ยลวัง 'เวียนนา'

ยลวัง 'เวียนนา'

ความงดงามของสถาปัตยกรรมบารอคผสมผสานกับความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ทั่วทุกมุมของเมือง

นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยือนเวียนนาจะรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายความหรูหราและคลาสสิกของสมัยจักรวรรดิที่ปกครองประเทศมานานหลายร้อยปี

แม้เพิ่งจะถูกองค์การยูเนสโกขึ้นบัญชีให้อยู่ในรายการเมืองมรดกโลกที่เป็นอันตรายหลังอนุญาตให้ก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ในย่านเมืองเก่า เสน่ห์ของเวียนนาก็ยังไม่คลายมนต์ขลัง

 

  • ‘แม่ยายยุโรป’ แห่งเชินบรุนน์

วิธีทำความรู้จักกับเมืองหลวงของออสเตรียที่ดีที่สุด คือการรู้จักราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สำคัญที่สุดราชวงศ์หนึ่งในทวีปยุโรปและปกครองประเทศสเปนและประเทศออสเตรียรวมเวลานานเกือบ 7 ศตวรรษ

ทัวร์ของเราจึงเริ่มจากพระราชวังเชินบรุนน์ พระราชวังสไตล์บารอคที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งยุโรป ในอดีตเป็นที่ประทับของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์กตั้งแต่ค.ศ. 1569

ความงดงามของพระราชวังฤดูร้อนแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ห้องที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีของราชวงศ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุทยานสวนสวยแบบฝรั่งเศสทางด้านหลังพระราชวังด้วย

พี่เจ๊ซ ไกด์คนไทยที่อาศัยอยู่ในเวียนนานานกว่า 15 ปี เล่าประวัติของพระราชวังให้ฟังว่า ในเริ่มแรกก่อนจะเป็นพระราชวัง สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการซื้อที่ดินจากบาทหลวงเพื่อใช้เป็นที่ล่าสัตว์

ในปลายศตวรรษที่ 17 สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าและสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ สเตฟานที่ 1 พระราชสวามี ทรงรับสั่งให้ปรับปรุงพระราชวังหลังเดิมให้เป็นพระราชวังฤดูร้อนของราชวงศ์โดยใช้พระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศสเป็นต้นแบบและสร้างด้วยศิลปะแบบรอคโคโคอย่างวิจิตรตระการตา

พระราชวังซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งนี้ประกอบด้วยห้องทั้งหมด1,441 ห้อง แต่เปิดให้คนทั่วไปชมเพียง 45 ห้อง ปัจจุบันเป็นสถานที่รวบรวมผลงานทางศิลปะชั้นเยี่ยมจำนวนมาก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของกรุงเวียนนา

ก่อนจะเข้าไปชมความงามภายใน พี่เจ๊ซพาเรามาหยุดอยู่ที่หน้าแผนภาพต้นตระกูลราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ภายใต้คำอธิบายความสัมพันธ์ของเจ้าผู้ครองประเทศในแต่ละยุค ดูเหมือนว่าลูกทัวร์จะให้ความสนใจกับ”วีรสตรี” มากกว่า “วีรบุรษ” ซึ่งจะแตกต่างไปจากราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรป

ผู้หญิงที่มีบทบาทมากที่สุดของราชวงศ์ก็คือพระนางมาเรีย เทเรซ่า พระนางทรงเป็นพระประมุขที่เป็นผู้หญิงพระองค์เดียวของราชวงศ์ฮับส์บูร์กพระนางเป็นพระราชธิดาองค์โตของจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และทรงขึ้นครองราชย์เพราะพระเชษฐาซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระราชบิดาได้สิ้นพระชนม์ไปก่อน

พระนางมาเรียและสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ สเตฟานที่ 1มีพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 11 พระองค์ และหลายพระองค์ก็ได้ครองตำแหน่งสมเด็จพระราชินีของหลายประเทศในยุโรปซึ่งรวมถึงพระนางมารี อองตัวเน็ต สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งถูกประหารด้วยกิโยตินในข้อหาเป็นทรราชย์ขั้นร้ายแรงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยพระราชธิดาองค์อื่นๆ ก็ครองตำแหน่งสมเด็จพระราชินีแห่งเนเปิ้ลและซิซิลี อีกพระองค์หนึ่งก็เป็นพระราชินีแห่งปาร์มา

“เพราะอย่างนี้นี่เอง พระนางมาเรียจึงถูกขนานนามว่า ‘แม่ยายแห่งยุโรป’ ใครหนึ่งในกรุ๊ปเอ่ยขึ้น

“บรรดาพระราชโอรส-ธิดาของพระนางล้วนแล้วแต่เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับคู่ครองโดยปราศจากซึ่งความรัก แต่ด้วยเหตุผลเรื่องการเมืองอย่างเดียวล้วนๆ” พี่เจ๊ซขยายความ

พวกเราเดินขึ้นด้านบนของพระราชวังโดยใช้บันได ‘บลู สแตร์เคส’ ซึ่งมีภาพวาดของพระนางมาเรียและจักพรรดิฟรานซ์ที่ 1 แขวนอยู่บนผนังคอยทักทายผู้มาเยือน

ความเซอร์ไพรส์อีกอย่างที่น่าทึ่งที่แสดงถึงความเรืองอำนาจของพระนางมาเรียก็คือ พระนางทรงมีห้องลับไว้ในพระราชวังเพื่อเอาไว้ปรึกษาหารือกับทีมที่ปรึกษาด้วย ห้องลับที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘ราวนด์ ไชนีส คาบิเนท’ โดยพื้นห้องสามารถยกขึ้นยกลงได้ราวกับมีห้องลับไว้ใต้ดิน

เราเดินเลี้ยวมาที่ห้องโถงใหญ่ที่พี่เจ๊ซชี้ให้ดูภาพวาดดอกทิวลิป ใครคนหนึ่งสงสัยว่าทิวลิป ดอกไม้จากเนเธอร์แลนด์มาเกี่ยวกับออสเตรียได้อย่างไรความรู้ใหม่ที่ได้ก็คือ พระนางมาเรียเป็นคนริเริ่มนำดอกทิวลิปมาใช้เป็นสินค้าในการแลกเปลี่ยนซื้อขายจนพัฒนาระบบดังกล่าวมาเป็นตลาดหุ้น พระนางเป็นผู้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในยุโรปในปี 1771

ไม่เพียงเท่านั้น พระนางยังทรงให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีอีกด้วย ทรงต้องการให้ผู้หญิงในสมัยนั้นยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถออกจากบ้านไปทำงานได้ พระนางจึงออกนโยบายให้เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือโดยรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้แถมยังมีเงินสนับสนุนเพิ่มให้ด้วย นโยบายนี้ยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่พระนางมาเรียถึงได้ชื่อว่าเป็นพระประมุขที่ทรงอำนาจที่สุดพระองค์หนึ่งในยุโรป

 

  • ฮอฟบวร์ก กระจกส่องชีวิต ‘ซีซี่’

จากพระราชวังฤดูร้อน วันต่อมาเราไปชมพระราชวังฤดูหนาวฮอฟบวร์ก ความอลังการของพระราชวัง 2 ฤดู ไม่ได้แพ้กันเลย

ผู้ปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กทรงประทับอยู่ที่พระราชวังฮอฟบวร์กมามากกว่า 600 ปี ระหว่างที่มันเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ไฮไลท์ของฮอฟบวร์กคือ ‘ซีซี่ มิวเซียม’ ซึ่งตั้งชื่อตามพระนามเล่นของสมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่1 แห่งออสเตรีย พระนางซีซี่ซึ่งเป็นพระนามที่คนทั่วไปรู้จักกันมากกว่าพระนามจริงทรงเป็น ดัชเชสแห่งบาวาเรียในราชวงศ์วิทเทลส์บาค

การถูกเลี้ยงดูมาอย่างอิสระในวัยเยาว์ทำให้เจ้าหญิงซีซี่กลายเป็นจักรพรรดินีที่ไร้ซึ่งความสุขเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบอันเข้มงวดของราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้ ในช่วงแรก พระนางทรงประสบปัญหาแม่สามี-ลูกสะใภ้ เพราะพระราชมารดาของจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่1 มีความเชื่อว่าหน้าที่เพียงอย่างเดียวของจักรพรรดินีคือการให้กำเนิดรัชทายาทซึ่งขัดกับความคิดของพระนางซีซี่มาก

หลังจากที่พระนางประสูติพระราชโอรสองค์แรกคือ เจ้าชายรูดอล์ฟ พระนางก็เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น แต่เนื่องจากเริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพจึงทรงเดินทางไปพักผ่อนที่ฮังการีอยู่บ่อยๆ จนสามารถเชื่อมสัมพันธ์เป็นราชวงศ์ออสเตรีย-ฮังการีได้ในปีค.ศ. 1867

หลังการสิ้นพระชนม์กะทันหันของพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือมกุฎราชกุมารรูดอล์ฟ ซึ่งทรงใช้พระแสงปืนยิงปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เองและนางสนมลับที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ลับๆ ในปี 1889 ทำให้พระทัยของพระนางซีซี่แหลกสลาย พระนางจึงทรงประพาสแปรพระราชฐานเพื่อฟื้นฟูพระทัยให้กลับมาสู่สภาวะปกติ และทรงไม่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ พร้อมพระราชสวามี จนกระทั่งพระนางถูกลอบปลงพระชนม์ในเจนีวาในปี 1898 โดยชาวอิตาเลียนที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์

ซีซี่ มิวเซียม เปรียบเสมือนกระจกส่องชีวิตอันแสนเศร้าและน่ารันทดของพระนาง ข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์จำนวนมากกว่า 300 ชิ้นถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ซึ่งรวมถึงชุดจำลองฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เสื้อคลุมตอนเช้า ร่ม พัด ถุงพระหัตถ์ อุปกรณ์เสริมความงาม ขวดบรรจุนมที่ใช้ระหว่างเดินทาง ตลับยา และโบกี้รถไฟที่ทรงใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว

ต่อจากพิพิธภัณฑ์ เราเดินมาถึงส่วนประทับของพระนางซีซี่และสมเด็จพระจักรพรรดิหรือ ‘Imperial Apartments’ ซึ่งจะได้เห็นชีวิตอีกแง่มุมหนึ่งของพระนางซีซี่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดินีที่ทรงมีพระสิริโฉมงดงามมากที่สุดในยุโรป

พระนางไม่ได้ทรงขึ้นชื่อลือชาเพียงในเรื่องของความงาม ยังรวมถึงการแต่งฉลองพระองค์ การลดน้ำหนัก และการออกกำลังพระวรกายอีกด้วย

เมื่อได้เห็นห้องแต่งตัวและห้องออกกำลังกายของพระนางก็เข้าใจได้ทันทีถึงคำร่ำลือที่ว่าพระนางทรงรักสวยรักงามอย่างหาใครเปรียบมิได้

จากคำเล่าของพี่เจ๊ซ พระนางทรงตื่นบรรทมตั้งแต่ 6 โมงเช้าและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องนี้เพื่อทุ่มเทให้กับความงาม โดยกิจกรรมแรกของพระนางที่กินเวลาถึง 3 ชั่วโมงคือให้ช่างเสริมสวยแต่งพระเกศาที่ยาวเกือบจรดพระบาท พระนางยังทรงดูแลพระวรกายด้วยการออกกำลังพระวรกายทุกวัน ในห้องยังมีอุปกรณ์ออกกำลังกายหลายอย่าง เช่น บาร์เดี่ยว บาร์คู่ ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

 

  • ยล ‘จูบ’ ที่เบลเวเดียร์

วันต่อมา เราไปชมพระราชวังเบลเวเดียร์ หนึ่งในสถาปัตยกรรมแบบบารอคที่น่าสนใจที่สุดในยุโรป และเป็นไฮไลท์ที่คนรักงานศิลปะห้ามพลาด

เบลเวเดียร์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของเจ้าชายยูจีนแห่งซาวอย แม่ทัพผู้มีชื่อเสียงที่รับใช้จักรพรรดิฮับส์บูร์กและทรงรักงานศิลปะด้วย

ตัวพระราชวังประกอบด้วย 2 ส่วนคือ อัพเปอร์และโลว์เวอร์เบลเวเดียร์ อัพเปอร์เบลเวเดียร์เป็นสถานที่รวมงานศิลปะชั้นนำระดับโลกของออสเตรียตั้งแต่สมัยยุคกลางจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในบรรดาผลงานชิ้นเอกเหล่านั้นก็คือ คอลเลคชั่นภาพวาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของกุสตาฟ คลิมท์ รวมถึงภาพ ‘The Kiss’ หรือ ‘จูบ’ ภาพวาดแบบอาร์ต นูโวที่โด่งดังที่สุดของศิลปินชาวออสเตรียคนนี้ด้วย

......

ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ไม่ว่าจะมีเวลามากแค่ไหน ก็ยังรู้สึกไม่เต็มอิ่ม ครั้งนี้ก็เช่นกัน เวลา 3 วันกับการชมพระราชวังชื่อดัง 3 แห่ง เวียนนายังคงมีหลายสิ่งที่รอเราไปค้นหา

แต่อย่างน้อย เราก็โชคดีหน่อยๆ ที่มีโอกาสไปเที่ยวช่วงต้นเดือนธันวาคมและใกล้เทศกาลคริสต์มาส และแน่นอนว่าเราก็ไม่พลาดที่จะไปเดินชมคริสต์มาสมาร์เก็ตซึ่งเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของเมืองในยุโรป แทบจะทุกๆ จัตุรัสของเมืองจะต้องมีซุ้มขายของกิน ของขวัญ ซุ้มเล็กซุ้มใหญ่ต่างกันไป

คริสต์มาสมาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่หน้าศาลาว่าการกรุงเวียนนา ด้านหน้ามีต้นคริสต์มาสขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยกล่องของขวัญและประดับประดาด้วยไฟหลากสี สร้างบรรยากาศคึกคักขึ้นมาทันที มีร้านค้าราว 150 ร้านที่ขายของกิน ร้านขายของสำหรับประดับต้นคริสมาสต์ และร้านขนมหวานที่ส่งกลิ่นหอมลอยตลบอบอวนไปทั่วบริเวณ

และด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศา เราจึงต้องแวะจิบ “มัลด์ไวน์” หรือไวน์แดงผสมเครื่องเทศอุ่นให้ร้อนที่คนยุโรปนิยมดื่มในหน้าหนาวเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย

และเช้าวันรุ่งขึ้น ของขวัญวันคริสต์มาสก็มาถึงก่อนเวลา....

หิมะโปรยปรายให้เราได้มีโอกาสสัมผัสความหนาวเย็นส่งท้ายก่อนเดินทางกลับมารับไออุ่นที่กรุงเทพฯ

... 

การเดินทาง

การบินไทยเพิ่งเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ – เวียนนา 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เดินทางได้ทุกวันจันทร์ พฤหัสบดี เสาร์และอาทิตย์ ใช้เวลาบินประมาณ 11 ชั่วโมงออกจากกรุงเทพฯ เวลา 01.30 น. ถึงเวียนนาเวลา 7.00 น. และออกจากเวียนนาเวลา 13.30 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 05.20 น. วันรุ่งขึ้น

การเดินทางภายในเวียนนา แนะนำให้ซื้อบัตรเวียนนา ซิตี้การ์ดจะสะดวกที่สุด สามารถใช้เดินทางได้ทั้งรถไฟใต้ดิน รถเมล์และรถราง ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว บัตรมีจำหน่ายทั้ง 24 48 หรือ 72 ชั่วโมง