แรงงานข้างบ้าน…เจ้าของกิจการคนใหม่

แรงงานข้างบ้าน…เจ้าของกิจการคนใหม่

มองไปข้างหน้ากับปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าวที่ก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการ

ระหว่างที่กำลังคิดถึงความตรากตรำของแรงงานบางสาขาที่คนไทยยังมองข้าม เวลาเดียวกันนี้เรากำลังคิดถึง 39 อาชีพสงวนของคนไทยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522

ระหว่างที่ตึกสูงแห่งใหม่กำลังเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของการท่องเที่ยว อีกด้านหนึ่งเรากำลังพูดถึงผลงานที่เป็นฝีมือของคนไทยจริงๆ ไล่ตั้งแต่การใช้สถาปนิกออกแบบ โครงสร้างวิศวกรรม การตกแต่งภายใน ฯลฯ

แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของกิจการ-คนงานไทยถูกแย่งอาชีพ-การถ่ายเทแรงงานฝีมือที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฯลฯ และอีกมากมาย กำลังเป็นเรื่องที่ใครๆ ต่างพูดถึง ราวกับว่านี่เป็นเวลาไพรม์ไทม์ของประเด็น “แรงงาน” ที่แต่ละด้านล้วนมีมุมคิดที่แตกต่างกันไป

 

เจ้าของกิจการหน้าใหม่

ไม่ทันที่ภาพลักษณ์ของความสู้ชีวิต-ไม่เกี่ยงงานหนักจะถูกเปลี่ยน ด้านหนึ่งแรงงานต่างด้าวกำลังเป็นที่จับตาของการข้ามสถานะ “ลูกจ้าง” สู่การเป็น “เจ้าของกิจการ”

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยตอนหนึ่งว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรี และสงขลา พบแรงงานต่างด้าวเริ่มทำกิจการค้าขายในทุกระดับ โดยผลการแจงนับร้านค้าคนต่างด้าวในสถานที่ 4 ประเภท คือ ศูนย์สรรพสินค้า ตลาดนัด ตลาดสด และตลาดชุมชน 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบร้านค้าที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ 102 ร้าน หรือ แผงค้า (6.9%) 149 แผงค้า (1.8%) 67 แผงค้า ( 20.9%) และ15 แผงค้า ( 9.7%) ตามลำดับ

“ยิ่งเฉพาะในตลาดสด และตลาดชุมชนที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงเนื่องจากความยากง่ายในการเข้าถึงสถานที่ และแม้ว่าจะเป็นการสุ่มเฉพาะจุดแต่ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาค้าขายในทุกระดับ” รายงานส่วนหนึ่งระบุ

แรงงานชาวกะเหรี่ยงรายหนึ่ง ที่เคยผ่านงานในกรุงเทพฯ มาอย่างโชกโชน ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า การเป็นเจ้าของกิจการของแรงงานต่างด้าว ซึ่งในที่นี้หมายถึงเฉพาะชาวกัมพูชา กะเหรี่ยง เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่มาจากแผงค้าเดิมที่เจ้าของคนไทยต้องการเซ้งกิจการต่อหรือต้องการคนเป็นหุ้นส่วน ทำให้แรงงานมีโอกาสร่วมเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะตกลงแบ่งจ่ายค่าเช่ากันเป็นระยะสั้น เช่น เป็นรายวัน รายเดือน ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดระยะยาว เพื่อความสบายใจของทั้ง 2ฝ่าย อย่างไรก็ตามชื่อเจ้าของที่ใช้ทำสัญญากับตลาดยังเป็นคนไทยเจ้าของเดิมอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

นามมะกอน จิตตะพอน เจ้าของบริษัททัวร์สกาย โกลบอลทัวร์ ซึ่งเกิด และโตที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ภายหลังแต่งงานกับสามีคนไทยจนได้รับสัญชาติไทย ให้ข้อมูลอีกด้านว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนอยากก้าวหน้า เมื่อแรงงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็พร้อมจะออกมาทำกิจการของตัวเอง เมื่อนายจ้างเสนอให้ จะด้วยต้องการกระจายความเสี่ยง หรือเป็นในลักษณะตัวแทนนอมินีก็พร้อมจะตอบรับ เพราะสำหรับแรงงานที่ไม่มีต้นทุนอะไรมาก นี่ถือเป็นโอกาสที่ดี

“ต้องเข้าใจก่อนว่า แรงงานที่มาในประเทศไทยนี้ เป็นกลุ่มที่มีฐานะไม่ดีอยู่แล้ว อย่างคนลาวก็จะเป็นลาวใต้ มาจากจำปาสักบ้าง จากสุวรรณเขตบ้าง ดังนั้นเงินทุนที่จะมาทำกิจการมีไม่เยอะ ก็จะเป็นแนวแผงค้าเล็กๆ มากกว่า และเชื่อว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนลาวที่ได้ใบอนุญาตทำงานที่ยกระดับมาเป็นเจ้าของแผงค้านั้น ส่วนใหญ่เป็นนอมินีให้กับคนไทย หรือไม่ก็เป็นการตอบแทนจากนายจ้างที่ช่วยงาน”

ในฐานะที่คลุกคลีกับแรงงานลาวในไทย ทั้งจากประสบการณ์ และจากจัดรายการวิทยุเป็นภาษาลาว เพื่อสื่อสารกับคนลาวในประเทศไทยมาโดยตลอดนั้น นามมะกอน บอกว่า แรงงานจากลาวจะใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งทำกินเพื่อสร้างตัวในระยะหนึ่ง มากกว่าจะอยู่แบบถาวร และหากจะทำธุรกิจแบบจริงจังก็มักจะกลับไปยังฝั่งลาวเพื่อหาสินค้าในไทย อย่างเช่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์ไอที ซึ่งเป็นสินค้าขายดี และคนลาวที่เคยอยู่ประเทศไทยนิยมทำอยู่ตอนนี้

ในระหว่างที่เรื่องการแย่งอาชีพ และการตั้งกิจการแข่งจากแรงงานต่างด้าวกำลังเป็นคำถาม มันจึงมีเรื่องระหว่างบรรทัดอยู่ ทั้งเรื่อง การตอบแทน ความไว้วางใจ กระทั่งกับแผงค้าเป็นช่องว่างของประเภทงานที่คนไทยไม่นิยมทำที่ซ่อนอยู่ในภาพใหญ่

 

กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ประจำกรกฎาคม 2559 ระบุว่า ขณะนี้มีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยทั้งสิ้นรวมทั้งสิ้น 1,564,106 คน

แต่ถึงเช่นนั้นคงไม่มีใครรู้อยู่ดีว่า ในจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตทำงานทั้งหมด จะมีสักกี่รายที่ใกล้เปลี่ยนสถานะจากแรงงานลูกจ้างไปสู่การเป็นเจ้าจองกิจการ

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มองว่า การพัฒนาตัวเองเป็นผู้ประกอบการของแรงงานต่างด้าวไม่ต่างอะไรจากสมัยแรงงานจีนช่วงแรกๆ และเรื่องทำนองนี้ก็มีมานานสักระยะแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาคือการทำงานผิดประเภท เพราะคนต่างด้าวนั้นได้รับอนุญาตทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว แต่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ประกอบการ พวกเขาก็จะก็จะไปสัมพันธ์กับกฎหมาย นั่นคือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ซึ่งมีข้อจำกัดสำหรับคนต่างด้าวที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ

“จากการสำรวจคนต่างด้าวส่วนใหญ่ที่มาค้าขาย เพราะเขามีปัญหาบางประการที่ไม่สามารถกลับเข้าไปสู่แรงงานในระบบได้ อาจจะเป็นแรงงานที่ต้องออกมาเพราะเจอการแข่งขันที่สูง เจอแรงงานหน้าใหม่ที่หมุนเวียนมาตลอดมาแย่งอาชีพ หรือถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะตั้งท้อง เขาจึงมาขายสินค้าเล็กๆ เป็นสินค้าเฉพาะตัวที่มีกลุ่มคนซื้อชัดเจน อย่างสมุนไพร แป้งทานาคา”

แม้จะเป็นกิจการเล็กๆ แต่ผิดประเภท แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จึงอยู่ในสภาวะที่กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง เพราะหากจะเป็นผู้ประกอบการก็จะไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ที่มีการระบุถึงทุนจดทะเบียนอยู่ดี ซึ่ง อดิศร เสนอว่า ควรแบ่งในเรื่องของการประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เป็น 3 ระดับ ระดับแรก คือ การประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ การประกอบธุรกิจขนาดกลาง และการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การขายสินค้าทั่วไป กับการขายสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งลักษณะแบบนี้ควรจะทำให้เกิดลักษณะย่อยๆ แบบนี้ขึ้นมา และมีการกำหนดเงื่อนไข

ส่วนจะเป็นการแย่งอาชีพคนไทยหรือไม่ แน่ว่า หากเป็นกิจการที่คนไทยต้องการทำมันก็มีความเสี่ยง แต่อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นการเพิ่มวงจรลูกค้าในการซื้อขาย ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การควบคุมคุณภาพสินค้า ไม่ให้เกิดกรณีการผลิตสินค้าปลอม ไม่ได้คุณภาพ จากพ่อค้า แม่ค้าต่างด้าวแบบที่รู้จักกันในข่าว

“เมื่อมันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เราควรเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องมาหาจุดร่วมปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง การให้มาจดทะเบียนอนุญาตจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะที่ทั้งรัฐและคนไทยบางส่วนจะแสวงหาประโยชน์จากภาวะแบบนี้แทน มีส่วยสติ๊กเกอร์ หรือไม่ก็แอบขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพซึ่งจะเกิดผลกระทบทั้งหมด” ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าวทิ้งท้าย

 

อาชีพสงวน ทบทวนดีไหม

ถ้าความจริงของอาชีพสงวนของคนไทยที่ระบุตามกฎหมาย ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ เช่นนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องนำมาปรับ และทบทวนใหม่

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ศึกษาประเด็นแรงงานใน 3 พื้นที่ คือ ภูเก็ต สมุทรปราการ และ มหาชัย มองว่า การระบุอาชีพสงวนแบบที่บังคับใช้กันอยู่นี้ถูกคิดอยู่บนฐานของความมั่นคงยุคสงครามเย็นที่กลัวคนต่างด้าวเข้ามาเป็นภัยต่อความมั่นคง พร้อมๆ กับที่ต้องคำถามกลับไปอย่างจริงจังว่า อาชีพเหล่านี้คนไทยต้องการจะทำจริงหรือ

หากคำตอบคือ “ไม่” แทนที่จะมองว่าเป็น “ภัยคุกคาม” กลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาให้ผู้ประกอบการรายย่อย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา และกลายเป็นเศรษฐกิจที่มันสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ให้กับประเทศมากขึ้นได้เช่นกัน

“สถานะของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากพม่า ลาว หรือกัมพูชา ส่วนมากแล้วพวกเขาเป็นคนที่มีทุนทางสังคม และเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ ไม่ได้เป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นกลางระดับสูงจากประเทศเหล่านั้น เป็นคนจนที่มาตายเอาดาบหน้า แต่ก่อนแรงงานอาจจะทำงานได้ 20 ปี หรือจนกระทั่งเกษียณทำงานไม่ไหว แต่ปัจจุบันประมาณ 7-10 ปี จะมีการรับแรงงานเด็กรุ่นใหม่มาหรือคนที่หัวอ่อนทำงานหนักได้มากกว่า นั่นหมายความว่า ตัวแรงงานที่มาเป็นผู้ประกอบการส่วนหนึ่งถูกคัดทิ้งจากระบบมาด้วยซ้ำเช่น อาจจะเป็นแรงงานผู้หญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์ที่โรงงานไม่จ้าง จึงต้องผันตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนของผู้ใช้แรงงาน” ษัษฐรัมย์ ที่เคยสำรวจในพื้นที่ซึ่งมากไปด้วยแรงงานต่างด้าวอธิบาย

ทั้งหมดจึงเป็นความจริงอีกด้าน ในช่วงเวลาที่ปัญหาแรงงานต่างด้าวกำลังเป็นที่สนใจ และมีเรื่องราวใหม่ๆที่เกิดขึ้น ในบริบทที่ต่างออกไป

ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะแรงงานที่แสนตรากตรำ หรือเจ้าของกิจการหน้าใหม่ที่กำลังถูกจับตาก็ตามที