รักวัวให้ผูก รักลูกต้องใช้เหตุผล

รักวัวให้ผูก รักลูกต้องใช้เหตุผล

ถึงเวลายกเลิกตำราเลี้ยงเด็กด้วยไม้เรียว ดุด่า หรือกระทั่งเมินเฉย เพราะไม่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจต่างก็ส่งผลร้ายต่อเด็กได้อย่างคาดไม่ถึง

แม้จะคลาสสิค แต่ก็ไม่ได้แปลว่า จะใช้ได้เสมอไป สำหรับสุภาษิตไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” คัมภีร์ซึ่งพ่อแม่ (และครู) หลายๆ คน ยังคงยึดปฏิบัติตามจำนวนไม่น้อย แต่ทราบหรือม่ว่า การตี หรือการลงโทษเด็กทางกาย อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง มีแนวโน้มจะส่งผลเสียต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจในระยะยาว นอกจากนั้น ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิของมนุษย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับการเคารพให้เกียรติ และปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ

 

เมื่อเด็กเผชิญความรุนแรง

จากงานเสวนาหัวข้อ “สร้างเด็กยุคใหม่ ด้วยวินัยเชิงบวก” ที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ให้กับผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กๆ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การศึกษาหลายชิ้นซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟ สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงต่อเด็กนั้นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในทุกช่วงวัย ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน รวมถึงสถานเลี้ยงดูเด็ก และทัณฑสถานเด็ก โดยเด็กกว่า 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่า เคยถูกการลงโทษด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จากพ่อแม่ ครู หรือผู้ดูแลใกล้ชิด ตั้งแต่การตีหัว ตีด้วยไม้ บิดหู บางรายถูกลงโทษรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ และมักจะถูกลงโทษบ่อยขึ้นเมื่อโตขึ้น ซึ่งเด็กหลายคนมองว่าเป็นความผิดของตนเอง

เสริมด้วยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐ 896แห่ง ใน พ.ศ.2558 พบว่า มีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรงสูงกว่า 23,000 คน หรือเฉลี่ยแล้ว สูงถึงวันละ 63 คน

รายงานยังชี้ให้เห็นอีกว่า เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะสั้น อาจแสดงอาการวิตกกังวลเสียใจ เสียความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง สิ้นหวัง จนอาจมีอาการซึมเศร้า หรือร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมักมีปัญหาในการปรับตัวด้านการเรียนและการเข้าสังคม มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ

จากการศึกษาในต่างประเทศในระยะยาว พบว่า คนที่เคยถูกลงโทษเหล่านี้จะมีอาการซึมเศร้า มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ติดสุรา ทารุณกรรมลูกของตนเอง และทุบตีหรือทำร้ายคู่สมรสของตนเอง (โดยเฉพาะผู้ชาย) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยถูกลงโทษด้วยความรุนแรง และจากการศึกษาประวัตินักโทษอาชญากรรมที่กระทำรุนแรงต่อเด็ก ส่วนใหญ่มักจะมีประวัติถูกทำร้ายหรือทารุณกรรมในวัยเด็ก ถึงแสดงให้เห็นว่าการถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมีผลเสียที่ร้ายแรงไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และทำให้มีการใช้ความรุนแรงสืบทอดกัน ต่อไปเรื่อยๆ

ความรุนแรงต่อเด็ก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงด้านการทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมถึงความรุนแรงทุกรูปแบบที่สามารถสร้างผลกระทบต่อเด็กๆ ทั้งทางร่างกาย และ ทางจิตใจ

  ถ้าจะแบ่งให้ชัดๆ ก็แบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ คือ ความรุนแรงทางร่างกาย ทางเพศ ด้านจิตใจ และอารมณ์ อาทิ การดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง และการละเลยทอดทิ้ง ก็ถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

"ความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยก่อให้เกิดผลเสียในทุกระดับตั้งแต่ตัวเด็กเอง ชุมชน ตลอดจนทำให้ประเทศสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นเป็นประจำที่บ้านและที่โรงเรียน แต่มักถูกมองข้ามหรือไม่มีใครสนใจ โดยที่พ่อแม่ ครู และผู้ดูแลจำนวนมากอาจยังไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดกับพัฒนาการของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” พิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

และบอกว่า ในช่วงที่ผ่านมา โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน แต่ก็ยังมีผู้ปกครองจำนวนมากยังยึดกับคติ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” โดยพ่อแม่หลายคนมองว่าการตีหรือการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นวิธีการฝึกวินัยที่ได้ผล แต่ในความจริงแล้วความรุนแรงสามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพ่อแม่สามารถใช้ทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในการฝึกวินัยแก่เด็กโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเลย

ในส่วนของภาครัฐนั้น พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ภาครัฐมองเห็นว่าปัญหาการกระทำรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อนที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของกระทรวงฯ ก็ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมถึงการใช้กลไกทางกฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน และงานด้านการป้องกันโดยพัฒนาหลักสูตรอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อฝึกอบรมให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กและครูอาจารย์ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย"

โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กนี้ มุ่งเน้นให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก และปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม และหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกกรณี ทั้งยังส่งเสริมแนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง” โดยแนะนำวิธีเลี้ยงดูเด็กแบบ CUTE หรือ การเสริมสร้างวินัยเชิงบวก ประกอบด้วย Confidence=ให้ความมั่นใจ Understanding=ให้ความเข้าใจ Trust=ให้ความไว้ใจ และ Empathy=ให้ความเห็นใจ เป็นการเลี้ยงดูโดยให้ความเอาใจใส่ใกล้ชิดกับเด็ก ให้ความอบอุ่น เข้าใจ และให้เกียรติเคารพในศักดิ์ศรีของเด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็มีขอบเขต มีความคาดหวังในทางที่ดีต่อเด็ก

เมื่อเด็กทำผิดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่าพอใจก็ไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรง แต่จะถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้จากความผิดพลาด ช่วยให้เด็กได้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และสอนวิธีการแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดไปโดยไม่ตำหนิ ดูถูกเหยียดหยาม หรือแสดงความโกรธเคือง

 

หยุดความรุนแรง ต้องเริ่มที่พ่อแม่

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายไว้ในงานวิจัยเกี่ยวการเลี้ยงลูกด้วยความรุนแรงว่า พ่อแม่จำนวนไม่น้อย ยังเลือกใช้วิธีที่จะตีลูก เพราะการตีนั้นทำลูกหยุดพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบทันที (อาจจะด้วยความกลัวหรือตกใจที่ถูกตี) จึงทำให้พ่อแม่สรุปเอาว่าการตีนั้น “ได้ผล”

แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ค่อยตระหนักกันก็คือ การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงยิ่งทำบ่อยๆ ก็จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเด็กจะ ดื้อไม้เรียวเหมือนเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะเพราะพัฒนาภูมิต้านทานต่อยาขึ้น

เมื่อการตีไม่ได้ผล พ่อแม่ก็จะเพิ่มความรุนแรงของการลงโทษมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เข้าขั้นเป็นการทารุณกรรม คือ ทำให้เด็กบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้ ยิ่งไปกว่านั้นบาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็กยังมีผลต่อชีวิตไปอีกนาน ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับเด็ก สร้างความหวาดกลัว ห่างเหิน เกลียดชัง และทำให้เด็กก็รับเอาทัศนคติที่ชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไปใช้กับคนรุ่นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น หากเราต้องการจะกำจัดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ชุมชน และสังคม เราจะต้องเริ่มด้วยการหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กให้ได้เสียก่อน

พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ร่วมแนะนำถึงการเลี้ยงดูเด็กด้วย “วินัยเชิงบวก” ว่า หมายถึงการสอนให้เด็กมีวินัยและพฤติกรรมที่เหมาะสม เป็นการฝึกฝนโน้มน้าวให้เด็กเข้าใจด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงทั้งคำพูด และการกระทำ เป็นการปลูกฝังลูกให้ดำเนินชีวิตไปภายใต้กรอบกติกาที่มีการตกลงกันภายในครอบครัว ซึ่งทั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องหนักแน่นและจริงจังกับการปฏิบัติตามกติกานั้น พร้อมทั้งมีเหตุผลรองรับและมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ที่สำคัญคือต้องใช้เวลากับลูกและทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น รวมถึงให้ความเข้าใจและคอยอยู่เคียงข้างลูกอยู่เสมอในการข้ามผ่านปัญหาต่างๆ

“การตีลูกหรือการใช้กำลังอาจจะทำให้ลูกกลัวแค่ในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นเด็กจะเกิดการต่อต้านขัดขืน ซึ่งบางรายอาจแสดงออกทางกาย และบางรายอาจเก็บสะสมไว้จนเกิดปมในจิตใจ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่หาย การทำโทษลูกด้วยวิธีนี้จะมีส่วนทำลายสัมพันธภาพอันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจะเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความห่างเหินกับพ่อแม่ได้ในที่สุด” พญ.เสาวภากล่าว

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า “หลายๆ ครั้งเมื่อเรารู้สึกว่าลูกมีปัญหา ส่วนหนึ่งเราต้องกลับมามองว่าเรามีส่วนในปัญหานั้นด้วยหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวเองว่ามีปัญหาด้านอารมณ์ที่แสดงออกกับลูก หมอแนะนำให้ลองสำรวจตัวเอง โดยการสังเกตดูจากลูกเราก็ได้ เด็กเขาจะมีความไวมาก เวลาที่เขาไม่มีความสุข สิ่งที่เรามักเห็น คือ เขาดูถอยหนีหรือสะดุ้ง ตกใจ หรือแสดงอาการหวาดกลัวเราด้วยซ้ำไป เด็กบางคนเวลาตึงเครียดหรือหงุดหงิดอาจจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่มากกว่าเดิม เช่นวุ่นวายมาก อยู่ไม่สุข บางคนอาจไปแสดงออกที่โรงเรียนโดยที่ไม่แสดงออกให้เราเห็น เช่น เหม่อลอยเวลาเรียน แกล้งเพื่อนหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้ว่าเขาอาจมีปัญหาทางอารมณ์ ผู้ปกครองก็ควรจะถอยกลับมาดูว่า มันเกิดอะไรขึ้น"

กุญแจสำคัญคือ “ความเข้าอกเข้าใจ” พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ควรตั้งป้อมว่า ทำไมลูกถึงเป็นคนแบบนี้ ทำไมถึงทำแบบนั้น แต่ควรเริ่มต้นด้วยความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ จากนั้นจะค่อยๆ หาวิธีที่จะเข้าไปแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

ในส่วนของการลงโทษเวลาที่เด็กทำผิด พ่อแม่ก็ยังทำได้ แต่ต้องรู้ว่าจะทำยังไงให้การลงโทษนั้นไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการจะสอนเขามากกว่า

ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่า สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ลูก เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นและได้ผลตามนั้น ก็เรียกว่า ประสบความสำเร็จในการลงโทษ 

“แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้วิธีใดก็ตาม เช่น ตีเบาๆ หรือนิ่งเงียบ ก็ต้องกลับไปดูอายุของเด็กควบคู่กันไปด้วย เช่นในเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรใช้การลงโทษ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผล ซึ่งเด็กในวัยนี้จะยังไม่เข้าใจ แต่เราสอนเขาได้อย่างเช่น การจับตัวเขาไว้ในขณะที่เขากำลังทำผิด ให้เขาหยุด เขาจะเข้าใจทันทีว่า สิ่งนี้ทำไม่ได้ แต่เขาจะไม่เข้าใจเรื่องความผิดถูก ดังนั้นถ้าคุณใช้วิธีเงียบ ไม่พูด ไม่อุ้ม เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ แต่ตกใจว่าถูกทิ้ง แต่สำหรับเด็ก 3-5 ขวบ อาจจะเริ่มใช้วิธีการเงียบได้ แต่ก็ไม่ควรจะเป็นวันๆ หมอแนะนำว่าให้ดูตามสมควรถึงความรุนแรงหรือเหตุผลของการกระทำผิด”

ขณะเดียวกัน สังคมเองก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ทำความเข้าใจพ่อแม่ด้วย เพราะหลายคนก็ไม่รู้ว่า มีทางเลือกอื่นๆ ในการเลี้ยงลูก ซึ่งหากพวกเขาได้เรียนรู้ถึงวิธีอื่นๆ ที่จะสอนลูกได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง พญ.พรรณพิมล ก็เชื่อว่า พวกเขาก็พร้อมจะใช้

“บางครั้งเขาก็ไม่ได้อยากจะใช้วิธีสอนที่รุนแรง แต่ไม่รู้ว่าจะแสดงออกยังไง และส่วนใหญ่ก็มักจะรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่รุนแรงกับลูก สังคมเราจึงควรมีส่วนช่วยให้โอกาสและช่วยสอนพวกเขาให้รู้จักทางเลือกที่ดีกว่าได้” พญ.พรรณพิมลเอ่ยย้ำ

 

หมายเหตุ : หากต้องการติดตามข่าวสารด้านการเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรง สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://endviolencethailand.org หรือติดต่อมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว www.familynetwork.or.th รวมทั้งหากพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สามารถติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคมได้ที่เบอร์โทร.1300 และมูลนิธิสายเด็ก โทร.1387