็จกิจ แกก็ทำท่าบ่นทำนองว่าห้องน้ำที่นี่ไม่มีกระดาษทิชชู่ ผมมีติดตัวมาพอดี เลยยื่นให้แก และผลสุดท้าย คือลงเอยด้วยการที่คุณลุงชวนไปเที่ยวที่บ้าน และทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้ แต่ก็เช่นเดิม เพราะต้องขึ้นรถเดินทางต่อ จึงเป็นอีกครั้งที่ต้องปฏิเสธ คุณลุงเลยให้ลูกอมมา 2 เม็ด ผมกินไปแล้วเม็ดหนึ่ง ส่วนอีกเม็ดยังคงเก็บไว้จนถึงตอนนี้


อาจจะงงว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์น่าประทับใจขึ้นบ่อยจัง โม้หรือเปล่า แต่มันยังไม่หมดแค่นั้น พอเดินออกมาจากสุสานซาดี ก็เห็นสาวน้อยคนหนึ่งยืนอยู่ไกลๆ กระโดดเต้นเหยงๆ แล้ววิ่งเข้าบ้านไปจูงคุณพ่อของเธอออกมาดูผม พอผมเดินเข้าไปใกล้ เธอก็เข้ามาแนะนำตัวว่าชื่อ “ฟาติมา” แล้วก็สอบถามตามประสาเด็กช่างสงสัยว่าผมมาจากไหน ส่วนคุณพ่อของเธอที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ก็พยายามสื่อสารกับผมอย่างเต็มที่ ได้ใจความว่า เขาขอมอบฝากความหวังดีให้ชาวไทยด้วย


สุดท้ายสองคนพ่อลูกก็ลากผมเข้าไปนั่งดื่มชาในบ้านได้สำเร็จ ผมรู้สึกได้ถึงมิตรภาพที่พวกเขามอบให้ เมื่อไม่รู้จะตอบแทนยังไง ผมเลยยกเข็มกลัดติดเสื้อรูปช้างของผมให้ฟาติมาไว้ เพื่อวันหนึ่งเธอโตขึ้น เห็นเข็มกลัดอันนี้แล้วอาจจะอยากมาเที่ยวเมืองไทยบ้าง