“รถด่วน” ขบวน “รักษ์”

“รถด่วน” ขบวน “รักษ์”

ปลายทางของหนอนรถด่วนคือเมนูอาหารยอดฮิต แต่เคยย้อนคิดกลับไปบ้างหรือไม่ว่า ต้นทางที่มาต้องสูญเสียผืนป่า(ไผ่)ไปเท่าไร

ทันทีที่ FAO หรือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประกาศว่า ประชากรโลกจะหลุดพ้นจากภาวะอดอยากและขาดสารอาหารได้ต้องให้ “แมลง” เป็นตัวช่วย ใครๆ จึงหันมาบริโภคแมลงตัวเล็กจิ๋วกันอย่างคึกคัก

และเมื่อกระแส “แมลงกู้โลก” ถูกขยายฐานความรับรู้มากขึ้น “หนอนรถด่วน” หรือ “หนอนเยื่อไผ่” ซึ่งเป็น 1 ในแมลงยอดฮิต ก็ถูกพัดสะพือจนติดลมบน

แต่...ยิ่งได้รับความนิยมมาก ไผ่ก็ถูกตัดออกจากกอเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูน ป่าที่เคยเขียวชอุ่มกลับดูแห้งแล้ง แล้วแมลงที่เรียกว่าหนอนรถด่วนก็จะค่อยๆ หมดไป  

แมลง “มัน” ที่ฉันชอบ

“เมื่อก่อนหนอนรถด่วนเขาไม่ซื้อขายกันหรอก มันมีทั่วไป จริงๆ มันเหมือนของเล่นเด็ก จับได้ก็เอามาคั่วๆ กินกันสนุกๆ แต่เดี๋ยวนี้คนกินเยอะ แล้วขายกันแพงมากด้วย ถ้าให้เราซื้อกินเราไม่ซื้อหรอก กลับบ้านค่อยไปหากินแถวนั้น แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว ป่าไผ่ที่เราวิ่งเล่นเป็นเมืองไปหมดแล้ว”

เม่ย สาวเหนือเมืองแพร่ เล่าว่า ตอนเด็กๆ หนอนรถด่วนเป็นเหมือนของเล่นของเด็กที่มีบ้านอยู่ใกล้ป่า ช่วงวันหยุดเธอและเพื่อนๆ จะชวนกันเข้าป่าเพื่อหาหนอนไม้ไผ่และจิ้งกุ่งอยู่เสมอๆ ซึ่งก็หาไม่ยาก แถมหนอนที่ได้ก็ตัวโตมากๆ ด้วย

ทว่า ปัจจุบัน การบริโภคหนอนรถด่วนเริ่มได้รับความนิยมจากคนภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงชาวต่างชาติ ทำให้หนอนรถด่วนที่เคยหาไม่ยาก กลับต้องอาศัยความลำบากในการค้นหา

“ใครไปเชียงใหม่ เชียงรายก็ต้องฝากซื้อทุกที มันอร่อยจริงๆ นะ มันๆ เค็มๆ” น้ำมนต์ สาวออฟฟิศที่เกิดและเติบโตท่ามกลางมหานครใหญ่บอกแบบนั้น เมื่อถูกถามว่า เคยกินหนอนรถด่วนมั้ย

“จริงๆ มันแพงเนาะ ขีดครึ่งขีดนี่เป็นร้อยๆ เลย แต่เราว่ามันคุ้มนะ มันมีโปรตีนเยอะเทียบเท่าเนื้อสัตว์เลยนะเท่าที่รู้ แต่ไขมันก็คงเยอะเหมือนกัน” สาวบางกอกหัวเราะ

แล้วรู้มั้ยว่าหนอนรถด่วนมาจากไหน น้ำมนต์ส่ายหัว เธอบอก “มาจากกระบอกไม้ไผ่ใช่ป่ะ”

“เรารู้ว่ามาจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ไม่รู้ว่าเขาเอามายังไง เหรอ..ต้องตัดไผ่ทั้งลำเลยเหรอ อะไรนะ..ลำนึงได้ไม่ถึง 2 ขีด แล้วอย่างนี้กี่ลำกว่าจะได้กิโลนึงล่ะ” สาวเมืองกรุงทำท่าครุ่นคิด ก่อนจะบอกว่า รู้สึกผิดเล็กๆ ในฐานะผู้บริโภคที่มีส่วนทำลายป่าไผ่

ไม่ใช่น้ำมนต์เพียงคนเดียวที่เป็นสาวกหนอนรถด่วน แต่มีผู้บริโภคอีกกว่าครึ่งค่อนประเทศที่หลงรักอาหารว่างจากกระบอกไม้ไผ่เมนูนี้ และดูทีท่าว่าจะมีผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ

ตอบโจทย์ “เปิบของแปลก”

“ลูกค้าเยอะขึ้นนะ โดยเฉพาะ 2 ปีหลังมานี้ทั้งคนไทยคนต่างชาติเยอะขึ้นมากๆ คนต่างชาติถึงขนาดบินมาดูงานในประเทศไทยเลย อย่างหนอนรถด่วนเฉพาะสต็อกของผม ต่อปีประมาณ 5-6 ตัน แต่ยังมีเจ้าใหญ่ๆ อีก ในประเทศไทยผมว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 เจ้า รวมๆ แล้วก็น่าจะมีหนอนรถด่วนราวๆ 100 ตันต่อปี ส่วนใหญ่ขายในประเทศ อย่างของผมส่งลูกค้าในประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์” วรวิทย์ มีรีวี หรือ อุ๊ ผู้บริหารธุรกิจแมลงแช่แข็งในชื่อ Mr. Buc Food ให้รายละเอียด

อุ๊ว่า ต้นทางหนอนรถด่วนมาจากภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ตาก ลงมาจนถึงพิษณุโลก แต่เพราะระยะหลังประเทศไทยเกิดภัยแล้ง ทำให้ปริมาณหนอนรถด่วนในธรรมชาติน้อยลง เขาจึงต้องพึ่งพาหาแหล่งใหม่ เป็นหนอนรถด่วนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาว

“อีกเหตุผลหนึ่งคือจีนเข้ามากว้านซื้อด้วย จีนจะให้ราคาสูงกว่าคนไทย แล้วกว้านซื้อไปทั่วทั้งไทย ลาว พม่า เพราะเขามาตั้งโรงงานหนอนรถด่วนในประเทศลาวเลย ส่วนเราก็ไม่ได้ให้ราคาต่ำนะ เรารับซื้อกิโลละ 400-420 บาท ไปซื้อถึงแหล่งบ้าง เขาเอามาส่งบ้าง ไปดูตามตะเข็บชายแดนบ้าง เรารับซื้อทั้งแบบหาจากธรรมชาติและแบบเพาะเลี้ยง แต่เพาะเลี้ยงจะเป็นส่วนน้อย ต้องเป็นเกษตรกรที่ทำอาชีพเกี่ยวกับไผ่โดยตรงแล้วเลี้ยงหนอนด้วยถึงจะคุ้ม

การเลี้ยงหนอนใช้เวลานานเป็นปี ไม่เหมือนแมลงอื่นๆ ที่เลี้ยง 2-3 เดือนก็ได้แล้ว หนอนเลี้ยง 1 ปีถึงจะได้ แล้วไม่ใช่ว่าไผ่ลำนึงจะได้เยอะ ต้องดูว่ากอนึงได้กี่ลำ บางทีไม่กี่ลำ ซึ่งคนหาหนอนเขาจะดูลักษณะจากลำต้นของไผ่ เมื่อพบว่าไผ่ลำไหนไม่สมบูรณ์ ผิดขนาด ผิดรูป ก็จะมองหารอยเจาะของหนอน ถ้าพบว่ามีก็ตัดทั้งลำเลย” 

แม้จะเสียดายต้นไผ่ แต่อุ๊ว่า ไผ่เป็นพืชที่เติบโตเร็วมาก จึงไม่น่าจะทำลายป่าสักเท่าไร

แต่...ถ้าไผ่ 1 ลำ ให้หนอนรถด่วนได้ประมาณ 1-2 ขีด(ค่าเฉลี่ยจากการบอกเล่า) กว่าจะได้หนอนรถด่วน 1 กิโลกรัม ต้องตัดไผ่รวม 5-10 ลำ แต่ละปีมีปริมาณหนอนรถด่วนที่ซื้อขายอยู่ในตลาดประเทศไทยราว 100 ตัน หรือราว 1 แสนกิโลกรัม นั่นหมายความว่ามีต้นไผ่มากกว่า 5 แสน - ล้านลำที่ถูกตัดทิ้งไป(เชียวนะ)

แทรก “รักษ์” ให้ชาวบ้าน

หนอนรถด่วน, รถด่วน, หนอนเยื่อไผ่ เป็นชื่อเรียกของหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวหนอนจะกินเยื่อไผ่เป็นอาหาร เรียกชื่อต่างกันไป เช่น ทางภาคเหนือจะเรียกว่า แด้, แน้, แมะ แต่ถ้าเป็นชาวปกาเกอะญอจะเรียกว่า “คีเบาะ”

“คีเบาะจะเติบโตมาพร้อมกับหน่อไม้ พอเริ่มแทงหน่อ ผีเสื้อจะเข้าไปวางไข่ ประมาณ 3 วันมันจะเจาะเข้าไปในหน่อไม้เรื่อยๆ จนกลายเป็นหนอน ระหว่างที่มันกินเยื่อไผ่จะใช้เวลา 2-3 เดือน ต้นไผ่โตขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะเจาะทะลุปล้องขึ้นไปกินเรื่อยๆ จนไผ่แก่ หนอนจะลงมารวมตัวกันที่ปล้องล่างๆ แล้วอยู่ในนั้นราว 7-8 เดือน หลังจากนั้นก็จะฟักตัวเป็นดักแด้อีก 1-2 เดือน จนออกมาเป็นผีเสื้อ แล้วใช้ชีวิตอยู่ราว 10-15 วันก็ตาย คือทั้งชีวิตมันจะอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ราว 1 ปีพอดี”

แม้ไม่ใช่นักกีฏวิทยาปริญญาบัตร แต่การนั่งบันทึกความลับของหนอนรถด่วนเป็นเวลาหลายปีก็ทำให้ ทองคำ โพแก้ว สามารถเล่าถึงวิถีชีวิตของหนอนรถด่วนได้ดีไม่แพ้นักวิชาการ

ทองคำ เป็นชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่ยางส้าน ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่หาหนอนรถด่วนแหล่งใหญ่ทางภาคเหนือ ซึ่งทองคำมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของผืนป่าและหนอนรถด่วนว่าถูกล่าจากคนนอกพื้นที่จนป่าไผ่ที่มีกลายเป็น “สุสาน” เขาจึงจับมือกับ ไกรศรี กล้าณรงค์ขวัญ ที่เป็นเพื่อนบ้าน หาหนทางในการรักษาป่าไผ่ไว้ให้มากที่สุด

“เรารู้ว่าป่ามีประโยชน์อย่างไร แต่เราก็ยังคิดไม่ออกว่าจะหาตุ๊กตาตัวไหนมาเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นหลังรักป่า ถ้าบอกแต่ปากเขาก็ไม่สนใจ เลยมองว่าจะมีผลตอบแทนอะไรมั้ย คือถ้าเขาต้องรักษาอะไรสักอย่าง เขาก็น่าจะได้รับผลตอบแทนในการทำนั้นด้วย” ไกรศรี เริ่มต้นเล่า และนั่นก็เป็นที่มาของการศึกษาวงจรชีวิตหนอนไม้ไผ่ เพื่อพัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

“แม่ยางส้าน” โมเดล

ต้นเหตุของการอนุรักษ์ป่าไผ่ เป็นเพราะทองคำกับไกรศรีมองเห็นว่า หนอนรถด่วน หรือ คีเบาะ ในธรรมชาติมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหนอนรถด่วนราคาสูง ทำให้มีชาวบ้านจากต่างพื้นที่เข้ามาหาหนอนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และใช้วิธีตัดไผ่แบบไม่ปราณี จนทำให้ป่าไผ่มีวิญญาณไม้กองระเกะระกะไปทั่ว

“ป่าไผ่ลดลงเรื่อยๆ จนพวกเราเห็นความเปลี่ยนแปลง เอาจริงๆ เลยนะ มันลดเพราะมนุษย์ตัด อย่างไฟป่า อยู่มาจนป่านนี้ผมยังไม่เคยเห็นฟ้าผ่าหรืออะไรที่จะทำให้เกิดไฟสักครั้ง มีแต่มนุษย์นั่นแหละที่ทำ เราต้องรู้ว่าเราจะอยู่กับป่าได้อย่างไร”

ทองคำ อธิบายว่า การหาหนอนรถด่วนแต่เดิมนั้นคือการตัดต้นไผ่ทั้งลำ แล้วทิ้งไม้นั้นไปแบบไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทองคำและไกรศรีจึงช่วยกันหาวิธีรักษาต้นไผ่เอาไว้ แต่ยังหาหนอนรถด่วนได้ แบบไม่มีใครต้องเสียประโยชน์

“อันดับแรกเราจัดสรรพื้นที่ป่าก่อน ให้มีเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อรักษาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คีเบาะ และป่าที่สามารถใช้สอย เก็บหน่อได้ ส่วนอีกป่าเป็นที่ทำกิน ก่อนหน้านี้คนตัดไผ่จนคีเบาะหาย ไผ่ลด แต่พอเราทำการอนุรักษ์ช่วงแรกๆ เราห้ามชาวบ้านตัดเลย เพื่อให้ป่าไผ่ฟื้น ให้หนอนกลับมา ชาวบ้านเราไม่ตัดเลยนะ แต่เราก็พบว่ามีชาวบ้านที่อื่นมาแอบตัด เพราะป่ามันใหญ่มาก เราดูแลไม่ทั่วถึง จนปีที่ 2 เราคุยกันว่า ถ้าเราไม่ตัด บ้านอื่นก็มาตัด งั้นเราก็ต้องตัด แต่เปลี่ยนวิธี”

การตัดไผ่ทั้งลำทำให้สูญเสียทรัพยากรป่าไม้ และขาดแคลนพืชที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ทองคำและไกรศรีจึงมองที่วิธีการตัด ทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องตัดไผ่แต่ได้หนอน

ไกรศรี อธิบายให้ฟังอย่างละเอียดว่า ก่อนหน้านี้คนตัดไผ่ทั้งลำเพราะหาหนอนรถด่วนผิดฤดู ไปหาในช่วงที่หนอนยังกระจายอยู่ตามปล้องต่างๆ แล้วตัวก็เล็ก ต้องตัดหลายต้นกว่าจะได้หนอนรถด่วน 1 กิโลกรัม แต่ถ้ารอระยะเวลาอีกสักนิดให้หนอนตกลงมาอยู่ปล้องด้านล่าง ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องตัดไผ่ทั้งลำให้เสียพลังงาน เพียงแค่เจาะรูเล็กๆ ที่ไผ่ปล้องล่างๆ ก็จะได้หนอนรถด่วนตัวอ้วนกลมที่รวมกันอยู่ทั้งลำ ที่สำคัญน้ำหนักและขนาดของหนอนจะดีกว่าด้วย

“คนเริ่มหาช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่หนอนยังไม่โต เลยฟันกันทุกปล้องเลย ได้หนอนตัวน้อยๆ โตยังไม่เต็มที่ ฟันไป 7-8 ปล้องกว่าจะได้กิโลนึง เราก็มาคิดใหม่ รอสิ รอให้มันลงมารวมตัวกัน รอให้ถึงฤดูกาล ช่วงที่มันกำลังโตเต็มที่แล้วค่อยจับ ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นช่วงสั้นๆ แต่หนอนจะโตเต็มที่ ตัวอ้วนมากๆ ปล้องนึงได้ราวๆ 3-4 ขีดเลยนะ เราก็กำหนดฤดูกาลให้จับเฉพาะช่วงเวลานี้ แล้วราคาดีด้วย แพงกว่า น้ำหนักดีกว่า คือถ้าตัดก่อนนั้นราคาอยู่ 200-300 บาทต่อกิโล แต่พอเราจับเฉพาะช่วงที่กำหนด ราคาจะแพงขึ้นมาอยู่ที่ 400-500 บาทต่อกิโลเลยทีเดียว” ไกรศรี บอกอย่างภาคภูมิใจ

ทั้งคู่ยอมรับว่าในช่วงแรกก็มีชาวบ้านแหกกฎอยู่เหมือนกัน ก็ต้องอธิบายกันโดยยกเอาลูกหลานมาอ้างว่า ต่อไปพวกเขาอาจจะไม่รู้จักหน้าตาหนอนรถด่วน ที่สุดก็เชื่อกันอย่างสนิทใจ จนสามารถขยายความคิดและองค์ความรู้นี้ไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ด้วย

“หลังจากนั้นเราก็ไม่เห็นไผ่ถูกตัดแบบทั้งลำอีกเลย แต่ถามว่า 100 เปอร์เซ็นต์มั้ย ยอมรับว่าไม่แน่ใจ เพราะเราไม่ได้สำรวจเข้าไปในป่าลึกขนาดนั้น แต่เท่าที่เราเห็น ไม่มีการตัดทั้งลำแน่นอน” ทองคำ ยืนยัน

มากกว่านั้น คู่หูปกาเกอะญอยังเพิ่มดีกรีของการอนุรักษ์ด้วยการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกป่าไผ่ในพื้นที่ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น แล้วนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หนอนไปปล่อยเพื่อเพาะเลี้ยงหนอนรถด่วนด้วยตัวเอง ซึ่งตอนหลังมีชาวบ้านให้ความสนใจหลายราย และทดลองเพาะหนอนรถด่วนจนได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ แน่นอนว่า มีชาวบ้านอีกหลายรายอยากทำตาม

“ผมว่าคนสมัยนี้อยู่ได้ด้วยกฎเกณฑ์นะ ยอมรับว่าเมื่อก่อนเราอยู่กันด้วยความเชื่อ แต่สมัยนี้มันไม่ได้แล้วไง มันต้องมีกฎเกณฑ์” ทองคำ สรุป

วันนี้ป่าไผ่บ้านแม่ยางส้านกลับมาเขียวชอุ่มเต็มพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และให้ผลผลิตที่ดีเยี่ยม หมู่บ้านอื่นๆ จะนำไปเป็นต้นแบบก็คงไม่มีใครว่า แถมยังเป็นการรักษาป่าให้อยู่คู่กับชุมชนไปได้อีกนานแสนนาน

......................

แม้หนอนรถด่วนจะมีคุณค่าทางอาหารมากมาย และเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ผู้บริโภคเลือกบริโภคอย่างมีสติ เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีทิศทาง “ความมั่นคงและยั่งยืน” ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ใช้ได้ดีกับเมนูอาหารที่เรียกว่า “หนอนรถด่วน”