สมการ ช้าง-ป่า-คนที่รอวันแก้
คลี่ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง มองหาพื้นที่ส่วนร่วมแบบ วิน-วิน ให้ช้างอยู่ดี คนอยู่ได้
ลึกเข้าไปในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในบางช่วงจะสังเกตเห็นรั้วสีเขียวที่กั้นระหว่างถนนกับพื้นที่ป่าเรียงยาวกันเป็นแถว
รั้วสีเขียวนี้นักอนุรักษ์ให้ชื่อเรียกว่า “แนวรั้วกึ่งถาวร” เครื่องมือหนึ่งในการบรรเทาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ปัญหาที่ขึ้นแท่น “คลาสสิก” ของพื้นที่ตั้งแต่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงบริเวณ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อันถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างมากที่สุดในเขตอุทยาน
ทางที่จะตรงเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การเกษตรที่สำคัญอย่าง น้ำตกป่าละอู และสวนทุเรียนป่าละอู ผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย วันที่ช้างเดินออกมาจากป่าสู่ถนนสายนี้ รอยเท้านั้นก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
*สมการ ช้าง-ป่า-คน
“ปีที่แล้ว ช้างเข้ามาทุบกำแพงบ้านพังไป 3 ด้าน และกินมะละกอดิบที่เก็บไว้” เคราะห์ดีที่วันนั้นไม่มีใครอยู่บ้านจึงมีแต่ข้าวของเท่านั้น ที่พังเสียหาย
บ้านหลังนี้ของ ส้มจีน ช่อเกตุ ในหมู่ 5 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ถูกช้างป่ารื้อทำลายมาแล้ว 3 ครั้ง เฉพาะปี 2560 เกิดเหตุ 2 ครั้ง เมื่อเดือนมีนาคม และเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
ไม่ต่างกับ เสนาะ พรายแดง เกษตรกรในตำบลเดียวกัน ประสบเหตุช้างป่าเข้ามากินทุเรียน และเหยียบต้นมะนาวเสียหายเกือบหมดไร่ โชคดีที่วัวของเขาไม่โดนช้างเตะตายเหมือนเพื่อนบ้านที่เสียวัวไปแล้ว 5 ตัว
ด้วยความที่พื้นที่ ห้วยสัตว์ใหญ่ และ ป่าเด็ง อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงทำให้มีเหตุช้างป่าบุกพื้นที่การเกษตรมากที่สุด จนชาวบ้านส่วนหนึ่งอย่าง ศรีนวล กลิ่นศรีสุข ชาวบ้านป่าเด็ง ต้องเลิกทำสวนผลไม้หลังทนสภาพช้างป่าเข้ามากินผลไม้ในไร่จนหมดไม่ไหว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ต่างฝ่ายต่าง “ล่วง” พื้นที่ซึ่งกันและกัน สมการที่ดู “แก้ยาก” จึงตามมา
มีรายงานจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย ปี 2550 ระบุว่า เส้นทางเดินของช้างป่าทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกตัดขาดเนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เมื่อแนวพื้นที่เกษตรกรรม หมู่ 5 และหมู่ 7 ตำบลป่าเด็ง เป็นจุดที่แคบที่สุดระหว่างป่า 2 ฝั่ง เท่ากับบังคับให้ช้างต้องเคลื่อนผ่านที่นี่ทำให้เกิดความเสียหายตามมา
“เมื่อทางเดินหากินของมันช่วงป่าละอูและป่าเด็งมีชุมชนคั่นกลาง มันจึงเดินผ่านและเข้าไปในพื้นที่การเกษตร” สยาม ยิ่งยอด หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประจำเขาหุบเต่า ช่วยอธิบายเพิ่มถึง “แนวเดิน” ช้างป่าเป็นวงกลมจากผืนป่าฝั่งตะวันออกไปตะวันตก
รายงานฉบับเดียวกันยังระบุด้วยว่า แหล่งน้ำตามธรรมชาติในป่าด้านตะวันออกค่อนข้างขาดแคลนในฤดูแล้งจึงดึงดูดให้ช้างป่าออกมาใช้แหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นตามชายป่า เมื่อเข้ามาใกล้พื้นที่เกษตรกรรม และพบพืชที่ชอบ ก็ยิ่งดึงดูดให้ช้างป่าออกมารุกพื้นที่เกษตรอย่างสม่ำเสมอ เพราะติดใจในรสชาติอาหารที่เหนือกว่าพืชอาหารตามธรรมชาติ
ทองใบ เจริญดง หัวหน้าทีมอนุรักษ์ช้างป่าประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทยตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยเสริมถึงการนำผลไม้เน่าเสียไปทิ้งไว้บนถนน หรือชายป่า ทำให้ช้างเปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามากินพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน บางครั้งมาพังบ้าน พังรถ ออกมาบนถนน คนก็ตอบโต้ด้วยการยิง หรือกั้นรั้วไฟฟ้า 200 โวลต์ ช้างถูกไฟฟ้าช็อตตายกลายเป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังตามมา
ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาเบื้องต้น ทางอุทยานได้นำป้ายมาติดประกาศห้ามให้อาหารช้าง ริมถนนสาย หัวหิน-ป่าละอู ช่วงบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หากฝ่าฝืนจะถูกปรับ 2,000 บาท อย่างไรก็ดี ก็ยังมีผู้นำอาหารมาให้ช้างอยู่ และไม่สามารถหาตัวผู้กระทำได้อยู่
*รั้วสันติสุข
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาและการขยายพื้นที่ของชุมชนที่มีทั้งการสร้างวัด โรงเรียน ที่อยู่อาศัย ในร่องน้ำ ร่องห้วยต่าง ๆ ก็ทำให้คนกับช้างมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ส่วนการที่มีประชากรช้างเพิ่มขึ้น อาหารที่อยู่ในป่าก็อาจจะไม่สมบูรณ์เพียงพอเท่าที่ควรจะเป็น ช้างจึงต้องออกหาอาหารเพื่อความอยู่รอดตามวงจรชีวิตของมัน
“แนวรั้วกึ่งถาวร” จึงเป็นวิธีบรรเทาปัญหาที่ดีที่สุดตอนนี้ เพื่อที่คนกับช้างจะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
จากการศึกษาของหัวหน้าทีมอนุรักษ์ช้างป่าคนเดิมระบุว่า รั้วกึ่งถาวรมีโครงสร้างเป็น เสาปูน ตรงกลางเป็นปอกเหล็กผูก มีรั้วเป็นเหล็กข้ออ้อย พาดแนวขวาง 3 เส้น พาดแนวตั้ง 11 เส้น โดยเสาจะฝังดินลึก 1 เมตร ระยะห่างแต่ละเสาห่าง 5 เมตรครึ่ง และระยะห่างระหว่างพื้นดินกับรั้ว 60 เซนติเมตร รั้วกึ่งถาวรนี้ไม่ต้องใช้คนเฝ้าระวังเท่ากับรั้วสัญญาณสามารถป้องกันไม่ให้คนกับช้างปะทะกันได้ 80 เปอร์เซ็นต์
นอกจากจะมีแนวรั้วกึ่งถาวรแล้วยังมีชุดลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่หมั่นออกลาดตระเวนในทุกๆ วัน เพื่อที่จะช่วยให้ชาวบ้านได้อุ่นใจขึ้น
แต่จะไม่ดีกว่าหรือถ้าย้ายปัญหาของคนออกไป ?
“อยู่ที่นี่มาโดนพังบ้านมานับไม่ถ้วนแล้ว เสียตังซ่อมบ้านกันไปแล้ว 30,000 กว่าบาท สวนกล้วยที่อยู่ด้านหลังบ้านไปดูสิ โดนมันเหยียบจนเละหมด” เสียงตัดพ้อทำนองนี้มีมาให้ได้ยินตลอดเวลาพูดถึงทางออกระหว่างคนกับช้าง แต่ก็มีเหมือนกันที่มองว่า เพราะคนนี่แหละที่เข้ามารุกพื้นที่ช้างที่อยู่ก่อน แนวรั้วจึงถือเป็นทางออกที่ดูจะ “รอมชอม” ที่สุดสำหรับทุกฝ่ายในตอนนี้
“พื้นที่ป่าเด็งตั้งแต่ทำรั้วกึ่งถาวรมานี่มีปัญหาลดลงไปเยอะ ชาวบ้านทำเกษตรได้ แต่บางที่ที่ยังไม่มีรั้วชาวบ้านก็อยากให้มีเพราะอยากทำการเกษตร มีการทำเรื่องของบไปแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้งบมาทำรั้วเหมือนกัน” ธูป จันทร์หร่าย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ป่าเด็ง สะท้อนอีกมุมของปัญหา
ขณะเดียวกัน ทางอุทยานเองก็มีการทำแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ หลังแนวรั้วลึกเข้าไปในป่าเพื่อป้องกันช้างออกจากป่ามาอีกทางหนึ่ง
มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เล่าว่า ทีมเจ้าหน้าที่ได้เข้าสำรวจบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำกระหร่าง 3 อ่างเก็บน้ำละเมาะน้อย และอ่างเก็บน้ำป่าแดง ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อทำแหล่งน้ำ-แหล่งอาหารดังกล่าว ซึ่งก็น่าจะช่วยรักษาช้างที่ยังไม่ออกจากป่าให้อยู่ในป่าไว้ก่อน
“ส่วนช้างที่เปลี่ยนพฤติกรรมมากินพืชเกษตร หากมีพฤติกรรมอันตราย อุทยานฯ อาจจะเสนอเรื่องจับช้างตัวนั้นไปปล่อยบริเวณที่ห่างไกลผู้คนเพื่อลดพฤติกรรม” เขาบอก
ถึงแม้วันนี้ ปมสมการระหว่างคนกับช้างจะยังเดินไปไม่ถึง “คำตอบสุดท้าย” แต่แนวปฏิบัติ และการปรับตัวเพื่อเรียนรู้ในการ “อยู่ร่วม” พื้นที่กัน ดูจะเป็นสิ่งที่ “เป็นไปได้” มากที่สุดในห้วงเวลานี้ เพราะที่สุดแล้ว ในวิถีของธรรมชาติต่างจัดสรรมาเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันอยู่แล้ว
“กุยบุรี” ตัวอย่างสันติวิธีระหว่างคนกับช้าง
ไม่ใช่แค่พื้นที่ตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เท่านั้นที่มีข้อพิพาทคน-ช้าง แต่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผืนป่าที่อยู่ติดกันตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
วิทยานิพนธ์เรื่องความคิดเห็นของราษฎรต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่ากุยบุรี ของ ประทีป ลิสกุลรักษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2547 ระบุว่า ปี 2520-2525 อันเป็นยุคบุกเบิกจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกสับปะรด ชาวบ้านเริ่มพบร่องรอยช้างป่าใกล้พื้นที่เพาะปลูกเป็นครั้งแรก
ปี 2525-2528 มีจำนวนไร่สับปะรดเพิ่มมากขึ้นจนติดขอบป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี (ขณะนั้นยังไม่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ) แต่ในปีเดียวกัน ราคาสับปะรดตกต่ำจนเกษตรกรต้องทิ้งไร่ เมื่อถึงฤดูช้างป่าเคลื่อนย้ายจากภูเขาลงมา พวกมันเดินผ่านและได้กินสับปะรดเป็นครั้งแรก
ปี 2540-2545 ช้างป่ากุยบุรีเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว พวกมันปรากฏตัวนอกพื้นที่ป่ามากขึ้น ใช้เวลาหากินบริเวณชายป่าเปิดโล่งติดไร่สับปะรดนานขึ้น และเข้ามากินสับปะรดของชาวไร่ กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่า
กระทั่งปี 2548 อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุมชนท้องถิ่น และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย เริ่มต้นร่วมกันหาทางออก โดยนอกจากชาวบ้านจะหยุดล่าช้าง ยังช่วยกันฟื้นฟูแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำของช้างป่ารวมถึงรับมือช้างป่าด้วยวิธีที่ปลอดภัยต่อช้าง
ชาวบ้านที่เคยโกรธแค้นยังกลายมาเป็นมัคคุเทศก์อาสา พานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมช้าง สร้างรายได้ให้กับชุมชนและช่วยเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านให้หันมาหวงแหนช้างป่า
ล่าสุด 2 ปีที่แล้ว กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประกาศว่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็น 1 ใน 2 พื้นที่ (อีกแห่งหนึ่งคืออุทยานแห่งชาติคาซีรังกา ประเทศอินเดีย) ที่จัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าได้ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งแต่ปี 2553 ไม่มีช้างป่าตายจากการถูกล่าในพื้นที่
ขณะที่จำนวนช้างป่าตายจากเหตุความขัดแย้งกับคนมีเพียง 4 ตัว หรือลดลงร้อยละ 64.64 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2540-2548 ที่มีกว่า 11 ตัว
ส่วนสถิติความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดจากการทำลายผลผลิตทางการเกษตรมี 146 ครั้ง ลดลงกว่าร้อยละ 46.72 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่เกิดขึ้น 274 ครั้ง และเทียบกับปี 2548 ที่เกิดสูงสุดถึง 332 ครั้ง
...........................................
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากสกู๊ปข่าว “ชุมชนรุกป่าแก่งกระจาน ต้นเหตุช้างอาละวาดบุกไร่ชาวบ้าน” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ คณะ ICT ม.ศิลปากร