รักลูกให้ ‘สุด’ ทาง
เมื่อตัวน้อยใกล้ถึงวัยต้องเข้า ป.1 มหกรรมการติวเริ่มต้นขึ้นในหลายบ้าน ไม่ใช่เรื่องผิดหากคิดเดินสาย ‘ติว’
แต่หลังจากนั้น เคยคิดไหม ให้ลูกไปทางไหนดี ?
มีนก 5 ตัว บินมาเพิ่ม 3 ตัว บินหนีไป 3 ตัว แล้วบินมาเพิ่ม 5 ตัว แล้วถูกยิงไป 5 ตัว จะเหลือนกกี่ตัว ?
นี่คือตัวอย่างข้อสอบเข้าเรียนป.1 ของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง (อ้างอิงจากเพจ ‘ติวสาธิตครูจอย’) สำหรับใครที่ยังอึ้งกับความยาก อาจต้องเตรียมใจช็อคต่อ ถ้าได้รู้ว่า เด็กเดี๋ยวนี้ เขาติวเคมีกันตั้งแต่อนุบาล!
เปิดให้จองแล้ว ติวเข้าสาธิต เทอมละ 2x,xxx บาท
เตรียมความพร้อม อนุบาล สอบเข้าโรงเรียนสาธิต รับสอนที่บ้าน
คอร์สตลอดปี เตรียมสอบ 2560 (30 ครั้ง) 3x,xxx บาท
ภาษาไทย ภาษอังกฤษ สังคม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จนถึงเชาว์ปัญญา ฯลฯ ล้วนถูกบรรจุในวิชา ‘ติว’ สำหรับเด็กอนุบาลเพื่อเตรียมตัวลงแข่งขันในสนามสอบเข้าโรงเรียนประถมชื่อดัง และถือเป็นภารกิจของซูเปอร์มัมทั้งหลาย ไหนจะแรงกาย แรงเชียร์ ยังไม่นับแรงเงินที่บางบ้านต้องจ่ายเรือนแสนจนถึงหลักล้านกว่าจะถึงเป้าหมาย
ไม่ว่าจะเป็นเพราะมาตรฐานการศึกษาโดยภาพรวมของประเทศไทยไม่น่าเชื่อถือ จึงต้องหันมาฝากความหวังไว้ที่ชื่อชั้นของโรงเรียน หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากมี ‘กำลัง’ ผู้ปกครองโดยมากมักเลือกเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลาน แล้วก็ไม่ใช่เพียงสายวิชาการเข้มเท่านั้นที่พวกเขามองหา เพราะโรงเรียนสายทางเลือกก็อยู่ในลิสต์ที่หลายๆ คนศึกษาเช่นกัน
- เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด
สำหรับ ชลิดา คุณแม่ลูกสอง ลูกชายคนโต วัย 6 ขวบ กำลังจะเข้าป.1 ในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ ส่วนลูกสาวตอนนี้ 4 ขวบ และกำลังจะขึ้น อ.2
เดิมทีเธอมอง “โรงเรียนทางเลือก” เป็นตัวเลือกแรก เนื่องจากไม่อยากให้ลูกมาสายวิชาการจนเกินไป ไม่อยากให้รู้สึกกดดันกับการแข่งขันหรือการสอบ โดยเฉพาะหากเด็กจะต้องมาติวกันตั้งแต่อนุบาล ก็รู้สึกว่า ออกจะเกินไป แต่จุดหักเหก็เกิดขึ้น..
“โรงเรียนทางเลือกส่วนใหญ่มีไม่ถึง ม.6 ส่วนใหญ่เด็กที่เรียนทางนี้ จะต้องไปต่อต่างประเทศ หรือไม่ก็เรียนอินเตอร์ แต่สำหรับตัวเอง อยากให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่า สุดท้ายเลยต้องกลับมาสายวิชาการ”
การเลือกโรงเรียนอนุบาลที่เป็นสายวิชาการจึงเป็นสเต็ปแรก ด้วยค่าเทอมราวๆ ปีละแสน เมื่อบวกกับการเรียนพิเศษควบคู่กันไปทั้งวิชาการและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อผ่อนคลาย จากปีแรกที่ยังติวแค่เบาๆ ก็เริ่มมากขึ้นเมื่อเข้าอนุบาล 2 เทอม 2 เสริมด้วยแบบฝึกหัดที่สองแม่ลูกช่วยกันติวเองที่บ้าน พอเข้าปิดเทอมก็หนุนด้วยคอร์สเรียนพิเศษจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 4 - 5 ชั่วโมง และสุดท้ายก็ไม่เสียแรงที่ทุ่มไป เพราะลูกชายสอบเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถมได้ในที่สุด
อันที่จริง หากเลือกได้ เธอบอกว่า ไม่ได้อยากจะส่งลูกไปติวมากมาย แต่ด้วยความที่การเรียนการสอนของเด็กวันนี้ บางเรื่องก็เกินกำลังที่เธอจะสอนเองได้ แถมการส่งเด็กเล็กๆ ไปนั่งในห้องสอบแบบนั้น ถ้าไม่ได้เตรียมความพร้อมเลย ก็มีสิทธิชวดได้
แต่จากประสบการณ์ที่ ชิดชนน์ชนก แม่ของลูกวัย 9 ขวบ และ 4 ขวบ ได้พบ เมื่อตอนส่งลูกชายคนโตติวเข้มเพื่อสอบเข้าโรงเรียนสาธิตนั้น เธอยอมรับว่า ติวเยอะจริง แต่ผลที่ได้กลับไม่เท่าไหร่
ด้วยความที่ลูกชายคนโตเรียนอนุบาลที่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งไม่เน้นวิชาการ ลูกชายจึงยังอ่านหนังสือไม่ออก จึงคิดว่า ถ้าไม่ติวคงไม่ได้แน่ เพราะสอบสามพัน เอาร้อยเดียว
“คนโตติวเยอะเกินไป มีทั้งไปเรียนพิเศษ แล้วก็จ้างครูมาสอนที่บ้าน แต่อาจจะด้วยความที่เขาเด็กเกินไป ก็เลยงอแง ไม่จดจ่อกับสิ่งที่ทำ น้องยังไม่พร้อม ผลที่ได้กลับมาเลยไม่เท่าไหร่ ก็เลยตั้งใจว่า ต่อไปคงต้องดูที่เด็กเป็นหลัก ทั้งคนโตที่กำลังจะเข้ามัธยม แล้วคนเล็กที่กำลังจะขึ้น อ.2 ก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ถ้าจะติวก็เฉพาะที่จำเป็น ส่วนจะให้เรียนที่ไหนต่อก็ยังไม่ได้ตัดสินใจค่ะ คิดไว้คร่าวๆคือ ยังไงก็ต้องเน้นภาษาอังกฤษ เพราะมันจำเป็นค่ะ”
- ชีวิตไม่ใช่การสอบ
แต่ถ้าถาม คมกฤช พ่อของฝาแฝด ที่ตอนนี้เรียนอยู่ ป.3 โรงเรียนปัญโญทัย รายนี้ ขอเลือกที่จะปฏิเสธ ‘การสอบ’ อย่างสิ้นเชิง
“ตอนลูกขวบนึง ก็เริ่มมองหาโรงเรียนให้เขา แล้วแม่เขาก็สนใจแนววอลดอร์ฟ เลยไปลองนั่งเรียนคอร์สอบรบพ่อแม่ที่ปัญโญทัย ก็ไปเรียนอยู่ 3 ปี เพื่อจะได้เข้าใจว่า วอลดอร์ฟจริงๆ มันเป็นยังไง จากนั้นจึงตัดสินใจจะให้เรียนที่นี่”
จากประสบการณ์ตรงทั้งกับตัวเอง และจากที่เคยเป็นอาจารย์สอนในระดับอุดมศึกษา เขาบอกว่า ไม่ค่อยศรัทธาในการศึกษาในกระแสหลัก ขณะที่การเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ เป็นการพัฒนาเด็กตามช่วงวัย เพื่อให้เกิดทักษะชีวิต สู่การเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ และมีความสร้างสรรค์
“ที่นี่ ไม่มีการสอบเลย เพราะเขาเคารพในความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน เขาเชื่อว่า คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน รู้ไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงไม่มีการวัดคนด้วยตัวเลข แต่จะรายงานพัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย ผมเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เห็นผลผลิตทางการศึกษาที่น่าเศร้า บางทีก็สงสาร สงสารตัวเองด้วยซ้ำที่ผ่านการศึกษากระแสหลักมา เราต้องเสียเวลาให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่เคยเอาใช้ประโยชน์อะไรได้ในชีวิตจริง”
ขณะที่ตัวเขาและหลายๆ คน ล้วนผ่านการเป็น ‘มนุษย์ทำข้อสอบ’ มาแล้วทั้งนั้น แต่ที่สุดแล้ว คนเหล่านี้ก็ปลูกผักไม่เป็น ทำกับข้าวไม่เป็น ต้องเข้าสู่ระบบงาน จึงจะมีเงินเพื่อหาซื้อสิ่งเหล่านี้ได้ แต่สำหรับลูกๆ ของเขา แม้วันนี้ วิชาการจะยังอ่อนหากไปเทียบกับเด็กวัยเดียวกันในโรงเรียนอื่นๆ แต่เขาเชื่อว่า การสร้างความพร้อมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่ในวัยเล็ก ถือเป็นการเตรียมรากฐานที่มั่นคงกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย
“เด็กๆ ที่นี่เรียนรู้ในการแก้ปัญหา เรียนรู้โดยไม่มีของเล่น จานชามแก้วจริง แตกได้จริง เพื่อให้เขารู้จักที่จะระมัดระวัง ขณะที่วัยอนุบาลเป็นวัยกึ่งฝัน เมื่อเข้าสู่ประถม เขาจะเริ่มเรียนรู้ในหน้าที่ รู้จักที่จะทำอะไรแม้ไม่อยากทำ แม้ในห้องเรียน ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้สนุกไปเสียทุกเรื่อง หรือวิชาไหนไม่ชอบก็ไม่ต้องเรียน แต่เขาต้องเรียนรู้ที่ทำในสิ่งที่ต้องทำ” เขากล่าว
- อนุบาล คือ เตรียมพร้อม
แม้เอาเข้าจริง ถ้าเลือกได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ก็ไม่ได้อยากจะส่งบุตรหลานเข้าสู่สนามสอบอย่างแน่นอน แต่เมื่อโรงเรียนดีมีไม่มาก การแข่งขันย่อมเกิดขึ้น แล้วจะมีการวัดผลไหนที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายได้เท่า ‘ข้อสอบ’
ในเรื่องการสอบนั้น ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ยกมือคัดค้านสุดตัว โดยเฉพาะกับเด็กเล็กวัยอนุบาลที่จะต้องไปสอบเพื่อเข้าป.1 นั้น เขายืนยันว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ
“เราไปเคี่ยวเข็ญเด็กตั้งแต่อนุบาล เน้นสอนให้เด็กไปสอบ ทั้งๆ ที่การเรียนอนุบาล ก็เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนจะเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับ ฉะนั้นเด็กควรจะต้องฝึกเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย อาทิ ฝึกกล้ามเนื้อมือ ฝึกสายตา จนถึงฝึกพฤติกรรมและทักษะ เด็กๆ วัยนี้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางวิชาการ ไม่จำเป็นต้องอ่านออกเขียนได้ เพราะมันยังไม่ถึงวัยที่พวกเขาจะต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้”
ดร.สิทธิพร เชื่อว่า เรื่องของวิชาการสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ ป.1 ซึ่งเป็นวัยที่มีความพร้อมที่อยากจะเรียน และการได้เรียนในวัยนี้ จะเกิดความรู้ที่งอกเงย และ ยั่งยืน โดยติดตัวเด็กไปตลอด
“ลูกผมเรียนอนุบาลแบบไม่มีวิชาการเลย พอเข้าป.1 เด็กไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม แต่พอสอบ ปรากฏว่า เขาได้ที่ 41 จากทั้งห้องมี 42 คน เพราะเขาอ่านเขียนไม่เป็นเลยด้วยซ้ำใน แต่พอเรียนๆ ไป เขาก็เริ่มมีผลการเรียนที่ดีขึ้นตามลำดับ” เขายกตัวอย่างลูกของตัวเองเพื่อยืนยันว่า เด็กอนุบาลไม่ต้องรู้เรื่องวิชาการเลยก็สามารถเรียนตามเพื่อนๆ ทันได้
“เด็กไทยถูกพัฒนาเน้นเรื่องสมองและสติปัญญา เราวัดเด็กที่ความเก่ง แต่เด็กเก่งอาจแก้ปัญหาไม่ได้ เราให้ความสำคัญกับคนเก่งมากเกินไป แล้วในการสอบเข้าทุกๆ ระดับการศึกษา เราก็วัดกันว่า ใครทำคะแนนได้สูงสุด แต่เราไม่เคยวัดด้านอื่นๆ แต่ในต่างประเทศ เขาดูเรื่องกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย ดูว่า คุณมีงานจิตอาสาหรือเปล่า”
เสริมโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ร่วมยืนยันว่า ป.1 หรือช่วงปฐมวัย เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิตคนเรา หน้าต่างจะเปิด แต่ก็เปิดแคบมากเฉพาะในช่วงวัยนี้ (3-6 ปี) การที่เอาวิชาการไปยัดให้เด็กวัยนี้ แทนที่จะเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย ถือเป็นการทิ้งเวลาในช่วงนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
“บางทีเด็กยังไม่ถึง ป.1 ก็อยากให้อ่านออกเขียน และกังวลกันไปว่า ลูกตัวเองยังไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่รอให้เข้า ป.2 หรือ ป.3 แล้วค่อยอ่านเขียนได้ก็ยังไม่สายเกินไป” เขากล่าว
ยิ่งถ้ามองไกลไปถึงเส้นทางในอนาคต บางครั้ง ‘วิชาการ’ ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไปก็ได้
- ทักษะแห่งอนาคต
ถ้าคำนวณอย่างง่ายๆ สำหรับน้องๆ ที่เข้าเรียน ป.1 ในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ อีกประมาณ 20 ปีก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ทราบหรือไม่ว่า.. อีกสิบปีนับจากนี้ไป 65 เปอร์เซ็นต์ของงานที่จะมีในวันนั้นจะเป็นงานที่ไม่มีอยู่ในวันนี้
โดยเฉพาะจากรายงานอนาคตของการทำงานที่เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มทำการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในรอบทศวรรษที่ผ่านมาและทำนายความต้องการของตลาดแรงงานในอีก 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2562) โดยสัมภาษณ์นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกัน 13.5 ล้านคน ครอบคลุม 371 สถานประกอบการขนาดใหญ่ ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก รวมถึงประชาคมอาเซียน พบว่า ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการสูงที่สุด 10 อันดับแรกในปี พ.ศ.2562 ได้แก่ ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน, การคิดวิเคราะห์, ความคิดสร้างสรรค์, การจัดการบุคคล, การทำงานร่วมกัน, ความฉลาดทางอารมณ์, รู้จักประเมินและการตัดสินใจ, มีใจรักบริการ, การเจรจาต่อรอง และความยืดหยุ่นทางความคิด
“ทั้ง 10 ทักษะที่พูดถึง ถือเป็นทักษะที่สมองกล หรือ คอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ แต่ทักษะเหล่านี้ไม่สามารถสร้างได้หลังจากเรียนจบ หลายๆ ทักษะต้องสร้างตั้งแต่ช่วงปฐมวัย หากพ่อแม่ปล่อยให้ช่วงเวลานี้ผ่านเลยไป ก็เท่ากับสายเสียแล้ว การที่พ่อแม่มุ่งให้เด็กไปทางวิชาการอย่างเดียว เด็กก็จะเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย”
พร้อมกันนี้ การส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเอง เข้าใจในความต้องการของตัวเอง รู้ว่าสนใจในอาชีพไหน หรืออยากเป็นอะไร โดยเฉพาะในระดับมัธยมต้นยิ่งควรจะรู้ให้ชัด เพื่อให้ง่ายต่อการวางเส้นทางต่อไป หากยิ่งได้คำตอบเร็ว ก็ไม่เสียทั้งเวลาและเงิน เด็กไม่ต้องไปกวดวิชาที่ไม่จำเป็น หรือไปกวดวิชาทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเลือกเรียนต่อสายอาชีพใด ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ไม่เปลืองเงินโดยใช่เหตุ
ดร.ไกรยส แนะนำว่า อาจสามารถทำได้โดยส่งบุตรหลานไปทดลองงานที่เจ้าตัวสนใจ เพื่อดูว่า สนใจงานลักษณะนี้จริงหรือไม่ เหมาะกับตัวเองหรือเปล่า
“ครอบครัวก็ควรแบ่งภาระจากกระทรวงศึกษาด้วย การศึกษาก็แค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน นอกเหนือจากนั้นเขาก็อยู่กับครอบครัว ซึ่งครอบครัวควรทำงานควบคู่ไปกับโรงเรียน เพื่อช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองได้ บทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ยังมีความสำคัญอยู่ การซักถามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับความสนใจ หรือเรื่องราวที่พบเจอ นอกจากนี้ ครอบครัวก็ควรส่งเสริมให้เขาเข้าวิชาชมรมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากวิชาการ เป็นการพัฒนาทักษะนอกห้องเรียน อาทิ ทักษะความเป็นผู้นำ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อเด็กในอนาคต”
เพราะถ้าอยากได้ความรู้ แค่ไม่กี่คลิกก็ได้มาแล้ว แต่ทักษะต่างๆ ที่กล่าวมานั้นจะอยู่ติดตัวกับเด็กไปตลอด และจะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้
ความชัดเจนในเส้นทางชีวิต จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดให้หนักมากกว่าจะทำอย่างไรจึงจะสอบได้คะแนนดีๆ เพราะหากเลือกทางผิด ก็ไม่ต่างอะไรกับการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก