รักษ์สามเส้า คน-ช้าง-ป่า
เปิดพรมแดนวันช้างไทย คลายปมชุมชนคนเลี้ยงช้าง
..................................
ทางเดินลัดเลาะผ่านป่าโปร่งไปยังลำธารท้ายหมู่บ้าน ยิ่งใกล้..เสียงสัตว์ใหญ่ที่หลายคนออกตามหาก็ยิ่งเพิ่มความกังวาน พอๆ กับอัตราเร่งในแต่ละย่างก้าวที่พยายามไปให้ทันช่วงเวลาให้อาหารช้างของชาวบ้านปูเต้อ ชุมชนกะเหรี่ยงเลี้ยงช้างในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
เสียงตะโกนออกคำสั่งจากควาญฝึกหัดวัยละอ่อนดังแทรกขึ้นมาในความเงียบ แม้จะฟังไม่ได้ศัพท์แต่เด็กชายชาวปกาเกอะญอก็สามารถควบคุมช้างได้อย่างน่าพอใจ
เขาบอกว่า...รักและผูกพันกับช้างตั้งแต่เล็กๆ เพราะหมู่บ้านนี้มีช้างเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ การได้เล่นได้ใช้ชีวิตอยู่กับช้างจึงเป็นทั้งความสุขและความภูมิใจ
-ชุมชนกะเหรี่ยงเลี้ยงช้าง-
หากย้อนความถึงเรื่องราวคนกับช้างแห่งบ้านปูเต้อ คงต้องเอ่ยถึงเหตุการณ์สุดสะเทือนใจที่เกิดกับช้างโม่ตาลาที่เหยียบกับระเบิดบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว วันนี้โม่ตาลากลายเป็นช้างเชือกแรกที่ใส่ขาเทียมและยังมีชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลช้าง มูลนิธิเพื่อนช้าง จังหวัดลำปาง
"ช้างโม่ตาลาที่เป็นข่าวก็คือช้างบ้านปูเต้อเรา วันก่อนชาวบ้านไปเยี่ยมกันที่โรงพยาบาลช้าง ผมน้ำตาไหลเลย รู้สึกเหมือนเราเอาปู่ย่าตายายมาปล่อยไว้คนเดียว แล้วโม่ตาลาก็เหมือนจำเจ้าของได้ เขาก็น้ำตาไหล เดินเข้ามาหา ใจจริงเราอยากให้เขากลับมาอยู่บ้าน แต่คงเป็นไปไม่ได้" วิรัตน์ ตราดรรชนี ชาวบ้านปูเต้อ พูดเสียงเครือ
เขาว่าช้างในชุมชนเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ทุกวันนี้ถึงแม้บางครอบครัวจะไม่มีช้างแล้ว แต่คนปูเต้อกับช้างยังมีสายสัมพันธ์ที่โยงใยกันอยู่ ทุกปีในช่วงสงกรานต์จะมีพิธีมัดมือช้าง หรือเรียกขวัญช้าง “กิ๊เก่อซอจือ” เพื่อให้เจ้าของช้างและคนในชุมชนได้ขอขมาในสิ่งที่อาจล่วงเกินหลังจากการใช้งานมาตลอดทั้งปี และยังเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างคนกับช้างอีกด้วย
หลายชั่วอายุคน แม้ชาวปูเต้อส่วนใหญ่จะไม่ยอมปล่อยช้างไปอยู่ในปางช้าง ไม่ขายช้าง เพราะยังมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงชะตาที่ผูกติดกับช้าง และเชื่อว่าการมีช้างอยู่ในชุมชนจะเป็นการเสริมบารมี แต่ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป การให้เช่าช้างและขายช้างเริ่มกลายเป็นทางเลือกท่ามกลางความยากลำบากในการดูแลพวกมัน
"เราไม่ได้อยากให้ช้างในชุมชนต้องไปลำบาก ได้รับอันตราย แต่ทุกวันนี้การเลี้ยงช้างในชุมชนมันก็ยากมากขึ้น บางคนก็ต้องยอมให้เช่าช้างไปหากินที่อื่น ขายไปเลยก็มี ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ไปอยู่ที่อื่นเป็นโรคผิวหนังบ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าอยู่บ้านปูเต้อนี่เจ้าของช้างดูแลอย่างดี" วิรัตน์ พูดพลางหยิบกล้วยใส่ปากลูกช้างที่กำลังซุกซน
ในสายตาของคนรักช้าง เขาว่า...กว่าจะขนช้างขึ้นรถไปได้ค่อนข้างทุลักทุเล เหมือนมันไม่อยากไป..“ถ้าพูดได้ช้างคงบอกว่า ไม่ไปได้มั้ย แต่สุดท้ายผมคิดว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญ”
ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่หาอาหารของช้าง เนื่องจากการเลี้ยงช้างตามวิถีปกาเกอะญอคือปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติในป่า แต่ป่าทุกวันนี้ป่ามีกฎระเบียบมากมาย ส่วนพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน ถ้าช้างเข้าไปก็จะกลายเป็นบุกรุกทำลาย เจ้าของจึงมีภาระต้องหาอาหารมาเลี้ยงช้าง เดือนๆ หนึ่งอาจสูงถึงหลักหมื่นบาท บางครอบครัวจึงจำใจต้องพาช้างไปหากินต่างถิ่น หรือไม่ก็ขายออกไป
"ช้าง ถ้าฝึกเสร็จแล้วเชือกนึงขายได้ประมาณหนึ่งล้านเจ็ดแสนบาทถึงสองล้าน ถ้าเช่าเขาให้เป็นเดือนแต่ต้องเอาคนไปดูแลด้วย ได้เดือนละสองถึงสามหมื่่นบาท ส่วนใหญ่ก็ไปอยู่ในปาง ไปเป็นลูกน้องไปเป็นขี้ข้าเขานั่นและครับ" วิรัตน์ บอก และว่าถึงจะไม่อยากให้ช้างไปลำบาก แต่ก็ห้ามยากเพราะการเลี้ยงช้างเป็นภาระที่หนักอึ้ง วันนี้ถ้ามีทางไหนจะช่วยให้คนกับช้างได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเหมือนเมื่อก่อนเขาก็พร้อมจะทำ
"ผมคิดว่าทางออกของเราคือ การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่จำเป็นต้องฝึกให้ช้างสวัสดี ยกขา ยกงวง ผมไม่ชอบอย่างนั้น อยากให้มันเป็นธรรมชาติของมัน เดินไปเดินมา อย่างนั่งช้างฝรั่งบางคนยังไม่ชอบเลย แค่เดินไปเดินมากับควาญช้างก็พอ วิถีของช้างเขาเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นปกาเกอะญอด้วย ถ้าเขามาในชุมชนต้องเจอนะการทอผ้า จักสาน ผมว่าช้างเป็นจุดขาย แต่ผลิตภัณฑ์ในชุมชนต้องมีผลพลอยได้ด้วย"
-ช้างชายแดน คนชายขอบ-
ระหว่าง‘ช้างป่า’ กับ‘ช้างปาง’ ดูเหมือนว่ายังมีช่องว่างเล็กๆ ของการจัดการ ‘ช้างบ้าน’ หรือช้างที่เลี้ยงในชุมชนตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กูย (ส่วย) หรือปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงคน ช้าง ป่าเข้าไว้ด้วยกัน
“ถ้ามีช้าง คนจะไม่กล้าเข้ามาทำลายป่า มีช้างก็ต้องมีป่า ถ้าไม่มีป่าช้างก็ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าจะรักช้างก็ต้องรักป่า” พินิจ ภูมิวัฒนางกูร หนุ่มปกาเกอะญอบ้านปูเต้อ กล่าวถึงความเชื่อของพวกเขา
น่าเสียดายที่วันนี้วิถีดั้งเดิมกำลังถูกเบียดขับด้วยธุรกิจการแสดงช้างและมาตรการทางกฎหมายที่ทำให้ช้างกลายเป็นส่วนเกิน
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ผู้ดูแลโครงการวิจัย ‘วิถีชีวิตคนเลี้่ยงช้าง-คนปกาเกอะญอ บ้านปูเต้อ อำเภอแม่สอด และบ้านยะพอ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานทองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ให้ข้อมูลว่า
"จากสถิติที่เราเก็บกัน พ.ศ.2545 จำนวนช้างใน 5 อำเภอชายแดน มีประมาณ 2,000 เชือก ที่สุรินทร์เหลือไม่ถึง 500 เชือกนะครับ แต่หลังจากนั้น 10 ปี พ.ศ.2555-59 สุรินทร์มีช้างเกือบ 2,000 เชือก แต่ทางนี้มีไม่ถึง 400 เชือก ช้างหลายเชือกถูกซื้อไปบ้าง ถูกเช่าไปบ้าง แล้วอย่างที่ชาวบ้านบอก สมัยที่เขาเป็นเด็กเวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจช้างในหมู่บ้าน เขายึดช้างไปต่อหน้าต่อตา ทั้งที่ช้างสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แล้วช้างบ้านปูเต้อปัจจุบันก็ยังมีปัญหา ช้างเกิดได้ประมาณ 2 ขวบ 3 ขวบ ไปขอขึ้นทะเบียนยังไม่ได้ เขาก็ตรวจโน่นตรวจนี่ ชาวบ้านพร้อมที่จะให้ตรวจนะครับ แต่ตรวจครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่ได้ พอช้างโตขึ้นโตขึ้น ความเชื่อมั่นว่าเป็นช้างในเมืองไทยก็จะลดลงๆ คือเราเคยเจอแต่ปัญหาคนไร้สัญชาตินะครับ แต่ตอนนี้เราเจอปัญหาใหม่ว่าช้างไร้สัญชาติ ช้างเกิดในประเทศไทย แต่ไม่มีสัญชาติ พอเราจัดงานวันช้างไทยก็มาสงสัยว่าเอาช้างจากพม่ามา เพราะเขาไม่เชื่อว่าที่อำเภอแม่สอดจะมีหมู่บ้านช้างที่มีช้างมากกว่า 20 เชือก"
เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด การจัดการก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันในชุมชนบ้านปูเต้อและพะยอ มีช้างราวๆ 50 เชือก ซึ่งยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร นายสัตวแพทย์ปรีชา พวงคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง จังหวัดลำปาง เห็นว่าปัญหานี้ต้องสางทีละปมก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
"ช้างชายแดน อย่างทางปูเต้อ ยะพอ ปัญหาคือกรมป่าไม้ไม่ให้เอาช้างไปเลี้ยงในป่าสงวน ส่วนที่ดินของชาวบ้านเขาก็ไม่ให้เอาช้างไปไว้ เพราะว่าช้างเวลาเหยียบไปดินก็แน่นดินก็เสีย ทีนี้จะเอาช้างไปไว้ที่ไหน งานก็ไม่มี ซึ่งช้างที่ชาวบ้านมีอยู่เป็นช้างมรดกที่ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แล้วคนแถวนั้นเขาก็เป็นคนสองแผ่นดินก็แต่งงานข้ามกันไปข้ามกันมา ช้างบางส่วนเป็นมรดกของเขาแล้วก็ข้ามไปอยู่พม่า เอาข้ามเข้ามาก็ไม่ได้ เป็นปัญหาซึ่งเราไม่ได้แก้กันเลย มันก็ยุ่งอุรุงตุงนังอยู่ทุกวันนี้"
ในมุมมองของคนทำงานเรื่องช้างมานานนับสิบปี หากจะแก้ปัญหานี้ นายสัตวแพทย์ปรีชา ชี้ว่าอันดับแรกเจ้าหน้าที่ต้องเปิดใจกว้าง มองทุกอย่างตามความเป็นจริง จากนั้นต้องหาหน่วยงานมาเป็นเจ้าภาพ
"ที่ผ่านมาการแก้ของทางราชการก็แก้แบบพญาเสืออะไรเนี่ยที่จับตะพึดตะพือไปหมด โดยไม่ดูว่าข้อเท็จจริงมันคืออะไร จะไปหาพ่อหาแม่มันมายังไง เพราะว่าช้างอย่างแถวชายขอบ เขาเอาไปปล่อยไว้แถวชายป่า บางทีช้างป่าก็มาผสม ทีนี้จะให้ไปหาพ่อหาแม่มันมาจากไหน ผมว่ายิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายไปกันใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าภาพ จะกรมอุทยานฯงานเขาก็เยอะ หรือกรมการปกครอง ซึ่งงานเขาก็เยอะเหมือนกัน เฉพาะทะเบียนของมนุษย์ก็ยังทำไม่เสร็จเรียบร้อยสักเท่าไหร่ ยิ่งมาทำทะเบียนช้างทุกวันนี้ก็ยังไม่เรียบร้อย ยังเถียงกันไปเถียงกันมา ไล่จับชาวบ้านกันอยู่ แต่ก็อยากให้มันลงเอยซะทีครับ จะได้ทำมาหากิน"
ระหว่างที่ยังหาความชัดเจนอะไรจากภาครัฐไม่ได้ วิถีคนกับช้างในหมู่บ้านเล็กๆ ยังต้องดำเนินต่อไป นักวิจัยท้องถิ่นซึ่งนำทีมโดย ชิ สุวิชาน จึงพยายามหาคำตอบด้วยตนเองว่า...ทำอย่างไรให้ช้างอยู่ได้ คนอยู่ได้ และป่าอยู่ได้ เพื่อสืบสานมรดกวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกับช้างของชุมชนปกาเกอะญอ
"ทุกวันนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งข้าวโพดรุก อีกส่วนหนึ่งอุทยานฯก็ไปประกาศในพื้นที่ทำกินเดิม พื้นที่ป่าชุมชนเดิม ทำให้พื้นที่หากินของช้างมันลดลงทุกที ถ้าหัวหน้าคนไหนที่เข้าใจเรื่องของช้างเรื่องของคนก็ให้ช้างเข้าไปหากินได้ แต่ถ้าหัวหน้าคนไหนไม่ยอมก็เข้าไปไม่ได้ อันนี้ก็ทำให้ชาวบ้านเกิดปัญหาเรื่องอาหารช้าง ตอนนี้ก็เลยเก็บรวบรวมข้อมูลว่า แล้วเมื่อก่อนเขาอยู่อย่างไร คนกับช้างนี่เขาหากินที่ไหนบ้าง พื้นที่ตรงไหนอย่างไร เพื่อที่จะหาข้อสรุปว่า อนาคตถ้าจะให้ช้างอยู่ได้ คนอยู่ได้ มันจะต้องเป็นอย่างไร"
-แผนแม่บท ‘คนเลี้ยงช้าง’-
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘คนเลี้ยงช้าง’ คือวิถีวัฒนธรรมที่มีมาเนิ่นนาน การฝึกช้าง ควาญช้าง หมอช้าง พิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์คน ช้าง ป่า ทว่าในห้วงเวลาที่การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ช้างกลับถูกพรากออกจากชุมชน สวนทางกับธุรกิจปางช้างที่ขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง
"ทุกวันนี้ทุกอย่างมันเป็นธุรกิจที่รีบร้อนกันหมด โดยเฉพาะปางช้างที่นายทุนเป็นคนต่างชาติแล้วก็เป็นคนเมืองซึ่งไม่รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมก็จะเอาเงินอย่างเดียว ลงทุนไปก็พยายามจะถอนทุน เอาช้างมามัดไว้ เอาอาหารมาโยนโครมๆๆ ให้ช้างกิน แล้วก็จ้างชาวบ้าน จ้างต่างด้าวที่ไม่รู้...มาขี่ช้างมาเลี้ยงช้าง อันนี้เป็นปัญหาหนึ่งเลยที่ทำให้เราถูกโจมตีตลอดเรื่องการทารุณช้าง การทุบตีช้าง”
“แล้วปางช้างนี่เกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ดเลยครับ ไม่ได้มาตรฐานเลย ใครนึกจะเอาช้างมารวมกันก็แล้วแต่จะทำไป ขี่ช้างกันทั้งวันทั้งคืน ใช้ช้างกันอย่างโหดร้าย เพราะว่าเมื่อลงทุนแล้วก็ต้องการถอนทุน ไม่มีการควบคุมกัน ทีนี้ก็ทำให้นักอนุรักษ์ หรือพวกที่ฉกฉวยที่จะโจมตีประเทศไทยก็เอาจุดนี้ไปด่าไปว่า ทำให้เสียไปทั้งหมด"
เหตุนี้ หากต้องการคืนความสุขให้ช้างไทย นายสัตวแพทย์ปรีชา เสนอว่าต้องมีแผนแม่บทที่ชัดเจน "ต้องมาคิดกัน วางแผนกันให้ดีๆ ว่าจะเอาอย่างไร จะจัดการกันอย่างไร ใครมีสิทธิที่จะเลี้ยงช้าง เลี้ยงช้างอย่างไร เลี้ยงที่ไหน ไม่ใช่ใครอยากเลี้ยงก็เลี้ยง ปล่อยปละละเลยเหมือนทุกวันนี้"
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการนำช้างกลับคืนสู่ชุมชน สืบสานวัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้คนอยู่ได้ช้างอยู่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยังมีประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่แค่ในระดับชุมชน แต่เป็นระดับชาติและนานาชาติ
"การฝึกช้างเราถูกโจมตีตลอด ช้างไม่ฝึกก็เหมือนเด็กเกเร โตขึ้นมาก็ไม่มีวินัย คุมไม่ได้ ดุร้าย ก็สร้างปัญหาอีก ทีนี้ต่างชาติก็เข้ามาควบคุมตั้งแต่การฝึกช้าง การใช้ช้าง ต่อต้านการขี่ช้าง การใช้โซ่ใช้ตะขอ ทีนี้การเลี้ยงช้างก็ยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันตราย ซ้ำร้ายไม่ให้ฝึกอีกช้างโตขึ้นมาก็ดุร้ายควบคุมไม่ได้ แล้วปัญหาจะเกิดขึ้นอีกภายใน 5 ปี 10 ปีจากนี้ไป"
หมอช้างท่านนี้ทำนาย พร้อมย้ำว่า ถ้าต้องการให้ช้างอยู่ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่เข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดให้การเลี้ยงช้างของไทยเป็นระบบที่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมของบ้านเรา และให้ชุมชนคนเลี้ยงช้างรวมตัวกันในลักษณะคณะกรรมการที่มีรัฐคอยดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามาแทรกแซงหาผลประโยชน์
"ชาวบ้านเขาต้องการขายวัฒนธรรม ขายประเพณี ขายความรักระหว่างคนกับช้าง อย่าไปรบกวนเขา อย่าให้เขาอยู่อย่างลำบาก คนเราถ้าให้เขาลำบาก ความรักมันก็ไม่เกิด เราต้องมาช่วยกันคิดว่าประเทศไทยควรจะมีช้างเลี้ยงเท่าไหร่ มันมีมากเกินไปหรือเปล่า หรือน้อยเกินไป...
มันไม่ควรจะน้อยเกินไปจนมันสูญพันธุ์ หรือมีมากเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ”
ที่สำคัญต้องหันกลับมาทบทวนข้อเท็จจริงที่ว่า คนไทยเลี้ยงช้างมาตั้งแต่กี่ร้อยกี่พันปีมาแล้ว
“จะเลี้ยงต่อไปอย่างไรให้ช้างอยู่กับคนได้ ต้องมาช่วยกันวางแผน กำหนดนโยบายให้ดี ทำซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย ในจังหวะที่ปัญหายังไม่ลุกลามบานปลายมากมายนัก"
เพราะถึงที่สุด ไม่ว่า...คน ช้าง ป่า ปลายทางก็คือการพึ่งพาอาศัยกันบนความสมดุลและยั่งยืน