วาเลนไทน์...รักใสๆ ไม่เสี่ยงเสียตัว
วันวาเลนไทน์ นับเป็นอีกวันหนึ่งที่วัยรุ่นหัวใจสีชมพูเฝ้ารอคอย ที่ไม่พลาดจะเตรียมของขวัญ ตลอดจนความพิเศษต่างๆ เพื่อมอบให้คนรัก แม้แต่เรือนร่างของตัวเอง
ทำให้คนเข้าใจผิดไปว่าวันแห่งความรัก คือวันที่วัยรุ่นยอมเสียตัวมากที่สุด
หากในมุมมองของคนที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน กลับเห็นแตกต่างออกไป เพราะพวกเขาบอกว่า “วาเลนไทน์” มีความเสี่ยงเสียตัวน้อยกว่าวันลอยกระทง
รติรัตน์ วุฒิ ผู้ประสานงานโครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ บ้านก๊อน้อย หมู่ 1 ต.ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา เล่าว่า วาเลนไทน์ เป็นเพียงวันธรรมดาที่เด็กยังไปโรงเรียน ตามปกติ ถ้าจะมีความพิเศษ ก็คือการเตรียมของขวัญ หรือสติกเกอร์รูปหัวใจไปมอบให้กัน ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพื่อน หรือแม้แต่ครู เป็นเหมือนปั๊ปปี้เลิฟ (Puppy Love) พอช่วงเย็นก็กลับบ้าน ความเสี่ยงที่เด็กจะออกนอกลู่นอกทาง หรือเสียตัวในวันนี้ ก็มีเท่ากับวันทั่วไป
“การสร้างความเข้าใจและสื่อสารเรื่องเพศเชิงบวก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นเกราะคุ้มกันให้วัยรุ่นลดโอกาสเสี่ยงลงได้ ทั้งจากการชิงสุกก่อนห่าม การติดโรค การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แต่กว่าจะสื่อสารกับผู้ปกครองและคนในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องเพศได้ก็ต้องใช้เวลา เนื่องจากมายาคติทำให้เห็นเรื่องเพศเป็นเรื่องเร้นลับ น่าอับอาย น่ารังเกียจที่จะกล่าวถึง บางรายก็เห็นเป็นเรื่องทะลึ่งตึงตัง หรือกลายเป็นเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาพูดสองแง่สามง่ามแบบตลกโปกฮา ทั้งที่เพศเป็นเรื่องของสุขภาพอนามัยตั้งแต่หัวจรดเท้า” รติรัตน์ อธิบาย
เธอยังกล่าวด้วยว่า พ่อแม่มักจะคิดว่าลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ เสมอ ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ สรีระร่างกาย เช่น การมีประจำเดือน การฝันเปียก การใช้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด ฯลฯ เด็กจะเรียนรู้ได้อัตโนมัติเมื่อถึงเวลา ไม่จำเป็นต้องสอน เพราะอาจกลายเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ซึ่งพ่อแม่ที่คิดแบบนี้จะทำให้เด็กขาดโอกาสในการเตรียมตัวและรับมือกับช่วงวัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ด้วยคำนึงถึงสภาพปัญหาดังกล่าวในชุมชน รติรัตน์ จึงได้เข้าร่วมโครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างให้พื้นที่บ้านเกิดมีการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน และเธอยังเชื่อด้วยว่า ถ้าเริ่มต้นจากเรื่องเพศ เรื่องอื่นๆ ก็จะพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น
รติรัตน์ได้ชักชวนเด็กในชุมชนที่มีช่วงอายุ 11-16 ปี และยังไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ธรรมชาติของเด็กทุกคนย่อมมีความเปราะบางในตัวเอง เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกประมาณ 20 คน มีการตั้งวงคุยกันในมุมเด็ก ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ปกครองก็ตั้งวงคุยกันในมุมของผู้ใหญ่ ทำให้รู้ถึงความคิด ความต้องการของทั้ง 2 กลุ่มที่ไม่ตรงกัน ทว่าสิ่งที่มองเห็นก็คือความรัก ความห่วงใย ที่พ่อแม่มีต่อลูกหลาน
“โชคดีที่การทำงานไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยว แต่มีภาคีและความร่วมมือจากหลายองค์กรในพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มสตรีแม่บ้าน ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในชุมชน เมื่อมีการอบรมเรื่องเพศ ก็เป็นสัญญาณที่ดี ที่มีการพูดคุยในวงกว้างค่อนข้างฮือฮา ซึ่งถ้าครอบครัวเห็นประโยชน์ นำไปสื่อสารต่อเด็กให้เรียนรู้ เข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้อง เด็กก็จะไม่สันสน อ้างว้าง ยามมีปัญหาสามารถปรึกษาผู้ใหญ่ได้ตลอด ขณะเดียวกัน หากครอบครัวไม่เข้าใจ เด็กก็เหมือนลูกปิงปองเด้งไปเด้งมา ไม่สามารถปรึกษาหารือกับใครได้” รติรัตน์ กล่าว
ด้าน กฤติกร คงกาบ ผู้ประสานงานโครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ บ้านทุ่งรวงทอง ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา เสริมว่าเดิมการสื่อสารเรื่องเพศ เป็นเรื่องที่ทำกับเด็กมานานหลายปีแล้ว จนเกิดคำถามว่าเรื่องนี้ทำกับเด็กมามาก แต่ทำไมไม่ทำกับพ่อแม่บ้าง เพราะถึงเด็กจะเรียนรู้ ก็พูดคุยกับพ่อแม่ไม่ได้
ซ้ำทุกวันนี้เด็กเข้าสู่วัยรุ่น ทั้งที่ร่างกายยังไม่เปลี่ยนแปลง ความคิดของผู้ใหญ่ที่จะบอกสอนเรื่องที่ลูกควรเรียนรู้เกี่ยวกับเพศในตอนที่สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลง และเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วจริงๆ จึงสายเกินไป แต่ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยากต่อการสื่อสาร หากขาดความเข้าใจ พ่อแม่หลายคนอึกอักไม่สามารถตอบคำถามที่ลูกอยากรู้ได้ บางคนถึงกับให้ข้อมูลผิดๆ เพื่อให้ผ่านพ้นไป หลายรายคิดว่าเป็นเรื่องที่ครูต้องสอนในวิชาสุขศึกษา ซึ่งนั่นอาจไม่เพียงพอกับความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ
แม้กระทั่งการสอนให้เด็กรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่ามในวันเวลาที่ไม่สมควร ถ้าไม่มีเหตุผลรองรับที่ดีพอ เด็กย่อมมีคำถาม และในกรณีที่เกิดปัญหา เด็กปล่อยตัวให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ก็ต้องมีทางออกในเชิงป้องกันอย่างรู้เท่าทัน การสื่อสารกันด้วยความรัก ความเข้าใจ คือสิ่งที่จะทำให้ลูกกล้าเปิดใจ และก้าวข้ามปัญหาไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง
“ในการทำงาน ได้ใช้กลไกชุมชน เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน เมื่อเด็กจะทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่จะช่วยสนับสนุน และเมื่อจัดอบรมทั้งในกลุ่มเด็ก กับผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องคอยติดตามว่ากลับไปที่บ้าน เด็กจะพูดสื่อสารอะไรกับพ่อแม่บ้าง เขาต้องการอะไรเพิ่มไหม พ่อแม่พูดคุยกับลูกอย่างไร การสื่อสารที่ดีจะทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวอบอุ่นขึ้นด้วย” กฤติกร กล่าว
วันนี้ โครงการถูกนำมาดำเนินการในพื้นที่ได้ 10 เดือน เปรียบเสมือนวัคซีนเข็มแรก ที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน ทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องที่พูดได้ ทั้งในกลุ่มเพื่อน ในครอบครัว และชุมชน แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นต่อไป เพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว